©ulture

ถ้าคุณเคยผ่านตากับบทความ ‘ตู้กดเรื่องสั้น’ (1) ปลุกชีวิตให้วรรณกรรมในวันที่ผู้คนเร่งรีบและไร้เวลา คงจะรู้จักเจ้าเครื่องนี้พอสมควร

แต่ถ้าคุณเพิ่งเคยเห็น เราขอพูดถึงเจ้าเครื่องนี้สั้นๆ ว่า มันคือ ‘ตู้กดเรื่องสั้น’ ที่สร้างโดยสำนักพิมพ์ ShortEdition ซึ่งเป็นสำนักพิมพ์ท้องถิ่นในฝรั่งเศส เมื่อปี 2015

(Photo: short-edition.com)

ตู้กดนี้ไม่ได้มีเทคโนโลยีล้ำสมัยอะไร เพียงดัดแปลงมาจากตู้กดน้ำและขนม แต่ด้วยฟังก์ชั่นการใช้งานที่ ‘เรียบง่าย’ และตอบโจทย์คนที่ไม่มีเวลาอ่านหนังสือได้อย่างตรงใจ

จึงทำให้ตู้นี้เป็นที่พูดถึงและแพร่หลายในหลายเมืองใหญ่

แผนที่แสดงตำแหน่ง ‘ตู้กดเรื่องสั้น’ ทั่วโลก
แผนที่แสดงตำแหน่ง ‘ตู้กดเรื่องสั้น’ ในฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร
แผนที่แสดงตำแหน่ง ‘ตู้กดเรื่องสั้น’ ในสหรัฐอเมริกา

ล่าสุด บริษัทแห่งหนึ่งในกรุงลอนดอนได้นำตู้กดเรื่องสั้นมาติดตั้ง ณ ย่านธุรกิจ Canary Wharf โดยหวังจะช่วยให้คนอังกฤษหันมาอ่านหนังสือมากขึ้น

หลังมีผลสำรวจระบุว่า ผู้คนในสหราชอาณาจักร 36% เลิกอ่านหนังสืออย่างน้อยหนึ่งเล่มกลางคัน เพราะไม่มีเวลา และอีก 30% อ่านหนังสือไม่จบสักเล่มในรอบหกเดือน

ตู้กดเรื่องสั้น ณ ย่านธุรกิจ Canary Wharf

ปัญหา ‘ไม่มีเวลาอ่านหนังสือ’ กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก และเราต่างรู้สึกและสัมผัสได้เมื่อมองไปที่กองหนังสือที่ซื้อจากงานสัปดาห์หนังสือฯ ที่ยังไม่ถูกเปิดอ่าน ซึ่งกองทับถมมากขึ้นเรื่อยๆ ตามจำนวนงานหนังสือที่ผ่านไป

คำถามคือ ‘ตู้กดเรื่องสั้น’ จะช่วยให้คนอ่านหนังสือมากขึ้นได้อย่างไร?

1. ดีและฟรี

ตู้กดเรื่องสั้น ออกแบบให้มีการใช้ง่ายที่เรียบง่าย คือ มีปุ่มแค่ 3 ปุ่ม แต่ละปุ่มระบุเวลาที่ใช้ในการอ่าน คือ 1 นาที / 3 นาที / 5 นาที

เพียงแค่กดปุ่มใดปุ่มหนึ่ง เครื่องก็จะสุ่มพิมพ์เรื่องสั้นจากจำนวนที่มีมหาศาลออกมาหนึ่งเรื่อง

บนหัวกระดาษที่คล้ายสลิปจะระบุ ชื่อเรื่องและผู้แต่ง ก่อนจะตามด้วยเนื้อหาที่มีขนาดสั้นยาวตามเวลาที่เลือกกด

ที่สำคัญคือเรื่องสั้นแต่ละเรื่องล้วนเป็นเรื่องชั้นดี ที่มาจากฝืมือนักเขียนรุ่นเดอะและนักเขียนรุ่นใหม่ทั่วโลกที่คัดสรรโดยสำนักพิมพ์

และที่สำคัญที่สุดคือ “ฟรี!”

2. ตอบโจทย์ความเร่งรีบ

ลองนึกภาพดูว่า หากมีใครสักคนที่กำลังจะโดยสารรถไฟใต้ดินแล้วบังเอิญเดินผ่านเจ้าเครื่องนี้ จากนั้นเขาก็ยื่นมือไปกด ‘ปุ่ม 3 นาที’ หลังคำนวณแล้วว่าน่าจะใช้เวลาราว 5 นาทีเพื่อเดินทางไปยังสถานีปลายทาง

เรื่องสั้นเรื่องหนึ่งที่อยู่ในรูปใบเสร็จสินค้าก็ค่อยๆ ถูกพิมพ์ออกมาจากตู้กดเรื่องสั้น

กระดาษน้อยๆ ใบนั้นน่าจะเป็นตัวเลือกชั้นดีทีเดียว ที่จะช่วยให้เขาหรือใครก็ตามได้พักสายตาจากหน้าจอ

พร้อมกับใช้เวลาระหว่างโดยสารรถไฟใต้ดินอย่างรื่นรมย์

3. ชวนให้คิดถึงหนังสือ

ด้วยขนาดที่เทอะทะเมื่อเทียบกับสมาร์ทโฟน ทำให้การพกหนังสือเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความตั้งใจและพยายามไม่น้อย

หนังสือและผู้คนจึงค่อยๆ ถอยห่างจากกันมากขึ้นทุกที…

การเกิดขึ้นของตู้กดเรื่องสั้นได้กลายเป็นความหวังเล็กๆ ในกลุ่มคนที่อยู่ในแวดวงหนังสือ ที่เล็งเห็นว่าตู้นี้จะช่วยให้ผู้คนได้มีโอกาสกลับมาใช้เวลา (แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ) กับวรรณกรรมและเรื่องสั้น

(Photo: short-edition.com)

การได้อ่านเรื่องราวดีๆ เหล่านี้ในสื่อกระดาษที่ไร้การรบกวนจากความวุ่นวายในโลกออนไลน์ น่าจะช่วยให้หลายคนหวนคิดถึงการนั่งอ่านข้อเขียนอันลึกซึ้งผ่านหนังสือ ซึ่งเป็นสื่อโบราณที่เปิดพื้นที่และเวลาให้มนุษย์ได้มีเวลาจดจ่อ ขบคิด และพิจารณา จนเกิดปัญญาสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ มาตลอดหลายพันปี

ลูซี่ มัวร์ หนึ่งในทีมงานผู้นำเข้าตู้กดเรื่องสั้นมาติดตั้งที่ย่าน Canary Wharf ในกรุงลอนดอนตั้งข้อสังเกตว่า

“ตู้กดเรื่องสั้นจะเป็นยาแก้พิษดิจิทัลชั้นดี ให้ผู้คนกลับคืนสู่โลกอนาล็อค”.

(Photo: short-edition.com)