life

เป็นผู้ฟังที่ดีทำไมมันเหนื่อยจัง

‘หวยมาออกที่คนฟัง’
‘มาระบายละก็ไป มาทิ้งขยะไว้ที่เรา’
‘ฟังมากๆ กลายเป็นเราเองที่เครียด’

เมื่อฟังปัญหาของคนอื่นมากๆ กลับกลายมาหนักที่เรา ยิ่งฟังเก่งก็ยิ่งเครียด ในชีวิตจริงคงมีคนจำนวนไม่น้อยที่มีปัญหาลักษณะนี้

หลายครั้งความทุกข์จากการรับฟังปัญหาของคนอื่น เกิดขึ้นเพราะเรารู้สึกร่วมไปกับคนที่มาระบาย ทำให้คิดต่อไปด้วยว่า เขาจะเป็นยังไง จะต้องแย่แน่ๆ เลย จนเกิดความสงสาร เป็นห่วง ฟังแล้วเครียด เศร้า หดหู่ ดิ่ง หรือรู้สึกผิดที่ช่วยเขาไม่ได้ ยิ่งฟังเยอะก็ยิ่งรู้สึกหนักอึงจนกระทบสุขภาพใจของตัวเอง

หากการเป็นผู้ฟังที่ดีมันมีราคาที่ต้องจ่ายสูง แล้วเราควรทำยังไง?

กรณีที่ฟังแล้วรู้สึกตามไปกับสิ่งที่เขาเล่า ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับเรา ก็สมควรที่จะมีความรู้สึกร่วม เพราะมันกระทบกับชีวิตเรา แต่ถ้าเรื่องที่เขาเล่าไม่เกี่ยวข้องกับเรา เช่น มีคนมาปรึกษาว่าแม่เป็นมะเร็งทำยังไงดี เราต้องฝึกถอยตัวเองออกมามองปัญหาเป็นคนนอก ‘ปัญหาของเขาก็คือปัญหาของเขา’ การที่เขามาเล่าให้เราฟัง ไม่ได้ทำให้มันกลายมาเป็นปัญหาของเรา

เราช่วยเขาเท่าที่เราช่วยได้ ไม่ต้องคิดต่อว่าเขาจะเป็นยังไง จะแย่แค่ไหน เพราะคิดไปก็ไม่ได้ช่วยให้เขาดีขึ้น (เว้นแต่คิดแล้วไม่เกิดความรู้สึกลบ) และกลับเป็นเราเองที่แย่ลงด้วยซ้ำ

ดังนั้น เมื่อเขามาปรึกษา เราฟัง ช่วยคิดแก้ปัญหาเท่าที่ช่วยได้ เมื่อแยกกัน วางปัญหาทั้งหมดลงเพราะมันไม่ใช่เรื่องของเรา แต่ถ้าเรายังเครียด นั่นอาจแสดงว่าเราไม่วางหรือวางไม่ได้ ซึ่งต้องสำรวจตัวเองว่าอะไรที่ทำให้วางเรื่องนี้ไม่ได้

อีกกรณีที่รู้สึกร่วมไปกับเขา คือเรื่องที่เขามาระบายให้ฟังดันตรงกับปมในใจของเรา เช่น ปรึกษาเรื่องแฟนนอกใจ แล้วเราก็ยังลืมแฟนเก่าไม่สนิทด้ว แบบนี้ถ้าไม่พร้อมก็บอกไปตามตรงว่าไม่พร้อมคุยเรื่องนี้ เพราะตัวเราเองก็ยังแย่ แนะนำให้ปรึกษาคนอื่นน่าจะช่วยได้ดีกว่า ซึ่งไม่ผิดอะไรเลยที่จะปฏิเสธหากเราไม่พร้อม

แต่เมื่อเขาเลือกมาเล่าให้เราฟัง แปลว่าเขาต้องอยากให้เราช่วย ถ้าปฏิเสธเขาไป หลายคนจึงกลัวว่าจะทำเขาผิดหวังหรือเขาต้องรู้สึกแย่กว่าเดิมแน่ๆ

สิ่งที่จะแนะนำต่อไปนี้ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่คนส่วนใหญ่มักจะมองข้ามไป นั่นคือ ชีวิตคนเราทุกคนมีทรัพยากรจำกัด พอพูดถึงทรัพยากร คนส่วนมากจะนึกถึงสิ่งที่จับต้องได้ เช่น เงิน สิ่งของ แต่ความจริงแล้วยังรวมถึง เวลา พลังกาย พลังใจ พลังงานชีวิต สิ่งเหล่านี้เราทุกคนมีจำกัดไม่ต่างจากเงินทอง เวลามีคนมาปรึกษาเราเรื่องใดเรื่องหนึ่ง การฟัง การคิด ใช้สมาธิจดจ่อต้องใช้พลังงานทั้งนั้น

หลายคนรู้สึกผิดเมื่อปฏิเสธไป ที่เราตัดสินใจแบบนี้ นั่นแปลว่าเราไม่พร้อม เพราะทรัพยากรที่เรามี ณ ขณะนั้นไม่เพียงพอจะช่วยใครได้ พูดให้เห็นภาพคือ มันไม่ต่างอะไรกับเวลาที่มีคนมายืมเงินแล้วเราไม่มีให้ยืม ถ้าให้เงินเขาไปแต่ลืมว่าเราจะเป็นหนี้ก็จะแย่เอานะ

หรือหลายครั้งที่เรารู้สึกผิดเพราะไม่ได้ช่วย แต่หากลองทบทวนจริงๆ แล้ว กลับพบว่าส่วนใหญ่ไม่ใช่ไม่ช่วยแต่มันช่วยไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องเกินความสามารถ เราเสกเงินทองไม่ได้ เสกเวลาไม่ได้ ฉันใดฉันนั้น เราเสกพลังงานชีวิตไม่ได้เช่นกัน แล้วมันผิดไหมเนี่ยที่ ‘เขามาขอในสิ่งที่เราไม่มี’ เราก็มนุษย์คนหนึ่งที่มีข้อจำกัด

ดังนั้น ลองถามตัวเองด้วยคำถามเหล่านี้

‘เราสามารถทำให้ทุกคนสมหวังได้หรือไม่?’
‘ถ้าเราทำไม่ได้แล้วมีใครทำได้หรือไม่?’
‘การที่เราช่วยทุกคนไม่ได้นี่เราผิดไหม?’

ทั้งหมดนี้จะเห็นว่าเป็นเรื่องของความคิดและทัศนคติ เราต้องคอยสำรวจความคิดตัวเองให้ดี ปล่อยวางเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องของเรา ไม่ต้องคิดต่อหรือคิดแทน เราเองก็เป็นมนุษย์ที่มีข้อจำกัด ช่วยได้ก็ช่วย ที่ช่วยไม่ได้คือเกินความสามารถ

ดังนั้น ใจดีกับคนอื่นแล้ว ก็อย่าลืมใจดีกับตัวเองเหมือนกัน

เผยแพร่ครั้งแรก: เพจ He, art, psychotherapy ณ วันที่ 2 กันยายน 2563