life

“สิ่งที่เรากำลังทำคือการวางเซลล์ประสาทและเชื่อมต่อเพื่อดูปฏิกิริยาของสมองที่เกิดจากยา”

ลอเรนท์ ไซมอน เด็กชายวัย 9 ขวบ กล่าวถึงงานวิจัยของเขา

ลอเรนท์กำลังจะเรียนจบจากสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัย Eindhoven University of Technology และวางแผนจะเรียนต่อปริญญาเอกด้านการแพทย์

ก่อนหน้านี้ ตอนอายุย่างเข้า 8 ขวบ ลอเรนท์เรียนจบชั้นมัธยมภายในปีเดียว จากนั้นก็เรียนต่อระดับปริญญาตรีโดยใช้เวลาเพียง 9 เดือนก็จะจบการศึกษา

เขากำลังจะทำลายสถิติโลก โดยการเป็นบัณฑิตที่อายุน้อยที่สุดคนใหม่ที่ถูกบันทึกโดย Guinness World Records หลังจากไมเคิล เคียร์นีย์ เคยทำไว้เมื่อปี 1994 คือเรียนจบตอนอายุ 10 ขวบ

(Photo by Kenzo TRIBOUILLARD / AFP)

หลังจากลาพักร้อน ลอเรนท์ตั้งใจจะทำโครงการวิจัยอวัยวะเทียมและพัฒนาร่างกายเทียมในห้องปฏิบัติการของเขาเอง โดยมีคุนปู่คุณย่าที่ป่วยเป็นโรคหัวใจ และนิโคลา เทสลา นักประดิษฐ์ชาวเซอร์เบีย-อเมริกันเป็นแรงบันดาลใจ

พ่อของเขาเล่าว่า ในตอนนี้ยังไม่กล้าคาดเดาว่าอนาคตของลูกชายจะเดินไปในทางไหน เพราะตอนนี้เขาก็ทำให้คนครอบครัวตะลึงเกินที่คาดไว้แล้ว

คำถามคือ อะไรทำให้ลอเรนท์อัจฉริยะต่างจากเด็กทั่วไป?

(Photo by Kenzo TRIBOUILLARD / AFP)

เก่งแค่ไหนถึงเรียกว่า ‘อัจฉริยะ’

นักปรัชญาพยายามค้นหาปัจจัยของความอัจฉริยะมานานหลายศตวรรษ บ้างเชื่อว่าเกี่ยวกับปริมาณน้ำดีในกระเพาะ บ้างเชื่อว่าเป็นเรื่องอารมณ์ขัน

นอกจากนี้ยังมีการวิจัยเกี่ยวกับกะโหลกและสมองเพื่อหาความแตกต่างของคนที่เป็นอัจฉริยะและคนทั่วไป

ลูวิส เทอร์แมน นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดผู้บุกเบิกการทดสอบไอคิว เชื่อว่าการทดสอบเชาวน์ปัญญานั้นเป็นอีกวิธีที่สามารถบ่งบอกความฉลาดได้

ปี ค.ศ.1920 เขาทำการศึกษานักเรียนในรัฐแคลิฟอร์เนียกว่า 1,500 คนที่มีไอคิวสูงกว่า 140 หรือเรียกได้ว่าเป็น ‘อัจฉริยะ’ เพื่อดูว่าพวกเขามีวิถีชีวิตแตกต่างกับเด็กคนอื่นๆ อย่างไร

(Photo : www.nature.com)

ผลปรากฏว่า แม้จะมีไอคิวที่สูงแต่บางคนก็เรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยไม่ไหว อาจกล่าวได้ว่าความอัจฉริยะมีรายละเอียดที่ซับซ้อนมากกว่านั้น

ชาร์ลส์ ดาร์วิน เป็นอัจฉริยะอีกหนึ่งคนที่ไม่ได้มีไอคิวโดดเด่น แถมในวัยเยาว์ยังถูกจัดว่าเป็นเด็กไม่เก่งแต่เขากลับเป็นคนที่สามารถคิดไขความลึกลับของความหลากหลายในสิ่งมีชีวิตได้อย่างน่าอัศจรรย์

ชาร์ลส์ ดาร์วิน (Photo : www.nationalarchives.gov.uk)

หรือว่า…ความอัจฉริยะอาจเป็นสิ่งที่ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยการวัดเป็นคะแนน แต่เป็นสิ่งเฉพาะที่เกิดขึ้นในแต่ละบุคคล 

 

‘อัจฉริยะ’ เกิดขึ้นเองจริงหรือ? 

มีการพูดคุยกับบุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘อัจฉริยะ’ ไม่ว่าจะเป็นนักจิตวิทยาหรือนักแสดงตลกชื่อดัง ทำให้เห็นว่าแท้จริงแล้ว สติปัญญาของมนุษย์เรานั้นจะถูกประมวลผลโดยไม่รู้ตัว และวิธีแก้ปัญหาเจ๋งๆ มักจะเกิดขึ้นอย่างฉับพลันในตอนที่เราเลิกสนใจไปแล้ว

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ คีธ จาร์เรทท์ นักเปียโนแจ๊สที่ทำการแสดงได้อย่างยอดเยี่ยมแต่มักจะบรรเลงโดยปราศจากโน้ตที่เตรียมมา 

“ฉันข้ามการใช้สมองไปเลย และถูกควบคุมโดยพลังที่ไม่รู้จัก แต่ก็รู้สึกขอบคุณเหลือเกิน” เขากล่าว

คีธ จาร์เรทท์ นักเปียโนแจ๊ส (Photo by ERIC CABANIS / AFP)

เมื่อพิจารณาระดับเซลส์สมองจะเห็นได้ว่าคนที่มีความคิดสร้างสรรค์อันน่าทึ่งจะมีสมองที่แตกต่างจากคนทั่วไป

แอนดรูว์ นิวเบิร์ก ผู้อำนวยการวิจัยที่ Marcus Institute of Integrative Health at Thomas Jefferson University Hospitals ได้สำรวจการเชื่อมต่อในสมองของกลุ่มคนที่มีความคิดสร้างสรรค์สูงและกลุ่มคนธรรมดา เพื่อหาความแตกต่าง ผลปรากฏว่าสมองของเหล่าอัจฉริยะจะมีเส้นใยประสาทที่มีความกว้างกว่าคนทั่วไปประมาณสองเท่า

จากผลวิจัยข้างต้นทำให้มีการตั้งข้อสงสัยเพิ่มเติม คือ เส้นใยสมองที่ไม่เหมือนคนอื่นนั้นเกิดจากอะไร นำไปสู่คำถามที่ว่า ‘คนเราสร้างความอัจฉริยะขึ้นมาได้หรือไม่?’ 

จึงมีการสำรวจหลายปัจจัยที่คาดว่าจะมีส่วนสร้าง ‘ความอัจฉริยะ’

1.พรสวรรค์ที่ธรรมชาติมอบให้

คนที่เป็นอัจฉริยะนั้นสามารถพบได้ในอัตราส่วน 1 ในล้าน 

เมื่อเทคโนโลยีทำให้เราสำรวจลักษณะของมนุษย์ในระดับโมเลกุลได้จึงมีการค้นหายีนที่ทำให้เกิดความฉลาด พฤติกรรม รวมถึงพรสวรรค์ที่กล่าวได้ว่าเป็นคุณสมบัติที่เอื้อต่อการเป็นอัจฉริยะ

ในด้านของสติปัญญา ระบุว่าการวิจัยเพื่อหายีนฉลาดนั้นซับซ้อนมาก เพราะมียีนที่เกี่ยวข้องกว่าพันแบบและมีผลกับความฉลาดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น 

ส่วน ‘พรสวรรค์’ นั้นเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนสามารถเป็นอัจฉริยะในด้านนั้นๆ ได้ เช่น โมสาร์ทที่มีความสามารถในการได้ยินที่เป็นเลิศ แต่กระนั้นก็ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะยังมีบุคคลที่ไร้ซึ่งพรสวรรค์แต่กลับเป็นอัจฉริยะด้านดนตรีระดับโลกได้เหมือนกัน คือ บีโธเฟ่น นักประพันธ์ที่บกพร่องทางการได้ยิน

แม้ว่าสวรรค์จะไม่ได้มอบการได้ยินอันสมบูรณ์แบบให้กับเขา แต่บีโธเฟ่นก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเขาสามารถประพันธ์เพลงได้อย่างน่าทึ่งและทำให้โลกต้องจดจำไปตลอดกาล

เห็นได้ว่าศักยภาพทางพันธุกรรมนั้นทำนายเรื่องความสำเร็จไม่ได้ ต้องอาศัย ‘การฝึกฝน’ ควบคู่ไปด้วยจึงจะเห็นผล

2.การสนับสนุนที่ดี

การสนับสนุนจากคนรอบข้างหรือใครสักคนจะช่วยให้ความอัจฉริยะที่บ่มเพาะอยู่ในตัวบุคคลเปล่งประกายขึ้นมาได้

ในอดีตการที่ผู้หญิงไม่ได้รับศึกษา อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้น้อยครั้งที่เราจะเห็นผู้หญิงประสบความสำเร็จ เช่น มาเรีย แอนนา น้องสาวของโมสาร์ท ซึ่งเป็นนักบรรเลงฮาร์ปซิคอร์ดมากฝีมือคนหนึ่ง แต่พ่อของเธอกลับกีดกันให้พ้นจากเส้นทางนี้เมื่ออายุครบ 18 ปี

โมสาร์ทและมาเรียนแอนนาผู้เป็นน้องสาว

ในงานวิจัยของเทอร์แมนก็เช่นกัน เด็กผู้หญิงที่มีไอคิวสูงราวๆ ครึ่งหนึ่งลงเอยด้วยการแต่งงาน เป็นแม่บ้านทำความสะอาด คนที่เกิดมาฐานะยากจนหรือโดนกดขี่ จะมองคุณค่าของการทำงานเพื่อดำรงชีวิตประจำวันมากกว่าการสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่เพื่อโลก นั่นไม่ใช่สิ่งไม่ดีและไม่ได้หมายความว่าความฉลาดพวกเขาลดลง เพียงแต่มันจะถูกเก็บซ่อนไว้อย่างน่าเสียดาย 

เมื่ออัจฉริยะสร้างได้ น่าเสียดายที่มีอัจฉริยะหลายพันต้องแห้งเหี่ยวไปเพราะไร้การสนับสนุน

ลอว์เรนท์และครอบครัว (Photo by Kenzo TRIBOUILLARD / AFP)

3.ความคลั่งไคล้และแรงจูงใจส่วนบุคคล

แม้ว่าจะเคี่ยวเข็ญให้ต้องฝึกฝนแค่ไหน หากคนไม่มีแรงจูงใจที่จะทำก็ไม่สามารถเป็นอัจฉริยะได้

คำพูดที่กล่าวว่า ‘กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จเพียงวันเดียว’ เห็นทีจะเป็นจริงมาเสมอ เพราะหากขาดแรงจูงใจและการฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอแล้วนั้น ผลงานอันน่าทึ่งของเหล่าอัจฉริยะอาจไม่เกิดขึ้น (ชาร์ลส์ ดาร์วินใช้เวลาสองทศวรรษในการเขียน Origin of Species)

Origin of Species โดย ชาร์ล ดาวินส์ (Photo : Wikipedia)

ดังนั้น ความสำเร็จของคนอาจไม่เกิดขึ้นในครั้งแรกที่ลงมือทำ แต่เกิดจากความพยายามหลายๆ ครั้ง และผู้คนเหล่านี้มีแรงที่จะทำในสิ่งที่ตัวเองหลงใหลด้วยความเพียร

แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นอัจฉริยะแบบที่หาได้ 1 ในล้านแบบเด็กชายลอเรนท์ แต่การได้ฝึกฝนในสิ่งที่ชอบอยู่บ่อยครั้ง และอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย

อาจทำให้ความสามารถที่ซ่อนอยู่ในตัวเปล่งประกายขึ้นมาได้ 

 

อ้างอิง

Reuters.Meet Laurent Simons: 9-year-old boy on track to become world’s youngest graduate.www.hindustantimes.com/it-s-viral/meet-laurent-simons-9-year-old-boy-on-track-to-become-world-s-youngest-graduate

CLAUDIA KALB.What Makes a Genius?.https://www.nationalgeographic.com/magazine/2017/05/genius-genetics-intelligence-neuroscience-creativity-einstein/