life

เนื้อหมูสีชมพูในแพควางเรียงรายอยู่บนชั้นวางสินค้าแช่แข็งในซูเปอร์มาร์เก็ต คงชวนให้ใครหลายคนคิดถึงอาหารเย็นได้หลายเมนู

แต่คงไม่มีใครนึกถึงที่มาของเนื้อสัตว์เหล่านี้ ว่าก่อนที่พวกมันจะมานอนแน่นิ่งอยู่ในแพค ผ่านอะไรมา และมีอะไรอยู่ในนั้น

ซึ่ง ‘อะไร’ ที่ว่านี้ อาจทำให้อาหารเย็นมื้อสุดท้ายมาถึงเราก่อนวัยอันควร

เนื้อร้าย เพราะเร่งให้โต

ราวหมื่นปีที่แล้ว มนุษย์เริ่มเลี้ยงสัตว์เพื่อบริโภค ในยุคแรกๆ ฟาร์มของเรามีขนาดเล็กกำลังดี เพราะเลี้ยงสัตว์เพื่อทานในครอบครัว หรือจำหน่ายในหมู่บ้านเท่านั้น 

แต่พอศตวรรษที่ 18 โลกก้าวเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม  วิธีเลี้ยงแบบดั้งเดิมที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นก็ค่อยๆ หายไป เมื่อเทคโนโลยีช่วยให้การผลิตจำนวนมากเกิดขึ้นได้ในเวลาอันรวดเร็ว การผลิตจึงเน้นที่ผลลัพธ์เชิงปริมาณ และกดต้นทุนให้ต่ำที่สุด เพื่อสร้างความได้เปรียบในตลาด

การทำปศุสัตว์ที่เลี้ยงสัตว์ตามวิถีธรรมชาติ ปรับเปลี่ยนสู่การมุ่งทำกำไรสูงสุด สิ่งมีชีวิตที่ควรใช้เวลาเติบโตตามธรรมชาติ ถูกผู้เลี้ยงทำให้โตให้ได้มาตรฐานไม่ต่างกับสินค้าจากโรงงานอุตสาหกรรม ในหนึ่งวันพวกมันจึงมีหน้าที่กินอาหาร และอยู่นิ่งๆ เพื่อให้น้ำหนักตัวถึงเกณฑ์ก่อนจะถูกเชือดและนำไปจำหน่าย

เมื่อไม่ได้ใช้ชีวิตอย่างที่ควรจะเป็น ไม่ได้เคยได้สัมผัสผืนดิน แสงแดด และอากาศบริสุทธิ์ ก็ทำให้สัตว์เกิดความเครียดและป่วยได้ง่าย

ถึงแม้ปัญหาดังกล่าวจะแก้ไขได้ด้วยการขยายพื้นที่และกลับสู่วิถีการเลี้ยงสัตว์แบบดั้งเดิม แต่ก็ต้องแลกมาด้วยต้นทุนที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องยากที่ใครจะรับความเสี่ยงได้ในเชิงธุรกิจ ดังนั้นหลายคนจึงแก้ปัญหาด้วยวิธีที่ง่ายและสะดวกกว่า โดยการฉีดยาปฏิชีวนะเพื่อให้สัตว์หายป่วยและแข็งแรง

‘ยาปฏิชีวนะ’ และ ‘เชื้อดื้อยา’

ยาปฏิชีวนะ’ หรือ ‘ยาต้านจุลชีพ’ คือยาที่มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียที่คุณหมอมักจะใช้กับคนไข้ที่ต้องเข้าผ่าตัด ปลูกถ่ายอวัยวะ หรือโรคที่มีโอกาสติดเชื้อแบคทีเรียสูง นอกจากนี้ยังนิยมใช้ในการทำปศุสัตว์และเกษตรกรรม เพื่อต้านเชื้อแบคทีเรียในสัตว์และพืช

แม้ยาปฏิชีวนะจะถูกคิดค้นเพื่อเข้ามาช่วยชีวิตทั้งคนและสัตว์ แต่ปัจจุบันเรากลับกำลังเผชิญหน้ากับการใช้อย่างเกินความจำเป็น จนทำให้เกิด ‘เชื้อดื้อยา’ ซึ่งภัยเงียบที่กำลังคุกคามมนุษย์

ปัจจุบันโลกกำลังเข้าสู่ ‘ยุคหลังยาปฏิชีวนะ’ (post-antibiotic era) ซึ่งเป็นยุคที่เราจำเป็นต้องพัฒนายาปฏิชีวนะตัวใหม่ขึ้นมาเรื่อยๆ เพื่อต่อสู้กับเชื้อแบคทีเรียที่แข็งแรงขึ้นทุกวัน และที่ตลกร้ายไปกว่านั้น คือการใช้ยาปฏิชีวนะแบบผิดๆ นี่เอง ที่เป็นสาเหตุให้แบคทีเรียพัฒนาสายพันธุ์ได้เก่งกาจกว่าเดิม

จากการทดลองในหนู พบว่าหนูที่ติดเชื้อแล้วตาย ล้วนเคยได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะมาตลอด เพราะยาปฏิชีวนะมีผลข้างเคียงในการล้างแบคทีเรียในลำไส้และทำให้ร่างกายอ่อนแอลง

มนุษย์เองก็เช่นกัน หากว่าได้รับยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็นก็จะส่งผลให้ร่างกายอ่อนแอ แค่ติดเชื้อแบคทีเรียนิดหน่อย ก็อาจส่งผลถึงชีวิตได้

ปัจจุบันพบผู้เสียชีวิตจากโรคติดเชื้อดื้อยาทั่วโลกราว 700,000 คนต่อปี หากนับเฉพาะในประเทศไทย มีถึงผู้ติดเชื้อราว 87,751 คน และเสียชีวิตปีละประมาณ 42,509 ราย

ภัยเงียบจากจานอาหาร

การทานเนื้อสัตว์ คือ ช่องทางหนึ่งที่ทำให้คนเราได้รับยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็น

นิตยสาร ฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) เผยผลการสุ่มตรวจเนื้ออกไก่และตับสด พบว่ามียาปฏิชีวนะตกค้างอยู่ราวๆ 41.3 เปอร์เซ็นต์ หรือเกือบครึ่งหนึ่งของเนื้อสัตว์ที่เรากิน

จากผลสำรวจที่น่าตกใจ ทำให้กรมปศุสัตว์ต้องเร่งควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะให้ได้ในปี 2564 โดยมีเป้าหมายคือลดการติดเชื้อดื้อยา ลดการใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็น และทำให้ผู้คนมีความรู้ในการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้อง

เนื้อสัตว์แบบไหนที่ไว้ใจได้

เมื่อเนื้อสัตว์ในท้องตลาดนั้นมียาปฏิชีวนะปนเปื้อนอยู่เกือบครึ่ง หนทางที่ดีที่สุดสำหรับหลีกเลี่ยงการปนเปื้อนอาจหมายถึงการเลิกกินเนื้อสัตว์อย่างถาวร แต่นั่นคงเป็นไปได้ยากสำหรับใครก็ตามที่กินเนื้อสัตว์มาทั้งชีวิต

คำถามคือ แล้วเนื้อสัตว์แบบไหนที่เราควรบริโภค?

สำหรับคนที่อยากทานเนื้อสัตว์ที่สะอาดและปลอดภัย แนะนำให้เลือกซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้ และลองไปทำความรู้จักกับผู้ผลิต เช่น ฟาร์มออร์แกนิกที่เลี้ยงสัตว์ให้เติบโตตามธรรมชาติ วิธีนี้นอกจากจะทำให้เรารู้แหล่งที่มาของเนื้อสัตว์แล้ว ยังช่วยให้มั่นใจได้ในระดับหนึ่งว่าเนื้อสัตว์เหล่านั้นจะปลอดภัยจากยาปฏิชีวนะ

นอกจากนี้ หากต้องการตัดขาดจากเนื้อสัตว์อย่างเด็ดขาด ปัจจุบันก็มี ‘เนื้อทางเลือก’ หรือ Plant-based meat ซึ่งเป็นเนื้อสัตว์ที่ทำมาจากพืช แต่ยังคงมีรสชาติและสัมผัสคล้ายกับเนื้อจากธรรมชาติ ซึ่งกำลังได้รับความนิยมในหลายประเทศทั่วโลก 

แม้ว่าการบริโภคจะเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมเต็มขั้น แต่ก็ยังพอมีหนทางให้เราได้เลือกอาหารดีๆ และเนื้อสัตว์ที่ปลอดภัยให้กับตัวเอง 

ไม่แน่ นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้างสังคมเล็กๆ ระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และมั่นใจได้ว่าเนื้อสัตว์ที่เรากินนั้นปลอดภัย

 

อ้างอิง