life

ใครสักคนเคยบอกว่าให้ ‘แยกงานกับเรื่องส่วนตัวออกจากกัน’

แน่นอนว่าเมื่ออยู่ในหน้าที่เราควรทิ้งเรื่องส่วนตัวไว้ที่บ้าน และทำงานให้เต็มที่ แต่การจะแยกทั้งสองอย่างออกจากกันอย่างสิ้นเชิงนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะเราเป็นมนุษย์ ไม่ใช่หุ่นยนต์

การรักษาสมดุลระหว่างชีวิตและงานต่างหากที่เป็นเหมือนหัวใจสำคัญที่ทำให้งานและเรื่องส่วนตัวดำเนินไปด้วยกันได้อย่างราบรื่น

ปัจจุบัน สถานที่ทำงานกลายเป็นแหล่งบ่มเพาะความเครียดเนื่องจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น ปริมาณงานที่มากเกินไป ความผิดพลาด เพื่อนร่วมงาน ปัญหาเรื่องเงิน ฯลฯ

ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจนำไปสู่ ‘ภาวะซึมเศร้า’ ได้

ซึมเศร้าในที่ทำงาน 

อาชีพที่เกิดความเครียดเยอะที่สุด จัดอันดับโดยองค์กรอนามัยโลก (WHO) 10 อันดับ คือ

  1. พนักงานขับรถบรรทุก / ขนส่งสินค้า 16.2 %
  2. อสังหาริมทรัพย์ 15.7 %
  3. งานบริการ 14.6 %
  4. โรงงาน 14.3 %
  5. เลขา 14.3 %
  6. บริการด้านกฎหมาย 13.4 %
  7. สิ่งแวดล้อมและขยะ 13.4 %
  8. องค์กรและผู้ดูแลระบบ 13.3 %
  9. นายหน้า 12.6 %
  10. สื่อสิ่งพิมพ์ 12.4 %

โดยอาชีพที่มีความเครียดสูงจะเป็นอาชีพที่ต้องทำงานกับลูกค้า ติดต่อสื่อสารกับผู้คนและมีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อย

ส่วนอาชีพที่ต้องออกแรงบ่อยๆ และไม่ต้องสื่อสารกับใครมากนัก เช่น คนงานในเหมืองหรือกรรมกรจะพบคนที่เป็นโรคซึมเศร้าเพียงเล็กน้อย

สะสมจนซึมเศร้า

‘มนุษย์กลัวความเปลี่ยนแปลง’

สิ่งมีชีวิตต้องการอยู่อย่างปกติ ซึ่งเรียกว่าสภาวะสมดุล (Equilibrium) หากมีอะไรมารบกวนหรือกระทบกับความปกติสุขของเรา จะทำให้เกิดความกังวลและความเครียดตามมา สิ่งนี้เป็นเรื่องธรรมดาของสิ่งมีชีวิต ในเวลาทำงานก็เช่นกัน 

เรามักวางแผนการทำงานไว้อย่างรอบคอบ แต่บางครั้งทุกอย่างอาจไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป เมื่อความเปลี่ยนแปลงและอุปสรรคเข้ามาเยือน เป็นธรรมดาที่มนุษย์จะเครียดและกังวล 

ความเศร้าเป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าเศร้าตลอดเวลา…อันตราย

โปรเจ็กต์เฟล โดนตำหนิ ทำงานพลาด งานเยอะเกินจนทำไม่ทัน เป็นธรรมดาที่มนุษย์เราจะรู้สึกเครียดได้

 ใน 1 วัน มีสิ่งเร้าต่างๆ มากมายที่เข้ามาทำให้ระดับอารมณ์ของคนเราไม่คงที่ อาจหัวเราะในตอนเช้า ร้องไห้ในตอนบ่าย นั่นเป็นสิ่งที่เราคาดเดาไม่ได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปแล้วอารมณ์ของเราจะกลับมาเป็นปกติได้เองตามธรรมชาติ

ทว่า เมื่อคนเราต้องเผชิญกับความผิดหวังอยู่เป็นประจำ เกิดความเศร้าใจอยู่บ่อยๆ อาจทำให้อารมณ์ของเราไม่สามารถกลับมาเป็นปกติเหมือนเดิม จนนำไปสู่การเป็น ‘โรคซึมเศร้า’ ได้ 

“มีอารมณ์เศร้าต่อเนื่อง เซ็งตลอดเวลา สิ่งที่ทำแล้วเคยชอบ เคยสนุก เรากลับไม่ชอบมันอีกต่อไป ไม่อยากเจอคนที่เคยอยากเจอ รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า รู้สึกผิดตลอดเวลา แต่ไม่รู้ว่ารู้สึกผิดเรื่องอะไร อาจถึงขั้นไม่อยากมีชีวิตอยู่ และมีอาการอื่นๆ เช่น กินมากไป กินน้อยไป มีปัญหาเรื่องการนอน อาการเหล่านี้จะเป็นอย่างน้อย 7-14 วัน ”

นพ.สุทธา สุปัญญา นายแพทย์ชำนาญการ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา บอกว่าหากคิดว่ากำลังมีอาการที่กล่าวไปข้างต้น หรือสงสัยว่าตัวเองจะเป็นโรคซึมเศร้า ให้มาพบแพทย์เพื่อประเมินอาการก่อนดีที่สุด เพราะการวินิจฉัยเรื่องนี้ต้องอาศัยการพูดคุยและสังเกตอาการจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น

แม้ว่าความเครียดจากการทำงานในแต่ละวันจะถูกหอบกลับไปเก็บไว้ที่บ้านอยู่เสมอ แต่เมื่อถึงขีดจำกัดที่จิตใจของมนุษย์รับไม่ไหวจนเกิดเป็น ‘ความเศร้า’ เมื่อนั้น เส้นแบ่งระหว่างเรื่องงานและเรื่องส่วนตัวจะถูกทำลายไปอย่างสิ้นซาก

“นอกจากจะไม่มีความสุขกับสิ่งที่เคยทำประจำแล้วยังทำให้ไม่สามารถโฟกัสกับการทำงานได้อย่างเต็มที่ โรคต่างๆ ที่ทำให้พนักงานของบริษัททำงานได้อย่างไม่เต็มที่ล้วนส่งผลให้นายจ้างต้องสูญเสียงบประมาณไปโดยไม่คุ้มค่ากับประสิทธิภาพงานที่ควรได้รับ” คุณหมอกล่าว 

นอกจากความเศร้าจะกัดกินสุขภาพกายและสุขภาพจิตของผู้ป่วยแล้ว องค์กรและบริษัทยังต้องจ่ายให้กับพนักงานที่ป่วยจนทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพอีกด้วย ซึ่งในแต่ละปีบริษัทในอเมริกาสูญเสียรายได้ไปกว่าห้าหมื่นล้านดอลลาร์เนื่องจากพนักงานลาป่วย รวมถึงค่าใช้จ่ายเพื่อการรักษาของพนักงานราวๆ สองหมื่นล้านดอลลาร์ 

ก่อนที่ความเศร้าจะกลืนกิน

‘โรคซึมเศร้า’ รักษาได้ด้วยยาและดูแลจิตใจของตัวเองควบคู่กันไป หากพบว่าเรากำลังเศร้าจนไม่สามารถใช้ชีวิตได้เป็นปกติเป็นเวลานานๆ สิ่งแรกที่ควรทำคือการไปพบแพทย์และรักษาตามขั้นตอน

หากในตอนนี้ ใครกำลังเริ่มเสียใจกับบางเรื่อง ขอชวนมาทำตามคำแนะนำ 4 วิธีของคุณหมอสุทธา เพื่อไม่ให้เราตกอยู่ในวังวนแห่งความเศร้านี้นานเกินไป

 

1.มองโลกในแง่ดีผ่านดวงตาที่เห็นแต่ ‘ความจริง’ 

มองโลกในแง่ดี อาจเป็นคำพูดสวยๆ และทำได้ยากในวันที่กำลังเสียใจอย่างหนัก แต่จริงๆ แล้วนั่นคือ ‘การยอมรับความจริง’ และพยายามหาข้อดีในสถานการณ์อันแสนเลวร้าย

การมองโลกในแง่ดีคงคล้ายๆ กับคำพูดของ Shauna Niequist นักเขียนนวนิยายชื่อดัง ที่บอกว่า “When life is sweet, say thank you and celebrate. And when life is bitter, say thank you and grow.” หรือ “เมื่อมีความสุขให้พูดขอบคุณและเฉลิมฉลอง เมื่อชีวิตมันแย่ให้พูดขอบคุณและจงเติบโต”

“การบอกตัวเองว่าวันนี้ฉันสวยคือการมองข้ามความเป็นจริง เป็นการหลอกตัวเองให้เราพยายามก้าวข้ามปัญหาไป ก่อนจะเชื่อไลฟ์โค้ช เราต้องใช้วิจารณญาณของตัวเองก่อน มองปัญหาให้เป็นความท้าทาย แต่อย่ามองข้ามปัญหาและความจริง ให้มองโลกในแง่ดีบนพื้นฐานความเป็นจริง” คุณหมอสุทธาย้ำ

2.สร้างความยืดหยุ่น

สิ่งที่ทำให้เรารับมือกับความเศร้าโศกได้ดีที่สุดคือ ‘ความยืดหยุ่น’ สิ่งนี้หมายถึงหลายปัจจัยในชีวิตของคนที่จะทำให้ก้าวข้ามผ่านปัญหาไปได้อย่างราบรื่นและกลับมาสู่สภาวะอารมณ์ปกติได้อย่างรวดเร็ว อาจกล่าวได้ว่า ‘ถ้าล้มก็ไม่ถึงขั้นสาหัส’

เมื่อเจอสิ่งผิดปกติในชีวิตต้องมีบางสิ่งที่คอยยึดเหนี่ยวให้เรารู้สึกยืดหยุ่นและสบายใจ อาจเป็นครอบครัว คนรัก เพื่อนที่ดี หรือแม้แต่ใครสักคนที่พร้อมจะรับฟัง  

สิ่งที่ทำให้คนเรายืดหยุ่นเมื่อเจอปัญหายังรวมถึงการศึกษาที่ดี ที่ทำงานที่ดี หรือมีที่ดีๆ ที่พร้อมจะให้เรากลับไปเสมอเมื่อมีเรื่องทุกข์ใจ นอกจากนี้ คนเราควรมีความสุขได้กับหลายๆ สิ่งรอบตัว เผื่อว่าวันหนึ่งไม่มีสิ่งนั้นอยู่กับเราแล้วเราจะได้ไม่เสียใจมากนัก

การทำงานก็เช่นกัน เพื่อลดความคาดหวังที่เกิดจากการทำงาน เราจึงไม่ควรเอางานมาเป็นศูนย์กลางของชีวิต แน่นอนว่าการทำงานให้มีคุณภาพเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องหาจุดที่สมดุลระหว่างงานกับชีวิต เช่น อาจหางานอดิเรกหรือความสนใจที่นอกเหนือจากงานของเรา เพื่อให้เรารับกับความเปลี่ยนแปลงได้ในวันที่อาจไม่มีงานที่เราเคยทำให้ทำอีกแล้ว

3.สร้างสมดุลให้ชีวิต

แบ่งเวลางานกับเวลาชีวิตให้สมดุล และต้องไม่ลืมดูแลสุขภาพของตัวเอง 

จิตใจกับร่างกายเป็นเรื่องเดียวกัน อะไรที่มากระทบกายก็มีผลกับใจ อะไรที่มากระทบใจก็มีผลกับร่างกาย เวลาเกิดความเครียดอาจทำให้เกิดหลายอาการ เช่น นอนไม่หลับ กินไม่ได้หรือกินมากเกินไป ป่วยง่าย เป็นต้น 

เพราะมนุษย์ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้นั่งเฉยๆ การออกกำลังกายเป็นประจำ นอกจากช่วยให้ร่างกายแข็งแรงแล้วยังช่วยเรื่องสุขภาพจิตอีกด้วย 

ออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ เช่น วิ่ง เต้นแอโรบิก หรือเดินเร็ว วันละนิดหน่อยพอให้เหงื่อออกจะทำให้ร่างกายหลั่งสารเอนโดรฟินออกมา ช่วยบรรเทาความเครียด ทั้งนี้การออกกำลังกายยังช่วยให้ผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าระยะแรกๆ รู้สึกดีขึ้น

กินอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะ ปลา ไม่ว่าจะเป็นแซลมอน ทูน่า ปลาทู ที่อุดมไปด้วยโอเมก้า 3 สารอาหารชนิดนี้จะช่วยให้สมองหลั่งสารเซโรโทนินที่ทำให้นอนหลับสบายและอารมณ์ดี ทานถั่วหลากหลายชนิด ทานเนื้อไก่ที่ให้โปรตีนสูงช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือด และอย่ลืมทานผักและโพรไบโอติกส์ ช่วยในการขับถ่ายที่มีคุณภาพ 

ส่วนสุดท้าย ซึ่งสำคัญกับการรักษาโรคซึมเศร้า คือ การนอน นอกจากนอนให้เพียงพอประมาณ 7-8 ชั่วโมงต่อวันแล้ว ยังต้องนอนในห้องที่มืดสนิทเพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อนอย่างเต็มอิ่ม และที่สำคัญ อย่าเอางานมาทำในห้อง เล่นมือถือ หรือคิดวนเวียนกับเรื่องงานที่ยังมาไม่ถึง

ถ้าคิดไม่ตกว่าจะทำอย่างไร ให้นึกถึงประโยคเด็ดในมังงะเรื่อง One Punch Man ที่ว่า

“เรื่องของวันพรุ่งนี้ ให้ตัวฉันในวันพรุ่งนี้จัดการก็แล้วกัน”

 

หมายเหตุ : เรียบเรียงจากการฟังบรรยายเรื่อง ‘ภาวะซึมเศร้าในคนทำงาน’ โดย นพ.สุทธา สุปัญญา นายแพทย์ชำนาญการ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา 21 พฤศจิกายน 2562

อ้างอิง