life

คุณมีโต๊ะทำงานกี่ตัว? 

หากเป็นพนักงานออฟฟิศ แค่มีคอมพิวเตอร์หรือแล็บท็อปสักเครื่องวางบนโต๊ะประจำตำแหน่ง ก็เพียงพอต่อการทำงาน 

หรือหากเป็นคนทำงานด้านออกแบบ ก็คงจะมีโต๊ะเขียนแบบเพิ่มขึ้นมาอีกสักตัว บวกกับโต๊ะคอมฯ ด้วย – เป็นสองหรือสาม 

ดังนั้น หากไม่นับโต๊ะที่เอาไว้วางข้าวของจิปาถะหรือกองหนังสือ (ที่หลายคนเหมารวมว่าเป็นโต๊ะทำงานใครๆ ก็มีโต๊ะทำงานตัวเดียวด้วยกันทั้งนั้น 

ChotvichSuwongs
ภาพ: โชตวิชช์ สุวงศ์

แต่ไม่ใช่สำหรับ ต้อ – โชตวิชช์ สุวงศ์ ผู้มีโต๊ะทำงานวางอยู่แทบทุกมุมในคอนโด ตั้งแต่ในห้องทำงาน ห้องรับแขก ห้องครัว ไปจนถึงห้องนอน 

ทั้งๆ ที่อดีตช่างภาพแฟชั่นแห่งยุค 80 คนนี้ อายุอานามก็เลยวัยเกษียณมานานเกินสิบปีแล้ว 

แต่เขาก็ยังรักที่จะเข้านอนและตื่นตรงเวลา ชงกาแฟดื่มให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่า ก่อนประจำการ  โต๊ะทำงาน จะตัวที่หนึ่ง สอง สาม หรือสี่ ก็แล้วแต่ว่าเป็นงานประเภทอะไร 

เพราะตัวจริงด้านสื่อสิ่งพิมพ์คนนี้ทำได้ทั้งเขียนเรื่อง ถ่ายภาพ วาดภาพประกอบ ทำภาพกราฟิก อินโฟกราฟิก จัดรูปเล่ม ฯลฯ ครบวงจรในคนคนเดียว 

ผมไม่มีคำว่าเกษียณ ตั้งใจจะทำงานจนกว่าจะไม่มีใครจ้าง หรือขายอะไรไม่ได้แล้ว 

อะไรทำให้เขารักที่จะผลิตผลงานไม่เว้นแต่ละวันได้ขนาดนี้ มีคำตอบรออยู่ในบทสนทนา 

ChotvichSuwongs
โชตวิชช์กับโต๊ะทำงานในห้องรับแขก
ภาพ: โชตวิชช์ สุวงศ์

โต๊ะระบายสี 

บรรยากาศภายในห้องชุดบนชั้น 7 ของคอนโดมิเนียมเก่าแก่แห่งหนึ่งย่านประชาชื่น แตกต่างจากคอนโดมิเนียมสมัยใหม่ทั่วไปอย่างเห็นได้ชัด 

ความรู้สึกแรกที่สัมผัสได้ คือ พื้นที่ใช้สอยที่ได้รับการแบ่งสรรปันส่วนให้มีฟังก์ชั่นของแต่ละห้องหับในสัดส่วนที่โปร่งสบาย ไม่ถึงกับกว้างขวาง แต่ก็ไม่ทำให้รู้สึกติดอยู่ในกรอบเหมือนห้องชุดสมัยใหม่ 

ChotvichSuwongs
ภาพ: โชตวิชช์ สุวงศ์

โซนรับแขกโอ่โถงพอที่จะวางโซฟาตัวเขื่องได้สบาย เสริมบรรยากาศของความเป็นบ้านด้วยภาพวาดสีน้ำรูปสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ประดับเรียงรายบนผืนผนัง และพาร์ทิชั่นในส่วนของครัวก็มีเครื่องใช้ไม้สอยที่พอดีกับห้องขนาดหนึ่งผู้อยู่อาศัย หรือครอบครัวขนาดเล็ก 

ตรงข้ามกับครัวเป็นห้องทำงาน ที่เจ้าของห้องใช้วางโต๊ะสำหรับร่างและระบายภาพสีน้ำ ซึ่งได้รับแสงธรรมชาติสาดมาจากกระจกฝั่งขวามือในปริมาณที่พอดี และตรงหน้าโต๊ะวาดภาพก็สามารถมองเห็นห้องนอนได้แบบไม่มีอะไรมาบดบังสายตา 

และไม่ว่าจะเป็นห้องนอน ห้องครัว หรือแม้แต่โถงรับแขก ล้วนมีโต๊ะ โต๊ะ และโต๊ะที่พร้อมสำหรับทำงานในลักษณะที่แตกต่างกันออกไป

ChotvichSuwongs
โต๊ะวาดรูปในห้องทำงาน
ภาพ: โชตวิชช์ สุวงศ์

บทสนทนาเริ่มขึ้นในห้องวาดภาพ โชตวิชช์พลิกภาพวาดสีน้ำหลายแผ่นให้เราดู ทั้งหมดเป็นภาพปกชุดใหม่ของนิยายขายดีที่ ‘กิ่งฉัตร’ เจ้าของบทประพันธ์ กำลังทยอยพิมพ์ออกมาขายให้แฟนอักษรของเธอได้จับจองเป็นเจ้าของอีกครั้ง 

ภาพปกที่เปลี่ยนไปของนิยายเล่มเก่าที่แฟนหนังสือคุ้นเคย กลับให้ความรู้สึกใหม่อย่างน่าประหลาด จึงไม่แปลกถ้าจะมีนักอ่านหน้าใหม่อยากเริ่มต้นทำความรู้จักนิยายของกิ่งฉัตร เพียงเพราะถูกภาพทิวทัศน์สวยงามบนปกหนังสือเซ็ตนี้สะกดใจ 

ChotvichSuwongs
หนังสือนิยายเรื่อง ตามรักคืนใจ
ภาพ: โชตวิชช์ สุวงศ์

การทำปกนวนิยายไทยก็มีลักษณะเฉพาะบางอย่างที่ต้องตรงกันทั้งคนอ่านคนเขียน นวนิยายกิ่งฉัตรมีรายละเอียดของฉากหลังและสถานที่ที่พัวพันกับตัวละคร โดยมักเริ่มจากความผูกพันประทับใจในสถานที่ที่ผู้เขียนเคยมีโอกาสไปเยือนด้วย 

โชตวิชช์บันทึกถึงการวาดภาพปกนิยายเรื่อง ตามรักคืนใจ ไว้บนเฟซบุ๊กส่วนตัวของเขา โดยกว่าจะออกมาเป็นภาพคฤหาสน์ริมน้ำตามบทประพันธ์ เขาต้องตามหาภาพต้นแบบของหลังงามที่ได้อารมณ์บ้านไร่สักในภาคเหนือ ก่อนจะถ่ายทอดอารมณ์ของเรื่องราวลงไปในรายละเอียดของตัวบ้าน ทั้งเพื่อให้ตรงใจผู้ประพันธ์ และต้องใจนักอ่าน – ทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่– ให้จงได้ 

นอกจากนำบทประพันธ์ดั้งเดิมที่หมดลิขสิทธิ์จากสำนักพิมพ์เดิมกว่า 30 เรื่องมาตีพิมพ์ใหม่แล้ว กิ่งฉัตรยังเข็นนิยายเรื่องใหม่ล่าสุดออกมาในคราวเดียวกัน นิยายเรื่องนั้นมีชื่อว่า รางปรารถนา เรื่องราวความรักของคนมีของ ที่มีฉากหลังเป็นร้านขายเครื่องรางและของเก่า และบรรดาข้าวของที่เต็มไปด้วยชีวิตจิตใจ 

ChotvichSuwongs
หนังสือนิยายเรื่อง รางปรารถนา
ภาพ: โชตวิชช์ สุวงศ์

ดังนั้น ตัวละครของเรื่องนี้จึงไม่ได้มีแค่มนุษย์ แต่สารพันข้าวของจิปาถะที่ตั้งโชว์อยู่ในร้านล้วนเป็นตัวละครที่สร้างสีสันให้กับตัวเรื่อง งานละเอียดจึงตกมาอยู่ที่โชตวิชช์ ผู้ต้องบรรจงใส่จิตวิญญาณลงไปบนปกนิยายให้ทำหน้าที่กวักมือเรียกคนอ่าน ไม่ต่างจากความพิเศษของบรรดาข้าวของในเรื่อง 

รางปรารถนาเป็นภาพปกที่วาดอยู่นานมาก เพราะประกอบขึ้นจากจินตนาการของนักเขียนที่คนวาดจำต้องผสมผสานขึ้นจากต้นแบบอาคาร ทิวทัศน์และสิ่งของมากมายกว่า 20 รายการ จนสำเร็จเป็นหนึ่งภาพ ส่วน ‘พลังอำนาจ’ ที่แท้จริงอยู่ในแต่ละบรรทัดของ 424 หน้า ซึ่งควรจะได้ลองหามาอ่านดู สนุกนะ 

อีกหนึ่งบันทึกประกอบการทำงานที่โชตวิชช์เล่าให้แฟนเพจของตนได้รับรู้เบื้องหลังการทำปกนิยายแต่ละเล่ม ที่ตอนนี้พร้อมจำหน่ายแล้ว 5 เล่ม ได้แก่ รางปรารถนา, ตามรักคืนใจ, รุ่งอรุณ, บ่วงหงส์ และ ปล่อยใจไปกับเช็ก 

เห็นเขาว่าก็เวิร์คอยู่นะ พอทำปกใหม่ ก็ขายได้อีก” โชตวิชช์เล่าสั้นๆ ถึงความสำเร็จที่ได้รับรู้ผ่านยอดขายของนิยายปกสวยเซตนี้ ที่เป็นผลพลอยได้ของการกลับมาจับพู่กันวาดภาพสีน้ำอีกครั้งหลังเกษียณจากงานประจำ 

ChotvichSuwongs
ภาพปก ‘ปล่อยใจไปกับ… เช็ก’
ภาพ: โชตวิชช์ สุวงศ์

ผมเพิ่งกลับมาวาดรูปอีกครั้งหลังเกษียณเมื่อตอนอายุ 56 ปี ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าจะทำอะไรดี จนคนมาบอกว่า ทำไมพี่ต้อไม่วาดรูป เออ ไอเดียเข้าท่า เราเองก็ไม่ได้วาดรูปมาหลายสิบปีแล้ว ก็เลยไปซื้ออุปกรณ์มาเริ่มลงมือ 

และแล้วภาพวาดสีน้ำที่เขาวาดขึ้นใหม่จากรูปถ่ายที่เคยท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ก็กลายเป็นงานประจำที่สร้างรายได้ให้เขา ราวกับโชคชะตายังอยากให้เขาลากเส้นต่อจุดหมุดหมายด้านอาชีพการงานไปเรื่อยๆ แบบไม่มีที่สิ้นสุด 

ChotvichSuwongs
ภาพร่างของปกเล่มถัดไป
ภาพ: โชตวิชช์ สุวงศ์

โต๊ะคนทำนิตยสาร 

ถอยเวลากลับไปยังยุค 80 หรือพุทธศักราช 2510 กว่าๆ สมัยนั้นถือเป็นยุคตั้งไข่ของนิตยสารแฟชั่นไทย และชื่อของ โชตวิชช์ สุวงศ์ ก็อยู่ในรายชื่อช่างภาพฝีมือดีอันดับต้นๆ ที่ผูกขาดการถ่ายภาพแฟชั่นบนปกนิตยสารผู้หญิงรายปักษ์อย่าง ‘แพรว’ ต่อเนื่องยาวนานกว่าสิบปี 

แต่ก่อนจะมาเป็นช่างภาพแฟชั่น งานแรกในชีวิตของบัณฑิตจากรั้วมัณฑนศิลป์ ศิลปากร คนนี้ คือ การวาดภาพ Perspective โดยนำแบบบ้านหรือห้องต่างๆ ที่สถาปนิกและมัณฑนากรออกแบบเสร็จเรียบร้อย มาวาดให้เห็นเป็นภาพทิวทัศน์ที่ทำให้ลูกค้าเห็นภาพรวมทั้งหมดของชิ้นงาน 

ChotvichSuwongs
ภาพ: โชตวิชช์ สุวงศ์

เป็นนักวาดภาพตีฟได้ไม่นาน โชคชะตาก็พัดพาให้โชตวิชช์ก้าวมาสู่เส้นทางของคนทำสิ่งพิมพ์และนิตยสาร เมื่อ ชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ มาเช่าออฟฟิศในอาคารสำนักงานเดียวกัน เพื่อผลิตนิตยสาร ‘บ้านและสวน’ ที่ออกวางจำหน่ายฉบับปฐมฤกษ์ในเดือนกันยายน .. 2519 และเป็นจุดเริ่มต้นของ บริษัท อมรินทร์ พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชนในเวลาต่อมา 

ออฟฟิศบ้านและสวนยุคนั้นมีทีมงาน 5 คน โดยมีเพื่อนผมซึ่งเป็นสถาปนิกรวมอยู่ด้วย ผมเลยชอบขึ้นไปหาเพื่อน คุยเล่นกันจนพลอยสนิทกับทีมงานบ้านและสวนไปด้วย ทำให้อีกหกเดือนถัดมา เมื่อคุณชูเกียรติย้ายออกไปตั้งโรงพิมพ์เป็นของตัวเอง ผมเลยขอตามไปทำงานด้วย เพราะรู้สึกว่าการทำหนังสือเป็นงานที่ดี มีคนได้อ่านเรื่องของเราเป็นหมื่นๆ คน ผมคิดแค่นั้น” โชตวิชช์ย้อนเล่าถึงความหลังเมื่อกว่า 40 ปีที่แล้ว ที่ทำให้เขาคลุกวงในอยู่กับการทำนิตยสารและสิ่งพิมพ์อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน 

ChotvichSuwongs
ภาพ: โชตวิชช์ สุวงศ์

จากที่เคยจับแต่ปากกาและพู่กันวาดรูป โชตวิชช์เพิ่มหน้าที่ให้ตัวเองด้วยการจดจ่ออยู่กับเครื่องพิมพ์ดีดเพื่อผลิตคอลัมน์ตามตำแหน่ง ‘กองบรรณาธิการ’ โดยในระยะแรกเขารับผิดชอบคอลัมน์ปรึกษาหารือ เนื้อหาเป็นการตอบจดหมายที่ผู้อ่านส่งมาถามเกี่ยวกับการจัดห้อง หรือเทคนิคในการจัดวางเฟอร์นิเจอร์ให้ลงตัว โชตวิชช์ทั้งเขียนและวาดภาพประกอบคอลัมน์อย่างสนุกสนานตามประสาเด็กจบใหม่ไฟแรง 

ปีต่อมา หลังจากโชตวิชช์แต่งงานได้ไม่นาน นิตยสารแพรวก็คลอดออกมาในระยะเวลาเดียวกับที่คุณพ่อมือใหม่กำลังอยากหัดถ่ายรูปเพื่อบันทึกภาพลูกชายหัวปี เขาจึงฝากรุ่นพี่คนหนึ่งที่เดินทางไปประเทศญี่ปุ่นให้ซื้อกล้องถ่ายรูปติดมือกลับมา ทั้งยังเตรียมพร้อมด้วยการศึกษาเทคนิคการถ่ายภาพจากตำราระดับมืออาชีพ พลอยทำให้โชตวิชช์เริ่มอินกับการถ่ายรูปมากขึ้นเรื่อยๆ 

ChotvichSuwongs
ภาพ: โชตวิชช์ สุวงศ์

ช่วงแรกผมก็ตามไปดูว่าช่างภาพคนอื่นเขาถ่ายกันยังไง แล้วเราก็ฝึกหัดของเราไปด้วย เขาไปถ่ายแฟชั่น ผมก็ตามไปดู แล้วก็แอบๆ ถ่าย จนพี่สุ (สุภาวดี โกมารทัต – บรรณาธิการนิตยสารแพรวในขณะนั้นเห็นรูปที่ผมถ่าย เลยเสนอให้ผมมาช่วยทำคอลัมน์ในแพรว เช่น ถ่ายภาพอาหาร   

ไปๆ มาๆ ผมก็เป็นคนเสนอเขาเองว่า ทำไมแพรวถึงมีแต่แฟชั่นผู้หญิง ไม่มีแฟชั่นสำหรับผู้ชายบ้าง ทำเป็นคอลัมน์เล็กๆ ก็ได้ เดี๋ยวผมทำให้หมดเลย ทั้งเขียนและถ่ายรูป จนเกิดเป็นคอลัมน์ ผู้ชายแต่งตัว ขึ้นมา ซึ่งก็เป็นคอลัมน์ที่ได้รับความนิยมพอสมควร”  

ความกระตือรือร้นของนักเขียนเจ้าไอเดียคนนี้ทำให้เขาหลังจากช่างภาพแฟชั่นคนเก่าของแพรวลาออกไป โชตวิชช์จึงก้าวมารับตำแหน่งช่างภาพแฟชั่นประจำนิตยสารแพรวเต็มตัว 

ChotvichSuwongs
ภาพแฟชั่นในนิตยสารแพรว โดย โชตวิชช์ สุวงศ์

โต๊ะตระกูลแมคอินทอช 

ผมถ่ายรูปอยู่สิบกว่าปี พอถึงช่วงปี 90 ก็เลิก เพราะเริ่มเห็นเด็กๆ ก้าวขึ้นมาเยอะ… พวกเขามายืนรออยู่” โชตวิชช์เล่าถึงกาลครั้งหนึ่งในยุครุ่งเรืองของวงการนิตยสารไทยราวพุทธศักราช 2530-2540 ที่มีนิตยสารทั้งหัวไทยและหัวนอกผุดขึ้นมาอยู่บนแผงราวกับดอกเห็ด ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่เขาเทความสนใจไปยังเทคโนโลยีใหม่ที่เพิ่งเข้ามาในประเทศไทยอย่างเครื่องคอมพิวเตอร์พอดี 

ChotvichSuwongs
ภาพ: โชตวิชช์ สุวงศ์

ปลายยุค 80 เครื่องแมคอินทอชเริ่มเข้ามาในไทย ผมก็ลุยเลย เงินทองไม่สน ซื้อไว้ก่อน” เขาเล่าพลางหัวเราะให้กับความทุ่มสุดตัวในทุกเรื่อง (ร่องรอยของการเดินทางบนถนนสายกราฟิกดีไซน์ปรากฏชัดในรูปของเครื่องแมคอินทอชรุ่นเดอะจนถึงรุ่นล่าสุดที่เขายังเก็บไว้อย่างดีทุกเครื่องไปๆ มาๆ อดีตช่างภาพก็หันมาหยิบจับงานด้านกราฟิกได้อย่างลงตัว 

ผมไม่ประมาท ไม่เลิก ไม่เบื่อ ไม่พยายามทำตัวเองให้ห่อเหี่ยว และไม่นั่งที่ไหนนานเกินไป 

ผมทำหมด ทั้งกราฟิก อาร์ตเวิร์ค ลุยจนถึงงานวิดีโอ แรกเริ่มผมสนใจกราฟิก 3D ซึ่งสมัยนั้นยังดูไม่มีอนาคตเลยนะ แต่เราสนใจและตื่นเต้นเมื่อได้รู้ว่า โฆษณาแชมพูที่เห็นเส้นผมกระจายสลวยนั้นใช้เทคนิค 3D ทำ แต่ก็ไม่ได้นำมาทำอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอัน จนกระทั่งทางอมรินทร์ฯ ซื้อลิขสิทธิ์นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟิก มาทำ ผมก็มารับตำแหน่งบรรณาธิการฝ่ายศิลปกรรม เพราะต้องใช้โปรแกรมใหม่ในการผลิต ซึ่งไม่มีใครกล้าลงมือทำ ผมก็เลยอาสาไปทำให้ก่อน” อีกครั้งที่เขานึกสนุกกับสิ่งใหม่และกระโจนเข้าไปลงมือทำเช่นเคย 

ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไร หากโชตวิชช์จะเจอสิ่งที่น่าสนใจและลงมือแบบทุ่มสุดตัวอีกครั้ง ในวัยที่เขามีหลานปู่หลานตาเป็นของตัวเอง 

ChotvichSuwongs
โต๊ะกินข้าวที่ดัดแปลงเป็นโต๊ะทำงานได้ทุกเมื่อ
ภาพ: โชตวิชช์ สุวงศ์

โต๊ะรับจ้างผลิตสิ่งพิมพ์ 

หลังปลดประจำการจากภาระงานประจำ และหันมาวาดรูประบายสีน้ำให้เพลินใจ ดาวหางแห่งการทำงานก็พุ่งมาตกที่เขาอีกจนได้ และก็ยังเป็นงานด้านสิ่งพิมพ์แบบที่เขาถนัดเช่นเคย 

ที่อมรินทร์จะมีแผนกหนึ่งที่เรียกว่า APS (Amarin Publishing Service) ที่รับทำสิ่งพิมพ์ตามความต้องการของลูกค้า ซึ่งทางทีมก็มาเสนอให้ผมช่วยไปรับงานให้หน่อย งานแรกที่ผมทำเป็นหนังสือชีวประวัติของคุณสุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ ซึ่งผมรับผิดชอบทั้งเล่มคือ ดูตั้งแต่คอนเซ็ปต์ ไปจนถึงการสัมภาษณ์และเขียนเรียบเรียงเองทั้งหมด 

ChotvichSuwongs
หนังสือ วิถีแห่งไทย… สายธารแห่งปัญญา
ภาพ: โชตวิชช์ สุวงศ์

โชตวิชช์กลับมาพรมนิ้วเล่าเรื่องบนแป้นพิมพ์อีกครั้งในวัยเฉียด 60 ปี แน่นอนว่าเขาผลิตชิ้นงานออกมาได้ดีทะลุมาตรฐาน นำมาซึ่งงานชิ้นอื่นๆ ที่ตามมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน อาทิ หนังสือวิถีแห่งไทย… สายธารแห่งปัญญา และ เที่ยวเพลินเดินตลาดทรัพย์สินฯ ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ซีรีส์หนังสือเที่ยวเมืองไทย โดย TK Park ฯลฯ ที่มีภาพสีน้ำฝีมือของเขาถ่ายทอดเอกลักษณ์ความเป็นไทยไว้ได้อย่างกลมกลืน 

เนื่องจากผมเริ่มวาดรูปเยอะขึ้นจนปีกกล้าขาแข็ง เลยแอบเอารูปวาดของตัวเองไปเสนอให้ใส่ไว้ในหนังสือที่เราทำ เฉพาะบางเล่มที่ผมเห็นว่าเรื่องราวแบบนี้ควรนำเสนอผ่านรูปวาด เรียกว่าหัวแหลมอยู่เหมือนกัน” นักทำสิ่งพิมพ์รุ่นใหญ่หัวเราะให้กับไอเดียในการสอดแทรกผลงานตัวเองสู่สายตามหาชน 

ChotvichSuwongs
เนื้อหาในหนังสือ เที่ยวเพลินเดินตลาดทรัพย์สินฯ
ภาพ: โชตวิชช์ สุวงศ์

งานอีกประเภทที่ผมชอบทำ ก็คือ อินโฟกราฟิก พวกไทม์ไลน์ แผนภูมิ กราฟ ฯลฯ ชอบทำมาก เริ่มทำตั้งแต่ปีที่ทำหนังสือ 79 ปี สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ จนถึงตอนนี้”  

โชตวิชช์ยอมรับว่าการทำงานในลักษณะ One Man Show ค่อนข้างเข้าท่าสำหรับเขา “เพราะผมก็จะรู้หมดว่าแต่ละบทต้องใช้รูปอะไร วางเลย์เอาท์แบบไหน แถมเรายังมีจุดเด่นตรงที่ทำอินโฟกราฟิกได้ บางเล่มก็บังอาจไปถ่ายรูปเอง งานแต่ละเล่มมีเวลาในการทำประมาณ 3 – 6 เดือน ซึ่งพอทำไหวสำหรับคนที่ไม่มีภาระอื่นอย่างผม 

ChotvichSuwongs
เนื้อหาในหนังสือ วิถีแห่งไทย… สายธารแห่งปัญญา
ภาพ: โชตวิชช์ สุวงศ์

ส่วนการเขียนหนังสือในวัยนี้ ผมรู้สึกว่าดีขึ้น เราดำรงชีวิตมาจนป่านนี้ย่อมมีแก๊กอยู่ในตัวเยอะเหมือนกัน… เรียกว่าพอจะมี” โชตวิชช์เอ่ยเรียบๆ ถึงฝีมือที่เข้าฝัก และพร้อมจะงัดออกมาใช้งานได้ทุกกลยุทธ์ 

แต่ถึงแม้คนแก่มีประสบการณ์ที่พร้อมจะแก้ปัญหาได้เยอะก็ตาม แต่ทุกวันนี้มีโจทย์ใหม่ ปัญหาใหม่เกิดขึ้น และความคิดของคนรุ่นใหม่ก็จะเป็นอีกแบบ 

ดังนั้น หนึ่งในวิธีที่จะเข้าใจคนรุ่นใหม่ ไปจนถึงเข้าใจโลกที่หมุนไปไวกว่าเดิมหลายเท่าตัว จึงเป็นการหมั่นอัพเดทเรื่องราวใหม่ๆ ในแต่ละวันอย่างรู้เท่าทัน

ChotvichSuwongs
เนื้อหาในหนังสือ วิถีแห่งไทย… สายธารแห่งปัญญา
ภาพ: โชตวิชช์ สุวงศ์

ไม่ว่าจะเป็นโต๊ะตัวไหน จงอย่านั่งนานเกินไป 

ผมซื้อคอนโดห้องนี้ไว้ เพราะคิดไว้ว่าจะใช้เป็นที่ทำงานหลังเกษียณ” โชตวิชช์เล่าถึงพื้นที่ที่เป็นทั้งบ้านและที่ทำงานในปัจจุบัน โดยกิจวัตรของนักวาดภาพประกอบ นักเขียนและผลิตหนังสือเล่ม และนักถ่ายภาพวัย 70 ปีคนนี้ เริ่มออกสตาร์ตที่เวลา 6.00 โดยมีผู้ช่วยส่วนตัวอย่างแอปพลิเคชั่น Health ในสมาร์ตโฟนทำหน้าที่ปลุกเขาด้วยเสียงเพลงไพเราะทุกเช้า 

ผมตั้งให้ Health คอยสั่งเราว่า พอถึงสี่ทุ่มให้ดัง ตุ๊ง ขึ้นมาเลยนะ ถึงเวลานอนแล้ว พอหกโมงเช้าก็จะมีเพลงเพราะดังขึ้นมาปลุกเราให้ตื่นได้แล้ว พอกินข้าวเสร็จ สัก 7-8 โมง ผมก็เริ่มทำงานได้เลย แต่ต้องเตรียมงานไว้ก่อนตั้งแต่เมื่อวาน เพราะเป็นคนขี้เกียจในระดับหนึ่งเหมือนกัน ดังนั้น ตกบ่ายก็ควรจะเตรียมงานสำหรับเช้าวันรุ่งขึ้น ตื่นมาจะได้ลงมือได้เลย 

ส่วนครึ่งวันบ่ายของเขาหมดไปกับการดูหนัง ดูซีรีส์ เล่นคอมพิวเตอร์ ไอแพด ไปจนถึงทดลองเครื่องไม้เครื่องมือหรือโปรแกรมสมัยใหม่ให้คล่องแคล่ว 

ChotvichSuwongs
โต๊ะทำงานในห้องนอน
ภาพ: โชตวิชช์ สุวงศ์

เมื่อไม่นานมานี้ ผมเริ่มบังอาจจะย้ายไปวาดรูปแบบดิจิทัลบ้าง เพราะการขายภาพดิจิทัลผ่านทางคริปโตอาร์ต (cryptoart) กำลังบูม ก็เลยซื้อ Wacom ซึ่งเป็นแท็บเล็ตสำหรับวาดรูปมาใหม่ แต่ลองแล้วไม่ค่อยชอบเท่าไร และงานคริปโตอาร์ตก็ไม่ใช่ทางของเรา เลยไม่เอาดีกว่า 

ถึงจะไม่ใช่ทางที่ถนัด แต่คนหัวก้าวหน้าแบบโชตวิชช์ไม่เคยปฏิเสธเทคโนโลยีใหม่ๆ มาแต่ไหนแต่ไร เขาจึงเลือกจะใช้เทคนิควาดมือผสมการใช้เครื่องมือ เช่น การเพิ่มแสงประกาย หรือแสงวูบวาบบนเลเยอร์ท้ายๆ เพื่อเพิ่มมิติให้ภาพสีน้ำวาดมือของเขา 

ChotvichSuwongs
ภาพ: โชตวิชช์ สุวงศ์

นอกจากนี้ ช่วงเวลาก่อนเข้านอน เขายังเพลิดเพลินกับการท่องไปใน behance.net เพื่ออัพเดตผลงานใหม่ๆ ของเหล่าศิลปินทั่วโลก รวมถึงปล่อยงานตัวเองไว้ในนั้นเช่นกัน 

“behance ก็เหมือนกับเฟซบุ๊ก แต่เน้นโชว์งานดิจิทัลมากกว่า ผมเข้าไปดูทุกคืน แต่ละคืนจะมีคนใหม่ๆ เข้ามาโชว์ผลงานเพิ่มตลอด ซึ่งตัวผมเองไม่ใช่ศิลปิน ไม่ได้มีความคิดสร้างสรรค์จ๋าขนาดนั้น ผมเป็นแค่คนลอกเลียนธรรมชาติได้แค่นั้นเอง ฉะนั้น ผมจึงเอารูปถ่ายที่ตัวเองมีมาลอกให้กลายเป็นภาพสีน้ำ ที่เราสามารถใช้เทคนิคเพิ่มเติมให้สีตรงนี้ละลาย หรือตรงนั้นไหล ทำยังไงก็ได้ขอให้ตัวเองมีความสุขก็แล้วกัน โชคดีที่ความสุขของเราพอจะขายได้บ้าง” โชตวิชช์ยิ้มให้กับต้นทุนความสุขที่งอกงามเป็นกำไร 

ChotvichSuwongs
ภาพ: โชตวิชช์ สุวงศ์

แต่ถึงแม้จะสามารถทำทั้งงานอดิเรกและงานที่ทำเงินได้ภายในโฮมสตูดิโอ โดยไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศ กระนั้น วิกฤติโควิด-19 ก็เล่นงานเขาไม่ต่างจากคนอื่นๆ โชตวิชช์ยอมรับว่าปีที่แล้วเป็นปีแสนสาหัสที่ทำเอาเขาเกือบเอาตัวไม่รอดเหมือนกัน 

ปีที่แล้วไม่มีงานเลย เพราะโควิดหยุดทุกอย่างไว้หมด แต่ก็มีข้อดีตรงที่เป็นการเปลี่ยนผ่านให้เราไปเจอสิ่งใหม่ๆ ในที่สุด” เขากำลังหมายถึงการมีเวลาว่างในการวาดภาพสีน้ำมากขึ้น จนผลงานไปเตะตานักเขียนขายดีอย่างกิ่งฉัตร ที่กำลังมองหาคนทำภาพปกใหม่ๆ อยู่พอดี 

นอกจากนี้ ด้วยการเป็นเจ้าของชั่วโมงว่างระดับมหาศาล โชตวิชช์จึงมีเวลาเขียนงานส่วนตัวเก็บไว้ เผื่อจะได้เผยแพร่ต่อไปในอนาคต 

ChotvichSuwongs
ภาพ: โชตวิชช์ สุวงศ์

เนื่องจากผมวาดรูปไว้เยอะ ก็เลยนึกอยากเอารูปมาเป็นทำหนังสือประกอบเรื่อง ทีแรกตั้งใจจะเขียนบทละ 8 บรรทัด และตอนนี้ก็เขียนเสร็จแล้ว 

คอนเซ็ปต์ของงานเขียนชิ้นนี้ คือ เขียนเพื่อคนสูงอายุที่อยากจะใช้ชีวิตในยุคสมัยนี้ว่า เขาควรคิดแบบไหน ถ้าอยากทำงาน ควรทำอย่างไร จะวางตัวเองให้อยู่แบบไหน ที่ไม่ใช่การอยู่ไปวันๆ โดยผมจะเน้นไปที่เรื่องของศิลปะมากหน่อย เพราะจากประสบการณ์ส่วนตัว ผมรู้สึกว่าคนแก่ทำงานศิลปะได้ดีถึงขั้นดีมาก เพราะมีพร้อมทั้งประสบการณ์และความรู้ ทำไมคุณถึงไม่ขุดเอามาใช้ล่ะ 

เพียงแต่ว่าพอเขียนออกมาเสร็จแล้วผมรู้สึกว่าเนื้อหาเหมือนเป็นการกดดันคนอ่าน ซึ่งหนังสือที่กดดันคนอ่านนั้นไม่น่าอ่านหรอก” เมื่อไม่พอใจในผลงานของตัวเอง เขาจึงพับโครงการบันทึกจากโควิด-19 ไว้ก่อน แล้วหันมาสนุกกับการวาดภาพสีน้ำ และเขียนอะไรเล็กๆ น้อยๆ ทางเฟซบุ๊กเหมือนเคย 

ChotvichSuwongs
อุปกรณ์ไฟเมื่อครั้งเป็นช่างภาพกลายเป็นเครื่องกำเนิดแสงในการวาดรูป ณ ปัจจุบัน
ภาพ: โชตวิชช์ สุวงศ์

ถ้าคุณใช้ชีวิตมาจนถึงอายุป่านนี้ คุณก็จะไม่กลัวอะไรแล้ว” ชายผู้เห็นโลกมานานเจ็ดทศวรรษเปรยกับคนรุ่นลูก 

สำหรับผม มีชีวิตมาถึงเลขตัวนี้ได้ถือเป็นกำไร ถ้าจะไปวันไหนก็ไปเถอะ ไม่ได้คิดอาลัยอาวรณ์กับชีวิตนี้ แต่ผมไม่ประมาท ไม่เลิก ไม่เบื่อ ไม่พยายามทำตัวเองให้ห่อเหี่ยว และไม่นั่งที่ไหนนานเกินไป” โชตวิชช์เตรียมขยายความต่อ เมื่อเห็นคู่สนทนาทำคิ้วผูกโบว์ 

เช่น การนั่งดูทีวี บางทีผมดูหนังทีละครึ่งเรื่อง สมัยนี้เรากดหยุดได้นี่ เราก็หยุด แล้วก็ไปเดิน ไปทำอย่างอื่น ไม่นั่งที่ไหนนาน แม้กระทั่งทำงานก็ไม่นั่งนาน ไม่หมกมุ่น แต่นอนนาน ผมนอนตั้งแต่สี่ทุ่มยันหกโมงเช้า แต่ก็ไม่ได้หลับง่ายในทันที ต้องยอมรับว่าคนแก่นอนยากพอสมควร ผมใช้วิธีเปิดเพลงคลอเบาๆ ให้ตัวเองค่อยๆ หลับไป”  

ง่ายๆ แบบนั้นเองสำหรับวิถีชีวิตที่ขีดฆ่าคำว่าเกษียณทิ้งไป แล้วใช้ชีวิตด้วยหัวใจที่เป็นวัยรุ่นตลอดกาล