©ulture

หลังสงครามโลกครั้งที่สองจบลง ในยุคสมัยที่ความกลัวและความหวังเป็นสองสิ่งที่ดำเนินควบคู่ไปในสังคมมนุษย์ ขณะสงครามเย็นกำลังดำเนินไป

ปี 1968 นักปรัชญาและนักจิตวิทยาชาวยิวผู้หนีรอดจากชะตากรรมอันเลวร้ายของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โดยนาซีมาได้อย่างหวุดหวิดนาม เอริช ฟรอมม์ (Erich Fromm) ได้ตีพิมพ์ผลงานชิ้นสำคัญ The Revolution of Hope: Toward a Humanized Technology หนังสือที่พาผู้อ่านสำรวจนิยามของ ‘ความหวัง’ ตามชื่อเรื่อง ค้นหาความหมายของการเป็นมนุษย์ และเสนอวิธีการที่จะส่งเสริมความเป็นมนุษย์ท่ามกลางสังคมที่เราถูกทำให้แยกขาดจากกันมากขึ้น โดยเขาได้เขียนถึง ‘ความหวัง’ ไว้ในตอนต้นของหนังสือว่า…

“การมีความหวังคือการมีความพร้อมต่อทุกช่วงขณะที่ยังไม่เกิดขึ้น และยังไม่สิ้นหวังหากมันไม่เกิดขึ้นในชีวิตของเรา ไม่มีเหตุผลใดที่จะตั้งความหวังต่อสิ่งที่มีอยู่แล้ว หรือสิ่งที่ไม่มีวันเกิดขึ้นได้ คนมีความหวังอันอ่อนยวบจะใช้ชีวิตอยู่แค่กับความสะดวกสบายหรือไม่ก็ความรุนแรง แต่คนที่มีความหวังอันแรงกล้าจะมองเห็นและทะนุถนอมทุกๆ สัญญาณของชีวิตใหม่ พวกเขาจะมีความพร้อมต่อทุกช่วงขณะเพื่อทำให้ความหวังที่กำลังก่อตัวปรากฏขึ้นได้”

เอริช ฟรอมม์

ในโลกที่ความหวังถูกฉกฉวยเอาไป หันไปทางไหนก็ได้แต่ส่ายหน้าทอดถอนใจ หลายคนพูดประโยคอย่างเช่น “มองไม่เห็นความหวัง” วันละหลายครั้ง และความรู้สึกไร้หวังนี้ก็กัดกินหัวใจจนหมดเรี่ยวแรง การค้นหาความหวังให้เจอในภาวะเช่นนี้จึงน่าจะเป็นสิ่งสำคัญในการประคับประคองชีวิตและจิตใจ 

มีเรื่องเล่าจากหนังสือที่แต่งขึ้นเมื่อกว่า 700 ปีก่อนคริสตกาลในยุคกรีกโบราณชื่อ ‘การงานและวารวัน’ (Works and Days) โดยกวีนาม เฮสิโอด (Hesiod) ที่ถูกตีความว่า ‘ความหวัง’ คือสิ่งที่ทำให้มนุษย์รอดพ้นจากการถูกลงทัณฑ์ของเทพเจ้า ผ่านเรื่องเล่าของมนุษย์นาม ‘แพนดอร่า’ (Pandora) ที่ใครหลายคนน่าจะเคยได้ยินคำว่า ‘กล่องแพนดอร่า’ (หรือ ขวดโหลของแพนดอร่า) มาบ้าง

Works and Days

เรื่องเล่าเริ่มต้นที่เรื่องราวของ โพรมีทีอุส (Prometheus) เทพไททันผู้ขโมยไฟจากเทพเจ้ามาให้มนุษย์ จนมนุษย์เกิดความกระด้างกระเดื่อง เทพเจ้าซุสบิดาแห่งเทพทั้งมวลจึงมอบกล่องปริศนากล่องหนึ่งมาให้ และสร้างมนุษย์เพศหญิงคนแรกนาม ‘แพนดอร่า’ ขึ้นมา โดยซุสได้ใส่ความสงสัยใคร่รู้ลงไปในตัวของแพนดอร่า เพื่อจะให้เธอเป็นผู้เปิดกล่องปริศนาที่บรรจุความชั่วร้ายและความทุกข์ยากซึ่งสามารถทำลายล้างมนุษย์ได้

ตำนานเล่าว่า เมื่อแพนดอร่าเปิดกล่อง ความชั่วร้ายต่างๆ ก็กระจายตัวไปทั่ว เหลือทิ้งไว้แค่ความหวัง ที่แพนดอร่ารีบปิดกล่องกักเก็บไว้ทัน เรื่องเล่านี้จึงถูกตีความว่า ความหวังคือสิ่งที่สามารถค้ำจุนมนุษย์ ท่ามกลางความชั่วร้ายที่กำลังบ่อนทำลายจิตใจ

Photo: https://az334033.vo.msecnd.net/images-4/pandora-barend-graat-1676-cd8a5f5a.jpg

แม้จะมีการถกเถียงและตีความที่แตกต่างออกไปอยู่จำนวนมาก ด้วยคำถามเช่นว่า จริงๆ แล้ว ความหวัง ในเรื่องนี้คือตัวแทนของ ‘ความดีงาม’ หรือ ‘ความชั่วร้าย’ กันแน่ แต่การมีชีวิตอยู่ในโลกสมัยใหม่ คงไม่มีใครปฏิเสธว่า ความหวังนั่นแหละที่ทำให้เรายังรักษา ‘ความเป็นมนุษย์’ ของตัวเองไว้ได้ นักปรัชญาหลายคนเห็นตรงกันว่ามันคือความรู้สึกนึกคิดที่เป็นสากลของมนุษย์ทุกหมู่เหล่าด้วยซ้ำ

เอริช ฟรอมม์ เขียนว่า 

“มนุษย์ไม่ได้แค่ต้องต่อสู้กับภยันตรายของความตาย ความหิวโหย หรือการถูกทำร้ายให้บาดเจ็บเท่านั้น แต่ยังต้องต่อสู้กับอันตรายอื่น นั่นคือการกลายเป็น ‘คนวิกิลจริต’ หรือ อีกนัยหนึ่ง เขาไม่ได้แค่ต้องปกป้องตัวเองจากการสูญเสียชีวิต แต่ยังต้องปกป้องตัวเองจากการสูญเสียจิตใจ”

โดยฟรอมม์มองว่า ความหวังคือองค์ประกอบสำคัญที่จะปกป้องเราจากความวิกลจริตนี้ และสามารถทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งต่อตัวเองและสังคม แต่คำถามคือ ความหวังที่ว่ามีหน้าตาอย่างไร?

The Revolution of Hope: Toward a Humanized Technology

คำตอบอย่างสั้นคือ ความหวังในมุมมองของฟรอมม์นั้น มีความสัมพันธ์กับความรู้สึกอีกประมาณ 3 อย่าง นั่นคือ ความศรัทธา ความกล้าหาญ และ การปราศจากความกลัว

“…ศรัทธาคือความเชื่อมั่นต่อสิ่งที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ เป็นความรู้เกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่สามารถเกิดขึ้นได้จริง หรือเป็นความตระหนักเกี่ยวกับช่วงเวลาแห่งการบ่มเพาะให้เกิดขึ้น ความศรัทธาจะสมเหตุสมผลได้ก็ต่อเมื่อมันเกี่ยวข้องกับการรับรู้ถึงความจริงที่ยังไม่ถือกำเนิด เราต้องการความศรัทธาที่สามารถคาดคะเนได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ไม่มีความศรัทธาใดเกิดขึ้นบนพื้นฐานของความเป็นไปไม่ได้”

ความหวังจึงควรอยู่บนพื้นฐานที่ไม่ใช่ ‘ความฝันใฝ่ที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง’ (ไม่ว่ามันเกิดขึ้นในชั่วชีวิตของเราหรือไม่ก็ตาม) ทั้งนี้ฟรอมม์ยังได้อธิบายทั้งเรื่องความหวังและความศรัทธาผ่านแนวคิดของนักปรัชญาชาวยิวอีกคนอย่าง สปิโนซา (Spinoza) ในเรื่องของความกล้าหาญ หรือการปราศจากความกลัว 

“ความกล้าหาญคือความสามารถในการปฏิเสธความเย้ายวนใจต่อการยอมประนีประนอมในเรื่องความหวังและความศรัทธา โดยการเปลี่ยนแปลงมัน กระทั่งทำลายมันสู่การมองโลกในแง่บวกอันว่างเปล่า สู่การกลายเป็นความศรัทธาอย่างไร้เหตุผล”

และแม้บางครั้งโลกจะดูมืดหม่น แต่นักจิตวิทยาในยุค 80s ต่อ 90s อย่าง ชาร์ลส์ ริชาร์ด สไนเดอร์ (Charles Richard Snyder) ผู้คิดค้นทฤษฎีเกี่ยวกับความหวังอันโด่งดังชื่อ Snyder’s Hope Theory และบอกว่าความหวังประกอบด้วยองค์ประกอบทางปัญญาและองค์ประกอบทางอารมณ์ ก็เชื่อว่าเราสามารถรักษาความหวังของตนให้คงอยู่ได้ ผ่านอย่างน้อย 3 ปัจจัยคือ:

1.การมีความคิดที่ชัดเจนต่อเป้าหมาย

2.การพัฒนากลยุทธ์ล่วงหน้าเพื่อเข้าถึงเป้าหมายดังกล่าว

3.แรงผลักดันที่สามารถทำให้เรามุ่งมั่นจะทำความหวังให้เป็นจริง

ชาร์ลส์ ริชาร์ด สไนเดอร์

สไนเดอร์เชื่อว่าการเตือนตัวเองด้วย 3 ปัจจัยดังกล่าว จะทำให้ความหวังของเราไม่กลายเป็นแค่ความฝันลมๆ แล้งๆ โดยเหล่านี้อาจเริ่มต้นได้ด้วยการตั้งคำถามต่อตัวเองง่ายๆ เช่น “จุดหมายปลายทางที่เราอยากไปให้ถึงมากที่สุดอยู่ที่ไหน?” หรือ “อะไรที่กำลังขัดขวางเราจนไปไม่ถึงเป้าหมาย” หรือ “จุดแข็งในตัวเองที่จะทำให้เราไปถึงจุดหมายเหล่านั้นคืออะไร?”

พจนานุกรมภาษาอังกฤษอย่าง Merriam-Webster ได้นิยามคำว่า hope หรือ ความหวัง ไว้อย่างเข้าใจง่ายว่า คือสิ่งที่ใกล้เคียงกับ ความปรารถนา โดยบอกว่าความหวังคือ “การทะนุถนอมความปราถนาด้วยการคาดหวัง ด้วยความต้องการว่าบางสิ่งจะเกิดขึ้น หรือกลายเป็นความจริงได้”

จากที่กล่าวมาทั้งหมด ในบริบทของปรัชญาสมัยใหม่ ความหวังจึงถูกมองเป็นทัศนคติที่สำคัญและเหมาะสมที่ทำให้มนุษย์เข้าถึงศักยภาพของความเป็นไปได้ในตัวเองและสังคม

Photo: https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/d/df/Pandora_-_John_William_Waterhouse.jpg

นี่ไม่ใช่การตบบ่าลูบไหล่ปลอบประโลมใจกันชั่วครู่ชั่วยาม ใช่ ในภาวะที่ไร้ความหวังอย่างหนักหน่วงเช่นนี้ การมาพูดถึงความหวังดูจะคล้ายเพ้อพกหลอกตัวเองไปวันๆ อยู่สักหน่อย หรือจะมองว่ามันเป็นทัศนคติของคนที่ขาดไร้ความรู้ความเข้าใจโลกแห่งความจริงตามอย่างปรัชญาสมัยกรีกโบราณยุคเริ่มต้นก็ได้ ตัวผู้เขียนบทความนี้ก็คงต้องสารภาพว่า ตัวเองก็แอบหมดหวังและหมดแรงกับชีวิตและอนาคตอยู่บ่อยๆ แต่ถ้าเราไม่พูดถึงความหวังในยุคสมัยที่มืดมิดเช่นนี้เอาเสียเลย เราจะมีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไรกัน

นักประวัติศาสตร์สองพ่อลูก วิลเลียม เฮช. แมคนีลล์ (William H. McNeill) และ เจ อาร์ แมคนีลล์ (J. R. McNeill) เขียนหนังสือประวัติศาสตร์โลกชื่อ The Human Web: A Bird’s-Eye View of World History โดยมีข้อความหนึ่งที่แสนกินใจว่า

“สิ่งที่ขับเคลื่อนประวัติศาสตร์คือความทะเยอทะยานของมนุษย์ที่จะเปลี่ยนแปลงสภาพที่ตนมีอยู่ไปสู่สิ่งที่พวกเขาหวัง”

ตั้งแต่เทพปกรณัมกรีกจนถึงยุคสมัยปัจจุบัน เราต่างขับเคลื่อนตัวเองและสังคมมนุษย์กันมาเช่นนั้นมิใช่หรือ เรามีความหวัง ถูกทำให้หมดหวัง ถูกทุบทำลาย แล้วก็ก่อความหวังกันขึ้นมาใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า ก็ด้วยสิ่งที่ฟรอมม์บอกว่า มันก่อมาจากความศรัทธา ความกล้าหาญ และการปราศจากความกลัว เหมือนที่กวีชาวอังกฤษ อเล็กซานเดอร์ โป๊ป (Alexander Pope) เขียนไว้อย่างให้ความหวัง

“ความหวังผลิบานเป็นนิรันดร์ในจิตใจมนุษย์”

 

อ้างอิง

  • William H. McNeill, J. R. McNeill. The Human Web: A Bird’s-Eye View of World History. 
  • Erich Fromm. The Revolution of Hope: Toward a Humanized Technology. 
  • Maria Popova. An Antidote to Helplessness and Disorientation’. https://bit.ly/3mqIO8S
  • toolshero. Snyder’s Hope Theory. https://bit.ly/3DcuN4n
  • Charles Imboden. The Revolution of Hope: the Practical Philosophy of Erich Fromm. https://bit.ly/3DbFSD1
  • Claudia Bloeser, Titus Stahl. Hope. https://stanford.io/3B6Z82n