©ulture

“ความจริงต่อไปนี้เป็นสิ่งที่ประจักษ์แจ้งอยู่ในตัวเอง นั่นคือมนุษย์ถูกสร้างขึ้นมาอย่างเท่าเทียม และผู้สร้างได้มอบสิทธิบางประการที่ไม่อาจแยกขาดจากตัวมนุษย์ ซึ่งได้แก่ ชีวิต เสรีภาพ และการเสาะแสวงหาความสุข”

ปี 1776 ระหว่างการ ‘ปฏิวัติอเมริกา’ เพื่อแยกตัวออกมาเป็นอิสระจากการปกครองของอังกฤษ สภาแห่งภาคพื้นทวีปชุดที่ 2 (Second Continental Congress) ขอให้คณะกรรมการห้าคนซึ่งเป็นตัวแทนจากรัฐต่างๆ เป็นผู้ร่างคำประกาศอิสรภาพ โดยคณะกรรมทั้งห้าได้โหวตให้ โธมัส เจฟเฟอร์สัน (Thomas Jefferson) ตัวแทนจากรัฐเวอร์จิเนีย ซึ่งต่อมาจะกลายเป็นประธานาธิบดีคนที่ 3 ของสหรัฐฯ เป็นผู้ร่าง แล้วถ้อยคำในย่อหน้าที่สองของคำประกาศข้างต้นก็กลายเป็นข้อความในภาษาอังกฤษที่ทรงอิทธิพลและคุ้นหูของผู้คนทั่วโลกมากที่สุดนับแต่นั้น

ทำไม?

ภาพคณะกรรมการห้าคนที่สภาภาคพื้นทวีปที่สองขอให้ร่างคำประกอบอิสรภาพ โดย จอห์น ทรัมบูล (John Trumbull) / Photo: Yale University Art Gallery

ย้อนกลับไปก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 17 ในยุโรป แนวคิดที่ว่ามนุษย์ทุกคนมีสิทธิเท่ากันนั้นดูจะห่างไกลจากสามัญสำนึกของผู้คนเหลือเกิน ด้วยการปกครองในระบอบเจ้าขุนมูลนายที่ยืนหยัดมั่นคง และอำนาจของศาสนจักรและรัฐศักดินาที่เข้มแข็ง ด้วยการอ้างเหตุผลเชิงทฤษฎี เช่น เทวสิทธิราชย์ (Divine Right of Kings) ที่ว่ากษัตริย์คือผู้ทรงได้รับอำนาจโดยตรงจากพระเจ้า ซึ่งหมายความว่า การเคลื่อนไหวใดก็ตามที่ขัดแย้งต่อแนวทางนี้คือการต่อต้านพระเจ้า

ต้นฉบับคำประกาศอิสรภาพของอเมริกา / Photo: U.S. Embassy Bangkok

การตั้งคำถามต่อความเชื่อที่แข็งแกร่งนี้เป็นสิ่งต้องห้ามมายาวนาน ย้อนไปไกลกว่านั้นอีกในยุคกรีก ความตายของนักปรัชญาคนสำคัญอย่าง โสกราตีส (Socrates) ที่โดนข้อหาชังชาติจนถูกประหารถือเป็นตัวอย่างหนึ่ง 

ความผิดของเขาถ้ามาพูดกันในยุคนี้คงดูไม่สมเหตุสมผลเท่าไรนัก กล่าวคือเขาเพียงตั้งคำถามทางปรัชญาและถกเถียงในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเทพเจ้า แต่การตั้งคำถามไปเรื่อยๆ เพื่อหาคำตอบที่ดีที่สุดตามหลักเหตุผลที่เรารู้จักในนาม Socratic method นี้ ก็เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้นำของกรุงเอเธนส์บางส่วนขุ่นเคืองใจ เพียงเพราะมันอาจนำไปสู่ทางออกใหม่ๆ หรือหากใช้คำแบบร่วมสมัยก็ต้องบอกว่า มันไป ‘ดิสรัป’ ชีวิตที่พวกเขา (อันหมายถึงเจ้าขุนมูลนาย) คุ้นเคย

ภาพเขียนความตายของโสเกรตีส โดย ฌัก-หลุยส์ ดาวีด (Jacques-Louis David) / Photo: Flickr

กระทั่งการมาถึงของยุค ‘แสงสว่างทางปัญญา’ (Enlightenment) หรือ ยุคเรืองปัญญา ในศตวรรษที่ 18 ที่การค้นหาคำตอบทางวิทยาศาสตร์เข้มข้นขึ้น เกิดการค้นพบทฤษฎีและวิทยาการใหม่ๆ ด้วยศักยภาพของมนุษย์มากมาย จนความคิดแบบมนุษยนิยมจากยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ (Renaissance) จากศตวรรษที่ 14 กลับมาอยู่ในกระแสอีกครั้ง นักปรัชญาหลายคนเริ่มสงสัยถึง ‘ความชอบธรรมที่ถูกประทานมาโดยพระเจ้า’ (God-given legitimacy) ที่สงวนไว้แค่กับคนบางกลุ่ม

จอห์น ล็อก (John Locke)

โดยนักปรัชญาที่มีชีวิตก่อนหน้ายุคแสงสว่างเล็กน้อยอย่าง จอห์น ล็อก (John Locke) ยืนยันว่า ‘มนุษย์ทุกคน’ ต่างถือครองสิทธิที่ได้รับจากพระเจ้าซึ่งไม่อาจแยกขาด นั่นคือ ชีวิต เสรีภาพ และทรัพย์สิน ที่เขาเรียกรวมๆ ว่า ‘สิทธิธรรมชาติ’ (natural rights) ที่หมายความว่าสิทธิเหล่านี้มีอยู่กับเราเสมอเนื่องจากเป็นสิทธิที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานธรรมชาติ แนวคิดนี้เองที่กลายเป็นอิทธิพลให้แก่การเขียนคำประกาศอิสรภาพของอเมริกา และกลายเป็นแนวคิดที่กระจายไปทั่วยุโรป ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมของเหล่าปัญญาชน อันมีเป้าหมายเพื่อปฏิรูปสังคมและส่งเสริมการใช้หลักเหตุผลมากกว่าการใช้หลักจารีตในยุคแสงสว่างทางปัญญานั่นเอง

ปัญญาชนในยุคเรืองปัญญามักจะนัดพบเพื่อถกเถียงกันในสถานที่ที่เรียกกันว่าซาลอน / Photo: snl.no

สรุปให้สั้นอีกทีก็คือ หนึ่งในผลผลิตจากยุคแสงสว่างทางปัญญา ก็คือ ‘มนุษย์มีเสรีภาพที่จะแสดงความเห็น และเป็นเจ้าของชีวิตของตัวเอง อย่างเท่าเทียมกันคุณูปการของแนวคิดที่ส่งต่อมาจากยุคแสงสว่างทางปัญหาในทุกวันนี้คือ การทำให้ผู้คนกล้าจะตั้งคำถามถึงความไม่สมเหตุสมผลของทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะเราต่างมี ‘สิทธิ’ และ ‘ชีวิต’ เป็นของตน ซึ่งการเป็นมนุษย์ที่มีสิทธิเป็นของตัวเองนั้นจะไม่เกิดขึ้นเลย หากปราศจากความเคลื่อนไหวทางปัญญาในยุคแสงสว่างนี้

ประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง ของฝรั่งเศส / Photo: Wikimedia Commons

สาระสำคัญที่ว่า ‘มนุษย์ถูกสร้างขึ้นมาอย่างเท่าเทียม’ ถูกทำให้ชัดเจน เปลี่ยนจากทฤษฎีสู่โลกความจริงอีกครั้งในช่วงปลายของศตวรรษที่ 18 ใน ‘ประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง’ (Déclaration des droits de l’homme et du citoyen) เมื่อเกิดกาารปฏิวัติระบอบศักดินาในฝรั่งเศส ที่ก็ได้อิทธิพลมาจากการปฏิวัติอเมริกาอีกที โดยในมาตราแรกระบุว่า “มนุษย์เกิดมาและดำรงอยู่อย่างเสรีและเสมอภาคกันภายใต้สิทธิของพวกเขา” (แม้จะยังไม่พูดถึงสิทธิสตรี หรือเรื่องของทาสเลยก็ตาม)

อิมมานูเอล คานต์ (Immanuel Kant)

ในความเรียงชื่อ ‘ตอบคำถาม: อะไรคือแสงสว่างทางปัญญา’ (Beantwortung der Frage: Was ist Aufklärung?) นักปรัชญาคนสำคัญอย่าง อิมมานูเอล คานต์ (Immanuel Kant) ได้สรุปคำขวัญของยุคแสงสว่างทางปัญญาไว้ว่า

‘กล้าที่จะเรียนรู้ จงมีความห้าวหาญที่จะใช้ปัญญาญาณของตัวเอง’

ซึ่งแนวคิดเรื่องความเท่าเทียมนั่นเองที่กระตุ้นให้มนุษย์ผู้เคยอยู่ใต้เงื้อมเงาของอำนาจที่ไม่อาจต่อกรกล้าที่จะตั้งคำถามจนถึงปัจจุบัน และอาจกล่าวได้ว่า เราทุกคนที่กำลังตั้งคำถามถึงความไม่ชอบมาพากลบางอย่างและตระหนักถึงสิทธิที่จะใช้ชีวิตอย่างเสรีต่างเป็นลูกหลานและผลผลิตของยุคแสงสว่างแห่งปัญญาด้วยกันทั้งสิ้น

 

อ้างอิง