life

ความรักมักเล่นตลกกับความรู้สึกของเราเสมอ

หลายคนคิดแบบนั้น เพราะต่อให้รู้ทั้งรู้ว่าเรื่องว้าวุ่นใจทั้งหมดจะลงเอยในแบบใด แต่หัวใจดวงเดียวที่เราคิดมาตลอดว่าทั้งแข็งแกร่งและเด็ดเดี่ยวมากพอ เพื่อเอาไว้หักห้ามตัวเองไม่ให้ไปหลงรักใครได้ง่ายๆ กลับอ่อนข้อไม่รักดีขึ้นมาดื้อๆ กลายเป็นว่าเมื่อรู้ตัวอีกที เราเป็นฝ่ายยินดียกพื้นที่ทั้งหมดของหัวใจในตอนนั้น ให้แก่คนคนหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกระทวยทุกครั้งแม้แค่นึกถึง

บทนำอาจชวนให้รู้สึกเลี่ยนไม่ต่างจากนิยายน้ำเน่าไปบ้าง แต่เชื่อเถอะว่าเหตุการณ์นี้มีโอกาสเกิดขึ้นจริง และเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ใจของเราย่อมอนุญาตให้เขาหรือเธอผู้นั้นเป็น best part หรือช่วงเวลาที่ดีที่สุดในชีวิตอย่างไม่มีเงื่อนไข หมายความว่า ความคิด ตรรกะ หรือความเป็นเหตุเป็นผลใดๆ ก็ไม่อาจเอาชนะความรู้สึกรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นในเวลานั้นได้

เรารู้ตัวดีด้วยว่ากำลังปล่อยใจให้เป็นใหญ่ และปล่อยชีวิตให้เป็นไปตามความรู้สึก แม้พยายามคิดว่าจะต้องควบคุมใจไม่ให้ไถลล้ำไปไกลมากกว่านี้ แต่ไม่เคยมีสักครั้งที่ทำได้สำเร็จ เพราะในสายตาของเรายังคงมองเห็นเขาหรือเธอผู้นั้นเป็นที่หนึ่งในใจ และเป็นคนพิเศษเหนือใครกระทั่งตัวเราเอง

แค่ความรู้สึกที่ควบคุมไม่ได้ก็ทำวุ่นวายใจจะแย่อยู่แล้ว แต่ทุกอย่างอาจแปรเปลี่ยนเป็นความยุ่งยากและทำให้เกิดปัญหาอื่นตามมา เมื่อความรู้สึกทำนองนี้ยืนระยะต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่มีทีท่าหรือสัญญาณใดบอกได้ว่าจะคลี่คลายลงหรือสิ้นสุดเมื่อไหร่ ความลุ่มหลงคาราคาซังนี้เองจึงไม่ใช่ love หรือความรัก แต่เป็นผลของอาการโหยหาและคลั่งไคล้ที่เรียกว่า limerence ซึ่งเปิดโอกาสให้เราเอาความรู้สึกไปผูกติดไว้กับคนพิเศษ และหวังให้ผู้นั้นเป็นที่พึงพิงทางใจ (limerent object) โดยอีกฝ่ายอาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ

ย้อนกลับไปในปี 1979 โดโรธี เทนนอฟ (Dorothy Tennov) นักจิตวิทยาชาวอเมริกันผู้สนใจศึกษาเรื่องความรักและความสัมพันธ์ ได้เขียนหนังสือชื่อ Love and Limerence: The Experience of Being in Love เพื่อนำเสนอมุมมองด้านจิตวิทยาเกี่ยวกับความรู้สึก อารมณ์ และการกระทำที่เกี่ยวข้องกับความรัก เธอเป็นคนแรกที่นิยามความหมายและให้คำอธิบายเกี่ยวกับ limerence ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจาก Attachment Theory หรือทฤษฎีความผูกพันของ จอห์น โบวล์บี (John Bowlby) นักจิตวิทยาชาวอังกฤษ ที่มีหลักสำคัญว่า รูปแบบความสัมพันธ์ที่แสดงออกเป็นความรักในวัยผู้ใหญ่ คือผลลัพธ์จากประสบการณ์ในวัยเด็กว่าได้รับการดูแลเอาใจใส่มาแบบไหนจากใคร

ประกอบกับเทนนอฟได้พูดคุยแลกเปลี่ยนมุมมองเรื่องความรัก และติดตามชีวิตของผู้คนมากกว่า 500 คน เธอสังเกตเห็นรูปแบบของความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นคล้ายคลึงกันว่า คนส่วนใหญ่มักจะมีช่วงโปรโมชันเมื่อเริ่มต้นความสัมพันธ์ ช่วยเพิ่มระดับความรู้สึกต่างๆ ให้เข้มข้นมาก เช่น รักมาก หลงมาก คิดถึงมาก ทั้งหมดคือเรื่องปกติ และความรู้สึกเหล่านี้จะคงอยู่เป็นเวลานานนับเดือนถึงปี หลังจากนั้นหากสานสัมพันธ์ต่อไปได้เรื่อยๆ อาการเห่อรักหรือ limerence จะเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งแบ่งออกเป็นทางที่ดีขึ้น คือ ความเข้มข้นลดลง เพราะเกิดความเข้าใจและวางใจเข้ามาแทนที่ นำไปสู่ความสัมพันธ์ที่มั่นคง

ส่วนทางที่แย่ลง คือ ความเข้มข้นคงเดิมหรืออาจเพิ่มขึ้น ยิ่งทำให้รู้สึกอยากครอบครองอีกฝ่ายตลอดเวลาเกินพอดี ความรู้สึกอึดอัดจากความพยายามลุกล้ำหรือคุกคามพื้นที่ส่วนตัวเพราะต้องการแสดงความเป็นเจ้าของนี้เองที่นำไปสู่จุดแตกหัก และจบความสัมพันธ์ลง

หรืออีกกรณีหนึ่ง ซึ่งเป็นรูปแบบที่พบได้บ่อย คือ ความสัมพันธ์ที่ไม่ชัดเจนทำให้เกิดความรู้สึกคลุมเครือ โดยเฉพาะความลุ่มหลงจากการแอบรักเงียบๆ อยู่ฝ่ายเดียว หรือถึงแม้ว่าจะมีคนคุยแต่กลับตอบไม่ได้ว่าความรู้สึกและสถานะของความสัมพันธ์นี้คืออะไร เมื่อใจหลงใหลเขาหรือเธอไปแล้ว สิ่งที่คนมักจะเลือกทำคือคิดเข้าข้างตัวเองว่าอีกฝ่ายน่าจะมีใจให้เหมือนกัน นานวันเข้าความลุ่มหลงจะกลายเป็นปมความรู้สึกกระวนกระวายใจที่ผูดมัดเราไว้ไม่ให้มูฟออนไปได้ เกิดเป็นปัญหาหัวใจเพราะไม่รู้ว่าควรทำอย่างไรกับใจตัวเอง

อาการคลั่งไคล้อย่าง limerence จะกระตุ้นให้เราตื่นตัวตลอดเวลาไม่ต่างกับเสพติดยาหรือการพนัน แต่เปลี่ยนสิ่งเร้าความรู้สึกเป็นคนแทนยาหรือเงิน ทำให้คิดถึงคนที่หลงซ้ำๆ หรือขณะทุกข์และเศร้าจากเรื่องอื่น แค่นึกถึงเขาก็พอช่วยเยียวยาใจให้กลับมาดีขึ้นได้บ้าง ทุกอย่างจะแปรปรวนไปหมด จนกลายเป็นความเหนื่อยหน่าย เพราะได้แต่คิด ส่วนชีวิตจริงยังไม่เป็นอย่างนั้น

แม้ในทางวิทยาศาสตร์จะไม่ได้ให้ความสนใจศึกษามากนัก แต่ เฮเลน ฟิชเชอร์ (Helen Fisher) นักชีวมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน เคยอธิบายถึงเรื่องนี้ไว้ใน TED Talk หัวข้อ The Brain in Love ในปี 2008 ว่า อารมณ์หรือความรู้สึกรุนแรงเป็นผลจากการทำงานของสารสื่อประสาทกลุ่มโมโนอะมีน (Monoamines) ยิ่งทำให้ลุ่มหลง เพราะเราปล่อยให้ความรู้สึกอยู่เหนือเหตุผล

สิ่งสำคัญที่ช่วยคลายปมและทำให้เราหลุดพ้นวังวนความรู้สึกลุ่มหลง คือ ความชัดเจนและมีสติหรือตระหนักรู้ตัว เพราะ limerence เกิดขึ้นและคงอยู่ได้ด้วยความไม่แน่นอน เป็นสภาวะที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ว่าความสัมพันธ์ของเราซึ่งพยายามสร้างขึ้นมาจะจบลงในทางไหน ดังนั้น เมื่อเรารับรู้ได้ว่าอีกฝ่ายตอบรับหรือปฏิเสธตามความเป็นจริง ไม่ใช่ความคิดเพ้อเจ้อเข้าข้างตัวเอง จะทำให้เราตัดใจได้ง่ายขึ้น หรือสานสัมพันธ์ไปในทางที่ชัดเจน

และหวังว่าความรักคงไม่เล่นตลกกับความรู้สึกของเราเสมอไป

 

อ้างอิง