©ulture

ความสวยงามของ ‘ต้นคริสต์มาส

กลับแฝงเร้นด้วยเรื่องราวชวนให้รู้สึกหดหู่ใจ ผ่านเทพนิยาย The Fir Tree (หรือต้นสนเฟอร์เพื่อให้เข้าใจเบื้องลึกเบื้องหลังเทพนิยายเรื่องนี้ จึงจำเป็นต้องรู้ที่มาของต้นคริสต์มาสกันก่อน

Photo: https://www.bl.uk/romantics-and-victorians/articles/victorian-christmas

 

ความบังเอิญ และการลากเข้าสู่ศรัทธาในศาสนาคริสต์

ในอดีตกาล เดิมทีต้นคริสต์มาสไม่ได้ดูหรูหราอย่างที่เห็นชินตาในปัจจุบัน แต่เกิดขึ้นเพราะเหตุผลทางศาสนาและกลายเป็นสัญลักษณ์สื่อความมั่งคั่งร่ำรวยในเวลาต่อมา ซึ่งนักประวัติศาศตร์และนักศาสนวิทยาได้ตั้งข้อสันนิษฐานถึงความเป็นไปได้เกี่ยวกับจุดกำเนิดของต้นคริสต์มาสไว้  

ย้อนกลับไปในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 8 เมื่อ เซนต์ โบนิเฟส (Saint Boniface) มิชชันนารีชาวอังกฤษเดินทางมาถึงประเทศเยอรมนีเพื่อเผยแพร่หลักคำสอนของศาสนาคริสต์ ระหว่างนั้นเอง เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ทันทีที่เห็นว่าเด็กๆ หลายคนกำลังจะถูกสังเวยชีวิตใต้ต้นโอ๊กเพื่อเป็นเครื่องบรรณาการตามคติความเชื่อดั้งเดิมของคนท้องถิ่นซึ่งเคารพบูชาเทพเจ้า (Paganism) เซนต์ โบนิเฟส จึงเข้าไปห้ามปรามและช่วยเหลือเด็กๆ ให้รอดพ้นจากการถูกฆ่าได้ทันการณ์

Photo: https://catholicinsight.com/saint-boniface/

และเพื่อแสดงสัญลักษณ์ว่าต่อไปนี้ จะไม่มีใครต้องสิ้นชีพอีก จึงโค่นต้นโอ๊กลง ปรากฏว่าใต้ต้นโอ๊กกลับมีสนต้นหนึ่งยืนต้นอยู่ เซนต์ โบนิเฟสเห็นดังนั้น จึงถือว่าต้นสนเป็นสัญลักษณ์ของชีวิต เพราะลำต้นมีรูปทรงเป็นสามเหลื่ยมแทนพระตรีเอกานุภาพ (Trinitarian formula) ประกอบด้วยพระบิดา พระบุตร และพระจิต รวมถึงมียอดแหลมชี้ขึ้นสู่สวรรค์ หรือจุดสูงสุดซึ่งเป็นที่สถิตของพระผู้เป็นเจ้า นับแต่นั้น คนไร้ศาสนาจึงเริ่มหันมาศรัทธาต่อคำสอนของพระเยซูคริสต์ และถือต้นสนเป็นต้นไม้ตามความเชื่อของศาสนาคริสต์ที่สร้างขึ้นมาภายหลัง เพราะไม่มีการกล่าถึงในพระคัมภีร์ไบเบิล 

 

ความสูงสง่าของต้นสน ซึ่งมีเพียงไม่กี่คนที่เอื้อมถึง

การตกแต่งต้นสนเป็นต้นคริสต์มาสประหนึ่งเครื่องเรือนล้ำค่าภายในบ้านของชนชั้นสูง เพิ่งจะเริ่มต้นในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา (Renaissance) ส่วนหนึ่งเป็นอิทธิพลจากความงามของธรรมชาติ เพราะมองเห็นว่าต้นไม้ที่ยืนต้นเขียวตลอดปี (evergreen) เป็นสัญลักษณ์สื่อถึงความมีชีวิตชีวา ความอุดมสมบูรณ์ ความเป็นอมตะ และความเจริญรุ่งเรืองที่จะคงอยู่นิรันดร์ การมีต้นสนสูงใหญ่ตั้งตระหง่านไว้ในบ้าน จึงแสดงถึงอำนาจและวิถีชีวิตฟุมเฟือยของชนชั้นกษัตริย์ ขุนนาง และพ่อค้านาวี

Photo: https://theconversation.com/bah-humbug-the-misery-of-christmas-in-classic-literature-50771

ส่วนชนชั้นแรงงาน เกษตรกร ชาวนา ชาวไร่ ย่อมไม่มีชีวิตสุนทรีย์มากพอจะได้เป็นเจ้าของต้นสนที่ตกแต่งด้วยสิ่งสวยงาม เพราะต้องทุ่มเทแรงกายไปกับงานประจำวัน จนไม่มีเรี่ยวแรงไปตัดต้นสนในป่า ที่สำคัญ พวกเขาไม่ได้มีบ้านขนาดกว้างขวางใหญ่โตให้เอาต้นสนเข้าไปไว้ได้ แค่ทำงานให้เสร็จก็หมดวันแล้ว แทบไม่มีเวลาให้คิดฝันถึงเรื่องอื่นอีก

แต่ความหรูหราในยุคแรกเริ่มของการตกแต่งต้นคริสต์มาสก็ยังแตกต่างจากความหรูหราในปัจจุบัน เพราะผู้คนในยุคนั้นตีตราความหรูหราด้วยคำว่า fruitful หรือการออกดอกออกผล สิ่งที่นำมาตกแต่งต้นสนจึงเป็นของที่ได้มาจากธรรมชาติทั้งหมด โดยเฉพาะอาหาร เช่น ผลไม้และพืชหัวอย่างแอปเปิ้ล มันฝรั่ง แครอต ถั่ว รวมถึงอาหารที่ปรุงสำเร็จ สามารถหยิบกินได้ทันทีอย่างขนมปัง คุกกี้ ขนมที่ทำจากน้ำตาล ทุกอย่างที่นำมาไว้บนต้นสนจึงสื่อถึงความอุดมสมบูรณ์พูนสุข ซึ่งกว่าจะตกแต่งได้ทั่วต้นต้องใช้เงินอย่างสิ้นเปลืองมาก

นอกจากนี้ยังต้องประดับเทียนร่วมด้วย เพื่อเพิ่มความสว่างไสวให้ต้นคริสต์มาสดูหรูหรามากขึ้น สำหรับคนที่เชื่อมั่นในศาสนา ก็เป็นการแสดงความรัทธาอย่างหนึ่ง เปรียบเทียบว่าแสงของเทียนจะส่องไปถึงสรวงสวรรค์

Photo: Steel engraving of Martin Luther’s Christmas Tree, Sartain’s Magazine (1860)

ดังนั้น ต้นคริสต์มาสและการเฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาส จึงไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกๆ ครอบครัว ในแง่มุมหนึ่งก็สะท้อนกลับออกมาให้เห็นว่าสังคมยังคงมีความเหลื่อมล้ำและความแตกต่างทางชนชั้นอยู่ด้วย 

 

เทพนิยายต้นสนเฟอร์ ความสุขชั่วคราว กับความเศร้าชั่วชีวิต

สัจธรรมข้อสำคัญที่ธรรมชาติสอนให้มนุษย์เข้าใจความจริงแท้ของการมีชีวิตก็คือ ท้ายที่สุดไม่มีสิ่งใดอยู่ยืนยงได้ตลอดไป วันหนึ่งวันใดทุกอย่างย่อมร่วงโรยลงตามวาระ และสูญสลายไปไม่มีวันหวนกลับคืน

ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซน

ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซน (Hans Christian Andersen) กวีชาวเดนมาร์ก เป็นคนหนึ่งที่ทำให้ความจริงข้อนี้ชัดเจนมากขึ้น ด้วยการนำเสนอข้อคิดผ่านนิทานพื้นบ้านและเทพนิยายมากมาย โดยเฉพาะเรื่อง The Fir Tree หรือต้นสนเฟอร์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าในชีวิตไม่มีสิ่งใดเที่ยงแท้ และชีวิตก็ไม่ได้จบลงด้วยความสุขสมหวัง

เรื่องราวเริ่มต้นด้วยการบรรยายถึงป่าลึกที่เงียบสงบ ท่ามกลางแสงแดดส่องให้ไออุ่ และกระแสลมอ่อนๆ ที่พัดพาความเย็นสบายมาให้ทุกชีวิตในผืนป่าแห่งนั้น กลับมีสนเฟอร์ต้นน้อยกำลังร้อนรนและไม่มีความสุข เพราะว่ารู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจที่ลำต้นของตนไม่สูงใหญ่เหมือนสนเฟอร์ต้นอื่น ขนาดลำต้นที่ยังเตี้ยเรี่ยดิน ทำให้ถูกกระต่ายป่ากระโดดข้ามเล่นเป็นประจ ไม่มีใครสนใจไยดี ต่อให้มีชาวบ้านหรือเด็กๆ เข้ามาเก็บของป่า ทุกคนก็จะมองข้ามสนเฟอร์ต้นน้อยนี้ไป

Photo: Vilhelm Pedersen, Andersen’s first illustrator

สนเฟอร์ใฝ่ฝันว่าวันข้างหน้าจะต้องโตขึ้นเป็นต้นสูงใหญ่ให้ได้ แล้วจะชูกิงก้านเป็นพุ่มใบเขียวสด ยืนต้นสูงโดดเด่น เพื่อหวังให้คนตัดไปทำเสากระโดงเรือ จะได้ออกเดินทางไปยังที่ต่างๆ เพราะอยากเห็นความกว้างใหญ่ของโลกใบนี้ หรือไม่ก็ถูกตัดไปทำเครื่องเรือนหรูหราเป็นสิ่งสวยงามประดับบ้านของผู้มั่งคั่ง แต่สนเฟอร์ก็ได้แต่ฝันกลางวันเพราะต้นยังแคระแกร็นเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

จนกระทั่งวันหนึ่งในฤดูหนาว มีชาวบ้านเข้ามาเลือกตัดสนเฟอร์ต้นนั้นไปประดับตกแต่งบ้านเป็นต้นคริสต์มาส แล้วความปรารถนาของสนเฟอร์น้อยก็เป็นจริง ชาวบ้านได้ตัดมันและขนเข้าเมืองไป จากความเศร้าและน้อยใจกลายเป็นความเริงร่าเพราะมีความสุข อย่างน้อยสนเฟอร์ก็เข้าใจว่ายังมีคนเห็นค่า ที่สำคัญจะได้กลายเป็นสิ่งสวยงามประจำบ้านอย่างที่ฝันไว้ ยิ่งทำให้รู้สึกว่าชีวิตนี้กลับมามีความหมายและความหวังอีกครั้ง ไม่เปล่าประโยชน์และเดียวดายอีกต่อไป

Photo: Svend Otto S. aka Svend Otto Sørensen (1968)

จากต้นสนเฟอร์ธรรมดา ถูกประดับด้วยของตกแต่งจนสวยงาม เด็กๆ สนใจสนเฟอร์ต้นนี้มาก ทุกคนที่รายล้อมล้วนมีความสุขและใบหน้าเปื้อนยิ้ม เคล้าเสียงเพลงไพเราะ และความสนุกสนานตลอดคืน เมื่อคริสต์มาสอีฟผ่านพ้นไป ภาพความรื่นเริงในคืนก่อนยังตราตรึงใจของสนเฟอร์ ทำให้คิดว่าวันนี้ต้องมีแต่ความสุขเหมือนเดิม สนเฟอร์จึงรอคอยการเฉลิมฉลองอย่างใจจดใจจ่อ แต่ทุกอย่างกลับนิ่งสงบ ไม่มีอีกแล้วเสียงหัวเราะเหมือนวันก่อน สนเฟอร์ถูกยกไปเก็บไว้ในมุมมืดบนห้องใต้หลังคาที่มีหยากไย่ขึ้นหนา มีหนูแทะใบและกิ่งก้าน สนเฟอร์รู้สึกหดหู่ใจอีกครั้ง

Photo: Svend Otto S. aka Svend Otto Sørensen (1968)

ในที่สุดต้นสนเฟอร์ก็มีความหวังอีกครั้ง เด็กๆ นำสนเฟอร์ลงมาจากห้องใต้หลังคา ทำให้สนเฟอร์ดีใจมาก แต่ทุกอย่างผิดไปจากคาด เพราะเด็กๆ ไม่ได้เอาออกมาประดับบ้าน แต่เอาออกมาดึงเล่นจนไม่เหลือเค้าโครงเดิม ลำต้นเว้าแหว่ง ไม่สวยงามอีกแล้ว หลังจากเล่นเสร็จ เด็กๆ มองดูสภาพของสนเฟอร์แล้วพูดขึ้นว่า น่าเกลียดมาก ไม่มีประโยชน์ที่จะเก็บต้นไม้นี้ไว้อีก ต้องเอาไปทิ้ง

ลำต้นของสนเฟอร์จึงถูกผ่าออกเป็นฟืน ส่วนอื่นๆ ถูกเผาทิ้ง เรื่องราวของต้นสนเฟอร์จบลงด้วยความน่าใจหาย ทั้งชีวิตที่ไม่ได้สวยงาม ความฝันที่มืดหม่นชวนเศร้าใจ และความหวังที่พังทลายจนไม่เหลือชิ้นดี 

 

ต้นคริสต์มาส สัญลักษณ์แทนชีวิตถูกกดขี่และถูกขูดรีดจนหมดประโยชน์

เรื่องราวของ The Fir Tree นำไปสู่กับตีความหลากหลายแง่มุม แต่บรรดานักวิจารณ์วรรณกรรม ค่อนข้างเห็นตรงกันว่า แก่ของเรื่องสะท้อนปรัชาชีวิตและความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งเป็นไปได้ว่าแอนเดอร์สันอาจต้องการถ่ายทอดชีวิต ประสบการณ์ และมุมมองต่อสังคมของตัวเองผ่านเทพนิยายเรื่องนี้ เช่น เขาเปรียบเทียบชีวิตในวัยเด็กเหมือนกับสนเฟอร์ เขามีความฝันที่อยากเป็นในอนาคต แต่ต่อให้ชีวิตได้ทำตามความฝันสำเร็จ แต่ไม่มีทางล่วงรู้ว่าชีวิตต่อไปจะเป็นไปอย่างไร วันหนึ่งก็ต้องมีจุดสิ้นสุด วันหนึ่งก็ต้องร่วงโรย ซ้ำร้ายบั้นปลายของชีวิตบางคนอาจตกทุกข์ได้ยากไม่เหมือนกับสิ่งที่วาดฝัน

หรือในอีกมุมหนึ่ง อาจเป็นการสั่งสอนให้พึงพอใจในชีวิตที่เป็นอยู่ ไม่ควรใฝ่ฝันฟุ้งเฟ้อหรือคาดหวังกับสิ่งไกลตัวที่ไม่ใช่ความเป็นเอง บางครั้งความอยากได้ อยากมี หรืออยากเป็น คือสาเหตุของความทุกข์ ดังนั้น จงพอใจกับชีวิตที่เป็นอยู่

Photo: Svend Otto S. aka Svend Otto Sørensen (1968)

ส่วนการตีความในเป็นภาพกว้างในสังคม เกิดการตั้งข้อสังเกตว่า สนเฟอร์อาจเป็นสัญลักษณ์แทนชีวิตที่เลือกไม่ได้หรือไม่มีทางเลือก การเป็นคนไร้อำนาจ และการตกเป็นทาสเบื้องล่างของผู้มีอำนาจเด็ดขาด ทำให้ถูกขูดรีด ถูกกดขี่สารพัดวิธี สิ่งที่น่าเศร้าใจและหดหู่ใจไปมากกว่านั้น คือคนที่ไร้อำนาจอาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าตัวเองกำลังถูกใช้ประโยชน์ กลับมีความสุขและหลงระเริงกับการถูกเอาเปรียบ เพราะสังคมสร้างภาพมายาให้หลงเข้าใจผิด เป็นกับดักให้ตายใจ เผลอคิดว่าคุณค่าที่ผู้มีอำนาจหลอกลวงเป็นสิ่งดีงามของชีวิต จนท้ายที่สุด เมื่อความจริงปรากฏ ถึงตอนนั้นคนที่ถูกหลอกใช้ย่อมถูกผู้มีอำนาจถีบหัวส่ง เพราะหมดประโยชน์ และไม่มองเห็นคุณค่าของความเป็นคนตั้งแต่แรก ไม่เชื่อว่าคนเราเท่ากัน คนที่มีอำนาจต่างหากมีความเป็นคนมากกว่า เมื่อรู้ตัวอีกทีว่าถูกหลอกใช้ก็สายเสียแล้ว 

ในแง่มุมปรัชญาและศาสนา เรื่องนี้จึงเป็นการตั้งคำถามถึงความหมายของชีวิต ว่าคนเราเกิดมาเพื่ออะไรและจะใช้ชีวิตอย่างไร หากมองในมุมของคนศรัทธาต่อพระเจ้า ทำไมพระเจ้าถึงให้คนเกิดมาเพื่อพบกับความยากลำบากและความไม่สมหวังจนต้องจบชีวิตลงอย่างน่าสังเวชใจเหมือนต้นสนเฟอร์ด้วย

เทพนิยายเรื่อง The Fir Tree เปิดกว้างให้ผู้อ่านตีความได้ไม่สิ้นสุดตามพื้นฐานความคิด ความเชื่อ รวมถึงจินตนาการส่วนตัวก็จริง แต่สิ่งแน่แท้ที่เรื่องราวของต้นสนเฟอร์ชวนให้ผู้อ่านได้ขบคิดต่อ คือ เบื้องหลังของภาพสวยงามที่ฉาบฉวยของต้นสนในเทศกาลคริสต์มาส สะท้อนชีวิตที่ไม่มีอะไรแน่นอน ซึ่งมีคนจำนวนมากกำลังถูกระบบอำนาจและใครบางคนกดขี่อยู่ทุกเมื่อเชื่อวันโดยไม่ทันรู้ตัว

 

อ้างอิง 

  • Hans Christian Andersen (2014). Selected Fairy Tales (Collins Classics). London: HarperCollins Publishers. 
  • History.com Editors. History of Christmas Trees. https://bit.ly/3rk83JU 
  • Erica Schimmel. The Fir-Tree by Hans Christian Andersen: Summary & Analysis. https://bit.ly/3mLa5PA 
  • Course Hero. Fairy Tales of Hans Christian Andersen (Selected). https://bit.ly/2LWrfgt