©ulture

เมื่อเอ่ยชื่อส้มซ่าคนไทยน้อยคนนักที่จะเคยเห็นไม้ผลชนิดนี้ เพราะสถานะปัจจุบันของส้มซ่าแทบจะกลายเป็นไม้ไทยในตำนาน ที่ไม่ถูกบรรจุอยู่ในส่วนผสมของเมนูอาหารปัจจุบัน 

ส้มซ่ามีผิวขรุขระคล้ายมะกรูด ให้รสเปรี้ยวเกือบเท่ามะนาว และมีเนื้อหน้าตาเหมือนส้มเช้ง แม่ครัวหัวป่าก์ในอดีตจึงดึงเอาคุณสมบัติของน้ำมันในผิวเปลือกส้มซ่า มาช่วยเสริมรสชูกลิ่นให้กับอาหารไทยตำรับโบราณ อย่างม้าฮ่อ, หมี่กรอบ, เมี่ยงปลาแนม และขนมหวานคลายร้อนอย่างส้มฉุน ที่ผสานความเย็นของน้ำแข็งไส ให้เข้ากันกับหอมเจียว ส้มซ่า และผลไม้ไทยๆ อย่างลิ้นจี่หรือส้มได้อย่างเข้ากัน

NAMMON Mixers

ด้วยความที่สถานะของส้มซ่าเป็นเหมือนส่วนผสมเลอค่าเฉพาะอาหารตำรับชาววัง ประกอบกับกรรมวิธีในการตระเตรียมส้มซ่ามาใช้งานค่อนข้างยุ่งยาก เช่น ในบางตำราของการทำม้าฮ่อระบุไว้ว่า การจะปอกส้มซ่าไม่ให้ขมต้องใช้มีดถึง 3 เล่ม เล่มแรกเพื่อเอาเปลือกออก แล้วเปลี่ยนมีดเพื่อนำเส้นใยขาวๆ ออก ซึ่งส่วนสีขาวนี้เองที่มีรสขม และมีดเล่มสุดท้ายใช้สำหรับหั่นส้มซ่า ด้วยเหตุผลต่างๆ เหล่านี้เองที่อาจทำให้ส้มซ่าไม่ได้รับความนิยมในการนำมาทำอาหารในปัจจุบัน 

แต่แล้วผลไม้ที่เกือบจะหายไปจากความทรงจำของคนไทย กลับถูกดึงรสเปรี้ยวซ่อนหวานอมขมออกมาใช้เป็นส่วนผสมสำคัญในการทำน้ำโทนิค ที่ในอดีตเคยเป็นที่รู้จักในฐานะยารักษาสารพัดโรคของชาติตะวันตก ที่ปัจจุบันกลายเป็นมิกเซอร์ที่บาร์สมัยใหม่ทุกแห่งต้องมี   

โทนิคขวดนี้เรียกขานตัวเองภายใต้ชื่อไทยแท้ว่า น้ำมนตร์ ที่ชุบชีวิตไม้ไทยโบราณให้กลับมาเป็นที่รู้จักอีกครั้ง

NAMMON mixers
Photo: https://www.facebook.com/nammonmixers

ไทรม้า: ดินแดนแห่งส้มซ่า 

เติ๊ด – ภานุรุจ นักปรุงน้ำมนตร์นัดให้เราไปเจอกับเขาที่สวนคุณประเสริฐ ส้มซ่า นนทบุรี ที่แม้จะอยู่ห่างจากรถไฟฟ้าสายสีม่วงสถานีไทรม้าไม่ไกล แต่การได้เดินข้ามท้องร่อง ก้มหลบและหลีกหนามแหลมของต้นส้มซ่าหลายสิบต้นภายในสวนอันร่มรื่น กลับให้อารมณ์เหมือนเดินทางออกจากกรุงเทพฯ ไปสูดอากาศบริสุทธิ์ในต่างจังหวัดอันแสนไกล 

ส่วนใหญ่ผมจะมาซื้อส้มซ่าเองถึงสวนทุกครั้งเติ๊ดบอกกับเรา ขณะที่กำลังเดินตาม พี่ดำ – ประเสริฐ โชติมูล เจ้าของสวนส้มซ่า ลัดเลาะไปดูผลผลิตกันถึงโคนต้น ที่นอกจากจะมีส้มซ่าแล้ว สวนของพี่ดำยังมีกระเจี๊ยบ กล้วย และพืชสวนอื่นๆ ขึ้นแซมอย่างเป็นธรรมชาติ โดยก่อนหน้านี้ที่นี่เคยเป็นสวนทุเรียนที่สืบทอดกันมารุ่นสู่รุ่น ไม่ต่างจากพื้นที่อื่นๆ ในจังหวัดนนทบุรี

NAMMON Mixers
พี่ดำ – ประเสริฐ โชติมูล เจ้าของสวนส้มซ่า และ เติ๊ด – ภานุรุจ เจ้าของโทนิคน้ำมนตร์

แต่หลังจากเจอวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ พ.ศ. 2554 ที่แทบจะกลายเป็นอวสานของสวนทุเรียนเมืองนนท์ ปรากฏว่าต้นไม้ที่ยังยืนต้นอยู่ในสวนแห่งนี้ได้ ก็คือ ต้นส้มซ่า ทำให้พี่ดำหันมาจริงจังกับการปลูกไม้ไทยอึดทนสายพันธุ์นี้ ที่กลายเป็นพืชเศรษฐกิจประจำครัวเรือนของเขาในที่สุด 

ส้มซ่าในจังหวัดอื่นๆ ก็ไม่ดีเท่าที่นี่เติ๊ดเล่าถึงเหตุผลที่หลังจากดั้นด้นเสาะหาวัตถุดิบสำคัญในหลายๆ จังหวัด สุดท้ายเขาก็เลือกอุดหนุนผลผลิตจากทำเลใกล้บ้านราวกับเส้นผมบังภูเขา อย่างสวนพี่ดำแห่งไทรม้า นนทบุรี ชาวสวนที่ยกความดีความชอบให้ผืนดินอันอุดม 

จังหวัดนนท์ปลูกต้นทองหลางเยอะ ดินเลยดี ปลูกอะไรก็ขึ้น ส้มซ่าปลูกง่ายนิดเดียวพี่ดำย้ำ

NAMMON Mixers

ในเมื่อปลูกง่าย ได้ผลผลิตครั้งละหลายร้อยลูก แล้วอะไรทำให้ส้มซ่าไม่ได้รับความนิยม ทั้งในแง่คนปลูกและคนนำไปใช้ปรุงอาหาร 

ผมเดาว่าส้มซ่าน่าจะเป็นวัตถุดิบที่ราคาสูงอยู่แล้วตั้งแต่ในอดีต เพราะมักจะใช้ปรุงเฉพาะอาหารชาววัง มูลค่าจึงสูง คนในยุคปัจจุบันที่ไม่ได้ทำเมนูเหล่านั้นกินในชีวิตประจำวัน ก็เลยไม่รู้จะซื้อส้มซ่าไปทำอะไรเติ๊ดลองวิเคราะห์ เพราะแม้แต่ตัวเขาเองยังเผอิญได้รู้จักรสชาติของใบส้มซ่าผ่านรสมือของเชฟชาวต่างชาติฝีมือระดับประดับดาวมิชลิน 

ผมเพิ่งได้กินแกงคั่วเนื้อของเชฟเดวิด ทอมป์สัน ซึ่งเขาซอยใบส้มซ่าใส่ลงไปด้วย เป็นครั้งแรกที่ผมได้กินส่วนของใบส้มซ่าเหมือนกัน หอม อร่อยมาก กลิ่นไม่เหมือนมะกรูดเท่าไร ผมกำลังหาวิธีเอาใบไปใช้เหมือนกัน ตอนนี้นำมาใช้ได้แค่ส่วนของผล ทั้งๆ ที่ใบส้มซ่ามีเยอะมหาศาลเขาเล่าพลางชี้ชวนให้เราดูทิวแถวของต้นส้มซ่าที่รกครึ้มด้วยใบไปทั่วทั้งสวน

NAMMON mixers

ผมชอบที่ส้มซ่าไม่ฉุนแบบมะกรูด ไม่ซิตรัสจ๋าเหมือนมะนาว แถมกลิ่นยังหอมเหมือนดอกส้ม ซึ่งส้มซ่าเป็นวัตถุดิบที่อยู่ในใจผมมานานแล้ว ตอนเริ่มหาวัตถุดิบมาทำน้ำมนตร์ช่วงแรกๆ ผมเคยเข้าไปหาสมุนไพรตากแห้งจากร้านสมุนไพรยาจีน ทั้งเยาวราช อภัยภูเบศร์ ฯลฯ มาลองใช้ แต่สุดท้ายก็กลับมาที่ส้มซ่า ซึ่งผมเคยขูดผิวมาดมตั้งแต่เด็กๆ เพราะที่บ้านเคยเปิดร้านอาหารที่เป็นบาร์ด้วยซ้ำ ผมเลยรู้จักพืชชนิดนี้ และคิดไว้เสมอว่าจะต้องเอามาทำอะไรสักอย่างให้ได้ 

ชายหนุ่มผู้หลงใหลในบรรยากาศของการดื่มสังสรรค์อย่างมีศิลปะ ผู้เคยทดลองทำเบียร์เองมาก่อนหน้านี้ เอ่ยถึงการนำวัตถุดิบในใจมาทดลองทำมิกเซอร์ที่ไม่คุ้นจริตคนไทยอย่างโทนิค 

เท่ากับเป็นความท้าทายถึงสองเด้ง ทั้งการนำวัตถุดิบที่คนไทยลืมเลือนอย่างส้มซ่า มาทำเครื่องดื่มที่แทบไม่มีใครรู้จักอย่างโทนิค

NAMMON mixers
Photo: https://www.facebook.com/nammonmixers

ทำไมต้องโทนิค 

ขวดแก้วทรงสวยประดับลวดลายนกและผืนป่าอันแสนจะวิจิตร คือ ภาพที่สถิตอยู่ในความทรงจำของเด็กชายภานุรุจ ผู้เติบโตมากับวัฒนธรรมการกินดื่มซึ่งเป็นธุรกิจประจำครอบครัวของเขา ขวดเครื่องดื่มที่เรียงรายอยู่ใกล้ตัวคุณแม่ที่ไปเรียนบาร์เทนเดอร์ในสมัยนั้น ทำให้เขาคลุกวงในไม่เคยห่างบรรยากาศของบาร์มากว่า 30 ปี 

จนกระทั่งคืนหนึ่งระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ คำถามจากบาร์เทนเดอร์ในบาร์ค็อกเทลแห่งหนึ่งก็สะดุดใจเขาเข้าอย่างจัง 

ปกติเวลาสั่งค็อกเทล เราเคยเลือกแค่ว่าอยากดื่มเหล้าประเภทไหน แต่เขายังถามผมเพิ่มเติมว่า จะเอาโทนิคยี่ห้ออะไร ผมถึงกับงงไปเลยว่า ซอฟท์ดริ้งค์ก็ต้องเลือกยี่ห้อด้วยเหรอ 

เติ๊ดยอมรับว่าในตอนนั้นเขาเองก็ยังเข้าใจผิดระหว่างโทนิค โซดา และ Ginger Ale โทนิคเท่าที่เขารู้จักเป็นเพียงหนึ่งในส่วนผสมของ Gin and Tonic หรือที่คนไทยเรียกติดปากว่า จินโทนิค ค็อกเทลที่ดื่มง่ายที่สุดสำหรับคนเพิ่งหัดดื่ม

เมื่อเขาอธิบายเพิ่มเติมว่าโทนิคแต่ละยี่ห้อมีคุณภาพต่างกัน ทำให้ผมนึกถึงวัตถุดิบของไทยขึ้นมาทันที เพราะบ้านเรามีสมุนไพรดีๆ เยอะมากที่มีคุณสมบัติเหมาะในการนำมาทำเป็นส่วนผสมของเครื่องดื่มได้ และคงจะดีมาก ถ้าจะมีโทนิคดีๆ สักยี่ห้อที่ไม่ได้ใส่น้ำตาลเยอะ และเป็นโทนิคในแบบที่ผมชอบ ที่สำคัญคือ สามารถใช้ประโยชน์สูงสุดจากวัตถุดิบไทยทั้งหมด ผลิตทุกกระบวนการจบภายในประเทศ แต่ส่งไปขายได้ทั่วโลกเขาคิดการณ์ใหญ่ขณะจิบจินโทนิคแก้วนั้นไปเรื่อยๆ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลสรุปได้ว่า ต้องลงมือทำเองเท่านั้น

NAMMON mixers

แต่ก่อนจะไปไกลถึงขั้นผลิตโทนิคเอง เขาแน่ใจแล้วหรือว่า ลูกค้าชาวไทยจะรู้จักและเข้าใจมิกเซอร์ชนิดนี้ดีพอ

ชาวต่างชาติรู้จักโทนิคดีอยู่แล้ว แต่คนไทยจำนวนหนึ่งอาจจะยังไม่เข้าใจว่าทำไมถึงควรใช้พรีเมียมมิกเซอร์ในการผสมเครื่องดื่ม ความตั้งใจหลักของผมในตอนนี้จึงเป็นการส่งเสริมให้คนทั่วไปรู้จักว่าโทนิคคืออะไร ซึ่งสำหรับผมโทนิคก็คือ โซดาที่มีความซ่า และมีรสชาติหวาน ขม อมเปรี้ยว เป็น flavor ที่ครบรส โทนิคเป็นซอฟท์ดริ้งค์ที่มีรสขม เมื่อนำไปผสมกับเครื่องดื่ม ความขมก็จะช่วยดึงความหวาน ดึงรสชาติที่หาไม่เจอให้เด่นขึ้นมา 

ในอดีตสมัยที่วงการแพทย์ยังไม่เจริญขนาดนี้ โทนิคเคยมีสถานะเป็นเหมือนยาวิเศษ เคยเชื่อกันว่าเป็นยาน้ำช่วยเพิ่มพลัง และต่อมาก็กลายเป็นยาต้านมาลาเรีย ที่มีส่วนผสมหลักคือ ควินิน สารสกัดจากเปลือกต้น Cinchona พืชถิ่นในแถบอเมริกาใต้ ซึ่งถ้าเทียบกับในบ้านเราก็คือ พืชตระกูลสะเดาพันธุ์หนึ่ง

NAMMON Mixers

ส่วนจุดกำเนิดของจินโทนิคนั้นเกิดขึ้นในสมัยที่ทหารอังกฤษยกทัพเข้าไปในอินเดีย จึงต้องได้รับยาควินินเพื่อต้านมาลาเรีย แต่ด้วยความที่ตัวยาชนิดนี้มีรสขมมาก เพื่อให้ง่ายต่อการดื่มจึงมีการนำไปผสมกับเหล้าจิน และในภายหลังก็มีการใส่น้ำตาลและมะนาวเพิ่มเข้าไป จนกลายเป็นจุดกำเนิดของจินโทนิค ค็อกเทลที่ทุกบาร์ต้องมีเติ๊ดร่ายยาวถึงคำจำกัดความของโทนิค น้ำซ่าที่ทำหน้าที่ไม่ต่างจากตัวประกอบ คอยหนุนให้พระเอกในแก้วอย่างแอลกอฮอล์มีรสชาติโดดเด่นขึ้นอย่างวิเศษ 

ไม่ว่าจะเป็นการนำโทนิคมาผสมกับสปิริตหรือกาแฟ ก็ต้องใส่โทนิคที่ปริมาณที่มากเกินครึ่ง แต่กลับต้องดันให้เหล้าหรือกาแฟกลายเป็นพระเอก โทนิคจึงเหมือนทำงานอยู่เบื้องหลังการสร้างสมดุลในเครื่องดื่มแต่ละแก้ว รสชาติของโทนิคจึงต้อง subtle หวานน้อย ซ่ามาก และขมพอดี ไม่ขมเกินไปจนไปฆ่ารสชาติของเหล้าหรือกาแฟ

NAMMON Mixers

ทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มาของวลี Nammon Tonic Bless Your Spirits ปรัชญาประจำแบรนด์น้ำมนตร์ ซึ่งก็ตั้งชื่อตามคุณสมบัติของความเป็นยาวิเศษในสมัยโบราณ ซึ่งเมื่อมาล้อกับการทำงานร่วมกับเหล้า หรือ spirit ในภาษาอังกฤษ ที่ก็หมายความถึง จิตวิญญาณได้เช่นกัน คำว่าน้ำมนตร์จึงทั้งลงตัว เรียกง่าย และเข้าปากคนไทย 

กลายเป็นว่าเดี๋ยวนี้เวลาใครจะสั่งซื้อของจากเรา เขาจะไม่บอกว่า เอาโทนิคมา แต่จะบอกว่า เอาน้ำมนตร์มา คนที่ไม่รู้และบังเอิญได้ยินก็จะตกใจว่า ใส่น้ำมนต์ด้วยเหรอ ซึ่งนี่เป็นกิมมิคที่เราอยากจะเล่นเติ๊ดยิ้มให้กับทุกความลงตัวในส่วนผสมของน้ำมนตร์มิกเซอร์

ศาสตร์แห่งการปรุงน้ำมนตร์ 

อีกหนึ่งในเสน่ห์ของวัฒนธรรมการสังสรรค์บริเวณบาร์เครื่องดื่มที่เติ๊ดหลงใหล ก็คือ การได้ศึกษาประวัติศาสตร์ต่างๆ ผ่านค็อกเทลแต่ละแก้ว ได้สังเกตพิธีรีตองของบาร์เทนเดอร์ผู้ประจำการหลังบาร์ ที่กว่าจะผสมเครื่องดื่มตัวนั้นเข้ากับมิกเซอร์ตัวนี้จนเกิดเป็นค็อกเทลแก้วพิเศษ ช่างเต็มไปด้วยเรื่องราวที่น่าสนใจในสายตาของเขา

NAMMON mixers
Photo: https://www.facebook.com/nammonmixers

ยิ่งเมื่อบวกกับความเป็นคนชอบเดินทาง ตื่นเต้นกับการได้ลองชิมอาหารท้องถิ่น กระตือรือร้นที่จะซักถามถึงวัตถุดิบแต่ละอย่าง เมื่อรายละเอียดเหล่านี้ค่อยๆ สั่งสมมากขึ้นเรื่อยๆ ตามประสบการณ์ เติ๊ดจึงมั่นใจว่าเขาสามารถนำวัตถุดิบไทยที่ตัวเองรู้จักมาบรรจุใส่ขวดขายได้

หลักๆ แล้ว ผมอยากให้เกิดวัฒนธรรมที่ดีในการดื่ม ซึ่งท้ายที่สุดจะยั่งยืนกว่าในเชิงอุตสาหกรรม เช่น เกษตรกรก็จะมีเหตุผลในการปลูกส้มซ่ามากขึ้น เพราะมีคนนำมาใช้มากขึ้นในเมนูต่างๆ ถ้าดีมานด์ซัพพลายในระดับนี้เกิดขึ้นได้จริง เราก็จะมีส้มซ่าใช้ไปได้ตลอด ไม่เหมือนก่อนหน้านี้ที่มีคนปลูกส้มซ่าน้อยมาก ต้องแย่งกันซื้อ ทำให้ราคาแพง ในท้ายที่สุด ถ้าโมเดลนี้สำเร็จ เกษตรกรจะอยู่ได้ ผมเองก็อยู่ได้ ทุกคนต้องอยู่ได้หมด เราจะไม่พูดว่าเราช่วยเหลือเกษตรกร เพราะเกษตรกรต่างหากที่ช่วยเรา

NAMMON Mixers

ทั้งนี้ เส้นทางของโทนิคแบรนด์ไทยแท้ไม่ได้ยากแค่การตามหาวัตถุดิบที่ใช่มาปรุงน้ำโทนิคให้ได้รสชาติที่ลงตัวเท่านั้น เพราะหลังจากใช้เวลาถึง 3 ปี กว่าจะได้น้ำมนตร์บรรจุขวดสูตรที่ใช่ ก็เป็นเวลาเดียวกับที่ร้านอาหารและบาร์ต่างๆ ต้องปิดทำการในช่วงอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 พอดี 

แต่นั่นกลับไม่เป็นปัญหาสำหรับแบรนด์โทนิคขนาดพอดีตัว ที่บริหารงานแบบออร์แกนิกด้วยการใช้กลยุทธ์การตลาดแบบปากต่อปากเป็นสำคัญ 

ตอนนี้เราทำงานแบบออร์แกนิกในทุกกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ น้ำมนตร์ยังไม่เคยมีการโปรโมทในช่องทางไหน นอกจากทางเพจเฟสบุ๊กของตัวเอง เราเน้นการเจอหน้าเจอตากันมากกว่า ตั้งแต่การไปรับส้มซ่าด้วยตัวเองถึงสวน เพื่อจะได้หยิบจับวัตถุดิบตั้งแต่ยังเป็นผล ไม่ใช่วัตถุดิบที่มาในรูปแบบเป็นหลอดหรือเป็นน้ำ และเราก็นำน้ำมนตร์ไปส่งเองถึงมือบาร์เทนเดอร์ทุกบาร์ เพราะอยากให้เกิดการพูดคุยกันบ่อยๆ เนื่องจากคนที่นำไปใช้งานจริงจะรู้ถึงปัญหาได้ดีกว่า แบรนด์นี้เลยค่อยๆ เติบโตแบบออร์แกนิกที่ทุกคนในสายการผลิตรู้จักกันหมด ซึ่งผมว่าวิธีทำงานแบบนี้เมกเซนส์กว่าเติ๊ดยืนยันในแนวทางการบริหารแบรนด์แบบค่อยเป็นค่อยไป

NAMMON Mixers

ตอนแรกผมคิดว่าทำโทนิคน่าจะง่าย แต่กลายเป็นว่าวัตถุดิบที่เราใช้กลับไม่มีในท้องตลาด ทำให้ต้องหาเอง กว่าจะลงตัวที่สวนของพี่ดำ ซึ่งก็เป็นเหตุผลที่ทำให้ผมไม่สามารถผลิตได้ทีละเยอะๆ ตอนนี้จึงอยู่ในช่วงค่อยๆ พัฒนาไปทีละผลิตภัณฑ์จนกว่าจะครบทั้งไลน์ 

ปัจจุบันนอกจากโทนิคส้มซ่าฉลากดำแล้ว ยังมีโทนิคทำจากใบหูเสือฉลากสีฟ้า เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกในการปรุงเครื่องดื่มให้ได้รสขมอมหวานซ่อนเปรี้ยว และทิ้งกลิ่นสมุนไพรไทยอ่อนๆ เป็นอาฟเตอร์เทสต์ปิดท้ายในแต่ละจิบ 

การที่เราเริ่มต้นจากส้มซ่าและใบหูเสือก่อนก็เป็นทั้งข้อดีข้อเสีย สำหรับคนที่ไม่รู้จัก ก็อาจจะไม่เกต ไม่กล้าลอง แต่จุดประสงค์ของเราคือ อยากทำให้วัตถุดิบพื้นบ้านเป็นที่รู้จักมากขึ้น เพราะในอนาคตบริษัทของเราจะไม่ได้ทำแค่โทนิค แต่ตั้งใจจะเป็นบริษัทผลิตมิกเซอร์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ได้

NAMMON Mixers

ที่สำคัญคือ ผมอยากให้น้ำมนตร์เติบโตขึ้นเป็น National Drink ที่ใช้ของในประเทศจริงๆ และด้วยความที่ประเทศไทยมีบาร์เจ๋งๆ ติดอันดับโลกเยอะ ถือเป็นจุดหมายระดับโลกด้านการท่องเที่ยว ผมเลยรู้สึกว่าเราควรจะภาคภูมิใจกับธุรกิจกลางคืนได้มากกว่านี้ ขนาดผมเองตอนเด็กๆ ยังไม่กล้าบอกใครเลยว่าที่บ้านทำร้านอาหารทำบาร์ และมักจะเขียนระบุอาชีพพ่อแม่ว่า ค้าขาย ทั้งๆ ที่ธุรกิจนี้อยู่คู่กับคนไทยมาตลอด เราจึงควรรักษาภูมิปัญญาชาวบ้านในด้านวัฒนธรรมการกินดื่มเอาไว้ เช่น เหล้าพื้นบ้านไทย สามารถเอามาสร้างสรรค์สูตรเครื่องดื่มคู่กับผลไม้ไทย ให้เกิดศักยภาพมากขึ้นกว่านี้ได้ไหมเขาทิ้งท้ายด้วยคำถาม ที่ตัวเองพร้อมจะร่วมสร้างคำตอบ อย่างน้อยก็ในฐานะคนผลิตพรีเมียมมิกเซอร์ที่ผลิตจากพืชท้องถิ่นขึ้นเป็นรายแรกในประเทศไทย 

อย่างน้อยในอนาคต เมื่อนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางมาประเทศไทย แล้วสั่งโทนิคท้องถิ่นแบรนด์เล็กๆ แบรนด์นี้มาลองชิมดู เขาก็น่าจะได้รู้จักรสชาติของวัตถุดิบไทยแท้ที่ซ่อนอยู่ในน้ำซ่าขวดนี้ได้ดียิ่งขึ้น” 

 

  • สั่งซื้อโทนิคน้ำมนตร์ และอัพเดทรายชื่อร้านอาหาร บาร์ และร้านกาแฟที่ใช้น้ำมนตร์มิกเซอร์ได้ทาง FB: nammonmixers