life

เราปั้นรอยยิ้มปลอมๆ ได้อย่างง่ายดาย แต่ความรู้สึกข้างในจะแสดงออกทางสายตาอย่างไม่รู้ตัว 

ดวงตาเป็นเหมือนหน้าต่างที่พาไปสำรวจจิตใจ ไม่จำเป็นต้องมีพลังวิเศษก็อ่านความคิดคนได้ เพราะเราจะรู้ได้ทันทีว่าใครกำลังรู้สึกอะไรจากการมองเข้าไปในดวงตาของพวกเขา 

รูม่านตา (Pupils) ของมนุษย์ทำงานคล้ายรูรับแสงของกล้องถ่ายรูป ที่จะหดเล็กลงเมื่อเจอแสงสว่าง และขยายใหญ่ขึ้นในความมืดมิด นอกจากจะตอบสนองต่อแสงโดยอัตโนมัติแล้ว รูม่านตาของมนุษย์ยังตอบสนองกับอารมณ์และความสนใจของเราอีกด้วย 

นักจิตวิทยาพบว่า การเปลี่ยนแปลงขนาดของรูม่านตาของมนุษย์จะขึ้นอยู่กับประเภทของการมองเห็น คือ สำรวจ (exploration) และ แสวงหา (exploitation) โดยสิ่งนี้จะเกิดขึ้นตามสัญชาตญาณ เป็นการตอบสนองแบบฉับพลัน ทำงานผ่านระบบประสาทอัตโนมัติ (Autonomic nervous system) ไม่ได้ผ่านการคิด หรือไตร่ตรองจากสมอง

การมองแบบสำรวจ เราจะมองสิ่งแวดล้อมรอบๆ เพื่อประเมินหา ภัยคุกคาม (threat) หรือ โอกาส (opportunity) เช่น เวลาที่เกิดอุบัติเหตุ หรือเจอคนที่ชื่นชอบ ในสภาวะนี้เราจึงตื่นตัวตลอดเวลา รูม่านตาจะเปิดกว้างขึ้นเพื่อให้มองเห็นและรับข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว หลังจากนั้น เมื่อสายตาล็อกเป้าหมายที่มองหาได้แล้ว ร่างกายจะเปลี่ยนไปยังโหมดการมองเห็นแบบแสวงหาโดยอัตโนมัติ นั่นจะเป็นช่วงที่เราโฟกัสกับสิ่งที่มองเพียงอย่างเดียว โดยที่รูม่านตาจะหดและขยายไปตามความเหมาะสม ไม่ได้ขยายกว้างอย่างเดียวเหมือนแบบแรกๆ 

เช่น หากคุณกำลังเดินอยู่ในป่า แล้วบังเอิญได้ยินเสียงใบไม้ไหวๆ ตอนนั้นร่างกายจะตื่นตัว รูม่านตาขยายใหญ่เพื่อสำรวจดูว่าสิ่งนั้นคือสัตว์ร้ายหรืออะไร แต่ถ้าพบแล้วว่าเป็นเพียงลมพัด ม่านตาของเราอาจหดขนาดเล็กลงเป็นปกติได้ 

งานวิจัยชิ้นหนึ่งของ โอลิเวีย คัง (Olivia Kang) และ ทาเลีย วีลเลย์ (Thalia Wheatley) ที่เผยแพร่โดยสมาคมจิตวิทยาอเมริกัน (American Psychological Association) เผยว่าอารมณ์และความรู้สึกมีผลกับรูม่านตาอย่างเลี่ยงไม่ได้ โดยพวกเขาได้ทดลองให้นักเรียน คน เล่าเรื่องสะเทือนอารมณ์แบบต่างๆ  ตั้งแต่ตกหลุมรักไปจนถึงการสูญสีย ผลการสังเกตพบว่าขณะที่พวกเขากำลังเล่าและมีอารมณ์ร่วมกับเรื่องราวอยู่นั้น รูม่านตาจะขยายและหดตัวตามความรู้สึกของพวกเขาไปด้วย

โดยรูม่านตาของคนเราจะหดเล็กลงเมื่อรู้สึกกลัวหรือถูกคุกคาม และจะขยายออกเมื่อรู้สึกตื่นเต้น เราจะรู้ได้ทันทีว่าใครกำลังกลัว โกรธ หรือตกหลุมรักได้จากการมองไปยังดวงตาของเขา

นอกจากรูม่านตาที่แสดงความรู้สึกออกมาอย่างแจ่มแจ้งแล้ว กล้ามเนื้อรอบดวงตาก็จะขยับไปตามอารมณ์ด้วยเช่นกัน เช่น เมื่อรู้สึกขยะแขยง เรามักจะหรี่ตาให้เล็กลงและขมวดคิ้ว เวลาเจอสิ่งที่ชอบ เราจะเลิกคิ้วขึ้นโดยอัตโนมัติ ทำให้ดวงตาจะเบิกโพลงและเป็นประกาย

แม้สิ่งนี้จะเกิดขึ้นอัตโนมัติ แต่กลับแตกต่างจากรูม่านตาที่ไม่เคยโกหกตรงที่ ถ้าอยากจะปกปิดความรู้สึกจริงๆ เราสามารถบังคับกล้ามเนื้อบนใบหน้าและพยายามฝืนสัญชาติญาณนี้ได้

เช่นเดียวกับ เอลิซาเบธ โฮล์มส์ (Elizebeth Holmes) ผู้ก่อตั้ง Theranos บริษัทผลิตเครื่องตรวจเลือดรายเดียวที่ดีที่สุดในปี 2003 เพราะเป็นบริษัทเดียวที่สามารถย่อส่วนเครื่องตรวจเลือดใหญ่ยักษ์ให้มีขนาดเล็กจิ๋วได้ จึงทำให้มีเงินหมุนเวียนอยู่ในธุรกิจของเธอเป็นล้านๆ เหรียญฯ แต่ท้ายที่สุดเรื่องราวก็จบลงอย่างฉาวโฉ่ เพราะทั้งหมดที่เธอทำเป็นแค่เรื่องโกหก เครื่องตรวจเลือดที่ว่าก็ไม่เคยมีอยู่จริง นี่ถือเป็นการลวงโลกครั้งใหญ่ที่ประวัติศาสตร์อเมริกาจะต้องจดจำ

ที่น่าสงสัยคือ เธอโกหกอย่างไรให้คนเชื่อได้มากมายขนาดนั้น?

เอลิซาเบธ โฮล์มส์

ลิลเลียน กลาส (Lillian Glass) นักเขียนและผู้เชี่ยวชาญด้านภาษากาย เชื่อว่าการจ้องตานั้นมีความหมายซ่อนอยู่ รวมไปถึงสัญญาณของการโกหกด้วยเช่นกัน และเขาเองเชื่อว่า ดวงตากลมโต สีฟ้าสดใสของเอลิซาเบธนั่นแหละ คืออาวุธลับที่อยู่เบื้องหลังอาชญากรรมครั้งนี้ 

หากจับสังเกตวิธีการสนทนาของเอลิซาเบธจะพบว่า เธอมักใช้สายตาสะกดผู้ฟังด้วยการจ้องเขม็งไปยังดวงตาของพวกเขา และนั่นคือวิธีที่เธอพยายามปกปิดความจริงทั้งหมดเอาไว้ 

โดยปกติแล้ว คนเรามักรู้สึกว่าคนที่ไม่ยอมสบตานั้นดูไม่จริงใจ ไม่น่าเชื่อถือ และเรามักจะเชื่อคำพูดของคนที่สบตากับเรามากกว่า แต่ในขณะเดียวกัน ก็อาจเป็นไปได้ว่าคนที่พยายามสบตาอยู่ตลอดนั้นกำลังปกปิดบางสิ่ง และแสร้งทำเหมือนว่ากำลังพูดความจริงอยู่ก็เป็นได้

นักจิตวิทยาทำการวิจัยพบว่าโดยปกติแล้วคนเราจะใช้เวลาสบตากันเฉลี่ยแล้วไม่เกิน วินาทีเท่านั้น และหากนานเกินกว่า วินาที เราจะเริ่มรู้สึกว่าสายตานั้นชวนขนลุกและรู้สึกถูกคุกคามได้ นี่เป็นอีกหลักฐานที่ทำให้เห็นว่าดวงตาไม่ได้เป็นแค่หน้าต่างของหัวใจ แต่ยังมีพลังที่ส่งผลต่อจิตใจของคนที่ได้มองเข้าไปในนั้นด้วยเช่นกัน

ในปี 2015 จิโอวานนี คาปูโต (Giovanni Caputo) นักจิตวิทยาชาวอิตาลี ทำการทดลองเพื่อหาว่าดวงตาส่งผลกระทบต่อจิตใจอย่างไร โดยการพาคนสองคนนั่งมานั่งประจันหน้า จ้องตากันนาน 10 นาที ภายในห้องที่มีแสงสลัวๆ และผลที่ตามมาคือ ผู้เข้าร่วมทดลองเกิด ภาวะการแยกตัว (dissociation) ที่ในทางจิตวิทยาหมายถึงการที่คนเราหลงลืมตรรกะ และแยกตัวเองออกมาจากความจริงชั่วคราว

พวกเขารู้สึกว่าเวลาเดินช้าลง เสียงรอบตัวเงียบลงหรือดังขึ้นผิดปกติ  และที่สำคัญคือ การรับรู้ใบหน้าของอีกฝ่ายเพี้ยนไปจากความเป็นจริงอย่างสิ้นเชิง กว่า 90 เปอร์เซ็นต์เผยว่าพวกเขาเห็นใบหน้าที่บิดเบี้ยวผิดรูป 75 เปอร์เซ็นต์มองเห็นเป็นสัตว์ประหลาด นอกจากนี้ยังมีคนที่มองคนตรงหน้าเป็นญาติสนิทมิตรสหาย หรือมองเห็นเป็นหน้าตัวเองด้วยก็มี

จากผลการทดลองนี้เราจึงเห็นได้ว่าพลังของดวงตาอาจทำให้ตรรกะและเหตุผลค่อยๆ ผิดเพี้ยน และท้ายที่สุดเราจะเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับดวงตาคู่นั้นในแง่มุมใด มุมหนึ่งอย่างไม่ทันได้รู้ตัว 

ดวงตาจึงไม่ใช่แค่หน้าต่างของหัวใจ นอกจากเราจะล่วงรู้ความรู้สึกผ่านดวงตาได้แล้ว จะเห็นได้ว่าการจ้องมองเข้าไปข้างในนั้นก็ส่งผลกับจิตใจมนุษย์ด้วยเช่นกัน

อ้างอิง