life

‘คารมเป็นต่อ รูปหล่อเป็นรอง’ และ ‘สวยมักนก ตลกมักได้’ ไม่ใช่แค่คำพูดเอาฮา แต่เป็นความจริงที่อธิบายได้ด้วยจิตวิทยา ว่าทำไมอารมณ์ขันถึงมัดใจอีกฝ่ายได้อยู่หมัด

คารมและความตลกในที่นี้ คือ good sense of humor หมายถึง ใครก็ตามที่สามารถรับและส่งต่อความขบขันได้อย่างเป็นธรรมชาติ เพราะโดยเนื้อแท้เป็นคนเฮฮา จึงถ่ายทอดความตลกออกมาได้ไหลลื่นและมีชีวิตชีวา ชวนให้คนรอบข้างอมยิ้มและหัวเราะร่าในเวลาเดียวกัน

ส่วนมุกที่เล่นก็ต้องสร้างสรรค์และมีชั้นเชิง เป็นความสนุกสนานที่ช่วยผ่อนคลายจากความเครียดและความกังวลลงได้ ไม่ใช่มุกตลกสิ้นคิดที่จ้องเอาปมด้อยหรือข้อบกพร่องของคนอื่นมาพูดล้อเลียน เมื่อคนอื่นได้ยินเข้า ความรู้สึกแรกที่เกิดขึ้นทันที คือ ความไม่สบายใจและกระอักกระอ่วนใจจนไม่อยากฟังต่อ กลายเป็นมุกตลกไม่ออกที่ทำบรรยากาศเสียโดยไม่รู้ตัว

ในทางจิตวิทยา ‘ความขำขัน’ หรือ ‘ความตลก’ นับเป็น personality trait หรือลักษณะบุคลิกภาพอย่างหนึ่งที่มาจากนิสัย ซึ่งสั่งสมและพัฒนาเรื่อยมาตั้งแต่ทุกคนยังเป็นเด็ก ถึงอย่างนั้น ก็ใช่ว่าการเป็นคนตลกจะเป็นสิ่งที่ฝึกฝนกันไม่ได้เลย เพียงแต่ว่า ความตลกนับเป็นความสามารถเฉพาะคนที่ไม่อาจเลียนแบบกันได้ในทันที หากพยายามทำตัวเองให้ดูเป็นคนตลกตามคนอื่นมากเท่าไหร่ เท่ากับกำลังสูญเสียความเป็นตัวเองไป แล้วทุกอย่างจะยิ่งกลับกลายเป็นความอึดอัดใจ เมื่ออีกฝ่ายรู้สึกได้ถึงความไม่เป็นธรรมชาติ เพราะมัวแต่ฝืนแสดงหรือเสแสร้งแกล้งทำท่าทีขำขัน ซึ่งขัดกับบุคลิกที่ไม่ใช่ทั้งคนมีคารมและตลกโปกฮา

ตรงกันข้ามกับคนอารมณ์ขันและคารมดีเป็นทุนเดิม เพราะนอกจากความตลกที่มีอยู่ในตัวเต็มเปี่ยมแล้ว ด้วยท่าทีเปิดรับ เข้าถึงง่าย ไม่วางมาด ยิ้มแย้มแจ่มใสเสมอ พร้อมเป็นมิตรกับทุกคน จึงดูเป็นคนมีมนุษยสัมพันธ์ดีในสายตาของคนอื่นๆ ที่มองเข้ามา

คำถามก็คือ แล้วการเป็นคนตลกแบบไหน? ที่นักจิตวิทยาถือว่าดูมีเสน่ห์และน่าดึงดูดใจ เปิดโอกาสให้คนรอบข้างตกอยากทำความรู้จักจนหลุมรักได้ หรือในคนที่มีคู่อยู่แล้ว จะช่วยสร้างความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

ร็อด เอ. มาร์ติน (Rod A. Martin) ศาสตราจารย์กิตติคุณด้านจิตวิทยาคลินิกและจิตพยาธิวิทยา (Psychopathology) ชาวแคนาดา ผู้เชี่ยวชาญและบุกเบิกศึกษาเรื่องอารมณ์ขัน ได้แบ่งลักษณะความตลกขบขันออกเป็น 4 รูปแบบ ซึ่งมีลักษณะเด่นที่แตกต่างกัน ดังนี้

1. อารมณ์ขันแบบเป็นกันเอง (affiliative humor) หากแปลตรงตัว คำว่า affiliative ในทางจิตวิทยา หมายถึง ท่าทีหรือการแสดงออกใดๆ ที่สื่อถึงความต้องการมีปฏิสัมพันธ์ อยากใกล้ชิดสนิทสนมกับคนอื่นๆ เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในหมู่คนรู้จักหรือในกลุ่มสังคม

จุดเด่นของอารมณ์ขันแบบเป็นกันเอง คือ ช่วยกระชับความสัมพันธ์ เพราะเน้นสร้างความสุขและความบันเทิงให้ทั้งคนรอบตัว เป็นความตั้งใจดีที่อยากให้ทุกคนได้สนุกสนาน ขณะเดียวกันก็ช่วยให้รู้สึกสบายใจและผ่อนคลายจากความยุ่งยากที่พบเจอในชีวิตประจำวันก่อนหน้านี้

ลักษณะร่วมของคนมีอารมณ์ขันแบบเป็นกันเองที่สังเกตเห็นได้ชัดเจน คือ ชอบพบปะคน ชอบเข้าสังคม ไม่รู้สึกเคอะเขินเมื่อต้องทำความรู้จักคนใหม่ๆ ดูเป็นคนมีพลัง ที่สำคัญที่สุด ไม่เพียงเห็นคุณค่าในตัวเอง (self-esteem) แต่เห็นคุณค่าในตัวคนทุกคน จึงเล่นมุกตลกโดยไม่คิดทำให้ใครเดือดเนื้อร้อนใจหรือเสียหาย เพราะเคารพและให้เกียรติทุกคนเท่ากัน

2. อารมณ์ขันแบบส่งเสริมตนเอง (self-enhancing humor) เพราะไม่อยากปล่อยให้ตัวเองจมอยู่กับความเคร่งเครียดหรือความรู้สึกใดๆ ที่บั่นทอนใจให้เป็นทุกข์และเป็นกังวล จึงมองมุมกลับและปรับมุมมองต่อปัญหา อุปสรรค ความผิดพลาด และความเฮงซวยในชีวิตประจำวัน ให้กลายเป็นเรื่องน่าขำขันแทนที่จะทำหน้านิ่วคิ้วขมวดใส่

อารมณ์ขันแบบส่งเสริมตนเองถือเป็นวิธีจัดการอารมณ์และความรู้สึกส่วนตัวที่ได้ผล ช่วยส่งเสริมให้มีสุขภาพจิตดี เหมาะสำหรับเอาไว้รับมือสิ่งต่างๆ ที่เข้ามารบกวนใจ เพื่อปลอบประโลมตัวเองไม่ให้รู้สึกแย่นานเกินไป เหมือนกับเวลาผ่านเรื่องหน้าสิ่วหน้าขวานมาได้แล้วมองย้อนกลับไป กลับรู้สึกตลกตัวเองมากกว่าจะโกรธหรือโมโห

ลักษณะของคนที่มีอารมณ์ขันแบบส่งเสริมตนเอง คือ เป็นคนที่ปรับตัวง่ายและยืดหยุ่น ถึงจะมองโลกตามความเป็นจริง แต่ไม่ลืมมองหาด้านดีในทุกสิ่งที่อยู่รอบตัว พร้อมส่งต่อพลังบวกให้กับคนรอบข้าง รู้จักพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส มองความยากลำบากเป็นเรื่องท้าทายมากกว่าภัยคุกคาม

3. อารมณ์ขันแบบก้าวร้าว (aggressive humor) คือ มุกตลกเสียดสีและประชดประชันที่ทำให้คนอื่นรู้สึกไม่ดีและไม่สบายใจทันทีที่ได้ยิน เป็นอารมณ์ขำมุ่งร้ายที่ต้องการโจมตีเป้าหมายแบบเฉพาะเจาะจง อาจเป็นคนคนเดียว หลายคน หรือกลุ่มคน โดยนำจุดด้อยและเรื่องส่วนตัวของเป้าหมายออกมาโพนทะนา หวังให้คนอื่นๆ หัวเราะเยาะเย้ย และเหยียดเป้าหมายร่วมไปกับตน

คนที่มีอารมณ์ขันแบบก้าวร้าวจึงถูกตัดสินว่าเป็นคนไม่มีมารยาทและนิสัยเสีย ถึงกล้าเล่นมุกตลกน่ารังเกียจโดยไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจ ต่อให้มีคนห้ามปรามหรือเตือนด้วยความหวังดี ก็มักแสดงท่าทีแข็งกร้าวไม่รับฟัง เพราะเป็นคนหัวรั้น เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง และไม่เคยนึกถึงใจเขาใจเรา จึงมุ่งร้ายต่อผู้อื่นได้อย่างหน้าตาเฉยและไม่เคยรู้สึกผิด

4. อารมณ์ขันแบบล้อเลียนตัวเอง (self-defeating humor) เข้าทำนองว่า ‘เล่นตัวเองเจ็บน้อยกว่า’ เพราะใช้วิธีพูดสบประมาท ดูถูกดูแคลนตัวเองด้วยความตลกขบขันให้คนอื่นสนุกสนาน ทั้งๆ ที่ตัวเองก็ไม่ได้รู้สึกดีเท่าไหร่ แต่ยอมแลกเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากผู้อื่น ซึ่งเป็นความคิดที่ผิดมหันต์ ในท้ายที่สุด นอกจากจะเป็นการตอกย้ำให้ตัวเองรู้สึกแย่มากไปกว่าเดิมแล้ว ยังทำให้คนอื่นรู้สึกเวทนาและไม่อยากยุ่งเกี่ยว กลายเป็นว่า อารมณ์ขันแบบล้อเลียนตัวเอง กลับมีแต่ผลเสีย ไม่ใช่ผลดีอย่างที่ตนเข้าใจ

ย้อนกลับไปยังคำถามก่อนหน้าที่ว่า ความตลกแบบไหนที่มีเสน่ห์และน่าดึงดูดใจ?

คำตอบ คือ อารมณ์ขันแบบเป็นกันเองและแบบส่งเสริมตนเอง เพราะเป็นลักษณะอารมณ์ขันด้านบวก (adaptive humor style) ที่ทำให้คนอยู่ใกล้ได้รับแต่ความสุขและพลังดีๆ ต่างจากอารมณ์ขันแบบก้าวร้าวและแบบล้อเลียนตัวเองซึ่งเป็นลักษณะอารมณ์ขันด้านลบ (maladaptive humor style) มีแต่จะทำให้ทุกข์ เสียสุขภาพจิต และสั่นคลอนความสัมพันธ์

ปฏิเสธไม่ได้ว่า คนหน้าตาดีย่อมทำให้รู้สึกประทับใจในภาพลักษณ์เมื่อแรกเห็น แต่เมื่อได้พูดคุยกัน หากไม่มีคารมคมคายและอารมณ์ขันช่วยขับเน้นบทสนทนาให้มีสีสัน ทุกอย่างอาจกลายเป็นความจืดชืดน่าเบื่อจนหมดความประทับใจ

ความตลกจึงเป็นแต้มต่อที่มองข้ามไม่ได้ เพราะเป็นการกะเทาะเปลือกให้เห็นตัวตนของคนอารมณ์ขันและคารมดีที่แท้จริงว่าเป็นคนหัวไว มีไหวพริบ รู้จักจังหวะจะโคน ที่สำคัญคือช่างสังเกต ใส่ใจกับรายละเอียด จับอารมณ์และเข้าใจความรู้สึกของอีกฝ่ายได้เก่ง จุดนี้เองที่ช่วยเพิ่มโอกาสทำให้ความสัมพันธ์เติบโตเป็นความรักที่เบ่งบาน

หากยังไม่แน่ใจ ลองคิดดูก็ได้ว่า ชีวิตที่ขาดเสียงหัวเราะและความตลก คงเงียบเหงาและเปลี่ยวดายอย่าบอกใครเลยล่ะ แต่ถ้าจะมีใครสักคนเข้ามาช่วยเติมเต็มส่วนนี้ที่เคยขาดหายไปได้ คงเป็นความรู้สึกที่ดีมากๆ จนเราอยากหัวเราะไปกับมุกตลกของเขาหรือเธอคนนั้นไปตลอดเหมือนกัน

 

อ้างอิง

  • Constantin, Y., Plessen., Fabian, Franken., Christoph, Ster., Rebecca, Rosa, Schmid., Christoph, Wolfmayr., Anna-Maria, Mayer., Marc, Sobisch., Maximilian, Kathofer., Katrin, Rattner., Elona, Kotlyar., Rory, J., Maierwieser., Ulrich, S., Tran. (2020). Humor styles and personality: A systematic review and meta-analysis on the relations between humor styles and the Big Five personality traits. Personality and Individual Differences, 154. https://doi.org/10.1016/j.paid.2019.109676
  • Dozois, D. J. A., Martin, R. A., & Bieling, P. J. (2008). Early Maladaptive Schemas and Adaptive/Maladaptive Styles of Humor. Cognitive Therapy and Research, 33(6), 585. https://doi.org/10.1007/s10608-008-9223-9
  • Kazarian, S. S., & Martin, R. A. (2004). Humour styles, personality, and well‐being among Lebanese university students. European Journal of Personality, 18(3), 209–219. https://doi.org/10.1002/per.505
  • Lefcourt, H. M., & Martin, R. A. (1986). An Overview. In Humor and Life Stress (pp. 123-126): Springer.
  • Martin, R. A. (2007). The psychology of humor: An integrative approach. Elsevier Academic Press.
  • อภิญญา หิรัญญะเวช. (2561). อิทธิพลของอารมณ์ขันทางลบ การละเลยคุณธรรม และการรับรู้ความนิรนาม ต่อพฤติกรรมการข่มเหงรังแกทางเฟซบุ๊ก. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. http://doi.org/10.14457/CU.the.2018.388