life

การมาเยือนของโควิด-19 เปลี่ยนชีวิตของพวกเราไปอย่างไรบ้าง ?

แม้ละประเทศจะมีวิธีการรับมือกับโรคระบาดอย่างโควิด-19 ในแบบฉบับของตัวเอง เพราะมีวัฒนธรรม ความคิด ความเชื่อ และทัศนคติที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่ทุกคนกำลังเผชิญหน้าเหมือนกันคือ ‘ความเปลี่ยนแปลง’ เราทุกคนจำต้องปรับเปลี่ยนความเป็นอยู่ไม่มากก็น้อย เพื่ออยู่รอดในสถานการณ์เช่นนี้ 

common ชวนไปสำรวจวิถีชีวิตและความเป็นไปของเมืองในหลายประเทศรอบโลกระหว่างช่วงวิกฤตโควิด-19 ผ่านสายตาของคนท้องถิ่นและคนไทย มาดูกันว่าโรคนี้ได้เปลี่ยชีวิตพวกเขาไปอย่างไรบ้าง ?

 

Australia, Sydney
เจน – รัตมา จำรูญศิริ (36, นักการตลาด)

วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป 

“ปกติทำงานที่ออฟฟิศ แต่ตอนนี้ work from home ก็ทำงานแบบปกติ แต่แฟนได้รับผลกระทบเพราะเป็นช่างสัก รัฐบาลสั่งปิดร้านสักทั้งหมด ปกติแฟนจะไม่ค่อยอยู่บ้าน ต้องออกไปเล่นเวคบอร์ด ไปดำน้ำ แต่ตอนนี้รัฐบาลออกกฎว่าห้ามทำกิจกรรมที่ไม่สำคัญกับชีวิตประจำวัน ถ้าทำผิดกฎจะเสียค่าปรับ 1,000 เหรียญ”

(Photo : รัตมา จำรูญศิริ)

สิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้คนและสังคม

“ที่นี่ไม่มีเคอร์ฟิว แต่ห้ามรวมกลุ่มตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ตอนแรกรัฐออกกฎหมายว่า สถานที่ที่ไม่มีอากาศถ่ายเทจะรับผู้คนได้สูงสุดได้แค่ 100 คน หากเป็นที่เปิดโล่งจะรับได้ 500 คน แต่คนที่นี่ไปทะเลกันเยอะมาก แล้วเกิน 500 คน อีกวันรัฐบาลก็ประกาศสั่งปิดหาด

รัฐบาลออกกฎว่าให้ใส่หน้ากากเฉพาะคนที่ป่วยเท่านั้น คนที่ไม่ป่วยไม่ต้องใส่ เลยไม่มีใครใส่หน้ากากใดๆ ทั้งสิ้น น้องที่เป็นชาวออสซี่แท้ๆ ยังคิดว่าโควิดไม่ได้น่ากลัว เหมือนแค่ไข้หวัด มีแค่คนที่ภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรงหรือผู้สูงอายุเท่านั้นที่โคม่า
พอคนเริ่มติดเชื้อเยอะ ก็เริ่มรู้สึกว่าโรคนี้มันรุนแรง หลังจากนั้นก็มีกฎหมายให้ปิดผับ คาสิโน ส่วนร้านอาหารก็ให้ซื้อกลับบ้านได้อย่างเดียว ห้างจะเปิดแค่โซนซูเปอร์มาร์เก็ต และจำกัดจำนวนคนที่เข้าไป ถ้าเกินตำรวจก็จะเข้าไปปรับ”

(Photo : รัตมา จำรูญศิริ)

“สองอาทิตย์ที่ผ่านมาผู้คนให้ความร่วมมือดี อาจเพราะมีการปรับจริง สมมตินั่งรถไปด้วยกันสามคน ตำรวจก็จับ แล้วจะเช็คที่อยู่ว่าคือบ้านเดียวกันไหม ถ้าไม่ใช่ก็โดนปรับ พวกแหล่งช้อปปิ้งก็เงียบกริบ คนก็หันมาซื้อของแบบออนไลน์กันหมด

รัฐบาลช่วยเหลือคน 2 แบบ คือ 1.Job Seeker ได้เงินอย่างต่ำคนละ 250 เหรียญต่ออาทิตย์ 2.Job Keeper ช่วยวีคละ 750 เหรียญ และหากใครที่ได้รับผลกระทบจากโควิดก็จะได้เพิ่ม 250 เหรียญ คนก็เข้าใจนะ แล้วอีกอย่างจำนวนเงินก็ดีในระดับหนึ่งและทุกคนก็พร้อมใจกันประหยัด”

 

 

United Kingdom, Brighton
กระติ๊บ – สุวพีร์ สำราญ (28, นักศึกษาปริญญาโท)

วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป

“ช่วงนี้การเรียนปริญญาโทเปลี่ยนแปลงไป จากที่เคยเดินไปอ่านหนังสือที่ห้องสมุด ไปพบอาจารย์ ที่ปรึกษาในการทำธีสิส แล้วได้คำตอบ สามารถกลับไปแก้ไขงานของตัวเองได้เลยทันที ก็กลายเป็นต้องกักตัวอยู่บ้าน ส่งอีเมลล์ถามอาจารย์ และต้องรออาจารย์ตอบกลับ พอเรียนออนไลน์ สอบออนไลน์ อยู่แต่ในบ้าน ออกไปห้องสมุด หรือไปข้างนอกก็ไม่ได้ รู้สึกไม่แอคทีฟ ทำให้ความขี้เกียจครอบงำ แต่ได้ผูกมิตรกับเพื่อนร่วมบ้านที่เป็นต่างชาติมากขึ้น บางครั้งเขาก็ทำกับข้าวมาแชร์กับเราบ้าง ส่วนตัวชอบปาร์ตี้ ตอนนี้ทำได้แค่เปิดแอปพลิเคชันประชุมและชนแก้วกับเพื่อนๆ ที่บ้านตัวเอง”

(Photo : สุวพีร์ สำราญ)

สิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้คนและสังคม

“เมืองที่อยู่เป็นเมืองติดทะเล มีชายหาด ช่วงหน้าร้อนอากาศดี ปกติทุกปีจะมีคนมาอาบแดดกัน แต่ช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ภาครัฐประกาศห้ามคนมาอาบแดด ปรากฎว่าคนเปลี่ยนไปอาบแดดที่ริมระเบียงบ้านบ้าง ในสวนหลังบ้านบ้าง เอาเก้าอี้มานั่งรับแดดบ้าง

ส่วนที่ชายหาดก็เหลือไม่กี่คน บางคนก็แอบไปอาบแดดในมุมโขดหินลับตาไม่ให้ตำรวจเห็น เพราะอาจถูกจับหรือโดนปรับได้”

(Photo : สุวพีร์ สำราญ)

 

(Photo : สุวพีร์ สำราญ)

“นอกจากนี้ยังมีการออกกฎห้ามเดินรวมกลุ่มกันเกิน 2 คน ถ้ามากกว่านั้นต้องยืนห่างๆ กัน ไม่อย่างนั้นจะมีโทษ

สังคมโดยรวมมีคนใส่หน้ากากอนามัยแค่ไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ใช้ชีวิตกันปกติมาก และคนที่นี่เชื่อฟังภาครัฐ ตราบใดที่รัฐยังไม่ประกาศให้ใส่หน้ากากอนามัยก็จะไม่ใส่กัน คนส่วนใหญ่ที่ใส่หน้ากากเป็นคนเอเชีย และมักจะถูกมองจากวัฒนธรรมของเมืองที่ว่าคนใส่หน้ากากคือคนป่วย

ร้านค้าต่างๆ เปิดเฉพาะร้านอาหาร ซึ่งแบบเดลิเวอรีขายดีมาก และเท่าที่ทราบก็ยังมีการจัดปาร์ตี้ที่บ้านโด
ยนัดแต่เพื่อนสนิทกันเท่านั้น”

 

 

China, Beijing
ทิม – ทิม สันตสมบัติ (29, สื่อมวลชน)

วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป

“ชัดเจนที่สุดคือการทำงานจากที่บ้าน จากปกติที่ต้องนั่งประจำออฟฟิศ หลังโควิด-19 ระบาด รัฐบาลออกมาตรการกำหนดให้อาคารสำนักงานต่างๆ จำกัดจำนวนคนเข้าไปทำงาน ดังนั้น คนที่เข้าออฟฟิศคือคนที่จำเป็นต้องมาจริง ๆ เท่านั้น ตั้งแต่เดินเข้าประตูที่ทำงานจะมีเส้นเตือนเว้นระยะ 1 เมตร เพื่อความปลอดภัย ทุกคนต้องเดินผ่านกล้องตรวจอุณหภูมิร่างกาย โดยมีเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังตลอดเวลา”

(Photo : ทิม สันตสมบัติ)

“เรื่องอาหารการกินจากเดิมที่พนักงานจะทานอาหารรวมกันได้ที่โรงอาหารก็เปลี่ยนเป็นรับข้าวกล่องออกไปต่างคนต่างทานข้างนอกแทน จะกินที่ออฟฟิศหรือเอากลับบ้านไปก็สุดแล้วแต่ เวลาเข้าไปรับข้าวที่โรงอาหารก็ต้องผ่านเครื่องตรวจอุณภูมิอีก ส่วนใหญ่จะเลือกทำอาหารทานเองที่บ้าน ถ้าไม่สะดวกออกไปจ่ายตลาดก็สามารถสั่งวัตถุดิบต่างๆ มาส่งได้

เวลาสั่งของจากเดิมที่รับพัสดุจากพนักงานขนส่งโดยตรง บางส่วนจะใช้วิธีใส่ตู้แทนแล้วให้เราไปกดรหัสเปิดเอาเอง ถือเป็นการส่งของแบบ ‘ไร้สัมผัส’ โดยกล่องพัสดุที่ได้รับมาจะต้องผ่านการฆ่าเชื้อบริเวณทางเข้าชุมชน

เวลากลับบ้าน นอกจากจะต้องถูกวัดอุณหภูมิซ้ำอีก ยามจะตรวจบัตรผ่านเข้า-ออก ถ้าไม่ใช่คนในชุมชนก็ไม่สามารถผ่านรั้วกั้นเข้าไปได้ สำหรับคนในชุมชนเองก็มีการรณรงค์ให้ต่างคนต่างอยู่ในห้องของตัวเอง และลดการมีกิจกรรมทางสังคมไปก่อน”

ผู้คนสวมหน้ากากอนามัยและยังเฝ้าระวังโควิด-19 (Photo : NICOLAS ASFOURI / AFP)

สิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้คนและสังคม

“ด้วยความที่จีนเคยมีประสบการณ์จากโรคซาร์สระบาดเมื่อปี 2003 มาก่อน คนจีนเลยตื่นตัวกับโควิด-19 มาก ที่ปักกิ่ง คนเริ่มใส่หน้ากากอนามัยเวลาออกไปในที่สาธารณะตั้งแต่พบผู้ติดเชื้อรายแรกๆ ในเมือง จนกลายเป็นเรื่องปกติที่คนส่วนใหญ่เลือกป้องกันตัวเอง ก่อนที่รัฐจะออกมาตรการบังคับใส่หน้ากากอนามัยก่อนออกจากบ้าน หรือ สั่งปิดเมืองอู่ฮั่นเสียอีก”

ผู้คนกำลังข้ามถนน ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน (Photo : NICOLAS ASFOURI / AFP)

“ถึงแม้ตอนนี้จีนจะควบคุมโควิด-19 ได้แล้ว ผู้คนกลับมาใช้ชีวิตได้เกือบเป็นปกติ แต่ผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ รวมถึงผู้ป่วยที่เดินทางเข้าเมืองจากต่างประเทศ ยังคงเป็นความท้าทายใหม่ที่จีนให้ความสำคัญในการรับมือการกลับมาระบาดซ้ำ ในขณะที่การเว้นระยะห่างทางสังคม รวมไปถึงการป้องกันตัวเองไว้ก่อน กลายเป็น ‘ความปกติใหม่’ (new normal) ในสังคมไปแล้ว”

 

 

USA, Los Angeles
นัทเทีย – กรีรัฐ สุนิศทรามาศ (35, ช่างภาพอิสระ)

วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป 

“วงการแฟชั่นและถ่ายภาพในอเมริกา คงพูดเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจาก “ตายสนิท” งานทั้งหมดถูกยกเลิกมาตั้งแต่เดือนมีนาคม ในภาวะแบบนี้แฟชั่นดูจะเป็นเรื่องท้ายๆ ที่คนจะสนใจ ฉะนั้นคนในแวดวงแฟชั่น คงต้องตกงานกันยาวๆ อย่างน้อยอีก 2-3 เดือน

การใช้ชีวิตในอเมริกา โดยปกติเราจะเร่งรีบกันมาก เพราะการแข่งขันสูง แต่การระบาดของโควิด-19 ทำให้ตัวเองมีโอกาสได้ใช้ชีวิตช้าลงบ้าง ตอนนี้เลยลองหัดเรียนเปียโนออนไลน์ ทำกับข้าว ปลูกต้นไม้ และยังได้อ่านหนังสือมากขึ้น ก็เลยเริ่มลองเขียนนิยายดูบ้าง

จากความไม่แน่ไม่นอนของชีวิตนี่เอง เลยทำให้คิดว่า หรือเราควรมีอาชีพเสริม ที่มากกว่าหนึ่งอย่าง ฉะนั้นการเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ในช่วงนี้ หากมองในแง่ดีก็อาจเป็นโอกาสของการเริ่มต้นใหม่ได้เหมือนกัน”

(Photo : กรีรัฐ สุนิศทรามาศ)

สิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้คนและสังคม

“ที่พอจะมองบวกได้บ้างแบบนี้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะตัวเองอาศัยอยู่ใน LA ที่สถานการณ์ไม่ได้ตึงเครียดเท่ากับนิวยอร์ก แต่ความตื่นตระหนกของผู้คนในตอนที่รัฐแคลิฟอร์เนียประกาศให้ทุกคนอยู่บ้าน (Safer at Home) ก็มีให้เห็นไม่แพ้ที่อื่น เช่น การแห่กักตุนอาหารและของใช้จำเป็นจนเกลี้ยงชั้นวางของ

ส่วนร้านค้า ร้านอาหารต่างๆ ก็นับว่าปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ได้เร็ว อย่างซูเปอร์มาเก็ต จะจำกัดคนเข้าได้ครั้งละไม่เกิน 10 คน เพื่อรักษาระยะห่าง บางแห่งเริ่มมีระบบสั่งซื้อออนไลน์หรือโทรสั่งซื้อทางโทรศัพท์ แล้วค่อยนัดเวลามารับ พอมาถึงพนักงานจะนำสินค้ามาส่งให้ที่ท้ายรถ โดยไม่ต้องสัมผัสกับพนักงาน ร้านอาหารก็ปรับตัวสู่ระบบเดลิเวอรี่แทบจะทุกแห่ง การส่งอาหารก็จะวางไว้ที่หน้าบ้าน โดยไม่โดนตัวกัน”

(Photo : Apu GOMES / AFP)

“แต่อย่างหนึ่งที่อาจจะสวนทางกับที่อื่นหน่อยคือ อเมริกาเพิ่งจะประกาศให้ทุกคนใส่หน้ากากอนามัยเมื่อออกจากบ้าน เมื่อสามสัปดาห์ที่ผ่านมานี้เอง เพราะที่นี่ถือเรื่องสิทธิเสรีภาพมาก การบังคับให้ทำอะไรสักอย่างโดยไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รับรองเป็นเรื่องยากมาก แต่ตอนนี้ถึงขั้นประกาศเป็นกฎหมาย ว่าทุกครั้งที่จะไปซื้อของหรือรับบริการอะไรก็ตามนอกบ้าน ทุกคนต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย”

 

Germany, Bonn, North Rhine-Westphalia
มาย – พัทธมน วงษ์รัตนะ (25, นักศึกษา)

วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป

“เราอยู่บ้านมาตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมก็จริง แต่ยังออกไปไหนมาไหนได้ปกติ โดยเฉพาะที่สาธารณะ อาจเป็นเพราะว่าเมืองที่เราอยู่มีธรรมชาติค่อนข้างเยอะมาก คนส่วนใหญ่จึงออกมาเดินเล่น ออกกำลังกาย เราคิดว่าสถาพจิตใจของคนที่นี่โอเคมาก เพราะทางการไม่ได้ประกาศเคอร์ฟิว หรือบังคับให้ทุกคนอยู่ในบ้าน แต่ขอความร่วมมือให้ทุกคนเว้นระยะห่างทางสังคม และไม่รวมตัวกันในที่แออัดแทน

ปกติช่วงเข้าฤดูใบไม้ผลิ ประมาณปลายเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนเมษายน จะเป็นช่วงที่ต้น cherry blossom บนถนนแถบเมืองเก่าออกดอกบานเต็มต้น ซึ่งสวยมากๆ เป็นไฮไลท์ของเมืองบอนน์เลยก็ว่าได้ มีทั้งคนในเมืองเองและนักท่องเที่ยวแวะเวียนมาดูและถ่ายรูป เรากับเพื่อนตั้งตารอคอยตั้งแต่ฤดูหนาว พอโควิด-19 ระบาด ถนนเส้นนั้นก็ถูกปิด มีตำรวจมายืนเฝ้าเลย ขนาดขอผ่านไปซื้อของยังโดนดุใส่ให้เปลี่ยนไปใช้ทางอื่นแทน”

“เป็นเรื่องที่เข้าใจได้นะ เพราะรัฐที่เราอยู่เคยมียอดผู้ติดเชื้อสูงสุด สาเหตุเกิดจากเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีงานเทศกาลประจำปีของเมืองโคโลญ ซึ่งอยู่ติดกับเมืองบอนน์ ทำให้มีคนเดินทางไปร่วมงานเป็นล้านคน โชคดีที่เราไม่ได้ไป ยิ่งเป็นคนเอเชียด้วย เลยค่อนข้างระวังตัวเป็นพิเศษ ไม่รู้ว่าคิดไปเองหรือเปล่า แต่รู้สึกว่ามีสายตามองมาที่เราเหมือนกัน

จนถึงตอนนี้เราไม่ได้ใส่หน้ากากเลย และยังไม่เห็นใครใส่ด้วย แต่ระยะหลัง หลายๆ รัฐเริ่มแนะนำให้คนใส่หน้ากากบ้างแล้ว ส่วนรัฐที่เราอยู่ออกมาบอกเลยว่าถ้าใครอยากใส่ให้เย็บเอง (หัวเราะ) ส่วนสาเหตุที่เยอรมันมีผู้ติดเชื้อสูง เพราะทางการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดและออกตรวจคัดกรองเยอะมาก หรือถ้าใครสงสัยว่าตัวเองจะติดเชื้อ ก็ให้โทรปรึกษาหมออย่างเดียว ห้ามเดินทางไปโรงพยาบาลเองเด็ดขาด เป็นวิธีป้องกันการแพร่เชื้อในที่สาธารณะ ซึ่งส่วนใหญ่หมอจะแนะนำให้อยู่บ้านกักตัวรอดูอาการก่อน แต่ถ้าเคสไหนจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาทันที ทางโรงพยาบาลจะส่งรถและเจ้าหน้าที่มารับถึงบ้าน”

(Photo : พัทธมน วงษ์รัตนะ)

สิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้คนและสังคม
“ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศแถบเอเชีย คนในเยอรมนีตื่นตัวกับโควิด-19 ช้ามาก เพราะตอนแรกคนยังมองว่าคล้ายไข้หวัดธรรมดา แต่เมื่อการระบาดเริ่มรุนแรงมากขึ้น ทางการก็ประกาศปิดสถานที่ที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อทันที ยกเว้นร้านค้าในชุมชนและซูเปอร์มาร์เก็ต

ช่วงแรกๆ มีคนจำนวนหนึ่งแห่ไปซื้อของกักตุน ในภาษาเยอรมันเรียกว่า Hamsterkauf เป็นการเปรียบเทียบกับพฤติกรรมตุนอาหารไว้ในกระพุ้งแก้มของหนูแฮมสเตอร์ แต่รัฐที่เราอยู่ไม่มีปัญหานี้ เพราะว่าซูเปอร์มาร์เก็ตออกมาประกาศชัดเจนเลยว่ามีของขายตลอดโดยเฉพาะกระดาษทิชชู่ แล้วก็ขยายเวลาเปิดร้านให้นานขึ้นด้วย ทำให้คนรู้สึกอุ่นใจขึ้น ไม่ต้องกลัวว่าของจะขาดแคลน

จริงๆ เยอรมนีเป็นประเทศแห่งการวางแผนและรัฐสวัสดิการ ในภาวะปกติทุกคนต้องจ่ายภาษีกันหนักมากอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเมื่อเกิดวิกฤต คนที่ได้รับผลกระทบจะได้รับเงินช่วยเหลือเยอะมากเช่นเดียวกัน อย่างคนไทยที่เปิดร้านอาหารไทยหรือร้านนวดแผนไทย ก่อนทำธุรกิจก็ต้องทำเรื่องขออนุญาต ขึ้นทะเบียนร้านให้ถูกต้องตามกฏหมาย หลังจากเปิดร้านแล้วก็ต้องรายงานรายได้ทุกเดือน เมื่อเกิดวิกฤตจนต้องปิดร้าน ทางการจะรู้ทันทีว่าร้านนี้ขาดรายได้ไปเท่าไหร่ แล้วร้านก็จะได้รับเงินช่วยเหลือ”

(Photo : พัทธมน วงษ์รัตนะ)

“เยอรมนียังโดดเด่นเรื่องระบบการดูแลประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดี (well-being) ด้วย สมมุติว่ามีคนได้รับผลกระทบจนขาดรายได้ ทำให้มีเงินไม่พอจ่ายค่าเช่าบ้าน ทางการอาจจะไม่ได้ให้เงินก้อน แต่จะออกเอกสารรับรองเพื่อนำไปผ่อนผันหรือละเว้นค่าเช่ากับเจ้าของบ้านอีกที ทุกคนที่นี่จึงได้รับการดูแลให้มีชีวิตปกติที่สุด คือไม่ว่าจะเกิดวิกฤตอะไร ทางการมีแผนรับรองและเงินสำรองสำหรับช่วยเหลือเสมอ

ด้านสาธารณสุขก็มีระบบการจัดการดีมาก นับตั้งแต่เกิดการระบาดจนถึงตอนนี้ จำนวนเตียงในโรงพยาบาลทั่วประเทศยังว่างมากกว่า 10,000 เตียง ทำให้สามารถเปิดรับผู้ป่วยติดเชื้อจากประเทศใกล้เคียงอย่างอิตาลีและฝรั่งเศสมาช่วยรักษาได้ด้วย”

 

 

Japan, Tokyo
ไหม – อรชมัย ธีรลักษณ์ (29, พนักงานบริษัท)

วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป

“ประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ การระบาดของโควิด-19 ในประเทศญี่ปุ่นเริ่มรุนแรงมากขึ้น บริษัทที่เราทำงานออกมาตรการให้ทำงานอยู่บ้านทันที และมีเงินช่วยเหลือให้พนักงานคนละ 20,000 เยน เอาไว้ปรับปรุงสภาพแวดล้อมในบ้านให้พร้อมทำงาน แล้วเดือนต่อๆ ไปก็ให้เงินเพิ่มอีกคนละ 3,000 เยน สำหรับช่วยค่าใช้จ่ายขณะอยู่บ้าน และค่าอินเทอร์เน็ต”

(Photo : อรชมัย ธีรลักษณ์)

“ช่วงแรกๆ ชีวิตประจำวันเปลี่ยนไปมาก เพราะเราค่อนข้างตื่นตัว จากที่ออกจากบ้านทุกวัน กลายเป็นว่าอยู่แต่ในบ้าน ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ก็จะไม่ออกไปไหนเลย รู้สึกว่ามีเวลาอยู่กับตัวเอง ลองทำกับข้าวกินเอง ช่วยลดค่าใช้จ่ายประจำวันไปได้เยอะมาก

นอกจากงานประจำ เรายังเป็นนักเรียนฝึกหัดด้านการพากย์เสียง โรงเรียนก็เลื่อนเปิดเทอม คนในวงการนี้ได้รับผลกระทบทางการเงินค่อนข้างหนัก เพราะงานต่างๆ ถูกยกเลิกทั้งหมด ดีหน่อยที่ทางการประกาศว่าจะให้เงินช่วยเหลือคนละ 100,000 เยน แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะได้จริงๆ เพราะก่อนหน้านี้ทางการประกาศแจกหน้ากากอนามัยบ้านละ 2 ห่อ เราเองก็ยังไม่ได้เลย แต่คงได้รับเร็วๆ นี้แหละ เห็นว่ากำลังทยอยแจกอยู่”

(Photo : อรชมัย ธีรลักษณ์)

สิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้คนและสังคม

“รู้สึกว่าคนญี่ปุ่นไม่ค่อยตื่นตัวกันสักเท่าไหร่ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่า เขาคุ้นชินกับการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ในช่วงหน้าหนาว ประมาณเดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ คนส่วนใหญ่เลยเข้าใจว่าโควิด-19 เป็นไข้หวัดแบบเดียวกัน ป่วยขึ้นมา แค่รักษาก็หาย ไม่ได้รู้สึกถึงอันตรายหรือความร้ายแรงของไวรัส จนกระทั่งมีคนดังหรือผู้มีชื่อเสียงสังเวยชีวิต คนถึงจะเริ่มตื่นตัวกัน ส่วนหน้ากากอนามัยที่ขาดตลาดอย่างหนักตั้งแต้ต้นปีจนถึงตอนนี้ คนก็หันมาใช้หน้ากากผ้าแทนบ้าง”

(Photo : อรชมัย ธีรลักษณ์)

“วัฒนธรรมญี่ปุ่นก็มีส่วน กฏที่ออกมาช่วงโควิด-19 ระบาด ทางการมักใช้คำว่า ‘ร้องขอให้’ หรือ ‘ขอความร่วมมือ’ แทนการบังคับ ประกอบกับคนญี่ปุ่นถูกปลุกฝังเรื่องสิทธิส่วนบุคคล ตราบใดที่ไม่ไปรบกวนคนอื่นหรือทำให้ใครเดือดร้อน คุณจะทำอะไรก็ได้ คนจำนวนมากจึงใช้ชีวิตปกติเหมือนไม่มีโควิด-19 ต่อให้มีตัวอย่างคนติดเชื้อแล้วตายจริงๆ หรือทางการออกมาย้ำเตือนเสมอว่าให้ดูแลตัวเอง คนในครอบครัว และคนรักอย่าให้ติดเชื้อ ก็ยังมีคนที่เห็นแต่ความสุขส่วนตัว ยิ่งคนที่ไม่มีครอบครัว อยู่ตัวคนเดียว ยิ่งแล้วใหญ่ เพราะเขาก็จะคิดว่าตัวเองไม่มีคนรักหรือคนในครอบครัวให้ห่วงคงไม่เป็นไร ซึ่งในสังคมญี่ปุ่นมีคนประเภทนี้ค่อนข้างเยอะ ฉะนั้นแล้วการใช้วิธีพูดอ้อมค้อมสไตล์ญี่ปุ่นแต่ก่อนอาจจะได้ผล แต่ด้วยความที่สังคมเริ่มเปลี่ยนไป คนบางกลุ่มจึงใช้ช่องโหว่ตรงนี้หาประโยชน์ เราคิดว่าเหตุการณ์นี้เผยให้เห็นธาตุแท้คนญี่ปุ่นนะว่าเป็นชาติที่ยึดความเป็นปัจเจกบุคคลแค่ไหน”

 

 

Netherland, Den Bosch
Hennie Bruurmijn (32, ครูสอนแบดมินตัน/ธุรกิจส่วนตัว)

วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป

“ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา การทำงานของผมเปลี่ยนไป คือต้องงดสอนกีฬาทุกชนิด และตั้งแต่มีคำสั่งให้งดกีฬาในร่มทั้งหมด ก็ไม่มีลูกค้าที่อยากจะซื้ออุปกรณ์กีฬา ร้านเกือบจะไม่มียอดขายเลย ในส่วนของพวกถ้วยรางวัล เมื่อไม่มีการจัดแข่งขันกีฬาใดๆ ก็ไม่มีใครซื้อ

นอกจากชีวิตทำงาน ก็มีออกไปซื้อของให้ครอบครัวบ้าง มีเวลาพาหมาไปเดินเล่นมากขึ้น แต่ก็ถือว่าออกนอกบ้านน้อยลง ทำให้มีเวลาสำหรับการเรียนสิ่งใหม่ๆ เช่น ฝึกเขียนโค้ดและวางแผนธุรกิจมากขึ้น”

(Photo : Hennie Bruurmijn)

สิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้คนและสังคม

“ร้านตัดผม ร้านอาหารในเมืองหลายๆ แห่งปิด มีร้านเสื้อผ้าบางร้านเปิดบ้าง ส่วนกีฬาและงานอีเวนต์ถูกยกเลิกทั้งหมด มีแค่บางกิจกรรมออกกำลังกายกลางแจ้งบางอันเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตในสัปดาห์นี้

ตลาดสดเปิดสัปดาห์ละสองครั้ง อนุญาตให้ขายแค่อาหาร แต่พ่อค้าแม่ค้าจะไม่ได้มาขายพร้อมกันทุกคน พวกเขาใช้พื้นที่เยอะขึ้นและจัดคิวสำหรับผู้คนเพื่อให้เกิดการเว้นระยะห่าง ถนนค่อนข้างเงียบและไม่มีรถติด ลานจอดรถและพื้นที่ต่างๆ ดูเหมือนจะมีคนแค่ 30 เปอร์เซ็นต์ของช่วงเวลาปกติ”

(Photo : Hennie Bruurmijn)

“มองในแง่หนึ่งมันสงบและมีพื้นที่มากพอสำหรับทุกคน ผมสังเกตเห็นว่าผู้คนแปลกหน้ามักจะยิ้มกว้างให้กันมากขึ้น แล้วเดินเตร็ดเตร่อย่างสงบสุขในย่านที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะวัยรุ่นอายุ 20 ต้นๆ และคนชรา แต่ก็มีบางคนที่เปลี่ยนแปลงตัวเองได้ยากในสถานการณ์นี้เช่นกัน”

 

 

New Zealand, Auckland
เฟิร์น – อัญมณี เต็มกุลเกียรติ (38, ติดตามมากับครอบครัว)

วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป

“มาอยู่ที่นี่เพราะสามีมาทำงาน ส่วนตัวมาเรียนและลูกก็มาเรียน ชีวิตเปลี่ยนไปหลังโควิด ช่วงสัปดาห์แรกที่ต้องกักตัวอยู่บ้าน ยังรู้สึกชิล เหมือนได้หยุดงานอยู่บ้าน แต่พอสัปดาห์ที่ 2-3 เริ่มเข้าสู่ภาวะเครียด ซึ่งถึงปัจจุบันปรับตัวได้แล้ว

สิ่งที่เครียดในช่วงนั้นเพราะการปรับตัว จากเดิมที่แค่ไปเรียน กลับมาดูแลสามีและลูกบ้าง แต่ละคนมีหน้าที่หลักของตัวเองที่ต้องไปทำนอกบ้าน กลายเป็นว่า ต้องทำหน้าที่ในฐานะนักเรียน ฐานะแม่บ้าน พร้อมกับเป็นครูให้ลูกที่เรียนออนไลน์ด้วย เพราะสมาธิของเด็กอยู่กับการเล่น อยากเจอเพื่อน เจอสังคมมากกว่าอยู่หน้าคอมเรียนหนังสือ”

(Photo : อัญมณี เต็มกุลเกียรติ)

สิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้คนและสังคม

“เนื่องจากเป็นเกาะและมีพื้นที่กว้าง ประชากรจึงไม่หนาแน่น ทำให้พวกเขาไม่รู้สึกกลัวการระบาดเท่าใดนัก จะตื่นตระหนกก็เพียงเวลาเห็นข่าว ส่วนใหญ่ใส่หน้ากากกันแค่ประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งในจำนวนนั้นเป็นเอเชียเสียส่วนใหญ่ หน้าบ้านเป็นทางลงชายหาด ปกติมีคนผ่านมากมาย ก็เงียบเหงาลง และไม่ค่อยเห็นใครใส่หน้ากากด้วย”

(Photo : อัญมณี เต็มกุลเกียรติ)

“ที่ซูเปอร์มาร์เก็ตจะแจกถุงมือพลาสติกและจำกัดจำนวนคนเข้า นั่นหมายความว่าเมื่อมีคนออกมาหนึ่งคน ก็สามารถเข้าไปได้เพียงคนเดียวเท่านั้น การต่อแถวเข้าซูเปอร์มาร์เก็ตจึงเป็นอะไรที่ยาวนานมาก ตั้งแต่ 7 โมงเช้า ทุกคนนำถุงผ้ามาเอง แต่ช่วงหลังทางร้านประกาศห้ามเอาถุงมา เพราะอาจปนเปื้อนเชื้อ จึงให้นำรถเข็นขนของไปใส่หลังรถตัวเองได้เลย

เนื่องจากมีการประกาศล็อกดาวน์ ห้ามคนเข้าและออกนอกประเทศ ทุกร้านปิดหมด ยกเว้นมินิมาร์ท ร้านขายยา รวมถึงห้ามออกนอกบ้านโดยไม่จำเป็น คนทั่วไปใช้บริการสาธารณะไม่ได้ ขึ้นได้เฉพาะบุคลากรทางด้านสาธารณสุข พนักงานร้านอาหาร หรือซูเปอร์มาร์เก็ตที่ต้องไปทำงานเท่านั้น”

 

 

Taiwan, Taipei
Wanyi – Wanyi Huang (26, นักศึกษาด้านศิลปะ)

วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป

“ส่วนตัวคิดว่าตัวเองรู้สึกหดหู่มากกว่าแต่ก่อน เพราะกลัวการออกไปแฮงก์เอาท์กับเพื่อนๆ แต่พอไร้กิจกรรมทางสังคมก็รู้สึกเบื่อ มีวันหนึ่งเพื่อนบอกว่าจะมาหาที่บ้าน วินาทีแรกก็ดีใจมาก แต่สักพักเริ่มนึกถึงจำนวนเคสผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นทุกวัน เลยบอกเพื่อนว่าเราคงต้องเจอกันในวันที่สถานการณ์ดีขึ้นกว่านี้ และก็รู้สึกเศร้ามากที่ไม่ได้เจอกัน

เรื่องเรียนก็เปลี่ยนมาเรียนผ่านออนไลน์ทั้งหมด จากที่สังเกตอาจารย์สอนศิลปะคนอื่นๆ เมื่อเด็กๆ ต้องอยู่ให้ห่างจากฝูงชน คุณครูก็จะส่งอุปกรณ์วาดรูปไปที่บ้านของเด็กๆ และทำการสอนผ่านออนไลน์โดยใช้คอมพิวเตอร์หรือไอแพด คุณครูศิลปะในยุคนี้จึงต้องเริ่มเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ อาจบอกได้ว่าต้องฝึกเป็นยูทูปเบอร์เลยก็ว่าได้”

(Photo : Sam Yeh / AFP)

สิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้คนและสังคม

“คนไต้หวันส่วนใหญ่ใส่หน้ากากอนามัยเป็นปกติอยู่แล้ว เลยไม่รู้สึกว่ามันแตกต่างมากนักกับก่อนหน้านี้ แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ทุกวันคือมีคนไปต่อแถวรอซื้อของที่ร้านขายยาจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะเป็นเหล่าคุณย่า คุณยาย เป็นอีกเรื่องน่ารักที่เกิดขึ้นในย่านที่ฉันอยู่ พวกเขาจะพกเก้าอี้ของตัวเองไปนั่งตรงหน้าร้านขายยา แม้ว่ามันจะผิดหลักการ social distancing และพวกเขาก็มาตรงเวลามาก หากร้านขายยาเปิด 14.00 น. ก็จะมารอตั้งตแต่ 12.30 น.”

(Photo : Sam Yeh / AFP)

“คาดว่าพวกเขาไปเพื่อซื้อหน้ากาก เพราะรัฐบาลจะส่งหน้ากากไปยังร้านขายยาแต่ละแห่งทั่วประเทศ ผู้คนสามารถซื้อหน้ากากได้ในจำนวนจำกัด ราคาและในช่วงเวลาที่กำหนด เพื่อให้แน่ใจว่าทุกคนจะได้ซื้อหน้ากากในราคาที่เป็นธรรม ไม่มีการกักตุน

ฉันสามารถเดินไปที่ร้านขายยา แสดงบัตรประชาชนและซื้อหน้ากากอนามัยได้จำนวน 9 ชิ้น สำหรับ 2 สัปดาห์ รัฐบาลต้องการให้ทุกคนได้รับหน้ากากในจำนวนที่เท่าเทียมกัน”

 

 

Georgia,Tbilisi
แพง – ฆนาธร ขาวสนิท (31, ฮิปปี้)

วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป

“ในแง่กายภาพไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร แต่ในแง่จิตใจค่อนข้างเปลี่ยนแปลงมาก ตั้งแต่ประเทศจอร์เจียร์ประกาศปิดพรมแดน เรารู้สึกว่าไม่มีที่พิงหลัง เพราะถ้าหากสถานการณ์รุนแรงมากขึ้น หมายความว่าเราจะยังเดินทางกลับไทยไม่ได้ในทันที และไม่รู้ด้วยว่าทางการจะปิดพรมแดนไปอีกนานแค่ไหน”

(Photo : ฆนาธร ขาวสนิท)

“จริงๆ แล้วส่วนตัวไม่ใช่คนที่ชอบออกไปพบปะหรือสังสรรค์กับคนอื่นๆ อยู่แล้ว แต่พอเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นมา ก็รู้สึกว่ามันทำให้เราไม่ได้เชื่อมต่อกับโลกเท่าที่ควรจะเป็น ทำให้ตระหนักว่าไม่ว่าจะเป็นคนที่มีลักษณะการเข้าสังคมแบบไหน แต่ลึกๆ แล้วเราก็ยังเป็นสัตว์สังคม เลยอดไม่ได้ที่จะมีภาวะกังวลและรู้สึกไม่มั่นคงอยู่ลึก

ตอนที่ได้ยินข่าวว่าคนเอเชียในอังกฤษถูกทำร้าย เราเองก็กลัวเหมือนกันนะ แต่คนที่นี่นิสัยดีมาก เขาเข้าหาและปฏิบัติต่อเราเหมือนเป็นเพื่อน เดินมาทักทายพูดคุย ไม่มีทีท่ากีดกันใดๆ เขายังถามเราเลยว่าเป็นคนจีนหรือเปล่า พอเราตอบว่าเป็นคนไทย เขาก็ชวนคุยต่อไปอีกว่า สถานการณ์ของประเทศไทยเป็นยังไงบ้าง ทุกอย่างปกติมากๆ หรือบางคนเห็นเราสูบบุหรี่ก็เข้ามาขอไฟแช็คแล้วยืนสูบบุหรี่ด้วยกัน ตั้งแต่อยู่มาไม่เคยเจอปัญหาการเหยียดเลย เราสัมผัสได้ว่าทัศนคติของคนท้องถิ่นที่มีต่อคนเอเชียนั้นดีมากๆ”

(Photo : ฆนาธร ขาวสนิท ภาพก่อนโควิด-19 ระบาด)

สิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้คนและสังคม

“ในย่านที่เราอยู่เรียกว่า Old Tbilisi เป็นย่านท่องเที่ยว ปกติมีชีวิตชีวามากเพราะคนแวะเวียนไปมาแทบจะตลอดเวลา โดยเฉพาะตอนกลางคืน จะได้ยินเสียงเพลงจากไนท์คลับต่างๆ ไปทั่วบริเวณ และมีการจุดพลุตอนเที่ยงคืนด้วย แต่ช่วงนี้ที่นี่เงียบเหงาขึ้นเยอะมาก เพราะรัฐบาลประกาศเคอร์ฟิวตั้งแต่ 3 ทุ่มถึง 6 โมงเช้า

ช่วงแรกที่รัฐบาลประกาศปิดประเทศ บรรยากาศโดยรวมค่อนข้างชวนให้รู้สึกหดหู่เหมือนกัน เพราะคนต้องอยู่แต่ในบ้าน ห้ามรถทุกประเภทวิ่งบนถนนนานประมาณ 1 สัปดาห์ แต่ตอนนี้ทุกอย่างเริ่มผ่อนปรน ในที่สาธารณะเราเห็นคนออกไปซื้อของ ไปทำงาน บางคนออกมาทำกิจกรรมกลางแจ้ง แต่ทุกคนยังคงสวมหน้ากาก และเว้นระยะห่างทางสังคมอยู

เราคิดว่าชีวิตทุกคนได้รับผลกระทบหมด เพียงแต่มาตรการของรัฐบาลช่วยสร้างความมั่นใจให้ประชาชนในประเทศได้ หลังจากทางการประกาศให้ทุกคนกักตัวอยู่ในบ้าน มาตราการแรกที่รัฐบาลช่วยเหลือคือ ประชาชนไม่ต้องจ่ายค่าไฟ ค่าน้ำ และค่าแก๊ส”

(Photo : ฆนาธร ขาวสนิท)

“ทุกคนค่อนข้างตื่นตัวกันมาก เรารู้สึกว่ารัฐบาลเองก็ค่อนข้างจัดการได้ดีในภาวะแบบนี้ เพราะเขาทำงานกันเร็ว มาตราการต่างๆ จะถูกประกาศใช้อย่างเร่งด่วนหลังจากรัฐบาลประชุมหารือกันเสร็จ เช่น การบังคับให้ทุกคนใส่หน้ากากเมื่ออยู่ในสถานที่ปิดอย่างร้านค้าและร้านขายยา ถ้าเจ้าหน้าที่พบเห็นว่ามีคนไม่ใส่หน้ากาก จะปรับทั้งคนที่ไม่ใส่และผู้ประกอบการ ซึ่งค่าปรับค่อนข้างสูงมาก หากตีเป็นเงินไทย คือ 30,000 บาทสำหรับคนที่ไม่ใส่หน้ากาก และ 150,000 บาทสำหรับผู้ประกอบการ และถ้าทำผิดซ้ำ จะถูกจำคุก 6 ปี

ร้านค้าต่างๆ จึงบังคับคนที่ต้องการเข้ามาซื้อของอีกทีว่า ทุกคนต้องใส่หน้ากาก ถ้าร้านไหนไม่อยากเสียลูกค้าก็จะเตรียมหน้ากากแจกให้ทุกคนใส่ก่อนเข้าร้าน หรือถ้าใครต้องการซื้อหน้ากากก็มีขายในร้านขายยาเป็นหน้ากากผ้าที่ใช้ซ้ำได้ ซึ่งรัฐบาลกำหนดโควต้าให้แต่ละคนซื้อได้ 3 ชิ้น คิดเป็นเงินไทยประมาณชิ้นละ 5 บาท”

 

 

Denmark, Aarhus
วอ – วรวัชร์ ตั้งจิตรเจริญ (32, นักศึกษาปริญญาเอก)

วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป

“ชีวิตนักศึกษาปริญญาเอกเข้าชั้นเรียนน้อยมากอยู่แล้ว ประมาณ 10 ครั้งต่อเทอม เพราะส่วนใหญ่ใช้เวลาไปกับการทำงานด้านวิจัยมากกว่า ปกติผมเข้าออฟฟิศที่มหาวิทยาลัยเกือบทุกวัน เพราะมีสิ่งอำนวยความสะดวกให้ใช้งานได้ครบถ้วนมากกว่า โดยเฉพาะการเข้าถึงข้อมูลและเอกสารทางวิชาการ แต่หลังจากโควิด-19 ระบาด มหาวิทยาลัยก็ประกาศให้ทำงาที่บ้านแทน กลายเป็นว่าผมต้องอยู่ในบ้านทุกวัน รู้สึกเบื่อมากๆ เพราะการอยู่บ้านค่อนข้างขาดแรงจูงใจในการทำงานพอสมควร แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ นอกจากพยายามปรับตัวให้ได้เร็วที่สุด”

(Photo : วรวัชร์ ตั้งจิตรเจริญ)

“การระบาดของโควิด-19 ยังเป็นจุดเริ่มต้นให้เครือข่ายอาจารย์ในมหาวิทยาลัยทำงานวิจัยด้วย เป็นการศึกษาเชิงสำรวจและเปรียบเทียบแต่ละประเทศเกี่ยวกับสุขภาพจิตและพฤติกรรมการใช้สื่อของคนที่ต้องกักตัวเองในช่วงการระบาดของโควิด-19 สามารถทำแบบสอบถามได้ทาง https://www.survey-xact.dk/LinkCollector?key=GW7EM7YNS2C6

ส่วนการใช้ชีวิตประจำวันน่าจะเหมือนกับคนทั่วไป คือ รักษาความสะอาดมากขึ้น ป้องกันตัวเองจากความเสี่ยงมากขึ้น หมั่นล้างมือ พกเจลแอลกอฮอล์ติดตัวไว้”

(Photo : วรวัชร์ ตั้งจิตรเจริญ)

สิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้คนและสังคม

“รัฐบาลเดนมาร์กสั่งปิดประเทศเร็วมากๆ ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมเลย เริ่มจากปิดสถานศึกษาทุกระดับ ปิดห้างสรรพสินค้า หน่วยงานของภาครัฐบาลและรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ก็ปิดกันหมด ส่วนภาคเอกชน ทางการก็ขอความร่วมมือให้แบ่งคนทำงานวันเว้นวัน เพื่อลดจำนวนคนที่เดินทางออกมาในที่สาธารณะ หรือตามสถานที่ต่างๆ ที่ยังเปิดให้บริการได้ ก็จะขีดเส้นให้แต่ละคนเว้นระยะห่างกัน ก่อนเข้าร้านขายของก็มีเจลให้ใช้ มีถุงมือให้ใส่ แต่โดยรวมยังไม่ได้เข้มงวดถึงขนาดมีตำรวจคอยตรวจตราแบบฝรั่งเศสหรืออิตาลี”

(Photo : วรวัชร์ ตั้งจิตรเจริญ)

“แล้วธรรมชาติอย่างหนึ่งของคนสแกนดิเนเวีย คือ ชอบแสงแดดมาก วันไหนฟ้าแจ้งแดดออก คนจะออกจากบ้านมาเดินเล่น ผมก็ยังเห็นคนออกมาปกติ แต่สิ่งที่สังเกตเห็นได้ชัดเจนคือไม่มีใครใส่หน้ากาก ถามว่าซื้อใส่ได้ไหม เห็นว่ามีขายในออนไลน์แต่แพงมากๆ ซึ่งปกติราคาของในเดนมาร์กก็แพงอยู่แล้ว ยิ่งช่วงนี้ของหลายๆ อย่างหายากหรือมีจำกัด ก็ยิ่งมีราคาแพงขึ้นไปอีก อย่างพวกเจลล้างมือและแอลกอฮอล์ ราคาแพงขึ้น 1.5-2 เท่า

ตอนนี้โรงเรียน ร้านตัดผม และธุรกิจขนาดเล็กเริ่มกลับมาทะยอยเปิดกันบ้างแล้ว แม้ว่าเดนมาร์กเป็นประเทศที่เล็กมาก มีประชากรแค่ประมาณ 5.8 ล้านคนเท่านั้น และมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันราว 100 คน แต่ทางการไม่ได้มองว่าต้องลดจำนวนผู้ติดเชื้อให้เหลือ 0 คนเท่านั้น ถึงจะเปิดประเทศได้ เพราะเขาให้ความสำคัญกับการควบคุมอัตราผู้ติดเชื้อไม่ให้เพิ่มสูงขึ้นไปมากกว่านี้ เพื่อที่ว่าระบบสาธารณสุขของประเทศจะยังทำงานต่อไปได้ สามารถดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ”