life

เหตุการณ์สะเทือนใจอาจมาในรูปแบบของรองเท้าใหม่ 3 คู่ที่ซื้อภายในเดือนเดียว แม้จะไม่ได้ย่างกรายใส่ออกไปเดินที่ไหนแต่รู้สึกได้ว่าของมันก็ต้องมี

ท้ายที่สุดแล้วต้องมานั่งมองรองเท้าตาปริบๆ แล้วถามตัวเองว่า “ซื้อมาทำไม?” ก่อนจะนึกเสียใจในภายหลัง นี่อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าคุณกำลังเข้าข่าย ‘คลั่งไคล้ช้อปปิ้ง’ ก็เป็นได้

นักช้อปฯ ที่เสียสติมีอยู่หลายแบบไม่ว่าเป็นคนที่ซื้อเพราะอยากประโคมให้ตัวเองดูดี ซื้อเพราะชอบต่อราคา ซื้อเพราะอยากมอบให้คนอื่น ซื้อให้เงินหมดเพื่อที่จะมีแรงฮึดออกไปทำงาน และประเภทสุดท้ายที่เราจะพูดถึง คือ ซื้อไปทำไมก็ไม่รู้ก็เหมือนกัน

อีมิล ครีเปอลิน (Emil Kraepelin) นักจิตวิทยาชาวเยอรมัน เป็นคนแรกที่ค้นพบอาการนี้ในปี 1915 เมื่อเห็นว่าเพื่อนของเขาหยุดซื้อของไม่ได้แบบไร้เหตุผล เขาบัญญัติให้อาการช้อปปิ้งแบบเสียสติให้เป็นโรคที่ชื่อว่า Oniomania หรือ Compulsive Buying Disorder (CBD) ที่หมายถึงบุคคลที่หุนหันพลันแล่น ไม่สามารถหยุดความอยากซื้อของได้

90 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่มีอาการดังกล่าวนี้เป็นเพศหญิง มักเริ่มเกิดขึ้นในวัยรุ่นตอนปลาย หรือวัยยี่สิบต้นๆ อาการนี้จะกลายเป็นโรคเรื้อรัง และอาจมีอาการซึมเศร้า ความวิตกกังวล การใช้สารเสพติด กินอาหารเกินขนาดควบคู่ไปด้วย

เหล่านักช้อปฯ ผู้เสียสติกำลังเผชิญกับอะไร?

พวกเขากำลังโดนบีบบังคับจากสิ่งที่เกิดขึ้นข้างในจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นความกลัว เหงา เศร้า เบื่อหน่าย หรือแม้แต่การประเมินคุณค่าในตัวเองต่ำ (Low self-esteem) และจะใช้วิธีซื้อของเพื่อเยียวยาความรู้สึกเหล่านั้น ประหนึ่งว่าเป็นการให้รางวัลปลอบใจตัวเอง

การซื้อของเป็นเรื่องตื่นเต้น เพราะตอนที่กำลังจะจ่ายเงินนั้นสมองจะหลั่งสารโดปามีนออกมาทำให้เรารู้สึกดื่มด่ำและมีความสุข และเมื่อความรู้สึกเพียงชั่วครู่นั้นสิ้นสุดลง ความเสียดายและผิดหวังที่จ่ายเงินก้อนโตไปก็เข้ามาแทนที่ เมื่อความแหว่งวิ่นในใจที่มีอยู่แต่เดิมไม่เคยไปไหน อีกทั้งยังถูกตอกย้ำด้วยความผิดหวังครั้งใหม่จากการช้อปปิ้งครั้งล่าสุด เราก็จะกลับสู่วังวนเดิมและโหยหาความสุขจากการซื้อของอีกครั้ง นี่คือวิธีการทำงานของ  อาการเสพติด (Addiction) ที่เกิดขึ้นเช่นเดียวกันกับผู้ติดการพนัน

อย่างไรก็ตาม ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าเราจะเรียกอาการคลั่งช้อปปิ้งว่าเป็นอาการเสพติดได้อย่างเต็มปากหรือไม่ แม้ว่ากลไกในสมองจะทำงานคล้ายกัน แต่อาการเสพติดนั้นมีผลที่เกิดขึ้นทั้งทางใจและร่างกาย เช่น การติดแอลกอฮอล์ที่ในตอนแรกอาจต้องการเยียวยาจิตใจด้วยความเมา แต่ท้ายที่สุดแล้วร่างกายกลับขาดไม่ได้และกลายเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง

ส่วนอาการคลั่งช้อปปิ้งนั้นจะเข้าข่ายของ การย้ำคิดย้ำทำ (Compulsion) มากกว่า เพราะผู้มีอาการถูกกระตุ้นอย่างเฉพาะเจาะจงให้ต้องทำอะไรบางอย่าง คล้ายกับเวลาที่เราคันถ้าไม่ได้เกาก็จะทรมาน อย่างไรก็ตาม อลิซาเบธ ฮาร์ทนีย์ (Elizabeth Hartney) นักจิตวิยาผู้เชี่ยวชาญเรื่องการเสพติด ให้ความเห็นว่า อาการคลั่งช้อปปิ้งนั้นก็รุนแรงไม่ต่างกับพฤติกรรมการเสพติดอื่นๆ เลย

เช่นในเคสของ ‘เคท’ พนักงานพาร์ทไทม์ร้านขายเสื้อผ้าวัย 22 ปี เธอมักจะวิตกกังวลง่ายเป็นทุนเดิม และไม่ค่อยชอบเผชิญหน้ากับภาระหน้าที่ที่ต้องจัดการอยู่บ่อยๆ

เคทพบกิจกรรมใหม่ที่ชวนให้เธอรู้สึกตื่นเต้นนั่นคือการช้อปปิ้ง เธอซื้อทุกอย่างแบบห้ามตัวเองไม่ได้ และเมื่ออารมณ์ตื่นเต้นหลังการจ่ายเงินผ่านพ้นไป เธอจะเริ่มรู้สึกเกลียดตัวเอง และถามตัวเองซ้ำๆ ว่าทำอะไรลงไป บางครั้งเธอพยายามจะคืนสินค้าให้กับทางร้านเสียด้วยซ้ำ แต่ท้ายที่สุดแล้วเคทจะพยายามหาเหตุผลว่าเธอซื้อของแต่ละชิ้นมาเพื่อออะไร ไม่ว่าจะสมเหตุสมผลหรือไม่ แต่นั่นคือการปลอบใจให้ตัวเองสงบลง และไม่นานนักเธอจะกลับไปสู่วัฏจักรเดิมอีกครั้ง

แม้ว่าร่างกายจะไม่ได้รับบาดเจ็บ แต่ผู้มีอาการจะหยุดพฤติกรรมเหล่านี้ด้วยตัวเองไม่ได้ การบำบัด (Psychological intervention) จึงเป็นวิธีรักษาที่ดีที่สุด นักช้อปทำความเข้าใจความต้องการของตัวเองผิดเพี้ยนมาเป็นเวลานาน เชื่อว่าวัตถุและสิ้นค้าจะอุรอยรั่วในใจได้ สิ่งที่นักบำบัดทำคือต้องสร้างความเข้าใจใหม่เข้าไปแทน โดยเริ่มจากการทำให้พวกเขารู้ว่าการช้อปปิ้งไม่ได้ช่วยให้หายเบื่อ หายเศร้าแต่อย่างใด

เอพริล เบนสัน (April Benson) นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านการเสพติดการช้อปปิ้ง จะบำบัดผู้ป่วยของเธอด้วยคำถามดึงสติทั้งหมด 6 ข้อ คือ 1.ทำไมฉันถึงมาอยู่ที่นี่ 2.ฉันกำลังรู้สึกอย่างไร 3.ฉันต้องการสิ่งนี้จริงๆ หรือไม่ 4.จะเกิดอะไรขึ้นถ้าฉันรอไปก่อน 5.ฉันจะจ่ายเงินได้อย่างไร 6.ถ้าซื้อมาแล้วฉันจะเอาไปวางไว้ที่ไหน

คำถามนี้เหล่านี้จะทำให้เห็นเหตุผลของซื้อของ และยังเป็นวิธีสร้างช่องว่างระหว่างแรงกระตุ้นและการกระทำ ซึ่งจะช่วยให้บุคคลตัดสินใจอย่างมีสติมากขึ้น

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังนั่งเลือกของลงตะกร้าแบบเสียสติ ลองเขียนคำตอบจากคำถามของเบ็นสันออกมาเป็นข้อๆ ก็อาจจะเป็นวิธีที่ดีที่จะหยุดวงจรเหล่านี้ได้ด้วยตัวเอง

อ้างอิง