life

เมื่อ ทำผิด ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด หากยังมีสามัญสำนึก เราย่อมรู้อยู่แก่ใจว่า สิ่งสำคัญที่ต้องรีบทำทันทีคือ ยอมรับ’ และ ‘ขอโทษ

ถ้าทุกอย่างเกิดขึ้นตรงไปตรงมาเช่นนี้ก็คงจะดี แต่ในความเป็นจริง การตอบสนองแรกที่คนจำนวนไม่น้อยเลือกใช้หลังถูกกล่าวหาว่าทำผิด คือ ‘ปฏิเสธ’ ถือเป็นวิธีเอาตัวรอดเฉพาะหน้าจากสถานการณ์คับขันที่อาจทำให้กลัว กังวล และไม่สบายใจ จนกว่าจะกลับมาได้สติอีกครั้ง แต่นั่นก็ไม่อาจรับรองได้ว่า คนคนนั้นจะยอมรับผิดโดยดี

บางคนถึงขนาดยืนกรานเสียงแข็งด้วยซ้ำว่าตนไม่ได้ทำอะไรผิด หรือต่อให้ต้องยอมรับผิด เพราะจำนนต่อหลักฐาน หรือถูกสังคมรอบข้างกดดัน คำขอโทษและท่าทางที่แสดงออกมาว่าตนรู้สึกเสียใจ ย่อมเป็นการเสแสร้งแกล้งทำ ไม่ใช่ความรู้สึกสำนึกผิดอย่างแท้จริง

ที่เลวร้ายกว่านั้น การทำผิดแล้วไม่สำนึกผิดจะยิ่งสร้างปัญหาบานปลายตามมา ไม่ใช่แค่ส่งผลกระทบกระเทือนต่อความรู้สึกดีๆ เพราะยังคงมีความขัดแย้งค้างคาอยู่ในใจ แต่จะกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้ความสัมพันธ์ทุกรูปแบบ ทั้งความเป็นครอบครัว มิตรภาพระหว่างเพื่อนหรือคนรู้จัก แม้กระทั่งคู่รัก ต่างต้องจบลงได้อย่างน่าเสียใจและเสียดาย

คำถามคือ ทำไมการขอโทษอย่างเดียวถึงไม่ช่วยให้ทุกอย่างดีขึ้น?

โดยทั่วไปแล้ว การขอโทษที่สมควรได้รับการให้อภัยต้องมีองค์ประกอบครบทั้ง 4 ข้อ ดังนี้

(1) อ้างอิงถึงความผิดที่ก่อไว้ก่อนหน้าได้อย่างชัดเจน
(2) แสดงให้เห็นว่าเสียใจและสำนึกผิดต่อสิ่งที่ได้ทำลงไปจากใจจริง
(3) ยอมรับการลงโทษ ให้คำมั่นว่าจะไม่ทำผิดซ้ำและคิดปรับปรุงตัวใหม่
(4) เสนอแนวทางแก้ไขและเปลี่ยนแปลงให้ทุกอย่างดีขึ้นหรือใกล้เคียงกับที่เคยเป็นมากที่สุด

สาเหตุที่คนทำผิดส่วนใหญ่ไม่ได้รับการให้อภัย จึงเป็นเพราะการขอโทษแบบขอไปทีที่ยิ่งทิ่มแทงใจของคนที่ได้ยิน หรือต่อให้ปั้นคำขอโทษสวยหรูแค่ไหน หากไม่ได้ออกมาจากใจที่รู้สึกสำนึกผิด ย่อมไร้ความหมายและไม่ได้ช่วยกอบกู้ความรู้สึกดีๆ ให้กลับคืนมาเหมือนเดิม

มาร์เกลียส์ เฟียลสเตด (Margalis Fjelstad) นักจิตบำบัดผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ชาวอเมริกัน อธิบายถึงเรื่องนี้ว่า สิ่งเดียวที่จะทำให้คนทำผิดอยากขอโทษและคิดกลับตัวกลับใจ คือ remorse หรือ การสำนึกผิด ซึ่งลึกซึ้งกว่า regret หรือ ความเสียใจ

เพื่อให้เห็นความแตกต่างกันอย่างชัดเจน จำเป็นต้องทำความเข้าใจคำสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการทำผิดและขอโทษทั้ง 3 คำ ได้แก่ regret remorse และ repentance

regret เป็นความเศร้าเสียใจต่อสิ่งที่ตนทำ เพราะการกระทำนั้นได้ทำร้ายหรือสร้างผลเสียต่อผู้อื่นรวมถึงตัวเองในระดับต่างๆ เช่น ทำให้รู้สึกไม่ดี ทำให้ชีวิตประจำวันเปลี่ยนแปลงไป ทำให้สูญเสียทรัพย์สิน หรือร้ายแรงที่สุดคือทำให้สูญเสียชีวิต ซึ่งผลลัพธ์เหล่านี้ล้วนแต่เป็นสิ่งที่คนทำผิดไม่ต้องการให้เกิด จึงรู้สึกผิดที่ทำพลาดไป

แต่ความเสียใจของ regret คือความหมกมุ่นอยู่กับความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นในใจของตัวผู้กระทำผิดเท่านั้น อาจเป็นได้ทั้งความโศกเศร้าและความโกรธแค้น เพราะรู้ว่าท้ายที่สุดแล้ว ตนต้องได้รับบทลงโทษอย่างสาสมกับความผิดที่ก่อไว้ แม้จะเป็นทางออกที่ช่วยทำให้ทุกอย่างคลี่คลายลง แต่บทลงโทษจะสร้างความกลัวและโอกาสหลบเลี่ยงไม่ให้ตนได้รับโทษ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการคิดถึงแต่ความรู้สึกของตนเอง regret จึงไม่ใช่ความรู้สึกเสียใจต่อความเจ็บปวดที่คนอื่นต้องเผชิญจากการกระทำของตน ซึ่งต่างจาก remorse

remorse เป็นการยอมรับและสำนึกผิดในสิ่งที่ตนทำต่อผู้อื่นด้วยใจจริง คนผิดรู้ตัวดีว่าการกระทำของตนได้ทำร้ายใครบางคน remorse จึงเชื่อมโยงกับ empathy หรือความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่น นึกถึงใจเขาใจเรา

หลักสำคัญที่สุดของ remorse คือรับรู้ได้ถึงความเจ็บปวดของคนที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำผิดพลาดของเรา ทำให้เกิดความกระตือรือร้นต้องการแสดงความรับผิดชอบอย่างเร่งด่วน เพราะตนทนอยู่กับความรู้สึกผิดที่ทำให้ทุกฝ่ายเสียใจต่อไปโดยนิ่งเฉยไม่ทำอะไรไม่ได้

การสารภาพผิด คำขอโทษที่ออกมาจากใจ และสำนึกผิด ล้วนเกิดขึ้นจาก remorse ของผู้กระทำผิด มากไปกว่านั้น ยังตั้งใจพยายามอย่างสุดความสามารถเพื่อแก้ไขและเปลี่ยนแปลงให้ทุกสิ่งทุกอย่างดีขึ้น หวังทดแทนและชดเชยผลจากการกระทำของตนเท่าที่ทำได้ เพราะต้องการได้รับโอกาส ให้อภัย และอโหสิกรรมจากทุกคน

ทุกพฤติกรรมที่แสดงให้เห็นว่าคนทำผิดคิดการกลับตัวกลับใจใหม่ล้วนเรียกว่า repentance ทั้งหมด นั่นหมายความว่า repentance เป็นผลลัพธ์สุดท้ายและเป็นส่วนหนึ่งของการสำนึกผิดหรือ remorse

สำหรับคนทำผิด ไม่มีอะไรเจ็บปวดมากไปกว่าการมีชีวิตอยู่อย่างไม่ได้รับการให้อภัย และต้องทนทุกข์อยู่กับความเจ็บปวดที่ทำให้ใจร้อนรนไม่จบสิ้น หากใจไม่ได้สำนึกผิดจริงและคิดปรับปรุงตัวใหม่ แล้วความผิดนั้นก็อาจนำมาซึ่งความสูญเสียที่ไม่อาจหวนกลับคืนได้ โดยเฉพาะความเชื่อใจและความสัมพันธ์

เมื่อทุกคนทำผิดพลาดกันได้ คำถามสำคัญที่เราต้องเฝ้าถามตัวอยู่เสมอก็คือ หากทำผิดไปแล้ว จะทำอย่างไรทั้งต่อคนที่ได้รับผลจากการกระทำของเรา และต่อความรู้สึกผิดชอบชั่วดีในตัวเอง เพราะการสำนึกผิด ไม่ได้จบลงที่การขอโทษ แต่ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ทำ และชดเชยในผลกรรมที่ก่อไว้ เผื่อที่ว่าวันหลังจากไม่ทำผิดซ้ำอีก แบบนี้จึงถือว่าคนคนนั้นได้สำนึกผิดจริงๆ แต่จะดียิ่งกว่าถ้าเราไม่ทำผิดตั้งแต่แรก

 

อ้างอิง

  • Hershey H Friedman (2006). The Power of Remorse and Apology. Journal of College and Character, 7:1, , DOI: 10.2202/1940-1639.1510
  • Margalis Fjelstad. Regret vs. Remorse. https://bit.ly/39f7VDz