©ulture

เบื้องหลังการผลิตโต๊ะตัวใหม่ในแฟล็กชิปสโตร์ของ Smileyhound ที่เอาเศษกระดุมเหลือใช้มาสร้างสรรค์ได้อย่างลงตัว

“อุจจาระของคุณ คุณต้องจัดการมันเอง”

โหน่ง – บัณฑิต รัศมีโรจน์ ขึ้นต้น caption ประกอบภาพท็อปโต๊ะหินอ่อนเทียมสีขาวสะดุดตาในอินสตาแกรมส่วนตัวของเขาแบบนั้น เพื่อจั่วหัวไปสู่เรื่องเล่าถึงการตระหนักใน “ของเสีย” ที่แบรนด์แฟชั่นทิ้งไว้จนเกลื่อนโลก

Smileyhound Table
โหน่ง – บัณฑิต รัศมีโรจน์
Smileyhound Creative Director

ตำแหน่งของบัณฑิต คือ Creative Director แห่ง Smileyhound รับหน้าที่สร้างสรรค์แบรนด์เสื้อผ้าที่มีศักดิ์เป็นน้องของรุ่นพี่อย่าง Greyhound Original มานานนับสิบปี

เขาจึงคลุกคลีอยู่ในกระบวนการออกแบบ ผลิต และจำหน่ายสินค้าของ Smileyhound ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ บัณฑิตเป็นดีไซเนอร์ต้นธารงานออกแบบสวย เรียบ เท่ ของเสื้อผ้า กระเป๋า และแอ็กเซสเซอรี่ต่างๆ ที่ผู้บริโภคอยากจับจ่ายซื้อหามาไว้ในครอบครอง

Smileyhound Table

ดังนั้น เขาจึงเป็นผู้ที่รู้ดีที่สุดว่าขยะเหลือทิ้งจากขั้นตอนการผลิตสินค้าในอุตสาหกรรมแฟชั่นนั้นมีมากมายแค่ไหน

และทั้งหมดคือ อุจจาระที่เขาต้องเป็นผู้เริ่มเก็บมันด้วยตัวเองก่อนใคร

เมื่อ “อัปไซเคิล” ตอบโจทย์ได้ดีกว่าการรีไซเคิล

“ความหมายที่ผมต้องการสื่อสารก็คือ อะไรบางอย่างที่เกิดขึ้นจากตัวเราเอง เราไม่สามารถให้คนอื่นจัดการได้ เช่น ถ้าเรากินอาหารที่บ้าน แล้วเหลือเป็นขยะขึ้นมา เราก็ต้องเก็บมันทิ้งเอง เช่นเดียวกัน เมื่อเราอุจจาระออกมา มูลของเรา เราก็ต้องเคลียร์มันเอง ดังนั้น ขยะที่เกิดจากอุตสาหกรรมของเรา เราก็ต้องจัดการเอง” บัณฑิตขยายความถึงจุดเริ่มต้นของไอเดียที่เกิดขึ้นเมื่อปลายปีที่แล้ว

Smileyhound Table

“ผมเลยลองกลับมามองว่า ขยะที่เกิดจาก Smileyhound มีอะไรบ้าง ซึ่งมีเยอะมาก ทั้งเศษผ้า เศษกระดุม ฯลฯ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นว่าเหลือทิ้งเยอะเป็นพิเศษ ก็คือ ขอบกระดุม ที่มีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมปากฉลาม ที่หากไม่ทิ้งก็จะถูกนำไปเข้ากระบวนการรีไซเคิลใหม่ ซึ่งต้องผ่านกระบวนการทางอุตสาหกรรมเคมี ทำให้เกิดคาร์บอนฟุตปริ้นท์ตามมาอีกมหาศาล ผมจึงเลือกขอบกระดุมมาเป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิตชิ้นงานครั้งนี้”

Smileyhound Table

กระบวนการที่บัณฑิตกำลังพูดถึงก็คือ Upcycle ซึ่งต่างจาก Recycle ที่เราคุ้นหูมานานหลายทศวรรษ

รีไซเคิลเป็นการนำวัสดุที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ ผ่านกระบวนการแปรรูป ซึ่งส่วนใหญ่ใช้วิธีหลอมให้เป็นวัตถุดิบชนิดเดิม เช่น ขวดแก้ว หรือกระดาษ ที่เมื่อนำมารีไซเคิลแล้วก็จะได้ขวดแก้วและกระดาษเหมือนเดิม แต่หน้าตาอาจเปลี่ยนไป

ส่วนอัปไซเคิลเป็นการนำวัสดุจากผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ถูกใช้งานแล้วมาสร้างสิ่งของชิ้นใหม่ ที่กลายเป็นอีกผลิตภัณฑ์ไปเลย เช่น นำเสื้อยืดที่เก่าจนย้วยมาตัดแขน เล็มคอ แล้วเย็บใหม่ให้กลายเป็นถุงผ้าสำหรับใส่ของ 

หรืออย่างการนำพลาสติกจากรังดุม มาผ่านกระบวนการผลิตจนเกิดเป็นท็อปโต๊ะหินเทียมชิ้นนี้ ก็เป็นตัวอย่างของกระบวนการอัปไซเคิลที่เห็นภาพได้ชัดเจนที่สุดเช่นกัน

Smileyhound Table

และแม้จะดูคล้ายกันมาก แต่อัปไซเคิลก็แตกต่างจากรีไซเคิลตรงที่อาศัยการออกแบบมาช่วยเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ เพื่อยืดอายุวัสดุให้เป็นขยะช้าลง และลดการใช้ผลิตภัณฑ์ใหม่

ในขณะที่รีไซเคิลเป็นการนำวัสดุที่ไม่สามารถยืดอายุการใช้งานได้แล้วมาผลิตเป็นวัสดุเดิมซ้ำ เพื่อลดต้นทุนการผลิตให้น้อยลง โดยจะได้สินค้าที่มีคุณภาพและมูลค่าด้อยกว่าเดิม 

นอกจากนี้ ข้อเสียของการรีไซเคิล คือ ต้องใช้พลังงานหรือสารเคมีในกระบวนการแปรสภาพสูง จึงเป็นการสิ้นเปลืองพลังงานมากขึ้นโดยใช่เหตุ

โต๊ะหินอ่อนเทียมจากขอบกระดุม

หลังจากไตร่ตรองแล้วว่า ขอบกระดุมคือขยะหมายเลขหนึ่งที่ต้องถูกจัดการ บัณฑิตก็เริ่มปรึกษาผู้เชี่ยวชาญอย่าง บมจ. พีทีที โกลบอล เคมิคอล หรือ GC ที่ลุยงานด้านการอนุรักษ์และพัฒนาพลังงานมาแล้วอย่างยาวนาน

ทาง GC ได้แนะนำให้บัณฑิตรู้จักอีกหนึ่งพันธมิตร คือ SONITE Innovative Surfaces บริษัทที่สร้างชื่อจากการเป็นผู้ผลิตเรซินโมเสกชั้นนำในปี 2550 ต่อยอดไปสู่การผลิตเฟอร์นิเจอร์ที่มีส่วนผสมจากวัสดุรีไซเคิลต่างๆ SONITE จึงถือเป็นผู้เชี่ยวชาญในการรังสรรค์วัตถุดิบใหม่ๆ ที่ GC มั่นใจว่าสามารถเป็นพี่เลี้ยงให้ Smileyhound พัฒนาขยะจากเศษกระดุมให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจได้จริง

Smileyhound Table

SONITE และ Smileyhound ใช้เวลาตลอดครึ่งปีแรกของ พ.ศ. 2563 ฝ่าวิกฤติโควิด -19 ไปพร้อมๆ กับการทดลองนำขอบกระดุมมาผลิตเป็นท็อปโต๊ะซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนสุดท้ายก็ได้ผลลัพธ์เป็นท็อปโต๊ะหินเทียม ที่มองเผินๆ เหมือนหินอ่อน ต่อเมื่อได้เพ่งมองในรายละเอียดใกล้ๆ จึงจะเห็นเศษรังดุม เม็ดกระดุม และผ้าปักลายสุนัขสมายลีย์ฮาวด์ แทรกตัวอยู่อย่างกลมกลืน

Smileyhound Table

“ถ้าเราสังเกตในชิ้นของแผ่นหินเทียมจะเห็นเศษปากฉลามหักๆ อยู่ นั่นคือ ขอบกระดุมที่กระจัดกระจายไร้ทิศทาง โดยไม่สามารถกำหนดมันได้เลย และผมก็เลยนึกต่อไปว่า ทำไมเราไม่ทำสไตล์ให้เป็นแมทีเรียลของเราเอง เลยค้นหาไอเดียไปเรื่อยๆ

“ผมอยากให้คนที่เห็นโต๊ะนี้เกิดความสงสัยและอยากรู้ว่า รูปทรงสามเหลี่ยมชิ้นเล็กๆ เหล่านี้คืออะไร ผมเลยใส่กระดุมจริงเข้าไปด้วย ซึ่งถ้าอยู่ในจังหวะที่ดีจะเห็นเลเซอร์ชื่อแบรนด์อยู่บนกระดุม

Smileyhound Table

Smileyhound Table

“นอกจากนี้ ผมยังใส่ตัวปักของหมาที่เป็นโลโก้แบรนด์เข้าไปด้วย เคยทดลองใส่หมาที่เป็นสีเข้าไป แต่ด้วยความที่ผมอยากคุมสีให้เป็น Tone on Tone ด้วยสีขาวทั้งหมด ทำให้เมื่อมองผ่านๆ จะเหมือนแผ่นหินอ่อนเทียมไม่มีผิด” บัณฑิตเล่าถึงขั้นตอนการทดลองผลิตโต๊ะอัปไซเคิลตัวแรกของแบรนด์แฟชั่นไทย ที่ปัจจุบันถูกใช้งานจริงในแฟล็กชิป สโตร์ Smileyhound สาขาสยามเซ็นเตอร์ และเดอะ มอลล์ ไลฟ์สโตร์ งามวงศ์วาน

Smileyhound Table

โดยเฉพาะโฉมใหม่ของแฟล็กชิป สโตร์ Smileyhound สาขาสยามเซ็นเตอร์ ที่มีแนวคิดมาจากไอเดีย The Planet’s Best Buddy โดย Smileyhound มองว่าตนเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดที่เติบโตขึ้น จึงไม่ได้อยู่เคียงข้างลูกค้าแค่ทางด้านเสื้อผ้าและไลฟ์สไตล์เท่านั้น แต่ยังเป็นมิตรต่อโลกใบนี้อีกด้วย

Smileyhound Table

ดังนั้น จึงไม่เฉพาะแค่การจัดแสงภายในร้านที่ถูกออกแบบให้สบายตาเหมือนแสงธรรมชาติ เข้ากับโทนสีของงานไม้ตั้งแต่พื้นไปจนถึงเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ เท่านั้น 

แต่โต๊ะสีิหินอ่อนเทียมสีขาวบริสุทธิ์ที่ตั้งเด่นอยู่ใจกลางร้านตัวนี้ต่างหาก คือ พระเอกตัวจริง

Smileyhound Table

เหรียญรางวัลแห่งการให้

สำหรับแฟนพันธุ์แท้ Smileyhound ที่อยากเป็นเจ้าของชิ้นงานหินเทียม ผลิตภัณฑ์อัปไซเคิลลำดับแรกของทางแบรนด์ ไม่ต้องถึงขั้นลงทุนสั่งทำท็อปโต๊ะตัวเขื่อง แต่สามารถเป็นเจ้าของได้ง่ายๆ ในรูปแบบของเหรียญรางวัลประจำงาน Smileyhound Run Your Heart Out Campaign

Smileyhound Table

งานวิ่งแบบ Virtual Run ที่แต่ละจังหวะการเต้นของหัวใจผู้เข้าร่วมแคมเปญทุกคน จะไปช่วยให้หัวใจของเด็กที่ป่วยด้วยโรคหัวใจและรอการผ่าตัด ได้มีโอกาสเต้นต่อไป โดยรายได้ 100 บาทจากทุกๆ การสมัครเข้าร่วมกิจกรรมจะบริจาคให้แก่มูลนิธิเพื่อสนับสนุนการผ่าตัดหัวใจเด็ก

นอกจากได้ทำบุญแล้ว ความเลอค่าของงานวิ่งในครั้งนี้คือ รายนามของที่ระลึกในคอลเล็กชั่นพิเศษที่จัดมาเป็นกระบวนทัพ ทั้งถุงผ้า หมวก แมสก์ ผ้าบัฟฟ์ และเสื้อวิ่งที่ทำจากผ้าที่ผลิตจากขยะพลาสติก ที่ผ่านกระบวนการ Upcycling เช่นเดียวกับเหรียญรางวัล

Smileyhound Table

“ผมจะใช้แมทีเรียลนี้เป็นซิกเนเจอร์ในการออกแบบไปเรื่อยๆ และเริ่มทดลองนำมาทำไลฟ์สไตล์โปรดักท์ ที่อาจจะพัฒนามาเป็นสินค้าวางขายในอนาคต เช่น ถาดใส่เครื่องเขียน เป็นต้น”

เริ่มต้นจากขยะเศษกระดุมไปจบที่การเต้นของหัวใจเด็ก บัณฑิตเน้นย้ำว่า การลากเส้นจุดต่อจุดจากเรื่องราวหนึ่งไปสู่อีกเรื่องราวถือเป็นหัวใจสำคัญในการทำงานของแบรนด์ Greyhound และ Smileyhound มาโดยตลอดก็ว่าได้

“ในการทำงาน พวกเราพยายามทำให้ทุกอย่างเป็นสตอรี่เดียวกัน เล่าเรื่องต่อกันได้โดยมีจุดเชื่อมโยงกัน จากสิ่งที่เป็น waste ของเรา คอลเล็กชั่นของเรา ซิมโบลิกของเรา ไปสู่มุมมองในการช่วยเหลือของเรา” บัณฑิตกล่าวปิดท้าย ถึงจุดเริ่มต้นของเรื่องราว Upcycling วงล้อแห่งความยั่งยืนที่สามารถหมุนไปต่อได้อีกไกล

Smileyhound Table

ติดตามรายละเอียดงานวิ่ง Smileyhound Run Your Heart Out Campaign ได้ที่ facebook.com/smileyhoundbygreyhound