ในสมัยรัชกาลที่ 4 หรือราว 180 ปีก่อน มีบทร้อยกรองชื่อ ‘สุภาษิตสอนสตรี’
บทร้อยกรองนี้มีฉันทลักษณ์ ‘กลอนแปดสุภาพ’ และมีใจความสำคัญเกี่ยวกับการสอนผู้หญิงให้ประพฤติตัวตามค่านิยมอันดีของสังคมไทยดั้งเดิม
สุจิตต์ วงษ์เทศ นักวิชาการอิสระ บอกว่านี่คือสุภาษิตสำหรับ “สอนลูกสาวขุนนางผู้ดี ที่จะหาผัวในรั้วในวัง”
แต่เมื่อถึงยุคนี้ (ที่เศรษฐีคือขุนนาง) เมื่อลองหยิบเนื้อหามาพิจารณาก็พบว่า คำสอนที่ปรากฏนั้นลงรายละเอียดและมีแง่มุมที่น่าสนใจ เพราะแนะนำการปฏิบัติตัวของผู้หญิงแต่ละช่วงวัย ตั้งแต่วัยสาวแรกรุ่นจนถึงออกเรือน
แม้ด้วยอายุของบทร้อยกรองจะทำให้หลายคนมองว่า คำสอนเหล่านี้ดูคร่ำครึ แต่ถ้าได้ลองอ่านก็จะพบความร่วมสมัยและปรารถนาดี ถึงแม้ว่าจะไม่ทั้งหมด และในบางประโยค นักสิทธิสตรีอาจสะดุ้งก็ตาม
วัยสาวแรกรุ่น: วางตัวให้สมฐานะ ทั้งการแต่งกายและกิริยามารยาท
ในช่วงต้นของบทประพันธ์ ผู้แต่งได้กล่าวถึง “สาวแซ่” ซึ่งน่าจะมีความหมายเดียวกับ “สาวแส้” ที่หมายถึงสาวแรกรุ่น ว่าเปรียบเสมือน ‘มณี’ หรือแก้วหินมีค่าสีแดงจำพวกทับทิม ที่หากไม่ได้ดูแลให้ดี ปล่อยให้แตกร้าวหรือมีตำหนิ ก็ย่อมเสียราคา
เป็นสาวแซ่แร่รวยสวยสะอาด
ก็หมายหมาดเหมือนมณีอันมีค่า
แม้แตกร้าวรานร่อยถอยราคา
จะพลอยพาหอมหายจากกายนาง
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะเปรียบผู้หญิงเป็นของมีค่า แต่หากไม่ได้มียศถาบรรดาศักดิ์หรืออยู่ในสกุลสูง ก็ไม่ต้องพยายามทำตัวให้เป็นชนชั้นสูง มีฐานะอย่างไรก็แต่งให้สมศักดิ์ศรีตามนั้น ทั้งหน้าผมและเครื่องแต่งกาย
จะนุ่งห่มดูพอสมศักดิ์สงวน
ให้สมควรรับพักตร์ตามศักดิ์ศรี
จะผัดหน้าทาแป้งแต่งอินทรีย์
ดูฉวีผิวเนื้ออย่าเหลือเกิน
นอกเหนือไปจากการรู้จักแต่งเนื้อแต่งตัวให้สมศักดิ์ศรีและสมฐานะ คุณสมบัติของหญิงสาวที่เปรียบเสมือน “มณีอันมีค่า” ยังต้องประกอบด้วยกิริยามารยาทที่ ‘สมหญิง’ ทั้งการวางตัวให้เรียบร้อยสง่างาม ไม่กระโดกกระเดก ตลอดจนการระวังคำพูดคำจาในที่สาธารณะ
อย่าเดินกรายย้ายอกยกผ้าห่ม
อย่าเสยผมกลางทางหว่างวิถี
อย่าพูดเพ้อเจ้อไปไม่สู้ดี
เหย้าเรือนมีกลับมาจึงหารือ
หรือแม้กระทั่งการใช้ eye contact ก็ยังมีสอนสั่งไว้ หรือถ้ายังจำกันได้ ก็ตามสำนวนของ ‘คุณพี่’ ใน บุพเพสันนิวาส ที่ว่า อย่า“ชะม้อยชม้ายชายตา”
อนึ่งเนตรอย่าสังเกตให้เกินนัก
จงรู้จักอาการประมาณหมาย
แม้นประสบพบเหล่าเจ้าชู้ชาย
อย่า ‘ชม้ายทำชะม้อย’ ตะบอยแล
แม้หลักการประพฤติตนของหญิงในบทที่ยกมาข้างต้น จะเต็มไปด้วยข้อห้ามมากมาย นับคำว่า ‘อย่า’ (พบว่ามีถึงแปด ‘อย่า’) แต่เมื่อคิดให้ถี่ถ้วนแล้ว การห้ามข้างต้นก็มีเหตุผลอื่นนอกเหนือไปจากเรื่อง ‘ดูไม่งาม’
เช่น อย่าไกวแขนสุดแขนเขาห้ามปราม เพราะการเดินไกวแขนในที่สาธารณะ ถ้าเหวี่ยงไปโดนคนอื่นเข้าก็ไม่ดีเท่าไหร่นัก อย่าเสยผมกลางทางหว่างวิถี เพราะคงไม่มีใครทราบกับเราว่าผมนี้สระครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ ผมจะสะบัดไปฟาดใครเข้าหรือไม่ หรือแม้แต่ อย่าลืมตัวมัวเดินให้เพลินจิต ระวังปิดปกป้องของสงวน ก็เป็นคำเตือนที่ยังคงใช้ได้ดี เพราะมิจฉาชีพที่ชอบแอบถ่ายก็ยังมีให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน
วัยสาวสะพรั่ง: รู้ทันเชิงชาย อย่าชิงสุกก่อนห่าม เลือกสามีให้เป็น
ผ่านพ้นวัยสาวน้อยก็ย่อมเข้าสู่วัยสาวสะพรั่ง ความสนใจในเพศตรงข้ามย่อมเป็นเรื่องปกติ…แม้บทประพันธ์จะพร่ำอบรมให้หญิงสาวเป็นกุลสตรี แต่ก็ไม่ได้ห้ามว่าต้องไม่สนใจชาย ดังที่ว่า
อันที่จริงหญิงชายย่อมหมายรัก
มิใช่จักตัดทางที่สร้างสม
แม้นจักรักรักไว้ในอารมณ์
อย่ารักชมนอกหน้าเป็นราคี
พูดให้กระชับก็คือ สนใจได้…แต่อย่าออกนอกหน้า หากชอบพอใครก็ให้สงวนกิริยาท่าทีไว้ก่อน เพราะในช่วงเริ่มต้นความสัมพันธ์ ไม่ว่าใครก็ต้องนำเสนอแต่ด้านดีเข้าหากัน พอ ‘หมดโปรฯ’ แล้วลายถึงเพิ่งออก
จึงควรศึกษาดูนิสัยใจคอให้รู้แน่เสียก่อนจะตกหลุมรัก มิฉะนั้นจะกลายเป็นตกหลุมพรางไป
แม้นชายใดหมายประสงค์มาหลงรัก
ให้รู้จักเชิงชายที่หมายมั่น
อันความรักของชายนี้หลายชั้น
เขาว่ารักรักนั้นประการใด
อย่างไรก็ตาม แม้จะบอกว่าให้ระวังผู้ชายไว้ อย่าใจเร็วด่วนได้ แต่ท่านก็ว่าผู้ชายที่ดีก็ยังมีอยู่มาก แต่ที่หายากก็เพราะบางคนดูคนผิด หรือสมัยนี้ก็อาจจะตีความได้ว่าผู้หญิงหลายคนก็ชอบ ‘แบดบอย’
ซึ่งถ้าหาก แบด เฉพาะคาแร็กเตอร์ก็ยังพอทำเนา แต่ถ้าซึมลึกไปถึงนิสัยใจคอด้วย ก็ย่อมนำความเดือดร้อนมาสู่ตน
จะหาคู่สู่สมภิรมย์หวัง
จงระวังชั่วช้าอัชฌาสัย
ที่ชายดีนั้นก็มีอยู่ถมไป
ใช่วิสัยเขาจะชั่วไปทั่วเมือง
แต่ใจคนมักรนไปหาผิด
ครั้นได้คิดจิตตรอมออกผอมเหลือง
ต้องเดือดดิ้นกินน้ำตาอยู่นองเนือง
สุดจะเปลื้องราคินจนสิ้นคาว
ทั้งเมื่อตกลงปลงใจจะคบกับใครแล้ว ก็ให้รักนวลสงวนตัว อย่าชิงสุกก่อนห่าม หากมีวาสนาต่อกันจริงก็ย่อมไม่แคล้วกัน
จงรักนวลสงวนนามห้ามใจไว้
อย่าหลงใหลจำคำที่ร่ำสอน
คิดถึงหน้าบิดาและมารดร
อย่ารีบร้อนเร็วนักมักไม่ดี
เมื่อสุกงอมหอมหวานจึงควรหล่น
อยู่กับต้นอย่าให้พรากไปจากที่
อย่าชิงสุกก่อนห่ามไม่งามดี
เมื่อบุญมีคงจะมาอย่างปรารมภ์
หรือหากใครยังไม่มี ท่านก็ว่าอย่าไปคิดมาก ให้ทำงานหาเงินเก็บออมไว้ หรืออย่างในปัจจุบันก็มักพูดติดตลกกันว่า ถ้ามีเงินเดี๋ยวผู้ชายก็มาเอง
อย่าคิดเลยคู่เชยคงหาได้
อุตส่าห์ทำลำไพ่เก็บประสม
อย่าเกียจคร้านงานสตรีจงนิยม
จะอุดมสินทรัพย์ไม่อับจน
วัยสาวเต็มตัว: ดูแลครอบครัว ประกอบอาชีพชอบ มีวุฒิภาวะ
วัยสาวเต็มตัวในที่นี้ หมายถึงวัยที่มีความเป็นผู้ใหญ่ มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบ เทียบกับผู้หญิงสมัยนี้ก็เท่ากับสาววัยทำงาน หลายคนพอเริ่มทำงานก็มักแบ่งเงินเดือนให้พ่อแม่ ซึ่งสุภาษิตนี้ยกย่องว่าเป็นสิ่งที่ควรทำ นับเป็นเกียรติแห่งตน และถึงแม้ตายไปก็ได้ขึ้นสวรรค์ตามคติทางพุทธ
เมื่อพ่อแม่แก่เฒ่าชรากาล
จงเลี้ยงท่านอย่าให้อดระทดใจ
…
ถ้าเราดีมีจิตคิดอุปถัมภ์
กุศลล้ำเลิศเท่าภูเขาหลวง
จะปรากฏยศยิ่งสิ่งทั้งปวง
กว่าจะล่วงลุถึงซึ่งพิมาน
ส่วนการทำงานให้ราบรื่นก็มีการสอนเอาไว้ในเรื่องการพูดจา ซึ่งแม้ในปัจจุบันอาชีพหลักของผู้หญิงจะไม่ได้จำกัดอยู่แค่การค้าขายเหมือนอย่างสมัยก่อน แต่ด้วยงานเกือบทั้งหมดต้องติดต่อกับผู้คน ทักษะการเจรจาก็ยังถือเป็นเรื่องจำเป็น
เป็นมนุษย์สุดนิยมเพียงลมปาก
จะได้ยากโหยหิวเพราะชิวหา
แม้นพูดดีมีคนเขาเมตตา
จะพูดจาจงพิเคราะห์ให้เหมาะความ
รวมถึงเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ควรมีวุฒิภาวะ สุขุมรอบคอบ สามารถวางตัวได้เหมาะสม เป็นที่น่าเคารพเกรงใจของคนทั่วไป
จะพูดจาปราศรัยกับใครนั้น
อย่าตะคั้นตะคอกให้เคืองหู
ไม่ควรพูดอื้ออึงขึ้นมึงกู
คนจะหลู่ล่วงลามไม่ขามใจ
วัยครองเรือน: เป็นภรรยาที่ดี อยู่ในกรอบศีลธรรม
สำหรับหญิงที่ออกเรือนแล้ว ก็ให้รู้หน้าที่ของตัวเอง
แม้ในบทประพันธ์จะเน้นเรื่องการบ้านการเรือนเป็นหลัก ทั้งหุงหาอาหาร ดูแลห้องหับ จัดสำรับให้สามี ฯลฯ เนื่องจากค่านิยมในสังคมสมัยนั้นให้ผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง ส่วนผู้ชายออกไปทำงานนอกบ้าน
แต่เมื่อบริบททางสังคมเปลี่ยนไป “กิจการหญิงทุกสิ่งสา” ที่ควรทำ ก็ควรเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม เพื่อที่จะได้ช่วยแบ่งเบาภาระซึ่งกันและกัน
อยู่สถานบ้านช่องนั้นต้องคิด
ให้รู้กิจการหญิงทุกสิ่งสา
เผื่อมีผัวพลเรือนเหมือนกันนา
จะได้หาเลี้ยงกันจนวันตาย
รวมไปถึงทำหน้าที่ของภรรยาให้ดี ค่อยๆ ประคับประคองความสัมพันธ์ให้คงทน
แม้นผัวเดือดเจ้าจงดับระงับไว้
อย่าพอใจขึ้นเสียงเถียงประสม
เขาเป็นไฟเราเป็นน้ำค่อยพรำพรม
แม้นระดมขึ้นทั้งคู่จะวู่วาม
นอกจากนี้ยังเน้นเรื่องการประพฤติตนให้อยู่ในกรอบศีลธรรม โดยเฉพาะอย่างย่ิงการซื่อสัตย์ต่อคู่ครอง
จงซื่อต่อภัสดาสวามี
จนชีวีศรีสวัสดิ์เจ้าตัดษัย
อย่าให้มีราคินที่กินใจ
อุปไมยเหมือนอนงค์องค์สีดา
และเปรียบภรรยาที่หนักแน่นในความซื่อสัตย์เป็นดั่ง ‘ทองแท้’ ซึ่งจะทำให้ภัสดาหรือ ‘ผัว’ ยิ่งรัก
ถึงที่สุดทดลองก็ทองแท้
ด้วยนางแน่อยู่ในสัจอธิษฐาน์
หญิงเดี๋ยวนี้แม้นมีสัตยา
ภัสดาก็ยิ่งรักขึ้นหนักครัน
สุภาษิตสอนสตรี…ที่ไม่ได้มีประโยชน์เฉพาะแค่สตรี
ถึงจะใช้ชื่อว่า สุภาษิตสอนสตรี แต่คำสอนหลายข้อก็สามารถนำไปใช้ได้ในทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะในเรื่องการใช้จ่ายที่แต่ไหนแต่ไรมาก็เป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ ของชีวิต
ยิ่งเข้าสู่ยุคทุนนิยมที่เต็มไปด้วยสิ่งยั่วยุที่พยายามจะล่อหลอกเงินทองให้ไหลออกจากกระเป๋า ตลอดจนการจับจ่ายที่สะดวกรวดเร็วในชั่วพริบตาอย่าง Internet Banking หรือแม้แต่บริการบัตรเครดิตที่ยอมให้ ‘ติดไว้ก่อน’ สุภาษิตที่ท่านสอนก็ยังคงใช้เตือนใจได้ดี
ดังวรรคทองที่เกือบทุกคนเคยได้ยิน และบางคนถึงกับจำได้ขึ้นใจว่า
มีสลึงพึงประจบให้ครบบาท
อย่าให้ขาดสิ่งของต้องประสงค์
จงมักน้อยกินน้อยค่อยบรรจง
อย่าจ่ายลงให้มากจะยากนาน.
อ้างอิง:
- คณะอักษรศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. สุภาษิตสอนสตรี. http://www.arts.chula.ac.th/~complit/etext/supasit.pdf
- ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตก. สุภาษิตสอนสตรี. http://www.sac.or.th/databases/manuscripts/main.php?m=article&p=item&id=1
- กองบรรณาธิการ. ไล่ ‘สุจิตต์ วงษ์เทศ’ ไปเรียนประวัติศาสตร์ไทยอีกรอบ. https://waymagazine.org/race-nation-sujit-wongthes/
FACT BOX
- สุภาษิตสอนสตรี: เชื่อว่าสุนทรภู่เป็นผู้แต่ง เพราะมีปรากฏชื่อ ‘ภู่’ อยู่ในบทประพันธ์ตอนต้น แต่นักวรรณคดีและนักวิชาการบางส่วนเห็นว่า น่าจะเป็นผลงานของนายภู่ จุลละภมร ผู้เป็นศิษย์มากกว่า เนื่องจากบทประพันธ์มีการขึ้นต้นด้วยบทไหว้ครู ซึ่งไม่เคยปรากฏในงานเขียนชิ้นอื่นๆ ของสุนทรภู่เลย นอกจากนี้ ยังมีการกล่าวถึง ‘สลึง’ ซึ่งเพิ่งมีการเริ่มใช้สกุลเงินดังกล่าวในรัชกาลที่ 5 ขณะที่สุนทรภู่มีชีวิตอยู่ถึงสมัยรัชกาลที่ 4 เท่านั้น