life

เพลงนั้นขึ้นต้นว่า “There comes a time — มันถึงเวลาแล้ว / When we heed a certain call — ที่เราควรใส่ใจต่อเสียงเรียกร้อง / When the world must come together as one — เวลาที่โลกจำต้องรวมเป็นหนึ่ง / There are people dying — ผู้คนกำลังล้มตาย / And it’s time to lend a hand to life — และนี่คือช่วงเวลาที่เราต้องส่งมือให้กันและกัน“

ผมเพิ่งกลับไปฟังเพลง We Are the World ของราชาเพลงป็อบผู้ลาลับ ไมเคิล แจ็กสัน (Michael Jackson) อีกครั้ง หลังจากสำนักพิมพ์ผู้จัดพิมพ์นิยายเล่มล่าสุดของผมสอบถามถึงเพลงต่างๆ ที่กระจัดกระจายอยู่ในหนังสือเพื่อนำข้อมูลไปทำคอนเทนต์ประชาสัมพันธ์

ผมผ่านหูเพลงที่ถูกแต่งขึ้นในปี 1985 นี้หลายครั้งหลายหน จดจำมันในฐานะบทเพลงหนึ่งของไมเคิล แจ็กสัน อาจเพราะผมไม่เชี่ยวชาญในการจดจำชื่อของนักร้องมากนัก และไมเคิล แจ็กสันก็โด่งดังสุดขีดในยุคสมัยที่ผมเติบโตมา ทั้งที่จริงๆ แล้ว นอกจาก We Are the World จะถูกแต่งและร้องโดยไมเคิล แจ็กสัน (ร่วมกับ ไลโอเนล ริชชี [Lionel Richie]) แล้ว มันยังถูกขับขานโดยนักร้องมากถึง 21 คน มีนักร้องคอรัสในไลน์ประสานอีก 23 ชีวิต และประกอบสร้างท่วงทำนองอันงดงามจากนักดนตรีมากหน้าหลายตา

ดาร์จีลิง ประเทศอินเดีย 2017

มันเป็นเพลงเพื่อการกุศลในการหาทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งและอดอยากในทวีปแอฟริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศเอธิโอเปียที่มีผู้คนล้มตายมากกว่า 1 ล้านคนจากเหตุผลดังกล่าวระหว่างปี 1984-1985 โดยรวมเอาศิลปินชื่อดังชาวอเมริกัน ณ ขณะนั้นมาร่วมสร้างสรรค์ในชื่อ ‘USA for Africa’

ผมนำเพลงนี้มาเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องเล่าในนิยายเล่มล่าสุด เพราะมันมีความสำคัญกับเรื่องราวที่ผมเคยเผชิญในชีวิตจริง

กลางปี 2017 ผมโยกย้ายตัวเองไปปักหลักอยู่ในเมืองกลางหุบเขาของประเทศอินเดียนาม ดาร์จีลิง—เมืองเล็กๆ ตั้งอยู่แนบชิดติดเทือกเขาหิมาลัย โดยไม่คาดคิดว่าจะต้องเจอกับสถานการณ์ทางการเมืองอันซับซ้อนที่ทำให้ชีวิตดำเนินไปอย่างยากลำบากและอึดอัด ท่ามกลางฤดูมรสุมอันหนาวเหน็บและการสไตรก์ปิดเมืองอย่างยาวนาน

นิยายเรื่องล่าสุดของผมบางส่วนเริ่มต้นจากเศษบิ่นแตกของเรื่องราวของชีวิตในช่วงเวลานั้น เรื่องเล่าของผู้คนที่ปิดเมืองเพื่อเรียกร้องชีวิตและดินแดนที่ดีกว่า ก่อตัวขึ้นมาจากแก๊สน้ำตาและกระบองของผู้มีอำนาจ จากการต่อสู้กับความอยุติธรรมอันฉ้อฉลโดยประชาชนตัวเล็กตัวน้อย 

การปิดเมืองแลกมาด้วยรายได้ที่หดหายเมื่อทุกอย่างหยุดชะงัก ผู้คนอดอยาก และบางครั้งมันก็หมายถึงการสังเวยชีวิตด้วยเช่นกัน

ผมอยู่ในเมืองปิดตายแห่งนั้นตั้งแต่การปิดเมืองเพิ่งเริ่มต้น กระทั่งวันที่ 15 สิงหาคม 2017 ซึ่งเป็นวันครบรอบประกาศเอกราชของประเทศอินเดีย ที่ในทุกปีจะมีการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ แต่ในปี 2017 นั้นแตกต่างออกไป ทุกอย่างในเมืองบนหุบเขาดำเนินไปอย่างซึมเซา ผู้คนสไตรก์เข้าเดือนที่สองแล้ว ร้านอาหาร ร้านค้า ตลาด สถานที่ราชการยังคงปิด กิจกรรมเฉลิมฉลองวันประกาศเอกราชถูกจัดขึ้น ณ ลานกิจกรรมของเมืองอย่างแกนๆ

ผมพาตัวเองไปร่วมสังเกตการณ์ มองเห็นความอิดโรยบนใบหน้าของชาวเมือง ลอบมองปีกล่องหนแห่งความฝันที่ถูกทำให้ฝ่อฟีบบนแผ่นหลังของมิตรสหาย เพราะเวลาและโอกาสในชีวิตของพวกเขาถูกริบเอาไป ขณะพยายามปลุกปลอบหัวใจเฉาๆ ของตัวเองไปด้วยเช่นกัน แล้วผมก็ได้ยินเพลง We Are the World มาจากเวทีกิจกรรม กลุ่มเด็กๆ นักร้องประสานเสียงจากโบสถ์คาธอลิกประจำเมืองกำลังตั้งใจร้องมันอย่างสุดความสามารถ

“We can’t go on pretending day by day — เราไม่สามารถเดินหน้าได้ด้วยการเสแสร้งแกล้งทำไปวันต่อวัน / That someone somewhere will soon make a change — ว่าจะมีใครสักคนจากที่ไหนสักแห่งนำความเปลี่ยนแปลงมาให้ / We’re all a part of God’s great big family — เมื่อเราทุกคนต่างเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวอันยิ่งใหญ่ของพระผู้เป็นเจ้า”

ฟังถึงท่อนนี้ผมรู้สึกสะท้อนใจทุกครั้ง โดยเฉพาะครั้งนี้ เมื่อมันถูกขับขานด้วยเหล่าเด็กๆ แห่งเมืองบนหุบเขา สั่นสะเทือนและสะทกสะท้าน เมื่อตระหนักได้ว่า บางครั้งเราก็ต่างใช้ชีวิตกันเช่นนี้ …ปลอบประโลมตัวเองว่าจะมีใครสักคนนำความเปลี่ยนแปลงมาให้ เสแสร้งและแสดง ขณะบางคนซื้อเพียง ‘หุ้นลม’ โดยไม่ลงแรงใดๆ และหลายครั้งที่เราหลงลืมไปว่าเราต่างเป็นส่วนหนึ่งของโลกทั้งใบพอๆ กัน 

ไมเคิล แจ็กสันแต่งเนื้อร้องในท่อนฮุกที่ว่า “We are the world — พวกเราคือโลก / We are the children — พวกเราคือเด็กน้อย / We are the ones who make a brighter day — พวกเราคือคนที่จะสร้างโลกที่สดใสยิ่งกว่า / So let’s start giving — ดังนั้นจงเริ่มลงมือทำกันเถอะนะ” ได้อย่างจับใจ

ใครบางคนเคยบอกว่า ถ้าไม่มีความหวัง ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องมีชีวิต และในช่วงที่เมืองแห่งนั้นกำลังขาดไร้ความหวังอย่างถึงที่สุด เพลงนี้ก็มาได้ถูกที่ถูกเวลาเหลือเกิน มันทั้งเต็มเปี่ยมไปด้วยแรงบันดาลใจและทรงพลัง เมื่อได้รับการขับขานโดยนักร้องประสานเสียงที่ยังเป็นเยาวชน เด็กน้อยผู้กำลังจะเติบโตขึ้นมาเป็นอนาคตของโลก แต่กลับต้องมีชีวิตอยู่ในดินแดนต้องสาปที่ไม่มีแม้แต่พื้นที่ให้กล้าฝัน

ผมบันทึกความรู้สึกในช่วงเวลานั้นลงในความทรงจำ ก่อนเลือกบางห้วงบางตอนในชีวิตเกี่ยวกับเพลง We Are the World มาปรับเปลี่ยนเป็นบางฉากในนิยาย และเพิ่งกลับไปฟังเพลงนี้อีกครั้งเมื่อไม่นานมานี้ ฟังมันขณะที่โลกภายนอก ณ ปัจจุบันคล้ายกำลังล่มสลาย และโลกภายในของตัวเองกำลังถูกทุบทำลาย ความสิ้นหวังก่อตัวเป็นหมอกหนาหม่นมัวจนมองอนาคตข้างหน้าไม่ชัด

ผมฟังมันขณะที่ผู้คนกำลังล้มตายด้วยโรคระบาด บนท้องถนนประชาชนกำลังถูกฉีดแก๊สน้ำตา กระบองถูกฟาดใส่คนตัวเล็กตัวน้อย เด็กซึ่งควรเป็นอนาคตของโลก กลับถูกตีตราให้กลายเป็นภัยความมั่นคงของชาติ

ดาร์จีลิง ประเทศอินเดีย 2017

ภาพหลายภาพของปี 2017 บนเมืองบนหุบเขากำลังซ้อนทับกับปัจจุบัน แน่นอนผมอยากบอกตัวเองว่าเราควรมีความหวัง แต่เมื่อฟัง We Are the World ฉบับดั้งเดิมมาถึงท่อนฮุกรอบที่สอง ซึ่งถูกขับร้องด้วยเสียงแตกๆ ของ บรูซ สปริงส์ทีน (Bruce Springsteen) ผมก็พลันร้องไห้ ร้องไห้โดยไม่ต้องได้รับการประทานแก๊สน้ำตาจากใคร  

We are the world / We are the children” พวกเราคือโลก พวกเราคือเด็กน้อย แต่โลกกำลังถูกคนไม่กี่คนฉกฉวยเอาไป พวกเขาสวาปามความฝันและความหวังอย่างมูมมาม ก่อนคายซากพังๆ ให้เราแย่งชิงกันเหมือนหมูเหมือนหมา เด็กของโลกถูกทำให้สูญสิ้นอิสรภาพครั้งแล้วครั้งเล่า และเราบางคนก็ถูกทำให้รู้สึกราวกับว่าตัวเองไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโลกเสียด้วยซ้ำ

We are the world / We are the children”

เราควรมีความหวัง

แต่ผมกำลังร้องไห้

ร้องเพราะตระหนักได้ว่าเราทุกคนคือโลกใบนี้ ร้องเพราะไม่ว่าใครก็ตามควรมีสิทธิได้เป็นเด็กผู้เป็นความหวังและความฝันของโลกเหมือนๆ กัน

ร้องเพราะใครหลายคนกำลังถูกพรากโลกทั้งใบของตัวเองไป

ซึ่งถ้าใครมาถาม ว่าเหตุใดผมถึงต้องหลั่งน้ำตา

ผมคงตอบกลับไปได้แค่ว่า นั่นก็เพราะคุณไม่ร้อง…