life

The Writer’s Room
No.01

ห้องทำงานในสวนหลังบ้านของยานน์ มาร์เทล (Yann Martel)
ผู้ใช้เรื่องแต่งเป็นพลังขับเคลื่อนให้ทุกคนค้นหาความจริงอันยิ่งใหญ่ในจักรวาล

Photo: Emily Donaldson (2016). Yann Martel, animals, and the High Mountains of Portugal. the Star.

ยานน์ มาร์เทล คือนักเขียนชาวสเปน-แคนาดา เขาเริ่มจริงจังกับงานเขียนตอนอายุ 27 ปี โดยอาศัยมุมมองและประสบการณ์ชีวิตจากการย้ายถิ่นฐานไปยังประเทศต่างๆ ตั้งแต่เขาจำความได้ ทั้งสเปน คอสตาริก้า ฝรั่งเศส และเม็กซิโก

การมีชีวิตที่ไม่เคยหยุดนิ่ง ทำให้เขาเติบโตขึ้นมาท่ามกลางสภาพแวดล้อมแปลกใหม่ที่ต้องเรียนรู้เพื่อปรับตัวอยู่ตลอดเวลา นี่อาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เขาชื่นชอบการเดินทางมากเป็นพิเศษ หลังจากจบการศึกษาด้านปรัญชาได้ไม่นาน เขาจึงออกเดินทางไปยังอิหร่าน ตุรกี และอินเดีย

ในทุกประเทศที่เขาได้ใช้ชีวิตหรือเดินทางไปเยื่อน แม้เป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่นั่นก็มากเพียงพอสำหรับให้เขาได้ซึบซับความรู้สึก และตกผลึกทางความคิด สั่งสมมาเรื่อยๆ จนกลายเป็นคลังข้อมูลส่วนตัวสำหรับงานเขียน

Photo: Matt Smith (2016). Yann Martel’s The High Mountains of Portugal is gleefully bizarre and genuinely thrilling. The Globe and Mail.

เขาตัดสินใจลงหลักปักฐานที่เมืองซาซคาทูน (Saskatoon) รัฐซัสแคตเชวัน (Saskatchewan) ประเทศแคนาดา เพื่อใช้ชีวิตกับภรรยาและเป็นพ่อของลูกๆ ทั้ง 4 คน

ระหว่างวัน ยานน์ มาร์เทลตั้งใจทุ่มเทเวลาให้งานเขียน โดยปลีกตัวออกมาอยู่เงียบๆ คนเดียวในห้องขนาดกะทัดรัดบริเวณหลังบ้าน ซึ่งเขาตั้งใจปลูกแยกจากตัวบ้านพักอย่างชัดเจน ที่นี่คือ Writing Studio หรือพื้นที่สำหรับเขียนงานของเขา

Photo: Rich Gilligan (2016). Inside Yann Martel’s backyard writing studio. The New York Times Style Magazine.

เมื่อเข้ามาภายในห้อง หากกวาดตาดูอย่างผิวเผินอาจไม่มีอะไรน่าสนใจเป็นพิเศษ 

Photo: Jenna Mann (2012). Yann Martel talks adapting literature for the big screen. The Sheaf.

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ของแต่ละชิ้นที่เขานำมาไว้ในห้องนี้ คือสิ่งแทนความรู้สึกระหว่างเขากับคนรอบตัว ทั้งหมดนี้คือวัตถุที่มีคุณค่าทางใจ ซึ่งชวนให้รำลึกถึงความทรงจำในวันวาน และเป็นกำลังสำคัญที่ทำให้เขาสร้างสรรค์งานเขียนต่อไป

ของชิ้นแรกที่ตั้งอยู่บนโต๊ะในระยะที่มือของเขาเอื้อมถึง คือ แก้วกระเบื้องใบเก่า ภายในใส่น้ำชาสมุนไพรไว้

Photo: Rich Gilligan (2016). Inside Yann Martel’s backyard writing studio. The New York Times Style Magazine.

เขาบอกว่าการดื่มชาอุ่นๆ ช่วยให้เขียนงานได้อย่างลื่นไหล ส่วนตัวแก้วพิมพ์ลายเหมือนตัวอักษรในเกม Scrabble เพราะเป็นเกมที่เขาชอบเล่นกับคุณย่า เหตุผลที่เลือกตัวอักษรโอ ก็เพราะต้องการสื่อถึงคำว่า Oma ในภาษาดัตช์ ซึ่งแปลว่า ย่า

เป็นที่รู้กันระหว่างเขากับคุณย่าว่า ทุกครั้งที่คุณย่าเดินทางมาเยี่ยมบ้าน เขาจะใช้แก้วใบนี้ใส่เครื่องดื่มอุ่นๆ ต้อนรับคุณย่าเสมอ 

อีกมุมหนึ่งของโต๊ะมักจะเต็มไปด้วยผลงานศิลปะของศิลปินตัวน้อย เขายอมรับว่าบ่อยครั้งที่ต้องจำใจเปลี่ยนห้องนี้เป็นพิพิธภัณฑ์เฉพาะกิจให้ลูกๆ จัดแสดงผลงาน 

Photo: Rich Gilligan (2016). Inside Yann Martel’s backyard writing studio. The New York Times Style Magazine.

แม้ว่าเขาจะพยายามห้ามปรามหรือเข้มงวดกับเด็กทุกคนว่าไม่ให้เข้ามารบกวนขณะเขียนงาน แต่สุดท้ายเขาก็ต้องพ่ายแพ้ให้กับลูกๆ เพราะพวกเขาจะเคาะประตูและส่งเสียงเรียกจนกว่าจะได้เข้ามาในห้อง เพื่อวาดรูปเล่นหรือสร้างงานศิลปะตามจินตนาการของพวกเขา

ส่วนบนผนังเหนือโต๊ะทำงานมีภาพเขียนสีที่เข้าตั้งใจนำมาแขวนไว้

Photo: Rich Gilligan (2016). Inside Yann Martel’s backyard writing studio. The New York Times Style Magazine.

เขาเห็นภาพนี้มาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก เพราะจิตรกรผู้วาดคือเพื่อนชาวฝรั่งเศสที่พ่อแม่ของเขารู้จักและสนิทสนมกันมานาน ทุกครั้งที่มองไปยังภาพวาด เขาสัมผัสได้ถึงสุนทรียภาพทางศิลปะ พร้อมกับความรู้สึกสงบภายในใจ สร้างสมาธิให้เขานั่งเขียนงานได้ตลอดวัน

ใกล้ๆ กับโต๊ะทำงานอีกด้านหนึ่ง มีกองหนังสือเก่าวางอยู่ ถึงแม้หน้าปกจะฉีกขาดจนแทบไม่เหลือเค้าเดิม แต่ก็ยังพอช่วยให้อ่านชื่อหนังสือออกได้ว่า Roget’s Thesaurus

Photo: Rich Gilligan (2016). Inside Yann Martel’s backyard writing studio. The New York Times Style Magazine.

เขาจำได้แม่นว่าเริ่มใช้หนังสืออรรถาภิธานเล่มนี้ตั้งแต่เข้าเรียนมหาวิทยาลัย เขารักมันมาก ถึงขนาดไม่ยอมทิ้ง แม้ว่าผ่านการใช้งานมาอย่างโชกโชน จนสันหนังสือชำรุดและหลุดออกจากกัน 

เพราะสำหรับเขาในฐานะนักเขียน เมื่อมีคำถามหรือข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้คำ เขาสามารถเปิดหนังสือเล่มนี้หาคำอธิบายได้ทันที อรรถาภิธานจึงเป็นทั้งผู้ช่วยและที่ปรึกษาคนสำคัญ เบื้องหลังงานเขียนทุกเล่มของเขา

นวนิยายของเขาใช้วิธีการดำเนินเรื่องชวนให้ตื่นเต้นและคิดตาม เขามักจะเลือกใช้สัญลักษณ์แทนความหมายบางอย่าง เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้อ่านตีความ หรือนำไปสู่การค้นหาข้อเท็จจริงที่ซุกซ่อนอยู่ที่ไหนสักแห่งในห้วงของจักรวาล ซึ่งเป็นแง่มุมที่หลายๆ คนอาจคิดไม่ถึงหรือมองข้ามไป

Photo: Matt Smith (2016). Can Yann Martel emerge from the shadow of Life of Pi?. The Globe and Mail.

สุดท้ายแล้ว เหตุผลสำคัญที่ทำให้เขาเขียนงาน ก็คือความต้องการเข้าใจอะไรเรื่องต่างๆ ที่แวดล้อมอยู่รอบตัว และการเขียนก็เป็นวิธีแสดงออกถึงพลังของความคิดที่เขาเชื่อว่า สามารถนำไปสู่หนทางใหม่ในอนาคต ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะสร้างประสบการณ์ใหม่ให้ทุกๆ คน สำหรับใช้ชีวิตต่อไปอย่างตรงความหมายที่ตัวเองเป็นคนนิยาม

ผลงานเขียนเล่มสำคัญของยานน์ มาร์เทล

Life of Pi (2001)
นวนิยายแนวผจญภัยแฟนตาซี เขาได้รับแรงบันดาลใจจากเพื่อนที่เคยเดินทางผจญภัยในอินเดียด้วยกัน ว่าด้วยเรื่องราวของ พาย พาเทล เด็กชายชาวอินเดียที่รอดชีวิตจากเรือขนส่งสินค้าอับปาง แต่เขาจะเอาตัวรอดอย่างไร เพราะต้องอยู่บนเรือชูชีพกับเสือโคร่งเบงกอลท่ามกลางมหาสมุทรแปซิฟิก

Beatrice and Virgil (2010) / ลาเลือนลิงลวง (ฉบับภาษาไทย โดยสำนักพิมพ์แซลมอน)
นวนิยายท้าประวัติศาสตร์ ว่าด้วยเรื่องราวของ ‘เฮนรี’ นักเขียนหนุ่มที่พยายามนำเสนอเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว แต่ถูกสำนักพิมพ์ปฏิเสธ ระหว่างที่รู้สึกเคว้งคว้าง เขากลับได้รับจดหมายจากนักสตัฟฟ์สัตว์ที่สังคมมองเมิน ‘ลา’ กับ ‘ลิง’ ในจดหมายนั้น กำลังจะนำพาเขาดำดิ่งไปสู่ห้วงแห่งความลับ

The High Mountains of Portugal (2016)
นวนิยายแนวสัจนิยมมหัศจรรย์ (Magical Realism) ว่าด้วยเรื่องราวสามยุคสมัยที่มีฉากหลังเป็นภูเขาสูงแห่งโปรตุเกส เริ่มต้นด้วยการตายของสมาชิกทุกคนในครอบครัวของ ‘โทมัส โลโบ’ ในปี 1940 ซึ่งทำให้เขาพบบันทึกเก่าแก่ที่จะนำพาไปสู่การค้นหาโบราณวัตถุ เรื่องต่อมาห่างกัน 30 ปี จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อหมอชันสูตรศพถูกวิญญาณภรรยาที่พูดไม่หยุดคุกคาม และเรื่องสุดท้ายเกิดขึ้นในยุค 80s เป็นเรื่องราวของนักการเมืองชาวแคนาดาที่เดินทางไปยังภูเขาพร้อมกับลิงชิมแปนซี

อ้างอิง