ชุดป้องกัน COVID-19 สีขาวๆ เหมือนนักบินอวกาศ ที่เรามักเห็นเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ใส่อยู่บ่อยครั้ง เรียกว่า ชุดป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (PPE : Personal Protective Equipments)
ชุดนี้มีหลายแบบแตกต่างตามการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นสำหรับเกษตรกรที่ต้องเจอสารเคมี งานก่อสร้าง นักวิจัยในห้องแล็บ ฯลฯ
สำหรับแพทย์ที่ต้องใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ COVID-19 จะประกอบไปด้วยอุปกรณ์ครบครัน ไม่ว่าจะเป็นแว่นตา หน้ากากช่วยหายใจ ชุดผ้าหนาๆ ถุงมือ ถุงหุ้มรองเท้า เพื่อป้องกันทุกส่วนของร่างกายไม่ให้สัมผัสกับละอองสารคัดหลั่ง ที่จะนำพาเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกาย
ใครที่สงสัยว่า ชุดป้องกันที่ดูเหมือนนักบินอวกาศนี้มีอะไรบ้าง และแต่ละส่วนทำหน้าที่อะไร common มีคำตอบ
1.แว่นหน้ากาก และ แว่นตา (Face Shield and Goggles)
แว่นหน้ากาก จะมีความโปร่งใสและมีคุณสมบัติป้องกันเชื้อไวรัส หากต้องสัมผัสและคลุกคลีกับผู้ป่วย COVID-19 แต่ในกรณีที่ต้องทำงานร่วมกับผู้ป่วยวิกฤติ ที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ ควรสวมแว่นตาด้านในอีกชั้น
ทั้งแว่นหน้ากากและแว่นตา ต้องเป็นแว่นชนิดกันฝ้าหรือละอองน้ำ (anti fog) เพื่อป้องกันไอร้อนที่เกิดขึ้นขณะที่เราหายใจ อีกทั้งยังต้องคลุมใบหน้าของเราได้ 180 องศา
2.หน้ากากป้องกันระบบหายใจ (Respirator)
หากต้องดูแลและอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยซึ่งเป็นโรคทั่วไปที่ไม่ได้ทำให้เกิดละอองต่างๆ จากสารคัดหลั่ง สามารถใช้หน้ากากอนามัยธรรมดา (Surgical Mask) ได้ แต่สำหรับแพทย์ที่ต้องดูแลผู้ป่วย COVID-19 ควรใช้หน้ากาก N95 ที่มีความหนาแน่นขึ้นมาอีกขั้น
หน้ากาก N95 ต้องเป็นชนิดสำหรับบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น กันน้ำได้ และมีการรับรองจากสถาบันที่เชื่อถือได้
เวลาใส่ ต้องใส่หน้ากากให้กระชับพอดีกับใบหน้า ไม่มีรูหรือช่องว่างให้อากาศเข้าไป คำแนะนำที่ดีที่สุดคือ ควรใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง แต่ในช่วงที่หน้ากากขาดแคลน สามารถนำมาใช้ซ้ำได้ แต่ใช้ได้ไม่เกิน 5 ครั้ง
กรณีที่ไม่มีหน้ากาก N95 สำหรับแพทย์ให้ใช้แบบกันฝุ่นและสวมหน้ากากอนามัยธรรมดาซ้อนทับอีกชั้น เพื่อป้องกันละอองสารคัดหลั่งในอากาศ
หน้ากากอื่นๆ ที่กัน COVID-19 ได้
หน้ากากกันฝุ่นและสารเคมีแบบครึ่งหน้า / เต็มหน้า – สามารถใส่เมื่อต้องคลุกคลีกับผู้ติดเชื้อ หาก N95 ขาดแคลน โดยหน้ากากแบบเต็มหน้าจะคลุมบริเวณดวงตาด้วย
เครื่องผลิตอากาศหายใจส่วนตัว (PAPR : Powered air purifying respirators) – เป็นเครื่องช่วยหายใจขนาดเล็ก มีคุณสมบัติดีกว่า N95 กรองฝุ่นได้ ป้องกันโรคติดต่อทางสารคัดหลั่งและเลือด ที่อาจกระเซ็นเข้าสู่ใบหน้า
3.ชุดป้องกันร่างกาย (Protective Clothing)
เป็นชุดที่ป้องกันไม่ให้ร่างกายสัมผัสกับสารเคมี ไอระเหย ก๊าซ ฝุ่นละออง สารคัดหลั่งติดเชื้อ มีระดับการป้องกันที่แตกต่างกัน ชุดสำหรับปฏิบัติงานที่ต้องใกล้ชิดผู้ป่วย COVID-19 คือชุด Level C ซึ่งสามารถใช้เมื่อต้องสัมผัสกับโรคที่ติดต่อกันได้ผ่านละออง
ชุดที่ใช้ต้องมีเครื่องหมาย EN 14126:2003+AC:2004 และมีคุณสมบัติ ดังนี้
- มีสัญลักษณ์ EN 14126 – 2003 Protect Against Biological hazards
- มีสัญลักษณ์ TYPE 3B : ป้องกันของเหลวที่มีแรงดันสูง
- มีสัญลักษณ์ TYPE 4B : ป้องกันของเหลวกระเด็นใส่
- มี ISO 16603 – 2004 class 2 > 2 ดูความทนทานต่อเลือด สารคัดหลั่ง
- มี ISO 16604 – 2004 class 2 > 2 ทนทานต่อไวรัส
สำหรับชุดดังกล่าว ต้องดูว่าด้วยว่าทนน้ำได้แค่ไหน หากมีแค่สัญลักษณ์ EN 13982-1 (type 5) กันฝุ่นละออง หรือ EN 13034 (type 6) เมื่อเจอน้ำกระเด็นแรงๆ จากผู้ป่วยไอหรือจามจะไม่สามารถกันได้ จะต้องเป็น type 3 และ 4 เท่านั้น
EN 14605 type 3B,4B และ EN 13034 type 6 ยังไม่สามารถกันสารคัดหลั่งที่มาจากการไอและจามได้ เหมาะสำหรับหน่วยคัดกรอง แต่ไม่แนะนำให้ใส่ดูแลผู้ป่วยติดเชื้อที่มีอาการหนักใน ICU
4.ถุงมือ (Gloves)
นิยมใช้ถุงมือยาง Latex, ถุงมือ Vinyl และ ถุงมือไนโตร
- ถุงมือยาง (Latex Gloves) – ทำจากยางพารา เบาและกระชับมือ นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย ทางการแพทย์และอุตสาหกรรมแบ่งออกเป็น 2 ชนิด
- ถุงมือยางสำหรับผ่าตัด (Surgical Glove) – ใช้สำหรับผ่าตัด มีความแข็งแรง ทนทาน ยาวถึงข้อศอก ผ่านกรรมวิธีฆ่าเชื้อ 100% ใช้ได้เพียงครั้งเดียวแล้วทิ้ง
- ถุงมือยางสำหรับตรวจโรค (Examination Glove) – ใช้ในงานตรวจโรคทั่วไป ความยาวถึงข้อมือ ใช้ได้เพียงครั้งเดียวแล้วทิ้ง
- ถุงมือไวนิล (Vinyl Gloves) – ทำจากไวนิลคลอไรด์ เวลาใช้อาจไม่ค่อยกระชับมือ และไม่แข็งแรงมากนัก ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง
- ถุงมือไนโตร (Nitrile Gloves) – ทำจากโพลิเมอร์สังเคราะห์ (ปิโตรเลียม) ทนสารเคมีชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกรด เบส แอลกอฮอล์ ตลอดจนน้ำมันชนิดต่างๆ แข็งแรงแต่ไม่ค่อยยืดหยุ่น จึงทำให้ปฏิบัติงานได้ไม่คล่องตัว
5.ถุงคลุมรองเท้า (Shoe Covers)
เป็นถุงคลุมรองเท้าสำหรับปฏิบัติการในห้องแล็บแบบ Poly-Coated High Top Shoe ซึ่งเป็นชนิดยาว ใช้สำหรับพื้นที่ที่ต้องสัมผัสของเหลว
หมายเหตุ : เรียบเรียงจากข้อมูลที่เผยแพร่ใน Facebook โดย รศ.นพ.ปรัญญา สากิยลักษณ์ รองหัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ ด้านงานบริการ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล