©ulture

กระดาษหน้าตาคล้ายใบเสร็จถูกพิมพ์ออกจากเครื่องสีส้มที่มีตัวหนังสือ ‘SHORT STORY DISPENSER’

ที่หัวกระดาษ ระบุชื่อเรื่องตัวโต ตามด้วยชื่อผู้เขียน ถัดจากนั้นคือตัวหนังสืออีกหลายบรรทัด

มันเป็นเรื่องสั้นเรื่องหนึ่ง ความยาวราว 3 นาที

กระดาษถูกดึงออกจากตัวเครื่องโดยชายคนหนึ่ง จากนั้นเขาก็เดินลงรถไฟใต้ดินไปพร้อมกระดาษคล้ายใบเสร็จแผ่นนั้น

นี่คือเหตุการณ์ใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในย่าน Canary Wharf ซึ่งเป็นย่านธุรกิจกลางกรุงลอนดอน เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หลังจากมีการนำ ‘ตู้กดเรื่องสั้น’ 3 ตู้ เข้ามาติดตั้งในย่านนี้

สำหรับคนทั่วไปอาจมองว่า เจ้าตู้กดเรื่องสั้นนี้เป็นแค่กิมมิคสนุกๆ หรือเป็นแค่ ‘ของเล่น’ ที่ช่วยสร้างสีสันให้คนขี้เบื่อได้มีอะไรทำสนุกๆ ในช่วงเวลาหนึ่ง ก่อนที่จะหายไปเหมือนของแปลกๆ อื่นๆ ก่อนหน้านี้

แต่ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ตู้กดเรื่องสั้นได้พิสูจน์แล้วว่า การมีอยู่ของมันทำให้ผู้คนได้ขยับใกล้วรรณกรรมและเรื่องเล่าชั้นดีมากขึ้น

“พวกเราต่างรู้สึกผิดที่จะพูดว่าเรายุ่งเกินไป แต่ผลการวิจัยของเราพบว่า คนกว่า 70 เปอร์เซ็นต์สูญเสียการได้อ่านหนังสือที่ดีไปกับโพรงกระต่ายในโซเชียลมีเดีย”

ลูซี่ มัวร์ หัวหน้าแผนกศิลปะและกิจกรรมของ The Canary Wharf Group ที่มีส่วนในการนำตู้กดเรื่องสั้นเข้ามายังกรุงลอนดอน แสดงความกังวลกับพฤติกรรมการอ่านหนังสือของคนอังกฤษรุ่นใหม่ที่กำลังหายไป

เขาหวังว่าตู้กดเรื่องสั้นจะช่วยเชื่อมโยงคนอังกฤษรุ่นใหม่กับหนังสือชั้นดี

“ตู้กดเรื่องสั้นจะเป็นยาแก้พิษดิจิทัลชั้นดี ให้ผู้คนกลับคืนสู่โลกอนาล็อค”

เมืองเกรอน็อบล์ (Photo: Wikipedia)

‘ตู้กดเรื่องสั้น’ มีต้นกำเนิดจากสำนักพิมพ์ท้องถิ่น Short Edition ในเมืองเกรอน็อบล์ (Grenoble) ประเทศฝรั่งเศส

สำนักพิมพ์แห่งนี้เป็นสำนักพิมพ์ขนาดเล็ก ปัจจุบันมีทีมงาน 11 คน ก่อตั้งเมื่อปี 2011 พิมพ์งานจากนักเขียนสมัครเล่นเป็นหลัก โดยสำนักพิมพ์มีเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นเป็นพื้นที่ปล่อยของสำหรับคนที่รักงานเขียน ขณะเดียวกันก็เปิดให้คนทั่วไปได้เข้ามาอ่านและโหวตให้เรื่องที่ถูกใจ

เรื่องใดได้รับคะแนนโหวตและเป็นที่นิยม สำนักพิมพ์ก็จะนำเรื่องเหล่านั้นมาทำเป็นอีบุ๊ค หนังสือเสียง พิมพ์เป็นหนังสือ หรือบรรจุใส่ตู้กดเรื่องสั้น เพื่อจำหน่ายและแบ่งรายได้ให้กับนักเขียน

แล้ว ‘ตู้กดเรื่องสั้น’ เกิดขึ้นตอนไหน?

หลังจากก่อตั้งสำนักพิมพ์ Short Edition ได้ราวสองปี บ่ายวันหนึ่งในปี 2013 ระหว่างที่สองผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ (Christophe Sibieude และ Quentin Pleplé) กำลังพักเบรค พวกเขาเดินไปซื้อขนมจากตู้กดอัตโนมัติ

ทำไมเราไม่เอาตู้กดน้ำและขนมพวกนี้มาเป็นตู้กดเรื่องสั้นนะ คนใดคนหนึ่งเกิดไอเดีย

ต่อมาปี 2014 พวกเขาก็สร้างตู้กดเรื่องสั้นต้นแบบ ที่ออกแบบให้มีวิธีการใช้ที่เรียบง่าย

มีปุ่มกดเพียง 3 ปุ่ม ที่บอกความยาวของเรื่องสั้น คือ 1 นาที / 3 นาที / 5 นาที

ผู้ใช้เพียงแค่กดปุ่มเลือกความยาวของเรื่องสั้นที่ต้องการอ่าน

จากนั้นเครื่องก็จะสุ่มพิมพ์เรื่องสั้นออกมา

ถึงแม้วิธีการใช้จะเข้าท่า แต่เครื่องต้นแบบก็ยังมีสิ่งที่ต้องปรับปรุง หลังจากทดลองใช้ไปสักพักแล้วพบปัญหาว่า “ปุ่มกดพังและฟอนท์ผิด”

ให้หลังจากนั้นอีกหนึ่งปี เดือนตุลาคม ปี 2015 สำนักพิมพ์ Short Edition ก็ปล่อยตู้กดเรื่องสั้นรุ่นพัฒนาแล้วจำนวน 8 เครื่อง โดยนำแต่ละเครื่องไปตั้งตามจุดสำคัญต่างๆ ในเมืองเกรอน็อบล์ เช่น ศาลากลาง แหล่งท่องเที่ยว ห้องสมุด

คิดค่าเช่าเครื่องละ 500 ยูโรต่อเดือน แต่ความจริงแล้วให้เช่าในราคาที่ถูกกว่านั้น เนื่องจากสภาเทศบาลเมืองเกรอน็อบล์และรัฐบาลท้องถิ่นให้การอุดหนุนเงินทุนในการพัฒนาต้นแบบ

หลังจากนั้นเป็นต้นมา ตู้กดเรื่องสั้นจากสำนักพิมพ์เล็กๆ ในเมืองเกรอน็อบล์ก็กลายเป็นที่รู้จัก เพราะในวันที่โลกแคบลง ไอเดียดีๆ จึงได้รับการพูดถึงและส่งต่ออย่างรวดเร็ว

สำนักข่าว The Guardian ของอังกฤษรายงานว่า ปัจจุบันตู้กดเรื่องสั้นนับร้อยเครื่องกระจายตัวอยู่ตามเมืองใหญ่ทั่วโลก เช่น ฮ่องกง และหลายเมืองในฝรั่งเศส รวมถึงสหรัฐอเมริกา

ขณะที่ The Verge สำนักข่าวด้านเทคโนโลยีชื่อดังระบุว่า ตู้กดเรื่องสั้นนี้ มีผลงานที่หลากหลายกว่า 13 ล้านชิ้นจากนักเขียนกว่า 6,800 คน ตั้งแต่นักเขียนคลาสสิกอย่างเชคสเปียร์จนถึงนักเขียนหน้าใหม่

คาเฟ่ Zoetrope ซานฟรานซิสโก (Photo: cafezoetrope.com)

ความพิเศษของตู้นี้คือผู้เช่าสามารถให้ทางสำนักพิมพ์คัดสรรประเภทและแนวเรื่องที่จะอยู่ในตู้กดได้ตามความเหมาะสม

“ผมอยากเห็นซานฟรานซิสโกมีเจ้าตู้นี้วางอยู่ในที่ต่างๆ” ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา ผู้กำกับหนังไตรภาคเลื่องชื่ออย่าง The Godfather ที่นำตู้กดเรื่องสั้นเข้ามาอเมริกาคนแรกเมื่อปี 2016 เผยความในใจ

เขานำเข้าตู้นี้มาวางไว้ที่คาเฟ่ Zoetrope ของเขาในซานฟรานซิสโก ด้วยเหตุผลว่า “เจ้าเครื่องนี้มันน่าสนใจที่นำนวัตกรรมของโลกยุคนี้ผสานเข้ากับเสน่ห์จากงานเขียนแบบดั้งเดิม”

ตู้กดเรื่องสั้นในคาเฟ่ Zoetrope ซานฟรานซิสโก

“ฉันรักเจ้าตู้นี้”

เคาซิน ปุน แฟนเรื่องสั้นตัวยงของ แอลิส มันโร (Alice Munro) เรย์ แบรดบิวรี (Ray Bradbury) และฟรันทซ์ คัฟคา (Franz Kafka) เอ่ยขึ้น ขณะนั่งอ่านเรื่องสั้นแกล้มไปกับการจิบค็อกเทล

“จะมีเหตุผลอะไรที่ฉันจะไม่หลงรักล่ะ หนึ่ง มันฟรี ทั้งๆ ที่ฉันควรจะต้องจ่ายสักดอลล่าร์ให้กับเรื่องเหล่านี้

สอง สิ่งใดก็ตามที่ช่วยให้ตาคุณห่างจากหน้าจอคือสิ่งที่ดี และคำที่เขียนขึ้นนั้นก็แตกต่างจากสิ่งที่เราเห็นผ่านหน้าจอ”

พูดจบ เคาซิน ปุน ก็หันไปจิบค็อกเทลและอ่านเรื่องสั้นบนกระดาษคล้ายใบเสร็จต่อ

“ภาษาเขียนเหล่านี้ยังไม่ตาย” Christophe Sibieude ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ Short Edition พูดถึงเรื่องสั้นและเรื่องเล่าที่เป็นวรรณกรรม

เขามองผ่านแว่นตาที่ใช้เลนส์ป้องกันแสงสีฟ้าจากหน้าจอไปที่สมาร์ทโฟนของเขา สมาร์ทโฟนที่วันนี้อาจดูเหมือนเป็นทุกอย่างในชีวิตของคนเรา ตั้งแต่ชีวิตการทำงาน ชีวิตส่วนตัว จนถึงเรื่องไร้สาระ ความบันเทิง และความว้าวุ่นใจ แต่เขาก็เชื่อว่าตู้กดเรื่องสั้นของเขาให้บางสิ่งที่ข้อความบนหน้าจอในอุปกรณ์ล้ำสมัยที่อยู่ในกระเป๋ากางเกงของเราให้ไม่ได้

“สื่อกระดาษช่วยให้เราได้พักจากหน้าจอ และผู้คนอาจไม่ให้การตอบรับกับตู้กดเรื่องสั้นของเรามากขนาดนี้ หากวันนี้สมาร์ทโฟนยังไม่ได้เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในชีวิตทุกด้านของเรา” ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ Short Edition ตั้งข้อสังเกต

ย่าน Canary Wharf (Photo: outdoorplus.co.uk)

ตัดภาพกลับมาที่ย่าน Canary Wharf ในกรุงลอนดอน หลังจากตู้กดเรื่องสั้นติดตั้งผ่านไปราวหนึ่งสัปดาห์

“ผมเป็นคนรุ่นเก่า ผมชอบสิ่งที่อยู่ในมือผมนะ” นักการเงินคนหนึ่งเพิ่งกดเรื่องสั้น 3 นาทีและ 5 นาทีมาถือไว้ในมือ เดิมทีเขาเป็นคนชอบอ่านนิยาย แต่ช่วงที่ผ่านมาเขาเลิกอ่านไปเพราะไม่มีเวลา และนิยายแต่ละเรื่องก็ยาวเกินไป

“เดี๋ยวผมจะลองอ่านดูนะ” เขาพูดถึงเรื่องสั้น 3 และ 5 นาทีที่กดมา แล้วก็รีบเดินไปทำงาน

ขณะที่สาวพนักงานต้อนรับและช่างตัดผมฝึกหัดคนหนึ่งบอกว่า “มันดีมากที่มีบางอย่างบนกระดาษแผ่นหนึ่งซึ่งจับต้องได้ เพราะทุกวันนี้ทุกอย่างอยู่ในโทรศัพท์”

เธอเลือกกดเรื่องสั้น 1 นาที “ฉันคิดว่าจะอ่านมันตอนพักกลางวัน”

(Photo: Johannes EISELE / AFP)

คนในเมืองใหญ่ต่างดูเร่งรีบราวกับว่าพวกเขามีเวลาไม่พอที่จะทำอะไรๆ ตลอดเวลา แม้แต่การได้มีเวลานั่งอ่านหนังสือ เรื่องสั้น หรือวรรณกรรมชั้นดี อันเป็นกิจกรรมธรรมดาในอดีต แต่วันนี้กลับเป็นกิจกรรมที่ทำได้ยากเหลือเกิน

ตู้กดเรื่องสั้น จึงกลายเป็นความหวังเล็กๆ ในโลกที่ผู้คนเริ่มห่างเหินวรรณกรรม ด้วยการเพิ่มสีสันและปรับวิธีการเข้าถึงให้เหมาะกับพฤติกรรมและยุคสมัย

ยุคที่ใครๆ ต่างครอบครองสมาร์ทโฟนและความสะดวกสบาย แต่กลับร้อนรน ร้อนใจ ไร้เวลาและความสุข.

 

อ้างอิง: