life

มนุษย์เป็นสัตว์สังคมก็จริง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ตัวเราจะต้องพบปะคนอื่นๆ ตลอดเวลา

ต่อให้เป็นคนที่มีท่าทีเปิดรับ ทำให้สร้างสัมพันธภาพกับผู้คนได้ง่าย จนใครๆ มักจะบอกว่าเราเป็นคนเข้าสังคมเก่ง หรือเป็นคนที่มีมนุษยสัมพันธ์ดีน่าคบหา รวมถึงคู่สัมพันธ์ทั้งคนที่เพิ่งคบหาเป็นแฟน และคนที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันแน่นแฟ้น แต่เชื่อเถอะว่า ท้ายที่สุดแล้ว ทุกคนย่อมต้องการ ‘เวลาส่วนตัว’ หรือ ‘me time’

เวลาส่วนตัวที่ว่า คือช่วงเวลาที่เราสงวนไว้ให้ตัวเองได้ใช้ชีวิตตามที่ใจต้องการ บางคนอาจง่วนอยู่กับสิ่งที่อยากทำ ขณะที่บางคนอาจไม่อยากทำอะไรเลยก็ได้ ขอเพียงเวลาที่ทำให้ได้พักหรืออยู่กับตัวเองเพียงลำพัง (solitude) ซึ่งกรณีนี้ไม่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกเหงาหรือเปล่าเปลี่ยวใจ เพราะ me time เป็นการจัดสรรช่วงเวลาที่เกิดจากการเลือกด้วยความเต็มใจ หมายความว่า ตัวฉัน (me) เลือกแล้วว่าจะใช้เวลานี้ (time) เพื่อทำบางสิ่งบางอย่างให้ตัวเอง

แนวคิดสำคัญที่อยู่เบื้องหลัง me time คือ การให้โอกาสตัวเองได้หยุดพักจากวิถีชีวิตที่เร่งรีบ โดยมากหมายถึงการทำงาน และการเผชิญปัญหาประจำวัน ซึ่งทำให้รู้สึกเหน็ดเหนื่อยทั้งร่างกายและจิตใจ ถ้าชีวิตต้องประสบกับความยุ่งยากทำนองนี้อยู่เสมอ ชีวิตจะกลายเป็นฟันเฟื่องคอยทำหน้าที่หมุนเคลื่อนไปตามปัจจัยภายนอกที่เข้ามากระตุ้นให้ไม่อยู่นิ่ง หากเป็นเช่นนี้ มวลความทุกข์และความไม่พอใจในชีวิตจะก่อตัวขึ้นอยู่ในใจเพื่อรอวันระเบิดออกมาเป็นมาความเศร้า

ดังนั้น ช่วงที่เรามีเวลาส่วนตัวเพื่ออยู่กับตัวเอง ย่อมส่งผลต่อชีวิตในทิศทางตรงกันข้ามกัน ราวกับได้ตัดแบ่งชีวิตออกมาจากความวุ่นวายใจ เพราะภายในช่วงเวลาส่วนตัวนั้น เรากำลังมอบความรู้สึกเป็นอิสระที่อยู่เหนือการควบคุมหรืออำนาจอื่นใด ทำให้ตัวเราเลือกใช้ชีวิตอย่างไรก็ได้

ผลการศึกษาในปี 2018 ด้านจิตวิทยาสังคมและจิตวิทยาบุคลิกภาพ หัวข้อ ความสันโดษเป็นแนวทางที่ได้ผลสำหรับควบคุมตัวเอง (self-regulation) ยืนยันเรื่องนี้ว่า การเลือกอยู่คนเดียวรวมถึงช่วงเวลาส่วนตัว ช่วยให้เกิดการผ่อนคลายความตึงเครียดจากสังคมภายนอก ควบคู่กับกระบวนการรู้คิด รู้ทั้งความคิด อารมณ์ ความรู้สึก และการกระทำของตัวเรา เพราะเกิดการตระหนักแล้วว่า ทุกอย่างที่แสดงออกเกิดมาจากการตัดสินใจสุดท้ายของเรา ถึงแม้ว่าต้นเหตุจะเกิดจากคนอื่นหรือสถานการณ์อื่น แต่เมื่อเราเลือกแสดงออกไปแบบนั้น จึงเป็นความรับผิดชอบของเรา ทำให้รู้จักหักห้ามใจไม่ทำสิ่งที่สร้างปัญหาตามมา แล้วเลือกทำสิ่งที่เหมาะสมกับวุฒิภาวะและบริบทที่สังคมยอมรับ

หรืออธิบายให้เข้าใจอย่างง่ายที่สุดคือ เวลาที่เราได้อยู่กับตัวเองจริงๆ จะทำให้มีสติรู้ตัวมากขึ้น เพื่อปรับเปลี่ยนตัวเองให้ใช้ชีวิตในลู่ทางที่ตั้งไว้เป็นเป้าหมายต่อไปได้อย่างราบรื่น

การควบคุมตัวเองได้ ซึ่งเป็นผลจากการใช้เวลากับตัวเอง ยังเป็นทักษะสำคัญที่ช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ให้ยืนยาวมากขึ้นด้วย เพราะการอยู่กับตัวเองมากๆ ทำให้เกิดการสะท้อนสิ่งที่รู้สึกไปยังคนอื่นๆ เป็นความร่วมรู้สึกเห็นอกเห็นใจทางอารมณ์ (emotional empathy) ว่า ไม่มีใครชอบใจหากต้องตกอยู่ในสถานะที่รองรับอารมณ์รุนแรง ความโกรธพลุ่งพล่าน หรือการกระทำด้านลบจากความเอาแต่ใจ เราจึงต้องทำไมสิ่งเหล่านี้กับคนอื่นเหมือนกัน

การแบ่งเวลาอยู่คนเดียวในทุกๆ ความสัมพันธ์ ตั้งแต่ครอบครัว เพื่อนฝูง เพื่อนร่วมงาน และคนรัก แม้กระทั่งคนที่ยังไม่มีใครให้ผูกสัมพันธ์ จึงไม่ได้หมายความว่ากำลังรู้สึกเหงาหรือเปล่าเปลี่ยนใจ เพราะเป็นวิธีหนึ่งสำหรับจัดการความรู้สึกและชีวิตของตัวเองให้ดีมากขึ้นเท่านั้น

เพราะบางช่วงขณะ หรือบางจังหวะชีวิต ความเป็นส่วนตัวซึ่งผูกติดกับความเป็นเรามาแต่ไหรแต่ไร อาจทำให้รู้สึกว่าไม่ได้ต้องการมีใครเท่า ‘เวลา’ ที่เราได้อยู่กับตัวเอง

ส่วนคนที่มีใครอยู่ข้างๆ กายแล้ว แต่ละฝ่ายย่อมต้องจัดสรรเวลาส่วนหนึ่งเพื่อเอาไว้ให้ตัวเองได้ใช้ดูแลกายและใจให้แข็งแรงไม่ต่างกัน เพื่อจะได้กลับมาดูแลกันด้วยความเข้าอกเข้าใจ 

 

อ้างอิง 

  • Shoba Sreenivasan and Linda E. Weinberger. The Benefits of Spending Time Alone. https://bit.ly/3rntJnW 
  • Nguyen, T. T., Ryan, R. M., & Deci, E. L. (2018). Solitude as an Approach to Affective Self-Regulation. Personality and Social Psychology Bulletin, 44(1), 92–106. https://doi.org/10.1177/0146167217733073