life

เช้าวันหนึ่ง ขณะกำลังง่วนอยู่กับการตอบข้อความบนรถไฟฟ้าใต้ดิน ก็รู้สึกได้ว่ามีบางอย่างมาจับหมับที่แขนด้านขวา เมื่อเหลือบตาไปมอง ก็ทำให้ต้องยิ้มออกมาเป็นครั้งแรกของวัน เพราะสิ่งนั้นคือมือน้อยๆ ของเด็กชายชาวญี่ปุ่นที่กำลังซบอยู่ในอ้อมอกของคุณแม่

เด็กชายเจ้าของแก้มอวบเหมือนลูกพีชสุกงอมน่าจะอายุราวๆ หนึ่งขวบ ส่งเสียงอ้อแอ้อย่างอารมณ์ดี ตากลมโตสีดำกระพริบปริบๆ และจับจ้องมาที่ตัวเรา จนทำให้ต้องวางมือจากโทรศัพท์และเข้าไปหยอกล้อด้วย

เช้าวันนั้นถือเป็นอีกวันที่ได้ชาร์จพลังก่อนมาทำงาน และเป็นครั้งแรกที่ตระหนักได้ว่า ‘ความน่ารัก’ ของเด็กๆ นั้นมีพลังมหาศาลเหลือเกิน

‘ความน่ารัก’ อาวุธลับของทารกผู้บอบบาง

เคยสงสัยไหมว่าทำไมแก้มยุ้ยของเด็กๆ นั้นถึงทำให้หัวใจของเราพองโตได้ขนาดนั้น

นั่นเป็นเพราะ ‘ความน่ารัก’ ของพวกเขาส่งผลกับสัญชาตญาณของมนุษย์ผู้พบเห็นยังไงล่ะ

ความน่ารักแบบเด็กๆ มีชื่อเรียกว่า ‘Kinderschema’ ซึ่งประกอบด้วยลักษณะหลายประการ เช่น ดวงตาที่กลมโต ขนาดของศีรษะที่ใหญ่กว่าตัว แก้มยุ้ย คางเล็กๆ ลำตัวอ้วนกลม ผิวนุ่มลื่นน่าสัมผัส ซึ่งตามธรรมชาติแล้ว ลักษณะเหล่านี้จะดึงดูดความสนใจของมนุษย์เรา ยิ่งไปกว่านั้น ‘ความน่ารัก’ ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทารกตัวน้อยมีชีวิตรอด

common cuteness

‘ความน่ารัก’ ที่ว่านี้มีผลกับสมองส่วน Orbitofrontal cortex ของมนุษย์ ซึ่งเป็นส่วนที่ควบคุมการตัดสินใจให้รางวัล ส่งผลให้พ่อและแม่ หรือแม้แต่คนอื่นที่ได้พบเห็นทารก ยากที่จะละสายตาไปจากความน่ารักของพวกเขาได้ จึงทำให้เกิดความอยากดูแลทะนุถนอม

ด้วยเหตุนี้ ‘ความน่ารัก’ จึงถือเป็นอาวุธชิ้นสำคัญของทารก แม้ว่าพวกเขาจะตัวเล็ก บอบบาง และช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ แต่ดวงตากลมโตใสแป๋วคู่นั้นจะทำให้ผู้ใหญ่สนใจ คอยหาอาหารมาให้และดูแลพวกเขาจนอยู่รอดปลอดภัย

common cuteness

นอกจากนี้ความน่ารักของเด็กๆ ยังทำให้สมองส่วน Nucleus Accumbens หลั่งสารโดปามีนออกมา แบบเดียวกับในตอนที่ร่างกายมนุษย์ตกหลุมรัก มีเซ็กส์ หรือมีสารเสพติดมากระตุ้น ซึ่งสารชนิดนี้ทำเรามีความสุข รู้สึกเบิกบานใจ ยิ่งไปกว่านั้นยังมีรายงานระบุด้วยว่าสารโดปามีนจะทำให้เรามองโลกในแง่ดีกว่าที่เคย  

common cuteness
ภาพการทำงานของสมองมนุษย์เปรียบเทียบระหว่างมองใบหน้าเด็กทารกและผู้ใหญ่ (Photo : Morten L. Kringelbach)

ลักษณะน่ารักแบบ Kinderschema ไม่ได้พบได้แค่ในลูกคนเท่านั้น แต่เป็นลักษณะที่พบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้งหมด เพราะเมื่อลืมตาดูโลกสัตว์ประเภทนี้จะต้องพึ่งพาการเลี้ยงดูจากพ่อและน้ำนมจากแม่ จนกว่าที่พวกเขาจะปีกกล้าขาแข็งและหาอาหารด้วยตัวเองได้ ความน่ารักจึงเป็นอาวุธสำคัญที่ทำให้สัตว์ตัวน้อยๆ ได้รับการปกป้อง

common cuteness

หากเด็กๆ ไม่ได้ ‘น่ารัก’ 

ความน่ารักที่ช่วยให้ทารกอยู่รอดนั้นก็มีผลเสียเหมือนกัน เพราะรายงานทางวิทยาศาสตร์ที่เผยแพร่ในวารสาร Trends in Cognitive Science ระบุว่า ‘ความน่ารัก’ ส่งผลให้เด็กๆ ถูกปฏิบัติได้อย่างไม่เท่าเทียมกัน 

ผลการทดลองรายงานว่า เด็กๆ ที่น่ารักจะให้ความรู้สึกเป็นมิตร สดชื่น และเป็นที่รักมากกว่า พวกเขาจึงได้รับของเล่นและสิ่งของมากกว่า หากทารกที่มีองค์ประกอบบนใบหน้าที่ผิดเพี้ยนไปจากความน่ารักแบบ Kinderschema จะทำให้สมองของเหล่าผู้ใหญ่ตอบสนองกับความน่ารักได้น้อยลง ส่งผลให้มีการ ‘เลือกปฏิบัติ’ เกิดขึ้น

 

common ccuteness
ผลการศึกษาที่พบว่าทั้งผู้ชายและผู้หญิงจะมองหน้าทารกที่น่ารักกว่าเป็นเวลานานกว่า (Photo : Christine E. Parson)

แต่การเลือกปฏิบัติใดๆ คงไม่น่าเศร้าใจเท่าการเลือกปฏิบัติของผู้เป็นแม่ เพราะงานวิจัยยังมีการระบุเพิ่มเติมอีกว่าสิ่งนี้อาจส่งผลต่อการพัฒนาและสติปัญญาของเด็กๆ เนื่องจากในบางกรณีอาจเกิดปัญหาในความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูก เมื่อเด็กน่ารักน้อยลงก็ทำให้ผู้เป็นแม่ตอบสนองต่อลูกน้อยลงไปด้วย

อย่างไรก็ตามธรรมชาตินั้นไม่ใจร้ายกับเด็กๆ เกินไปนัก เพราะนอกจากปัจจัยด้านลักษณะทางกายภาพแล้ว เสียงอ้อแอ้น่ารักและกลิ่นตัวสะอาดสะอ้านของทารก ก็ช่วยให้พวกเขาได้รับความเอาใจใส่ไม่แพ้กับองค์ประกอบบนใบหน้า นอกจากนี้การที่พ่อแม่ของเด็กๆ แต่ละคนนั้นมองเห็นลูกตัวเองน่ารักกว่าลูกคนอื่นๆ ก็จะส่งผลให้พวกเขาดูแลเอาใจใส่เด็กๆ เป็นอย่างดีอีกด้วย

common cuteness

นอกจากความน่ารักจะมีประโยชน์กับทารกตัวน้อยๆ แล้ว ยังมีประโยชน์กับผู้ใหญ่อย่างเราๆ เช่นกัน เพราะเมื่อมนุษย์เรามองเห็นสิ่งที่น่ารักไม่ว่าจะเป็นลูกแมวขนฟูนุ่มหรือลูกสุนัขตัวกลม จะทำให้เรารู้สึกดีและส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้นไปด้วย บางบริษัทจึงมีนโยบายส่งเสริมให้มีสัตว์เลี้ยงสักตัวหนึ่งไว้ในออฟฟิศเพื่อสร้างความผ่อนคลายให้กับพนักงาน 

เห็นได้ว่า ‘ความน่ารัก’ นั้นมีพลังมหาศาลและยังช่วยบูสต์พลังสำหรับวันเหนื่อยๆ ได้อีกด้วย หากบังเอิญพบเด็กแก้มยุ้ยสักคนจนทำให้หัวใจพองโต

นั่นหมายความว่าพวกเราโดนอาวุธแสนน่ารักของพวกเขาโจมตีเข้าให้แล้ว.

 

อ้างอิง