©ulture

“คนแถวนี้เขาเรียกที่นี่ว่าอียิปต์เมืองสุรินทร์”

ผศ.บุญเสริม เปรมธาดา เอ่ยถึงผลงานการออกแบบสถาปัตยกรรมก่ออิฐแห่งล่าสุดที่ตั้งอยู่สุดขอบจังหวัดสุรินทร์ ที่ถือเป็นอีกหนึ่งโจทย์ใหญ่ท้าทายความสามารถของสถาปนิกแห่ง  Bangkok Project Studio ผู้ชำนาญงานออกแบบวิถีชีวิตชุมชนคนนี้

Surin Elephant World
Photo: Spaceshift Studio

อาณาจักรแห่งนี้มีชื่อเรียกว่า โลกของช้าง จ.สุรินทร์ (Surin Elephant World) ประกอบด้วยอาคารที่สร้างจากอิฐเผาสีดินแดงหลายหลังหลากหน้าตา ทั้งอาคารลานแสดงช้าง อาคารพิพิธภัณฑ์ และหอชมทิวทัศน์ ที่เมื่อมีผืนดินแห้งแล้งของท้องถิ่นอีสานเป็นฉากหลัง บรรยากาศโดยรวมของที่นี่จึงให้ความรู้สึกเหมือนอียิปต์ถิ่นพีระมิดอย่างที่ชาวบ้านพร้อมใจขนานนาม

Surin Elephant World
Photo: Spaceshift Studio

โลกของช้างเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมมาตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา ด้วยหน้าตาของอาคารอิฐรูปร่างแปลกตา ที่ย่อมดึงดูดให้นักท่องเที่ยวอยากเข้าไปถ่ายรูปเช็คอินได้ไม่ยาก แต่เราอยากให้คุณทำความรู้จักที่มาของสถาปัตยกรรมเพื่อช้างแห่งนี้ให้ดียิ่งขึ้น ว่าอะไรทำให้เกิดโครงการออกแบบบ้านหลังใหญ่ให้คนกับช้างอยู่ร่วมกันได้

1.

ชวนชาวกูยกลับมาอยู่บ้าน

หมู่บ้านช้างบ้านตากลางเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวกูย ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้มานานหลายร้อยปี ภูมิปัญญาที่ชาวกูยสืบทอดแบบรุ่นสู่รุ่นก็คือ ความชำนาญด้านการเลี้ยงและฝึกสอนช้างที่เก่งกาจเหนือชั้นกว่าใคร เพราะเกิดจากสายสัมพันธ์แบบครอบครัว โดยช้างกับคนอาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน และมีวิถีชีวิตที่ผูกพันกันอย่างแยกไม่ออก

Surin Elephant World
Photo: Spaceshift Studio

แต่เมื่อโลกหมุนไปข้างหน้า รัฐบาลมีการผลักดันให้ปลูกพืชเศรษฐกิจมากขึ้น พื้นที่เกษตรกรรมใหม่จึงเข้าไปรุกล้ำพื้นที่ป่าแถบนั้น ซึ่งเป็นแหล่งอาหารและถิ่นที่อยู่ของช้าง เมื่อช้างไม่มีบ้าน อาหารเริ่มร่อยหรอ คนเลี้ยงช้างก็พลอยอดอยากตามไปด้วย การพาช้างคู่ชีพออกไปร่อนเร่บนท้องถนนทั่วประเทศไทยจึงได้เริ่มต้นขึ้น 

“สาเหตุที่ชาวกูยต้องร่อนเร่ เพราะช้างไม่มีอะไรกิน คนอดได้ แต่ช้างอดไม่ได้ ทำให้พวกเขาต้องไปตายเอาดาบหน้า ช้างบางเชือกต้องไปใช้แรงงานลากไม้ ไปอยู่ตามปางช้างต่างๆ ไปจนถึงเดินขอเงินตามท้องถนนในกรุงเทพฯ อันเป็นที่มาของภาพที่ชาวต่างชาตินำไปถ่ายทอดว่าเราทรมานช้าง ลามไปจนถึงแบนการท่องเที่ยวประเทศไทย นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้น

Surin Elephant World
Photo: Spaceshift Studio

“รัฐบาลเองก็เห็นถึงปัญหาจึงพยายามแก้ไขมาโดยตลอด แม้งบประมาณจะไม่ได้มีมาก ทั้งยังต้องนำไปพัฒนาสาธารณูปโภคด้านอื่นเช่นกัน แต่ก็ยังมีอีกหลายหน่วยงานที่เห็นว่าสัตว์ก็สำคัญ ทั้งองค์การสวนสัตว์ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ และกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ที่มีแนวคิดตรงกันว่า มนุษย์ไม่ได้เป็นเผ่าพันธุ์เดียวบนโลกนี้ ดังนั้น ความคิดในการยึดถือมนุษย์เป็นศูนย์กลางจึงไม่เวิร์คอีกต่อไป”

อาจารย์บุญเสริมเล่าถึงปัญหาใหญ่ที่เรื้อรังมานาน และได้รับการแก้ไขมาตั้งแต่ทศวรรษที่แล้ว โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์จัดทำโครงการศูนย์คชศึกษาขึ้นที่บ้านตากลาง เพื่อเป็นการนำร่องในโครงการนำช้างคืนถิ่น ร่วมกับองค์การสวนสัตว์ และอีกหลายหน่วยงานที่ช่วยกันแก้ปัญหาช้างแะควาญช้างเร่ร่อนให้ค่อยๆ หมดไป

Surin Elephant World
Photo: Spaceshift Studio

“เมื่อเราคิดที่จะพาช้างกลับมา เราก็ต้องปลูกป่า หาแหล่งอาหารให้ช้างกิน สุดท้ายชาวกูยเองที่เลี้ยงช้างก็ต้องมีรายได้ การจะมีรายได้ก็ต้องทำโครงการแบบนี้ เพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชม พอนักท่องเที่ยวเข้ามาก็เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจในพื้นที่ อย่างตอนนี้ยิ่งเห็นได้ชัด หลังจากโลกของช้างเปิดให้คนเข้าไปเที่ยวตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีร้านพิซซ่า ร้านกาแฟเปิดใหม่ขึ้นอีกหลายร้าน จากเดิมตอนผมเริ่มก่อสร้างที่นี่มีเพิงขายข้าวแค่เพิงเดียว แสดงให้เห็นว่าอย่างน้อยก็ทำให้คนในพื้นที่เริ่มคิดแล้วว่า ตัวเองจะทำมาหากินอะไรในบ้านตัวเองดี”

2.

‘ขนาด’ เป็นเรื่องสำคัญ

Surin Elephant World
Photo: Spaceshift Studio

เพราะได้ชื่อว่าเป็นโลกของช้าง อาจารย์บุญเสริมจึงออกแบบลานแสดงช้าง หรือ Elephant Stadium ที่เปรียบเหมือนสนามเด็กเล่นของช้าง ด้วยการยึดขนาดของช้างเป็นหลัก เพื่อให้คนที่มาเที่ยวรู้สึกเหมือนกำลังเดินเข้าไปในบ้านของช้าง สถาปนิกจึงเลือกที่จะปรับรูปทรงหลังคาจั่วของบ้านชาวกูยดั้งเดิม มาขยายขนาดให้ครอบคลุมพื้นที่ 70 x 100 เมตร แล้วคว้านเอาหลังคาส่วนที่อยู่เหนือลานการแสดงออก เหลือเฉพาะหลังคาโดยรอบไว้กันแดดกันฝนให้ผู้ชม

Surin Elephant World
Photo: Spaceshift Studio

สำหรับภูมิประเทศสูงๆ ต่ำๆ ของอัฒจรรย์รอบลานแสดงก็จงใจออกแบบให้มีลักษณะเหมือนเนินในภาคอีสาน โดยดินที่ใช้เสริมพื้นที่ก็เป็นดินลูกรังจากการขุดบ่อเก็บน้ำ เพื่อใช้เป็นแหล่งน้ำสำหรับช้างในพื้นที่

ส่วนหินสีดำที่ใช้ปูทับโดยรอบอัฒจรรย์เป็นหินบะซอลต์ ซึ่งพบเฉพาะในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ทั้งยังทำหน้าที่ป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากช้างไปในตัว เพราะหินบะซอลต์มีลักษณะหยาบ ทำให้ช้างซึ่งมีเท้าเป็นหนังอ่อนไม่สามารถเดินขึ้นไปยังบริเวณที่นั่งของคนดูได้

Surin Elephant World
Photo: Spaceshift Studio

นอกจากนี้ ยังมีการเจาะช่องบนผืนหลังคาตามจุดต่างๆ โดยรอบ เพื่อเป็นพื้นที่ให้ต้นยางนาที่เพิ่งเริ่มปลูกสามารถเติบโตทะลุช่องเหล่านี้ เพื่อสร้างร่มเงาให้แก่อาคารในอนาคต

3.

หอชมทิวทัศน์ที่เป็นมากกว่าจุดชมวิว

Surin Elephant World
Photo: Spaceshift Studio

หนึ่งในสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นเป็นสง่าแห่งโลกของช้างก็คือ หอชมทิวทัศน์อิฐ (Brick Observation Tower) ที่สะกดทุกสายตาด้วยความสูงกว่า 23 เมตร แบ่งพื้นที่ออกเป็น 5 ชั้น แต่เดินแล้วไม่เมื่อย เพราะสถาปนิกจงใจออกแบบให้ผู้เยี่ยมชมไม่ต้องรีบร้อนเดินขึ้นไปยังยอดบนสุดโดยไว ด้วยการเจาะช่องโล่งจำนวนมากไว้ในโครงสร้างผนังโดยรอบ เพื่อให้สามารถชมวิวจากหลายมุมมองได้ในทุกก้าวเดิน รวมถึงการออกแบบบันไดในแต่ละชั้นให้ซ้อนกันไปมา เพื่อกระจายคนในแต่ละชั้นไม่ให้ต้องมากระจุกรวมกันอีกด้วย

Surin Elephant World
Photo: Spaceshift Studio

นอกจากนี้ เสน่ห์ของหอคอยที่มีผังเป็นรูปร่างหยดน้ำหลังนี้ ยังอยู่ตรงการถูกหุ้มด้วยอิฐดินเผาขนาด 15 x 30 x 5 ซม. ซึ่งเป็นอิฐขนาดใหญ่พิเศษที่ถูกออกแบบขึ้นใหม่ เพื่อให้เหมาะกับอาคารสเกลใหญ่หลังนี้ ที่ก่ออิฐสลับเป็นจังหวะขึ้นไป จนค่อยๆ ยื่นหายไปสู่ท้องฟ้าในชั้นบนสุด

Surin Elephant World
Photo: Spaceshift Studio

อาจารย์บุญเสริมแนะนำเพิ่มเติมสำหรับใครที่ตั้งใจจะเดินขึ้นไปชมทิวทัศน์บนหอชมวิวอิฐหลังนี้ว่า ควรหาหยิบลูกยางนาที่ร่วงหล่นอยู่ตามพื้นดินติดมือขึ้นไปด้วย จะได้ช่วยโปรยพืชพื้นถิ่นให้ล่องลอยตามแรงลมไปแพร่พันธุ์ในธรรมชาติต่อไป

4.

พิพิธภัณฑ์ที่ช้างเดินเข้าเดินออกได้

Elephant Museum เป็นส่วนของพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งหน้าตาคล้ายพีระมิดผสมเขาวงกต สร้างจากอิฐดินเผากว่า 480,000 ก้อน ต้อนรับแขกผู้มาเยือนด้วยทางเข้าอาคารที่ค่อยๆ ก่ออิฐเพิ่มความสูงเป็นเว้าโค้ง ให้ความรู้สึกของการเป็นประตูที่ค่อยๆ พาคนตัวเล็กๆ เข้าไปสู่โลกของช้างอย่างแท้จริง

Surin Elephant World
Photo: Spaceshift Studio

นอกจากนี้ ตัวพิพิธภัณฑ์ยังเปิดแนวกำแพงอิฐตามมุมต่างๆ เพื่อให้ช้างสามารถเดินเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการจัดแสดงในอนาคต

อีกทั้งยังมีการออกแบบอากาศ ลม และเสียงภายในพิพิธภัณฑ์ ด้วยการใช้หลักการตามงานวิจัยภาษาเสียง หรือ Sound Brick ทำให้เกิดความแตกต่างของเสียงในพื้นที่ และมีต้นไม้ระหว่างทางเดินช่วยให้ร่มเงาและซับการสะท้อนของเสียงอีกแรง

Surin Elephant World
Photo: Spaceshift Studio

“เท่าที่ผมทราบ ตอนนี้มีช้างกลับมาอยู่ที่นี่มากกว่า 200 เชือกแล้ว” อาจารย์บุญเสริมปิดท้ายด้วยความคืบหน้า ณ ปัจจุบันของโครงการโลกของช้าง ที่ยังต้องไปต่อในอนาคต

“พื้นที่หลายร้อยไร่ตรงนี้ถูกทิ้งไปนานหลายปี ต้องใช้เวลาฟื้นฟู ต้นไม้ที่เพิ่งปลูกก็ต้องรอให้โต แต่อย่างน้อยโครงการนี้ก็ทำให้ผู้คนได้ตระหนักถึงผลเสียของการทำลายป่า จนสัตว์ไม่มีกิน คนก็ไม่มีจะกินตามไปด้วย ทำให้ต้องเดินทางไปหากินในเมือง กลายเป็นปัญหาของคนเมืองในท้ายที่สุด

“เราแค่พาพวกเขากลับบ้าน สร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างทุกพื้นที่ให้เป็นหัวเมืองได้ด้วยตัวเอง”