©ulture

ใครบ้างสามารถคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ล้ำยุคราวกับได้เห็นโลกอนาคตมาก่อน

พร้อมเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ รวมทั้งศาสตร์ต่าง ๆ อีกนับไม่ถ้วน

และยังวาดภาพได้วิจิตรงดงามจนได้จัดแสดงในหอศิลป์ชั้นนำทั่วโลก

เลโอนาร์โด ดา วินชี สามารถทำทั้งหมดที่กล่าวมาได้ภายในหนึ่งชั่วอายุ ทำให้โลกกล่าวขานว่าเขาเป็น ‘อัจฉริยะ’

แต่รู้หรือเปล่าว่า เขาใช้เวลาวาดภาพ ‘โมนาลิซา’ หนึ่งในผลงานระดับมาสเตอร์พีชนานถึง 4 ปี

และใช้เวลาอีก 12 ปีในการแต่งแต้มริมฝีปากของเธอ

Davinci
ภาพโมนาลิซา หนึ่งในผลงานชิ้นเอกของดา วินชี ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส] (photo: https://bit.ly/2XyxZSB)

รอยยิ้มลึกลับท่ามกลางบรรยากาศอึมครึมของ ‘Monalisa’s Smile’ คล้ายเก็บงำอะไรไว้บางอย่าง และ ‘บางอย่าง’ ที่ว่านั้น

คือความบกพร่องของ ดา วินชี ที่หลายคนอาจไม่เคยรู้…

โมนาลิซา และภาพที่วาดไม่เสร็จ เพราะดา วินชี เป็นโรคสมาธิสั้น

ภาพโมนาลิซ่าเป็นภาพที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมาก โดยแต่ละปีมีผู้มาชมภาพนี้และศิลปะอื่น ๆ ในพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ถึง 9.7 ล้านคน (photo: https://bit.ly/2F1uPQf)

ภาพวาดโมนาลิซาที่หลายคนชื่นชมนั้น จริงๆ แล้วเป็นภาพที่ยังวาดไม่เสร็จสมบูรณ์ จากการตรวจสอบพบว่าภาพนี้ไม่ได้วาดโดยดา วินชีคนเดียว เพราะเขาวาดเพียงบางส่วนเท่านั้น ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นส่วนหัว จนถึงทุกวันนี้ ความจริงทั้งหมดก็ยังคงเป็นปริศนาที่ถกเถียงกันเรื่อยมาว่ามีส่วนไหนบ้างที่เขาวาด

มีคนตั้งข้อสังเกตว่า อาจเป็นเพราะร่างกายซีกขวาของดา วินชี เป็นอัมพฤกษ์ และอาการนี้ส่งผลให้เขาไม่สามารถยืนวาดภาพหรือถือจานสีได้ แต่ข้อสังเกตดังกล่าวก็มีช่องโหว่ เพราะถึงอย่างไรคนที่ถนัดซ้ายอย่างเขาก็ยังสามารถนั่งวาดภาพได้อยู่ดี

แนวคิดที่น่าจะเป็นไปได้มากกว่าคือ ดา วินชี เป็น ‘โรคสมาธิสั้น’ ซึ่งทำให้เขามีความบกพร่องในการทำงาน เช่น ไม่สามารถทำงานต่อเนื่องเป็นเวลานานได้ มีปัญหาด้านการอ่านและสะกดคำ (Dyslexia) ใช้เวลาวางแผนงานนานมาก แต่ขาดความพยายามที่จะทำให้มันสำเร็จ

นอกจากนี้โรคสมาธิสั้นยังทำให้เขางีบได้เพียงสั้น ๆ ซึ่งส่งผลต่อการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอและไม่สามารถโฟกัสไปที่งานได้ดีเท่าที่ควร

ไม่ใช่แค่ภาพโมนาลิซาเท่านั้นที่ไม่สำเร็จลุล่วง ยังมีภาพ ‘นมัสการของโหราจารย์’ (Adoration of the Magi) ภาพ ‘นักบุญเจอโรมในป่า’ (St. Jerome in the Wilderness) และภาพอื่นๆ ที่เป็นผลผลิตจากความบกพร่องของเขา

Davinci
ภาพการนมัสการของโหราจารย์ เผยให้เห็นส่วนที่ยังไม่เสร็จเรียบร้อยอยู่หลายจุด ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่หอศิลป์อุฟฟิซิ (photo: https://bit.ly/2I4v0fq)

สำหรับภาพ นมัสการของโหราจารย์ ดา วินชีได้รับมอบหมายให้วาดภาพนี้ตอนอยู่ที่เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี ก่อนที่เขาจะเดินทางไปเมืองมิลานในปีต่อมา โดยปล่อยให้ภาพวาดค้างเติ่งไม่เสร็จสิ้น แถมยุคนั้นไม่มีโทรศัพท์ให้โทรตามงานเสียด้วย จึงเป็นเรื่องยากที่จะตามตัวดาวิน ชี กลับมาสะสางงานให้เสร็จเรียบร้อย

ปัจจุบันภาพนี้จัดแสดงอยู่ที่หอศิลป์อุฟฟิซิ (Uffizi Gallery) และยังคงไม่เสร็จสมบูรณ์

Davinci
ภาพนักบุญเจอโรมในป่า หนึ่งในภาพที่ดา วินชีวาดไม่เสร็จ ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์วาติกัน (photo: https://bit.ly/2MDqDMU)
Davinci
จากภาพนักบุญเจอโรมในป่า จะเห็นเส้นโครงร่างที่ยังไม่ได้ลงสีทางด้านขวา แสดงให้เห็นว่าภาพนี้ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ (photo: https://bit.ly/2I3UQ3c)

อาหารค่ำมื้อสุดท้าย กับคำบ่น “วันๆ ดา วินชี เอาแต่จ้องกำแพง”

ถ้าคุณยังไม่ลืม (เพราะเป็นโรคสมาธิสั้น) คงจำได้ว่า เมื่อไม่กี่ย่อหน้าก่อน เราได้กล่าวว่า โรคสมาธิสั้นทำให้ ดา วินชี มักใช้เวลาวางแผนงานนานมาก

นานมากแค่ไหน?

ครั้งหนึ่งในปี 1495 ดยุคแห่งมิลานได้มอบหมายให้ ดา วินชี วาดภาพ อาหารค่ำมื้อสุดท้าย (The Last Supper)

ทว่าเมื่อเวลาผ่านไป ภาพวาดบนผนังคืบหน้าไปได้น้อยมาก จนดยุคแห่งมิลานเริ่มแวะเวียนมาตามงานและแนะโน่นนี่อยู่เสมอ หรือเวลาวาดก็จะมีคนมาเดินติดตามสังเกตการทำงานจน ดา วินชี รำคาญใจ เพราะในการวาดภาพแต่ละครั้ง เขาต้องการเวลาเพื่อหาแรงบันดาลใจ อีกทั้งโรคประจำตัวก็ทำให้เขาไม่มีสมาธิมากพอที่จะทำงานอย่างต่อเนื่อง

พอเริ่มนานวัน บาทหลวงจึงบ่นให้ดยุคฟังว่า ดา วินชี วันๆ เอาแต่จ้องกำแพงอยู่นั่น ไม่ยอมลงฝีแปรงเสียที

เมื่อถูกกดดันมากเข้า ดา วินชีจึงบอกดยุคว่า เขากำลังนึกอยู่ว่าจะวาดหน้ายูดาส (Judas) ผู้ทรยศต่อพระเยซูอย่างไร

หรือจะให้วาดหน้าบาทหลวงลงไปดีล่ะ…

Davinci
ภาพอาหารค่ำมื้อสุดท้าย และหน้ายูดาสที่เกือบจะได้บาทหลวงมาเป็นแบบ

โชคดีที่งานนี้ไม่ได้เป็นหนึ่งในงานที่เขาวาดไม่เสร็จ แม้จะใช้เวลาในการวาดถึงสามปี แต่ท้ายที่สุดภาพนี้ก็โด่งดังและทำให้เขากลายเป็นที่จดจำจนถึงทุกวันนี้

ปัจจุบันภาพอาหารค่ำมื้อสุดท้ายเก็บรักษาอยู่ที่โบสถ์ Santa Maria delle Grazie

มรดกศิลปะ-นวัตกรรม ที่เกิดจากความโชคดีของโรคสมาธิสั้น

Davinci
(photo: https://www.limelightmagazine.com)

ถึงแม้ความบกพร่องของ ดา วินชี ทำให้ภาพโมนาลิซาไม่สมบูรณ์แบบ แต่หากปราศจากความบกพร่องนั้น คุณอาจไม่ได้เห็นภาพโมนาลิซาเลยด้วยซ้ำ

อันที่จริงจะเรียกว่า ‘ความบกพร่อง’ ก็ไม่ถูกเสียทีเดียว เพราะโรคสมาธิสั้นอาจฟังดูเป็นเรื่องไม่ดี แต่บ่อยครั้งมันได้มอบคุณสมบัติพิเศษบางอย่าง จนทำให้หลายคนกลายเป็นอัจฉริยะ

สิ่งที่คนมักจะเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคสมาธิสั้นคือจะทำให้เรียนรู้ช้าจนไอคิวต่ำ แต่ความจริงแล้วคนที่เป็นโรคนี้จะไม่สนใจในสิ่งที่ตนไม่ชอบ ทว่าหากเป็นสิ่งที่ชอบล่ะก็ จะหลงใหลจนดำดิ่งลงไปในเรื่องนั้นๆ เลยทีเดียว

นอกจากนี้ยังมีศักยภาพที่เหนือขึ้นไปอีก เช่น ความคิดสร้างสรรค์ที่มากกว่าคนทั่วไป สามารถคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ได้ดี ทำงานหลายอย่างได้ในเวลาเดียวกัน และกล้าคิดต่าง

นี่อาจเป็นเหตุผลว่าทำไม ดา วินชี จึงมีความสนใจรอบด้าน และมีความคิดสร้างสรรค์ล้ำๆ อยู่เสมอ

ผลงานที่ดา วินชี ทิ้งไว้ในด้านต่างๆ ทั้งศิลปะ วิทยาศาสตร์ กายวิภาคศาสตร์ ฯลฯ คือหลักฐานชั้นดีที่บ่งบอกถึงศักยภาพอันกว้างไกลของเขา

Davinci
ตัวอย่างบันทึกเครื่องวิดน้ำ (Water Lifting Devices) หนึ่งในสิ่งประดิษฐ์ที่แสดงว่าดา วินชี มีความเชี่ยวชาญหลายอย่าง และสามารถสร้างสรรค์ผลงานออกมาได้หลากรูปแบบ (photo: https://bit.ly/2WAetJe)

แต่ในอีกด้านหนึ่งของความสนใจที่ล้นหลามนี้เอง ที่ทำให้เขาทุ่มเทกับงานแต่ละอย่างได้ไม่เต็มที่ จนเป็นสาเหตุให้หลายครั้งเขารับงานมาแล้ว อยู่ดีๆ ก็วางมือเสียดื้อๆ ก่อนจบงาน จนการดองงานหรือทำงานไม่เสร็จของ ดา วินชี กลายเป็นที่ร่ำลือไปทั่ว

มาร์โก กาตานี อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทกายวิภาคศาสตร์และจิตเวชได้กล่าวไว้ว่า “ผมหวังว่ากรณีของ ดา วินชี จะแสดงให้เห็นว่าโรคสมาธิสั้นไม่ได้ทำให้ไอคิวต่ำหรือขาดความคิดสร้างสรรค์ แต่มันทำให้เขาใช้พรสวรรค์ให้เป็นประโยชน์ได้ยากขึ้น”

Davinci
Professor Marco Catani

ถึงบรรทัดนี้ คุณอาจมองว่าโรคสมาธิสั้นเป็นของขวัญล้ำค่าที่ดา วินชี ได้รับ ทำให้เขากลายเป็นยอดมนุษย์ที่ทั่วโลกกล่าวขานยกย่อง แต่ในขณะเดียวกันเรื่องราวของเขาก็แสดงให้เห็นว่า แม้จะดูยิ่งใหญ่เพียงไหน ก็ไม่มีใครได้ครอบครองความสมบูรณ์แบบอย่างแท้จริง แม้แต่ตัวเขาเองยังมองว่าชีวิตของเขาคือความล้มเหลว

บางทีสิ่งที่เราควรตามหาจึงอาจไม่ใช่ความสมบูรณ์แบบที่ไม่มีจริงนั้น 

แต่เป็นการมองเห็นความงดงามและข้อดีที่แฝงอยู่ในข้อบกพร่องต่างๆ ต่างหาก.

อ้างอิง: