©ulture

รถรางกำลังพุ่งชนคน 5 คน คุณสามารถสับสวิตช์ให้รถไปอีกทาง แต่ตรงนั้นก็มีคนอีกคนยืนอยู่ คำถามคือ คุณจะเลือกสับสวิตช์เพื่อช่วยชีวิตคน 5 คน และปล่อยให้คนอีกคนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่เช่นกันตาย หรือปล่อยให้ทุกอย่างเป็นเรื่องของโชคชะตา?

นี่คือสภาวะที่ในทางปรัชญาเรียกว่า dilemma หรือ ‘ภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก’ ชุดคำถามคลาสสิกที่เป็นผลผลิตสำคัญของนักปรัชญาชาวอังฤษชื่อดัง ฟิลิปปา ฟุต (Philippa Foot) ในปี 1967 มันเป็นวิธีออกกำลังกายทางความคิดที่มุ่งเน้นตั้งคำถามถึง ‘หลักจริยธรรม’ (ethic) ของผู้คน 

Photo: commons.wikimedia.org

ทางเลือกสองทางที่ดูจะเหมือนมีความขัดแย้ง (paradox) ในตัวนี้ ถูกวงปรัชญาตั้งชื่อให้ว่า The trolley dilemma หรือ The trolley problem มันคือเครื่องมือในการกระตุกให้ผู้คนตั้งคำถามถึงผลลัพธ์ของการกระทำของตน และพิจารณาว่าอะไรคือคุณค่าทางศีลธรรมของผลลัพธ์นั้นๆ กันแน่

ฟิลิปปา ฟุต (Philippa Foot)

ในช่วงชีวิตหนึ่ง เราอาจได้พบเจอกับคำถามที่บังคับให้เราต้องเลือก—เป็นคำถามเชิงอภิปรัชญา ที่เราแทบไม่รู้ว่าอะไรกันแน่คือคำตอบที่ถูกต้อง อะไรแน่คือ ‘ความจริง’ และ ‘ความดี’ ของการเลือกหนทางใดหนทางหนึ่ง เช่น เรื่องรักสามเส้า อย่าง—เธอเป็นคนดี ส่วนอีกคนก็เป็นคนที่ฉันรัก แล้วฉันจะตัดสินใจอยู่กับใครและทิ้งใคร? หรือเอาให้ดราม่าเพิ่มขึ้นอีกหน่อยก็เช่น ในสถานการณ์ที่ลูกและแม่ของคุณกำลังจะจมน้ำ แต่คุณสามารถช่วยชีวิตได้แค่คนเดียว คุณจะเลือกใคร? 

หากสังเกตดีๆ คำถาม dilemma เหล่านี้ล้วนเป็นคำถามเชิงศีลธรรมที่เป็นเรื่องอัตวิสัยทั้งสิ้น

คำถามคือเราจะยึดหลักอะไรในการพิจารณาทางเลือกดี?

อารมณ์และเหตุผล

ตามสามัญสำนึกซึ่งเกิดจากบรรทัดฐานของสังคมแล้ว ในประเด็นของ The trolley problem ผู้คนมักคิดว่า การเลือกช่วยคน 5 คนดูจะสมเหตุสมผลกว่าการช่วยชีวิตคนเพียงคนเดียวให้รอดชีวิต แต่จะเป็นอย่างไรถ้าเราเปลี่ยนการสับสวิตช์เพื่อช่วยชีวิต เป็นการผลักผู้ชายคนหนึ่งที่ยืนอยู่ตรงนั้นลงไปเพื่อขวางขบวนรถรางแทน—นั่นคือสิ่งที่นักปรัชญาอีกคนอย่าง จูดิธ จาร์วิส ทอมสัน (Judith Jarvis Thomson) เสนอไว้ในปี 1985 ซึ่งคำตอบอาจแตกต่างออกไปสิ้นเชิง

โจชัว กรีน (Joshua Greene) ผู้เขียนหนังสือ MORAL TRIBES (แปลเป็นฉบับภาษาไทยในชื่อ ‘พวกฉัน พวกมัน พวกเรา’) เคยทดสอบคำถามชุดนี้กับวิธีการทางประสาทวิทยา เขานำผู้เข้าร่วมการทดสอบเข้าเครื่อง fMRI เพื่อจะได้รู้ว่าสมองของเราทำงานอย่างไรกับ dilemma เหล่านี้ และค้นพบว่าการตัดสินใจที่จะกดสวิตช์เพื่อช่วยคน 5 คน มีความสัมพันธ์กับสมองส่วน prefrontal cortex ที่มักเป็นส่วนที่ส่งผลต่อสติรับรู้และการพิจารณาที่สุขุมเยือกเย็น พูดให้ชัดคือเป็นสมองส่วนเหตุและผล ขณะตัวเลือกที่จะไม่ผลักชายคนหนึ่งลงสู่รางเพื่อช่วยคนอีก 5 คน สัมพันธ์กับสมองส่วน amygdala ที่เป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกและความกลัว 

โจชัว กรีน (Joshua Greene)

งานวิจัยของกรีนบอกว่า เหตุผลที่ทำให้อัตราการสับสวิตช์ฆ่าหนึ่งคนเพื่อช่วยอีก 5 คนมีสัดส่วนมากกว่าการผลักผู้ชายคนหนึ่งลงสู่ราง (ที่จริงๆ แล้วผลลัพธ์ก็คือจะมี 5 คนรอดชีวิต และอีกหนึ่งเสียชีวิตเหมือนกัน) นั่นเพราะเราถูกตั้งโปรแกรมชีวภาพทางอารมณ์ที่ทำให้ไม่อยากทำร้ายใครตรงๆ (การสับสวิตช์ไม่ทำให้รู้สึกว่าเราทำร้ายใครโดยตรง)

นั่นหมายถึงว่า จิตสำนึกรู้ทางศีลธรรม (moral intuition) ที่ผู้คนมักเชื่อว่าเราสามารถตัดสินเรื่องทางศีลธรรมได้โดยสัญชาตญาณนั้นอาจไม่มีจริง หรือถ้ามีจริง มันก็ดูเหมือนจะเลื่อนไหลเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทและสถานการณ์ต่างๆ ว่า เราจะตัดสินใจใช้ความรู้สึก หรือเหตุผลในการเลือกมากกว่ากัน

 

“มันคือหนทางหนึ่งที่ช่วยเน้นยำข้อเท็จจริงที่ว่า สุดท้ายแล้วคุณจะเดินไปสู่จุดที่ ‘ต้องเลือก’ ตัดสินใจทำอะไรสักอย่าง แม้ว่าไม่สามารถทำให้ทุกคนเห็นด้วยได้”

 

ภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกในโลกจริง

สุดท้ายแล้ว คำตอบของการเลือกตัดสินใจใดๆ อาจไม่มีทั้ง ‘ตัวเลือกที่ดี’ และ ‘ตัวเลือกที่ถูกต้อง’ แต่อาจมีแค่ ‘ตัวเลือกที่ต้องเลือก’ ซึ่งหากพูดกันแบบนี้ การหมกมุ่น และคิดวนเวียนติดหล่มอยู่กับโจทย์ที่เป็น dilemma อันไม่มีคำตอบตายตัวก็ดูจะเสียเวลา และชวนปวดหัวอยู่ไม่น้อย

แต่ในโลกของความจริงแล้ว การยกตัวอย่างคำถามและจำลองสถานการณ์ในทำนองนี้ก็ถูกหยิบมาใช้ในหลากหลายวงการและหลายประเด็น เช่น การทำแท้ง การุณยฆาต หรือการตัดสินใจต้องฆ่าคนบริสุทธิ์สักคนในสงคราม จนถึงการพยายามบรรจุเรื่องของศีลธรรมลงในระบบความคิดของปัญญาประดิษฐ์ ที่กำลังจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมมนุษย์ในอนาคตอันใกล้ เพื่อพิจารณาการตัดสินใจหนึ่ง จากมุมมองที่หลากหลาย และมองเห็นรายละเอียดของการตัดสินใจนั้นๆ ได้ลึกและชัดเจนยิ่งขึ้น

คริส เกอร์เดส (Chris Gerdes) ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมเครื่องกลจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ได้นำ dilemma ในรูปแบบนี้ไปปรับใช้กับการเรียนรู้การตัดสินใจของรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติในสถานการณ์คับขัน เช่น เมื่อรถยนต์กำลังเกิดอุบัติเหตุ และต้องเลือกชนคนคนหนึ่งระหว่างสองคนที่กำลังเดินอยู่บนถนนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มันควรเลือกชนใคร ซึ่งเอาแค่ว่าระหว่างมนุษย์และสัตว์ก็ยังเป็นการตัดสินใจที่ลำบาก (แม้สุดท้ายส่วนใหญ่คงเลือกช่วยมนุษย์ไว้ก่อน) แต่ถ้าเป็นระหว่างมนุษย์และมนุษย์ด้วยกันล่ะ?

แน่นอน เขายังไม่มีคำตอบ แต่ได้แสดงความคิดเห็นถึง The trolley problem ว่า “มันคือหนทางหนึ่งที่ช่วยเน้นย้ำข้อเท็จจริงที่ว่า สุดท้ายแล้วคุณจะเดินไปสู่จุดที่ ‘ต้องเลือก’ ตัดสินใจทำอะไรสักอย่าง แม้ว่าไม่สามารถทำให้ทุกคนเห็นด้วยได้”

 

จงถาม ‘ฉันจะสามารถทำอะไรได้บ้าง?’ แทนที่ ‘ฉันควรเลือกทางไหน’

ในชีวิตจริง ที่เราคงไม่ได้เจอกับสถานการณ์บีบบังคับเอาเป็นเอาตาย จนต้องตัดใจ ‘ต้องเลือก’ ทางใดทางหนึ่งเพียงคำตอบเดียว แต่อาจมีความเป็นไปได้อื่นๆ และตัวเลือกอื่นมากกว่าสองทาง ทิง ซาง (Ting Zhang) ผู้ช่วยศาสตราจารย์จาก Harvard Business School แนะนำตัวช่วยง่ายๆ ที่จะทำให้ไม่ต้องปีนบันไดไปปวดหัวกับเรื่องราวเชิงอภิปรัชญาว่า ให้เราถามว่า ‘ฉันจะสามารถทำอะไรได้บ้าง?’ ในสถานการณ์เหล่านี้ แทนที่จะถามว่า ‘ฉันควรเลือกทางไหน’

“เมื่อไหร่ก็ตามที่ผู้คนต่อสู้กับภาวะกระอักกระอ่วนกลืนไม่เข้าคายไม่ออกเชิงศีลธรรม พวกเขามักหมกมุ่นกับคำถามที่ว่า พวกเขาควรเลือกทางไหน อย่างไรก็ตาม การกระโดดไปสู่คำถามว่า ฉันสามารถทำอะไรได้บ้าง ก็จะช่วยให้พวกเขาค้นพบความเข้าใจด้านศีลธรรมและทางออกอื่นๆ”

และแม้ว่า เราจะไม่มีคำตอบที่สมบูรณ์สำหรับคำถามเชิง dilemma เหล่านี้ แต่สิ่งที่เราทุกคนสามารถหวังได้คือการใช้ประโยชน์จากมันในฐานะเครื่องมือทางปรัชญาในทำนองเดียวกับวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ เพื่อเปิดพื้นที่ในการสนทนาถึงตัวเลือกที่ ‘ถูกต้องอันหลากหลาย’ ซึ่งเคลื่อนไหวเปลี่ยนรูปอยู่ตลอดเวลาเป็นอัตวิสัย

กับบางเรื่อง เราอาจไม่จำเป็นต้องค้นพบคำตอบ แต่สิ่งที่เราต้องทำคือการยอมเสียเวลาสักนิดเพื่อพิจารณา และไม่ยอมปล่อยให้ ‘ตัวเลือก’ ‘ศีลธรรม’ และ ‘ความถูกต้อง’ หรืออะไรทำนองนี้ เป็นสิ่งที่ถูกจำกัดและสงวนไว้กับค่านิยมเพียงชุดใดชุดหนี่ง จนกลายเป็นของเก่าตกยุคอยู่ในเวลาอันดึกดำบรรพ์ — เพื่อมีชีวิต การปวดหัวกับการขบคิดอะไรเสียบ้าง คงไม่ได้หนักหนาจนเกินไป

ก็เหมือนกับที่นักปรัชญาชาวอังกฤษ เบอร์ทรันด์ รัสเซลล์ (Bertrand Russell) พูดอย่างติดตลกไว้ว่า “จุดประสงค์ของปรัชญาคือการเริ่มต้นจากบางอย่างที่ดูสามัญธรรมดา และดูเหมือนไร้ค่าจะกล่าวถึง จนนำไปสู่บางสิ่งที่ช่างขัดแย้งกันเองชวนปวดหัว ซึ่งยากที่ใครจะเชื่อได้”

 

อ้างอิง

 

Baby Hitler

  • ในปี 2015 นิตยสาร The New York Times เคยถามผู้อ่านด้วยคำถามเชิง dilemma อีกหนึ่งคำถามที่น่าสนใจ นั่นคือ หากมีเครื่องย้อนเวลากลับไปยังประเทศออสเตรีย ในเดือนพฤษภาคม ปี 1889 ซึ่งเป็นเวลาหนึ่งเดือนหลังเผด็จการผู้ฆ่าล้างเผ่าพันธ์ชาวยิวอย่าง Adolf Hitler จะเกิด และมีช่วงเวลาอยู่กันเพียงลำพังกับเด็กน้อยผู้ยังไร้เดียงสา คุณจะเลือกฆ่าเขาเพื่อจะช่วยผู้บริสุทธิ์นับล้านคนในอนาคตหรือไม่ ซึ่งคำตอบที่ได้ก็อยู่ในอัตราไม่ห่างกันนัก นั่นคือ ฆ่า—40%, ไม่—30%, ไม่แน่ใจ—28%