life

คุณแม่ทุกคนต่างเข้าใจความจริงที่ว่าการเป็นแม่คนไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะตัวเองกำลังแบกรับหน้าที่ความรับผิดชอบอันหนักอึ้ง ทั้งความคาดหวังจากครอบครัวและความกดดันจากสังคมที่วาดฝันให้คนเป็นแม่ต้องเอาใจใส่ คอยให้ความรักและความอบอุ่นแก่ลูกอยู่ไม่ห่าง

แต่การเป็นแม่ของลูกที่เกิดมาเป็นเด็กพิเศษนั้นยากยิ่งกว่า โดยเฉพาะครั้งหนึ่งในอดีต ความเชื่อผิดๆ ที่เกิดจากความรู้น้อยเกินไปของจิตแพทย์ กลับสร้างตราบาปและบาดแผลฝังใจให้บรรดาคุณแม่ผู้มีลูกเป็นเด็กออทิสติก

เรื่องทั้งหมดนี้เริ่มจาก ลีโอ แคนเนอร์ (Leo Kanner) จิตแพทย์ชาวอเมริกันเชื้อสายยูเครนประจำมหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์ (Johns Hopkins University) สังเกตเห็นว่า ผู้ป่วยเด็กเล็กในความดูแลของเขา 11 คน มีอาการน่าสงสัยที่คล้ายคลึงกัน เช่น แม้จะเรียกชื่อด้วยเสียงดังแต่เด็กกลับไม่หันหน้ามามอง ชอบแยกตัวเล่นคนเดียว ไม่สนใจแม่และคนรอบข้าง นิ่งเงียบ พูดช้ากว่าพัฒนาการที่ควรจะเป็น หมกมุ่นอยู่กับการทำอะไรซ้ำๆ โดยไม่แสดงท่าทางเบื่อหรือรำคาญออกมา

หากย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น จิตแพทย์มักจะวินิจฉัยเด็กทุกคนที่มีอาการผิดปกติทำนองนี้ว่าเป็นโรคจิต หรือไม่ก็เป็นความบกพร่องทางอารมณ์ แต่หลังจากใช้เวลาศึกษาเด็กๆ นานถึง 5 ปี ท้ายที่สุดในปี 1943 แคนเนอร์จึงสรุปได้ว่า นี่คืออาการป่วยใหม่ที่พบในเด็กเล็กเท่านั้น โดยจะแสดงอาการให้เห็นก่อนอายุครบ 3 ขวบ แคนเนอร์ตั้งชื่อโรคจากอาการเด่นที่เด็กส่วนใหญ่เลือกสนใจจดจ่อแต่ตัวเอง ราวกับแม่และคนอื่นๆ ไม่มีตัวตนอยู่ในสายตาของพวกเขาว่า Autism หรือ ออทิซึม มาจากรากศัพท์ภาษากรีก Auto ที่แปลว่า ตัวเอง

แต่สิ่งที่สร้างความแคลงใจให้กับแม่ที่มีลูกเป็นออทิซึม คือสาเหตุของโรคที่แคนเนอร์กำหนดขึ้นมา เขาคิดว่าเหตุผลสำคัญที่ทำให้เด็กป่วยเกิดจากแม่หรือคนเลี้ยงดูหลัก โดยเฉพาะแม่ที่มีบุคลิกภาพเย็นชา เฉยเมย ไม่หือไม่อือ และไม่ชอบแสดงออกถึงความเป็นแม่ที่ต้องคอยปกป้องลูกน้อยอย่างที่คนเป็นแม่ควรทำ เมื่อแม่ไม่ได้ให้ความรักกับลูกอย่างตรงไปตรงมา ความสัมพันธ์ระหว่างแม่และลูกจึงไม่เกิดขึ้น ทำให้เด็กพอใจอยู่กับตัวเองมากกว่า

แคนเนอร์เปรียบเปรยว่า คนเป็นแม่ที่ทำตัวไม่สนใจไยดีลูกเช่นนี้ ก็คงไม่ต่างจาก ‘ตู้เย็น’ ซึ่งเป็นสิ่งเดียวในห้องครัวที่ปราศจากความอบอุ่น กลายเป็นที่มาของคำว่า refrigerator mother หรือ แม่ตู้เย็น เพื่อเอาไว้ใช้เรียกแม่ที่มีแต่ความเย็นชาจนทำให้เด็กขาดความรักและไม่รู้สึกถึงความห่วงใยของแม่

แนวคิด refrigerator mother ของแคนเนอร์เท่ากับการกล่าวโทษครั้งใหญ่และปัดความรับผิดชอบให้ตกอยู่กับแม่เพียงผู้เดียวโดยไม่ให้สิทธิปฏิเสธหรือโต้แย้ง ในเมื่อหน้าที่เลี้ยงลูกเป็นของแม่ ความผิดปกติใดๆ ที่เกิดขึ้นกับลูกจึงถือว่าเป็นความผิดของคนเป็นแม่

เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกเป็นออทิซึม แคนเนอร์จึงแนะนำให้แม่ทุกคนกอดลูกแน่นๆ และสัมผัสลูกบ่อยๆ เพราะไม่อยากให้แม่กลายเป็น refrigerator mother มิฉะนั้น ความเย็นชาและเหินห่างของแม่จะค่อยๆ ทำร้ายลูกโดยที่แม่ไม่ทันได้รู้ตัว

โดยธรรมชาติของคนเป็นแม่ ย่อมต้องการเลี้ยงลูกให้เติบโตอย่างแข็งแรงและมีอนาคตที่ดีได้มากเท่าที่คนเป็นแม่จะทำให้ลูกไปถึงจุดนั้นได้ แต่คนส่วนใหญ่มักหลงลืมไปว่า แม่ก็คือคนธรรมดาที่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย ท้อแท้ และทำผิดพลาดได้ แม่จึงเป็นคนเดียวที่ทั้งถูกเรียกร้องและฝากความหวังให้ทำหน้าที่สร้างคนตลอดชีวิต

เงื่อนไขที่สังคมสร้างขึ้นมาหวังมอบคุณค่าให้ความเป็นแม่ จึงทำให้คุณแม่จำนวนไม่น้อยต้องพยายามปกปิดความรู้สึกที่แท้จริงไว้ เครียดแค่ไหนก็ปริปากบอกใครไม่ได้เพราะกลัวคนอื่นมองไม่ดี ตัวตนเป็นคนนิ่งเงียบก็ต้องกระตือรือร้นทนฝืนตัวเองให้คนเห็นว่าทำหน้าที่แม่ตามค่านิยมสังคมได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง

เป็นเวลาร่วม 30 ปีที่แม่จำนวนไม่น้อยถูกแนวคิด refrigerator mother กดขี่จนพวกเขาไม่มีความสุขกับการได้เป็นแม่คน เพราะถูกสังคมจับจ้องเสมอและพร้อมตำหนิว่าเป็นผู้ร้ายทันทีหากเลี้ยงดูลูกได้ไม่ดี จนกระทั่ง เบอร์นาร์ด ริมแลนด์ (Bernard Rimland) นักจิตวิทยาการทดลองชาวอเมริกัน เสนอแนวคิดใหม่เพื่อหักล้างความเชื่อเดิมของแคนเนอร์

ริมแลนด์หันมาสนใจศึกษาออทิซึมอย่างจริงจังเพราะลูกชายของเขาเป็นเด็กออทิสติก จนในที่สุดเขาพบว่าแนวคิด refrigerator mother เป็นความเชื่อที่ผิดมหันต์และสร้างความเจ็บปวดให้คุณแม่ที่มีลูกเป็นเด็กพิเศษมาอย่างยาวนาน เขาค้นพบว่าสาเหตุของออทิซึมเกิดจากการทำงานของระบบประสาทและสมองที่ผิดปกติไป ไม่ได้เกิดจากสิ่งแวดล้อมหรือการเลี้ยงดูหลังคลอด

หมายความว่า หากแม่เย็นชาใส่ลูก ไม่ได้ทำให้ลูกเป็นเด็กออทิสติก เพราะโรคนี้ก่อเกิดก่อนแม่จะคลอดลูกออกมาด้วยซ้ำ แต่ความเย็นชาของแม่จะขัดขวางหนทางช่วยให้ลูกที่ป่วยอยู่ไม่ได้รับการรักษาและกระตุ้นพัฒนาการให้กลับมาสมวัยได้มากที่สุด การกอดของแม่ไว้จึงไม่อาจป้องกันโรคอย่างที่แคนเนอร์เข้าใจ แต่ช่วยบรรเทาให้เด็กตอบโต้แม่และคนอื่นๆ ได้ดีขึ้น

แนวคิดใหม่ของริมแลนด์ ได้สลัดทิ้งตราบาปของแม่ผู้ให้กำเนิดลูกเป็นเด็กพิเศษออกไปจนหมดสิ้น เขายังยกย่องคุณแม่เหล่านี้ว่าเป็นทั้งคนพิเศษและคนสำคัญที่สุดในสายตาลูกๆ ซึ่งไม่ต่างจากฮีโร่ ด้วยความหวังว่าอย่างน้อยกำลังใจที่มีให้แก่กันในวันที่เหนื่อยล้าจะเป็นพลังให้คุณแม่ดูแลลูกต่อไปด้วยความตั้งใจจริง เพื่อให้เด็กเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่และมีชีวิตที่ดูแลตัวเองได้อย่างที่ควรจะเป็น

ความรักและความหวังดีแม้จะมีอยู่ในใจพร้อมให้ลูกอย่างเต็มเปี่ยม บางครั้งอาจไม่เพียงพอ เพราะความพิเศษที่มีอยู่ในตัวของเด็ก ย่อมต้องการแม่ที่ความพิเศษอยู่ในตัวด้วยเช่นกัน ซึ่งความพิเศษที่ว่า คือ ‘ความเข้าใจ’

 

อ้างอิง