“หน้าฉันมันก็ธรรมดาๆ”
จางดงกอน นักแสดงชื่อดังชาวเกาหลี เจ้าของใบหน้าที่ใครๆ ได้เห็นก็ต้องบอกว่าคมเข้มหล่อเหลา พูดลอยๆ ขึ้นมาในรายการโทรทัศน์
หนึ่งในสมาชิกจากวงเกิร์ลกรุ๊ปชื่อดังของเกาหลี เคยให้สัมภาษณ์ว่าเธอเองไม่ได้มีใบหน้าเป็นที่นิยม จึงทำให้รู้สึกไม่ค่อยมั่นใจในตัวเองอยู่บ่อยๆ
แม้จะมีรูปร่างหน้าตาดี เฉิดฉายอยู่ท่ามกลางสปอตไลท์ ได้รับความนิยมชมชอบมากมาย แต่พวกเขายังต้องเผชิญกับความไม่มั่นใจในตัวเอง แม้ในสายตาของคนมองนั้น พวกเขาแทบจะใกล้เคียงกับคำว่าสมบูรณ์แบบ แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ขจัดความกังวลในรูปลักษณ์ของตัวเองออกไปจากความคิดได้เลย
เราทุกคนก็เช่นเดียวกัน
เพราะเราเห็นข้อเสียของตัวเองชัดที่สุด
ในเมื่อนิยามความสวยเปลี่ยนไปตามยุคสมัย แล้วมาตรฐานของความงามคืออะไร?
รสนิยมของผู้คนในยุคเรเนซองส์ย่อมแตกต่างจากศตวรรษที่ 20 รูปลักษณ์อันเป็นที่นิยมเป็นผลผลิตจากคนแต่ละยุคสมัย เมื่อมองผ่านสายตาของใครคนหนึ่ง ความงดงามจะขึ้นอยู่กับความคิดของคนคนนั้น ในขณะเดียวกัน เมื่อเรามองตัวเองผ่านสายตาของเรา มนุษย์กลับมีความคิดว่า ‘เราไม่ได้สวยอย่างที่คิดไว้’ นั่นเป็นเพราะ ‘มีแค่ตัวเราที่มองเห็นข้อบกพร่องของตัวเองได้ชัดเจนที่สุด’
หากลองสังเกตแคปชั่นรูปในอินสตาแกรม เรามักจะพบเจอข้อความประเภท
‘มองข้ามสิวเม็ดนั้นไปเถอะนะ’
‘อย่าสนใจขาใหญ่ๆ ของเราเลย’
‘bad hair day’
นั่นเป็นข้อสังเกตว่าเรามักยกจุดบกพร่องของตัวเองขึ้นมาพูด เพื่อให้ทุกคนพยายามมองข้ามมันไป ทั้งๆ ที่หากไม่พูดถึงก็อาจไม่มีใครทันสังเกตเห็นจุดนั้นตั้งแต่แรกเสียด้วยซ้ำ
ทำไมคนเราถึงสนใจแต่ข้อด้อยของตัวเอง ?
งานวิจัยสำรวจพบว่าเรามักจะสร้างเงื่อนไขให้กับความหน้าตาดี เราเชื่อว่าหน้าตาและรูปร่างที่ดีนั้นจะนำมาซึ่งผลตอบแทนบางอย่าง
เช่น ยิ่งสวยยิ่งได้รับเงินมาก ยิ่งสวยก็ยิ่งได้รับความนิยมมาก ยิ่งสวยคนจะยิ่งชื่นชมมาก แม้จะเป็นความคิดที่ดูไม่ค่อยสมเหตุสมผล แต่บางสังคมกลับยิ่งตอกย้ำค่านิยมนี้เข้าไปอีก เมื่อเรายังเอื้อสิทธิพิเศษให้กับคนหน้าตาดี (beauty privilege) อยู่เสมอ
เรามองว่าหากหน้าตาดีแล้วจะได้ผลตอบแทนมากมาย ในขณะเดียวกันก็เกิดความรู้สึกขั้วตรงข้ามอยู่ในใจลึกๆ ว่า เรากำลังจะเสียบางอย่างไปหากเราหน้าตาไม่ดี
เมื่อการได้รับมาไม่สำคัญเท่าสูญเสียไป มนุษย์จึงมักจะโฟกัสถึงความสูญเสียก่อนเป็นอันดับแรก และก่อเกิดให้เป็นความกลัว
ปมด้อยทั้งหลายบนร่างกายของเราเด่นหราขึ้นมาทันทีที่เราคิดเช่นนั้น เพราะนั่นหมายถึงตัวการที่จะทำให้เราสูญเสียสิทธิพิเศษไป เราจึงเอาแต่โฟกัสข้อเสียเหล่านั้นเพื่อต้องการแก้ไขและกำจัดทิ้งให้สิ้นซาก
ที่น่าเสียดายคือเราจดจ่ออยู่กับข้อบกพร่องมากเกินไปจนแทบไม่เหลือเวลาสำหรับจะชื่นชมข้อดี เมื่อเราเป็นศัตรูกับตัวเอง ภาพความงามที่เกิดขึ้นในหัวย่อมผิดเพี้ยนตามไปด้วย หากดำดิ่งและหมกมุ่นนานเกินไป อาจทำให้เราดูถูกตัวเอง มองตัวเองแย่กว่าความเป็นจริง ทั้งยังรู้สึกว่าตัวเราแย่กว่าคนอื่นเสมออีกด้วย
นั่นอาจเป็นชนวนของความป่วยไข้ที่ชื่อว่า Body Dysmorphic Disorder : BDD ซึ่งทำให้เกิดอาการหมกมุ่นอยู่กับการคิดว่าตัวเองผิดปกติ ไม่พอใจรูปลักษณ์ภายนอก
สิ่งนี้หล่อหลอมขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ตั้งแต่ชีวิตวัยเด็ก พันธุกรรม ปัจจัยทางสังคม และอาการจะแย่ลง เมื่อเราต้องอยู่ในโลกที่เชื่อมต่อกับโซเชียลมีเดียตลอดเวลา เมื่อเสพชีวิตของผู้คนมากๆ เราจะเริ่มเอาตัวเองไปเปรียบเทียบโดยไม่ทันได้ตั้งใจ
ในขณะที่ข้อเสียและจุดบกพร่องของเราเป็นของแปลกปลอมที่อยากให้หายไปจากร่างกายที่สุด คนอื่นที่มองเข้ามากลับไม่ทันได้สังเกต ชินชา หรือมองข้ามมันไปได้เสียแล้ว คนอื่นๆ จะมองเห็นทั้งข้อดีและข้อเสียของเราอย่างสมดุล และไม่มีเหตุผลอะไรที่ทำให้เขาทุ่มเทเวลามาใส่ใจข้อเสียของเราขนาดนั้น
ความพอใจของเราอยู่ที่ไหน?
การเห็นคุณค่าในตนเอง (Self-esteem) เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายในตนเองเกี่ยวกับการยอมรับนับถือ ตนเอง เห็นคุณค่า และมีความเชื่อมั่นในตนเอง รวมทั้ง ประเมินตนเองทั้งทางบวกและทางลบ (Rosenberg,1965)
การนับถือตัวเองของคนเราไม่ได้ขึ้นอยู่ที่ว่ากับว่าใครมีมากกว่าใคร ใครหน้าตาดีกว่าใคร หรือใครเก่งกว่าใคร แต่กลับขึ้นอยู่กับเป้าหมายที่เราตั้งไว้สำหรับตัวเอง และเมื่อพิจารณาแล้วสิ่งต่างๆ ที่เรามีสอดคล้องกับเป้าหมายตั้งไว้ นั่นจะทำให้เรารู้สึกนับถือตนเอง
เป็นเรื่องยากหากจะวัดว่าเรานับถือตัวเองสูงหรือต่ำกว่าความเป็นจริง แต่อาจสังเกตได้จากวิธีการที่เราปฏิบัติต่อตัวเอง เมื่อรู้สึกเห็นคุณค่ามากพอ เราจะหมั่นดูแลตัวเองให้ดีขึ้น ทั้งเรื่องอาหารการกิน เสื้อผ้าหน้าผม รวมถึงไม่ทำอะไรที่เป็นการบั่นทอนจิตใจตัวเอง นั่นเป็นเพราะเราเห็นว่าตัวเราเป็นสิ่งมีคุณค่า
การเห็นคุณค่าในตนเองเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่เราจะสามารถทำได้ แทนการเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น หรือใครก็ตามที่ยกมาเป็นมาตรฐานของความสวย ไม่ใช่แค่เรื่องรูปร่างหน้าตา แต่ทั้งการทำงาน ความสัมพันธ์ และทุกๆ เรื่องในชีวิต ในเมื่อเราไม่เหมือนใคร จึงไม่ค่อยมีประโยชน์เท่าไหร่ หากคอยเอาตัวเองไปเทียบกับคนอื่นๆ อยู่เสมอ
เป็นตัวเองเวอร์ชั่นที่ดีที่สุด
“ผลลัพธ์ของการมองเห็นคุณค่าในตัวเองไม่ใช่การได้รับคุณค่าจากใครสักคนเสียทีเดียว
แต่เป็นการที่เราสามารถยอมรับมันมากกว่า”
(ข้อความจากหนังสือเรื่อง ‘อยากตาย แต่ก็อยากกินต๊อกบกกี’)
แม้ว่าการได้รับคำชมว่าสวย หล่อ หน้าตาดี หุ่นดี จะเป็นคำพูดในแง่บวกซึ่งทำให้ผู้ฟังรู้สึกดีใจ แต่นั่นขึ้นอยู่กับว่าเรารู้สึกนับถือตัวเองแค่ไหนตอนได้รับคำชมนั้นด้วยเช่นกัน
หากเรารู้สึกนับถือตัวเอง คำชมจะยิ่งทำให้รู้สึกดี แต่หากเราไม่รู้สึกนับถือตัวเองเลย แม้ว่าจะหน้าตาดีอย่างที่คนอื่นบอกจริงๆ แต่คำชมจะยิ่งทำให้รู้สึกแย่ เพราะนั่นไม่ต่างอะไรกับคำโกหก ที่ทำให้ยิ่งขัดแย้งในใจและยอมรับไม่ได้
นั่นเป็นที่มาของคำพูดที่ว่า “เราสวยที่สุด ก็ต่อเมื่อเรารู้สึกว่าตัวเองสวย”
การเห็นคุณค่าในตนเองนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับรูปลักษณ์ แต่หมายถึงการที่เรารู้สึกนับถือความงดงามของตัวเองหรือไม่ สิ่งนั้นทำให้คนคนหนึ่งรู้สึกสวยขึ้นมาได้
การเป็นเวอร์ชั่นที่ดีที่สุดสำหรับตัวเอง จึงยั่งยืนกว่าการเป็นให้เทียบเท่าคนอื่น ไม่ว่าใครจะมีรูปร่างหน้าตาแบบไหน ก็สามารถรู้สึกดีที่เป็นตัวเองได้เสมอ
เมื่อเรารู้สึกรักและเคารพตัวเองมากพอ.
อ้างอิง
- Lucy Wallis.Why does this woman think she is ugly?.https://www.bbc.com/news/magazine-37923088
- American Addiction Centers.Why Self-Esteem is Important and Its Dimensions.https://www.mentalhelp.net/self-esteem/why-its-important/#:~:text=Self%2Desteem%20is%20important%20because,and%20explore%20their%20full%20potential.
- Gleb Tsipursky.Why You Don’t Think You’re Beautiful.https://www.psychologytoday.com/us/blog/intentional-insights/201606/why-you-don-t-think-you-re-beautiful
- Edgar Bedolla.How Are Beauty and Self-Esteem Connected?.https://www.northtexasplasticsurgery.com/blog/beauty-and-self-esteem-connected