life

“ทำสิ่งที่คนใช้มองไม่เห็น”

คือความท้าทายครั้งใหม่ของทีมสถาปนิก Creative Crews ผู้ออกแบบห้องเรียนสำหรับเด็กตาบอด แห่งแรกของเมืองไทย ซึ่งอยู่ในโรงเรียนสอนคนตาบอดพระมหาไถ่พัทยา จ.ชลบุรี

class room for blind
(photo: creative-crews.com)
class room for blind
(photo: creative-crews.com)
class room for blind
(photo: creative-crews.com)
class room for blind
(photo: creative-crews.com)

“ปกติเราออกแบบสิ่งที่รับรู้ได้โดยการมองเห็น  แต่เมื่อต้องสร้างสิ่งที่คนใช้ไม่สามารถมองเห็นได้ การทำงานจึงต้องละเอียดมากๆ”

ห้องเรียนแห่งนี้จึงมีความพิเศษและแตกต่างจากห้องเรียนสี่เหลี่ยมที่แน่นไปด้วยโต๊ะเรียนแบบทั่วไปในทุกด้าน 

เพื่อพัฒนาสัมผัสทั้ง 5 ของเด็กผู้พิการทางสายตา และช่วยนำพาให้พวกเขาก้าวออกไปใช้ชีวิตในสังคมด้วยตัวเองให้ได้มากที่สุด

common ชวนพูดคุยกับ แบงค์-เอกฉันท์ เอี่ยมอนันต์วัฒนะ อ้น-จิรกิตต์ พนมพงศ์ไพศาล และ อาย-ปิยะวรรณ ศรีสวัสดิ์ ทีมสถาปนิกผู้ออกแบบโปรเจกต์นี้

classroom for blind kids arhictecture

เพื่อสำรวจรายละเอียดวิธีคิดและการทำงานที่อยู่เบื้องหลังห้องเรียนที่เปรียบเสมือนสนามเด็กเล่นแสนสนุกแบบ 360 องศาสำหรับเด็กพิการทางสายตา

ห้องเรียนปลุกจินตนาการ

“จริงๆ แล้วน้องๆ ที่บกพร่องทางการมองเห็นก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรกับการใช้ห้องเรียนแบบเดิมๆ ทุกคนก็ยังเรียนหนังสือกันได้”

นี่คือข้อมูลแรกที่สถาปนิกทีม Creative Crews รับรู้ในตอนแรก

classroom for blind kids arhictecture

“แต่อาจจะไม่สนุก และต้องมีครูคอยสอนมากกว่าเด็กทั่วไป นอกจากนี้ ห้องเรียนที่ออกแบบมาเพื่อเด็กตาบอดโดยเฉพาะจะช่วยกระตุ้นให้เด็กๆ เกิดความอยากรู้มากขึ้น และสามารถหยิบจับสิ่งของต่างๆ ได้เลย โดยไม่ต้องรอครูมาสอนหรือนั่งอยู่ที่โต๊ะตลอดเวลาเหมือนห้องเรียนอื่นๆ”

หนึ่งในสื่อการเรียนการสอนที่ผู้อำนวยการโรงเรียนสอนคนตาบอดพระมหาไถ่พัทยาอยากให้มีในห้องเรียนแห่งนี้คือ ‘สัตว์’ 

class room for blind
(photo: creative-crews.com)

“เด็กที่มีปัญหาทางสายตาจะมีการมองเห็นที่แตกต่างจากเด็กทั่วไป เด็กตาดีจะมองเห็นภาพใหญ่ก่อน ทำให้รู้ว่าสิ่งที่เห็นคืออะไร อย่างเช่นพวกสัตว์อย่างม้า ช้าง วัว ควาย แต่พวกเขาจะไม่รู้ถึงลักษณะของผิว ในขณะที่เด็กๆ ตาบอดจะเข้าไปจับให้ทั่วก่อน แล้วถึงจะรู้ว่าผิวแบบนี้ รูปร่างแบบนี้ คืออะไร” 

นอกจากนี้ ก่อนการเรียนวิชาการใดๆ น้องๆ จำเป็นต้องเรียนรู้และฝึกฝนการจับของเสียก่อน โดยฝึกใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ใช้ในการบังคับจับของ

“พ่อแม่ของเด็กผู้มีความบกพร่องทางสายตาหลายคนไม่ปล่อยให้ลูกใช้กล้ามเนื้อเหล่านี้ และพยายามให้น้องๆ อยู่เฉยๆ เพราะกลัวเขาหกล้มบ้าง หรือบาดเจ็บจากการหยิบจับพลาดบ้าง กล้ามเนื้อหลายส่วนจึงไม่ถูกใช้และไม่มีการพัฒนา โดยเฉพาะช่วงแขนและขา”

ผลลัพธ์ที่สร้างสรรค์จากข้อมูลตรงนี้คือ หมุดรูปทรงต่างๆ รวมทั้งของเล่นสัตว์ขนาดพอดีมือ ติดอยู่บนผนังที่เปิดโล่งให้เด็กๆ หยิบจับได้ตลอดเวลา

class room for blind
(photo: creative-crews.com)

เป็นการส่งเสริมจินตนาการให้เด็กตาบอดรู้ว่า สิ่งของแต่ละอย่างมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร ซึ่งถือเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับเด็กๆ เหล่านี้

เปลี่ยนผนังเป็นพื้นที่สอนเต้นรำ

ในช่วงที่เรากำลังหาข้อมูลเพื่อดีไซน์ห้องเรียนแห่งนี้ ทีมสถาปนิกสะดุดใจกับคำถามหนึ่งที่ว่า 

“จะสอนเด็กตาบอดให้เต้นรำได้ยังไง”

ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ท้าทาย เรียกได้ว่าเข้าขั้นยากเลยทีเดียว แต่พวกเขาอยากลอง! 

หลังจากทำการค้นคว้า สัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้อง และตกตะกอนไอเดียได้ ทีม Creative Crews ดีไซน์ผนังห้องให้เป็นส่วนหนึ่งของฟลอร์เต้นรำ

เวลาสอนเด็กตาบอดเต้นรำ ครูจะบอกให้พวกเขากวาดมือเป็นวงกลม ดันมือมาข้างหน้าและข้างซ้ายข้างขวา สถาปนิกทั้ง 3 คน จึงนำการเรียนพรีเบรลล์ (การเตรียมความพร้อมก่อนเริ่มเรียนอักษรเบรลล์) มาใช้ผสมผสาน

classroom for blind kids arhictecture
สเก็ตช์ไอเดียการสร้างกำแพงที่สอนเด็กเต้นรำในตัว

“เมื่อเด็กวางหมุดลงหรือให้เด็กกวาดมือตามหมุด เช่น ถ้าโจทย์คือวงกลม จับหมุดวงกลม แล้วต้องเลื่อนมือตามหมุดวงกลม ถ้าเป็นสามเหลี่ยมให้กวาดมือเป็นสามเหลี่ยม ในหลักสูตรจะมีเขียนกำกับทิศทางไว้ให้

class room for blind

“ถ้าเราเอาของรูปทรงต่างๆ มาวางให้เล่นเหมือนเด็กทั่วไป เด็กๆ ที่มีความบกพร่องทางสายตาอาจไม่ได้เรียนรู้อะไรเป็นพิเศษ แต่เมื่อเราเอามาใช้ประยุกต์แบบนี้ เด็กๆ จะได้เรียนการเต้นรำและเรื่องทิศทางไปในตัวด้วย” 

class room for blind
(photo: creative-crews.com)

classroom for blind kids arhictecture

ผนังสองสีช่วยพัฒนาสายตาเด็ก

โรงเรียนนี้รับเด็กพิการทางสายตาทุกระดับ ทั้งสูญเสียการมองแบบ 100 เปอร์เซนต์ และเด็กที่มีการมองเห็นเลือนราง หรือ low vision ที่บกพร่องทางการมองเห็นบางส่วน หรือเห็นแบบเลือนรางซึ่งต้องการสีสันที่มีความแตกต่างกัน 70 เปอร์เซนต์ ช่วยกระตุ้นและพัฒนาสายตาให้ยังคงมองเห็นได้เรื่อยๆ

“พวกเราสร้างผนังด้านหนึ่งให้มีรูที่ใส่หมุดสีสันต่างๆ ได้ พร้อมติดฟิล์มสีใส่กระจกไว้ด้านนอก เมื่อเอาหมุดออก เด็กๆ จะมองเห็นแสงจากภายนอกผ่านเข้ามา ซึ่งช่วยกระตุ้นให้เด็กๆ ที่มองเห็นเลือนรางได้ฝึกการใช้สายตาไปในตัว” 

class room for blind
(photo: creative-crews.com)

นอกจากนี้ ในส่วนของพื้นที่ระเบียงทางเดินหน้าห้อง ซึ่งเดิมทีเป็นลูกกรงเก่า ถูกปรับเป็นพื้นที่การเรียนรู้ โดยเปลี่ยนผนังและเจาะรูสำหรับปักหมุดรูปทรงต่างๆ 

class room for blind
(photo: creative-crews.com)

“จริงๆ แล้วส่วนระเบียงเป็นจุดสำคัญ เพราะโดยปกติการเรียนการสอนของเด็กตาบอดจะถูกจัดให้อยู่แต่ในห้องเรียน เด็กๆ จะไม่ค่อยมีโอกาสออกมาเรียนรู้ด้านนอก นอกจากจะมีพาร์ทเนอร์หรือครูพามาเดิน แต่ระเบียงที่เราดีไซน์ขึ้นใหม่มีความปลอดภัย และยังเปิดให้เรียนรู้ได้อย่างเต็มที่” 

class room for blind
(photo: creative-crews.com)

ปกติเมื่องานของสถาปนิกเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผู้สร้างงานมักไม่ค่อยมีโอกาสได้เห็นคนใช้สอยผลงานของตัวเอง เพราะส่วนใหญ่อาคารที่สร้างเป็นสถานที่ส่วนบุคคล แต่โปรเจกต์นี้ ทางทีมสถาปนิก Creative Crews ได้เห็นงานของตนสร้างประโยชน์ให้กับเด็กๆ ที่ใช้ห้องเรียนแห่งนี้อย่างแท้จริง

“เด็กๆ ทุกคนสนุกสนานกันมาก เราก็มีความสุขมากๆ ตามไปด้วย”.

classroom for blind kids arhictecture

FACT BOX

  • ห้องเรียนแห่งนี้ถือเป็นโมเดลในการพัฒนาห้องเรียนสำหรับเด็กผู้พิการทางสายตา ผู้ที่สนใจการออกแบบพื้นที่และสร้างสื่อการเรียนการสอนที่ช่วยพัฒนาทักษะสำหรับเด็กกลุ่มนี้ สามารถติดต่อขอรับคู่มือได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ที่เว็บไซต์ https://www.goldenland.co.th/classroommakeoverbook หรือ โทร 02-764-6244