หลังจากใช้เวลาหลายปีไปกับการศึกษา ในที่สุดวันนี้ก็เดินทางมาถึง
วันที่ได้สวมชุดครุย ถือใบปริญญา ท่ามกลางความภาคภูมิใจของครอบครัว สิ้นสุดกันทีกับการตื่นไปเรียนแต่เช้า อดหลับอดนอนทำการบ้าน ปั่นวิจัยจนดึกดื่น ทว่ายังชื่นชมกับความสำเร็จทางการศึกษาและใบปริญญาได้ไม่เท่าไหร่ คุณก็เริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า “จะทำอย่างไรดีกับชีวิตต่อจากนี้”
สำหรับบางคนงานในฝันไม่ใช่สิ่งที่จะได้มาง่ายๆ เมื่อต้องยื่นใบสมัครไปนับไม่ถ้วน แต่ทุกเช้ากลับตื่นมาพบเพียงความว่างเปล่าและใบปริญญาก็เริ่มดูไร้ความหมายขึ้นทุกที ความรู้สึกหลากหลายประดังประเดเข้ามาไม่หยุด เศร้า กดดัน วิตกกังวล สับสนเคว้งคว้าง เหมือนคนหลงทางที่ไม่รู้จะเดินต่อไปทางไหนดี
อาการเหล่านี้เรียกว่า Post-Graduation Depression หรือ Post-Graduate Blues
รายงานผลสำรวจจาก City Mental Health Alliance พบมีบัณฑิตจบใหม่กว่า 49 เปอร์เซ็นต์เผชิญกับสภาวะนี้ ขณะที่ ดร.เบอร์นาร์ด ลัสกิน (Bernard Luskin) นักจิตบำบัดชาวอเมริกัน อธิบายว่าอาการซึมเศร้าและวิตกกังวลสามารถเกิดได้ทั้งก่อนและหลังจบการศึกษา โดย Post-Graduate Blues อาจเกิดขึ้นหลังเรียนจบไม่กี่เดือน
เมื่อความรู้สึกภาคภูมิใจและเป็นอิสระจากระบบการศึกษาผ่านพ้นไป กลับต้องประสบความเครียดในการหางานซึ่งเต็มไปด้วยการแข่งขัน ช่วงเวลาเหล่านี้มักเกิดความคาดหวังถึงอนาคต แรงกดดันจากสังคม การนำตัวเองไปเปรียบกับเพื่อนในช่วงวัยเดียวกันที่อาจประสบความสำเร็จมากกว่า หรือรู้สึกหวาดกลัวความเปลี่ยนแปลงเมื่อต้องก้าวเข้าสู่วัยทำงานอย่างเต็มตัว ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลให้เกิด Post-Graduate Blues ได้ทั้งสิ้น
จะรับมือและก้าวผ่านช่วงเวลานี้ไปได้อย่างไร?
หากเผชิญกับกับภาวะซึมเศร้าหลังจบการศึกษา โปรดรู้ไว้ว่า ‘คุณไม่ได้โดดเดี่ยว’ เพราะยังมีบัณฑิตหน้าใหม่อีกหลายคนที่กำลังตกอยู่ในสภาวะเดียวกัน Post-Graduate Blues เป็นเรื่องธรรมดาที่ป้องกันและรับมือได้ ดังนี้
1.ดูแลร่างกายและจิตใจให้แข็งแรง การทุ่มเทเวลาทั้งหมดเพื่อสมัครงานอาจทำให้กดดันและวิตกกังวลจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ ดังนั้นควรดูแลร่างกายและจิตใจอยู่เสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ และไม่ลืมออกกำลังกาย
ดร.ร็อบ โดเบรนสกี้ (Rob Dobrenski) นักจิตวิทยาอธิบายว่า การออกกำลังกายจะช่วยการไหลเวียนเลือดไปยังสมองส่วน Frontal Lobe ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมอารมณ์ ช่วยเพิ่มการหลั่งสารเคมีสำคัญในสมอง โดพามีน (Dopamine) และเซโรโทนิน (Serotonin) ทำให้อารมณ์ดีขึ้นได้
2.หาเพื่อนคุยแลกเปลี่ยนความรู้สึก British Association for Counselling and Psychotherapy แนะนำว่าเมื่อเผชิญภาวะ Post-Graduate Blues อย่าเก็บความรู้สึกเหล่านั้นไว้คนเดียว พยายามพูดคุยกับใครสักคน โดยเฉพาะครอบครัว หรือเพื่อนที่กำลังประสบปัญหาเดียวกัน เมื่อมีคนที่เข้าอกเข้าใจอยู่ข้างๆ จะช่วยให้สามารถเอาชนะความเครียดและความรู้สึกโดดเดี่ยวได้
3.ไม่เอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับใคร เพราะการเปรียบเทียบจะส่งผลต่อความภาคภูมิใจในตัวเอง ทำให้คุณรู้สึกด้อยกว่าหรืออาจคิดว่าตนไม่มีวันประสบความสำเร็จได้เท่าคนอื่น ดร.ซูซาน เบียลี ฮาส (Susan Biali Haas) แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต กล่าวว่า การนำชีวิตตัวเองไปเปรียบกับบุคคลอื่นเป็นเหมือนกับดักแห่งความหดหู่และอิจฉา ควรหลีกเลี่ยงการเปรียบเทียบที่บั่นทอนจิตใจ หันมาให้ความสำคัญในการค้นหาสิ่งที่ชอบและอยากทำจริงๆ จะดีกว่า
4.ให้เวลาเยียวยาจิตใจ การอำลาบทบาทนักศึกษาและก้าวเข้าสู่ชีวิตวัยทำงานคือการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ จึงควรใช้เวลาปรับตัวที่เหมาะสม อย่าเร่งรีบและกดดันตัวเองมากเกินไป พักสมองจากเรื่องเครียดๆ แล้วทำในสิ่งที่ชอบ ออกไปดูหนังหรือพบปะเพื่อนฝูงก็สามารถช่วยผ่อนคลายได้
โดยปกติอาการ Post-Graduate Blues จะค่อยๆ หายไปเองหลังเวลาผ่านไประยะหนึ่ง เมื่อได้งานตามความตั้งใจ หรือปรับตัวจนเริ่มคุ้นชินกับชีวิตประจำวันนอกรั้วมหาวิทยาลัย จนกว่าจะถึงตอนนั้นอย่าลืมใจดีกับตัวเองให้มากๆ วันนี้หลายอย่างอาจไม่เป็นไปตามที่ใจหวัง แต่ไม่ว่าอย่างไร ชีวิตยังมีวันพรุ่งนี้เสมอ
อ้างอิง
- Dusty Baxter-Wright and Mollie Davies. Why is no one talking about post-university depression?. https://bit.ly/2KvKTzL
- Jordan Griffith. GRADUATE BLUES. https://bit.ly/2Y5I8YU
- Phoebe Scholefield. Five tips for coping with post uni blues.https://bit.ly/36gNHsj
- Tanya J. Peterson. High School Graduation: How to Deal with Depression and Anxiety. https://bit.ly/3p4qQas