life

ยิ่ง ‘ใจมนุษย์ยากแท้หยั่งถึง มากเท่าไหร่ ยิ่งท้าทายนักจิตวิทยาให้พยายามคิดหาวิธีเข้าถึงจิตใจและตัวตนที่แท้จริงของมนุษย์มากเท่านั้น

ถ้าเข้าไปถามกันตรงๆ คงไม่มีใครสักคนยอมปริปากพูดง่ายๆ เพราะสิ่งที่เก็บซ่อนไว้ในใจส่วนใหญ่ คือ พฤติกรรมที่เบี่ยงเบนไปจากบรรทัดฐานของสังคมเป็นความผิดปกติบางอย่าง แม้กระทั่งด้านมืดของใจที่ทำให้เจ้าตัวรู้สึกแปลกแยกและไม่สบายใจทุกครั้งหากต้องเปิดเผยให้คนอื่นรู้ จึงเลือกปิดบังตัวตนเอาไว้เป็นความลับ

แต่ในไม่ช้าความจริงจะค่อยๆ แพร่งพรายกลายเป็นความรู้สึกระแคะระคายใจ ว่าใครบางคนยังมีตัวตนอีกด้านหนึ่งซึ่งเขาหรือเธออาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ เป็นเหตุให้นักจิตวิทยาในอดีตเลือกใช้ ‘สิ่งอื่น’ มาทำหน้าที่เสมือนเครื่องฉายภาพจิตใจและตัวตนของคนเราออกมา

ตั้งใจดูภาพถ่ายทั้ง 8 รูปในเวลาอันสั้น แล้วตอบตัวเองให้ได้ว่า ภาพไหนที่ดึงดูดสายตาให้จ้องดูมากที่สุด เพราะดูท่าทางเป็นมิตร ให้ความรู้สึกทางบวก และ ภาพไหนที่อยากเบือนหน้าหนีมากที่สุด เพราะดูท่าไม่น่าไว้ใจ ทำให้กลัวหากต้องสบตากัน ให้ความรู้สึกเชิงลง เมื่อเลือกภาพได้แล้ว ให้จดจำหมายเลขประจำภาพทั้งสองเอาไว้ตรวจคำตอบท้ายบทความ

Photo: Szondi-Test (1947) / courtesy of Léopold Szondi

ที่มาของภาพถ่ายชุดนี้ เริ่มต้นในปี 1935 เมื่อ เลโอปอล์ด ซอนดิ (Léopold Szondi) อายุรแพทย์ชาวฮังการี ผู้เชี่ยวชาญการวินิจฉัยโรคและความผิดปกติเกี่ยวกับระบบต่อมไร้ท่อ หันมาสนใจศึกษาจิตวิทยาและจิตพยาธิวิทยา (Psychopathology) หรือการศึกษาอาการเจ็บป่วยและพฤติกรรมที่สื่อถึงความบกพร่องทางจิตใจอย่างเอาจริงเอาจัง เพื่อพิสูจน์สมมติฐานที่ว่า ความผิดปกติทางจิตเกิดจากพันธุกรรมเป็นตัวกำหนดและสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นได้

แนวคิดของซอนดิได้รับอิทธิพลมาจากกฎการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมของ เกรกอร์ เมนเดล (Gregor Mendel) ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของ ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) และทฤษฎีบุคลิกภาพและจิตไร้สำนึกของ คาร์ล จุง (Carl Jung) ทำให้เขาปักใจเชื่อว่า รูปลักษณ์ร่างกาย สภาพจิตใจ ความคิดความอ่าน การกระทำ และชะตากรรมของมนุษย์ล้วนเป็นผลมาจากพันธุกรรมทั้งสิ้น

Photo: http://www.szondiforum.org/

ซอนดิยกตัวอย่างว่า หากพ่อมีบรรพบุรุษป่วยทางจิต ส่วนแม่เป็นคนปกติ ลูกที่เกิดมาย่อมเป็นปกติเหมือนแม่ เพราะแม่ไม่มีพันธุกรรมแฝงแบบพ่อ แต่ถือว่าลูกเป็นพาหะที่สืบทอดพันธุกรรมป่วยทางจิตจากพ่อไปยังรุ่นหลาน แล้วตลอดชีวิตของลูกจะถูกชี้นำด้วยพันธุกรรมป่วยทางจิตด้วย ทั้งเรื่องความรัก การปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ อาชีพการงาน การเจ็บไข้ได้ป่วย แม้กระทั่งรูปแบบการตาย

หมายความว่า พันธุกรรมจะคอยกำหนดทุกอย่างตั้งแต่เกิดจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต เพื่อกำกับให้คนเลือกทำสิ่งที่ตนรู้สึกพึงพอใจมากที่สุด ในแง่หนึ่ง ความพอใจหรือความสบายใจนี้เอง คือตัวการที่ดึงดูดให้คนลักษณะคล้ายคลึงกันเข้าหากัน เพราะจิตไร้สำนึกจะโน้มน้าวให้เลือกคบเฉพาะคนที่เห็นแล้วรู้สึกว่าใกล้เคียงกับตัวเอง เป็นความรู้สึกปลอดภัยและอบอุ่นใจหากได้รู้จักกัน

แนวความคิดเหล่านี้กลายเป็นหลักการพื้นฐานให้ซอนดิพัฒนาแบบทดสอบทางจิตวิทยาจนสำเร็จและเริ่มต้นใช้ครั้งแรกในปี 1947 เขาเรียกแบบทดสอบนี้ตามชื่อตัวเองว่า Szondi-Test

Photo: Yale Joel (1948) / courtesy of LIFE, Time Inc. via https://artsandculture.google.com/asset/QAGf3QPIWAgNrQ

จุดเด่นของ Szondi-Test คือการเชื่อมโยงระหว่างภาพที่เลือกกับตัวตนที่เป็นของผู้เลือก ภาพที่ให้ความรู้สึกทางบวกเกิดจากแรงดึงดูดในความคล้ายกัน ขณะที่ภาพที่ให้ความรู้สึกทางลบคือความคับข้องใจระดับจิตไร้สำนึก อาจเป็นตัวตนอีกด้านหนึ่งที่ผู้เลือกพยายามปฏิเสธหรือไม่ยอมรับเพราะด้วยเงื่อนไขบางอย่าง จึงแสดงทีท่าต่อต้านหวังปกปิดความจริงไม่ให้ผู้อื่นรู้

ภาพที่แต่ละคนเลือกไว้จึงสะท้อนให้เห็นความเสี่ยงหรือความเป็นไปได้เกี่ยวกับตัวตนและบุคลิกภาพเบื้องลึกในใจของผู้เลือก เพราะทุกภาพที่ใช้ทดสอบคือภาพถ่ายจริงของผู้ป่วยทางจิตในอดีต ทุกคนเป็นคนไข้ในความดูแลของซอนดิ เขากำหนดให้ภาพถ่ายแต่ละภาพเป็นตัวแทนของความผิดปกติทางจิตและบุคลิกภาพที่บกพร่อง ซึ่งแบ่งออกเป็น 8 ผลลัพธ์

แบบทดสอบประกอบด้วย ชุดภาพ 6 ชุด ชุดละ 8 ภาพ รวมทั้งหมด 48 ภาพ
Photo: Szondi-Test (1947) / Courtesy of Redstone Press

ก่อนตรวจคำตอบ ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ปัจจุบัน Szondi-Test กลายเป็นแบบทดสอบที่ขาดความน่าเชื่อถือ เพราะไม่มีทฤษฎีหรือการศึกษาจิตวิทยาสมัยใหม่ให้การรับรองความถูกต้องและแม่นยำของผลลัพธ์ ผลการทดสอบทั้งหมดจึงเท่ากับความคลาดเคลื่อนและความผิดพลาด นักจิตวิทยาจึงเลิกใช้ Szondi-Test ไปในที่สุด

ดังนั้น ทุกผลลัพธ์ที่เป็นคำตอบต่อไปนี้ เป็นเพียงข้อมูลในอดีตเพื่อความบันเทิงเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางจิตและความบกพร่องของบุคลิกภาพแต่อย่างใด

Photo: Szondi-Test (1947) / courtesy of Léopold Szondi

ภาพหมายเลข 1

Sadist
พึงพอใจที่ได้เป็นผู้สร้างความเจ็บปวดให้คนอื่น

แม้จะมีท่าทีเป็นมิตร ดูเป็นคนเงียบๆ แต่ลึกๆ แล้ว อยากวางอำนาจควบคุมคนอื่นให้คิดและทำตามที่ตนต้องการ ชอบใจเวลาเห็นคนอื่นกำลังทุกข์ทรมานเพราะถูกกระทำรุนแรง เป็นผลมาจากประสบการณ์ขื่นขมในวัยเด็ก เพราะได้รับการอบรมเลี้ยงดูมาอย่างเข้มงวด ถูกครอบครัวกดดันและบงการสารพัด ทำให้เป็นคนเก็บกดระวังตัวเองไม่ค่อยเปิดเผยความรู้สึกออกมา

Photo: Szondi-Test (1947) / courtesy of Léopold Szondi

ภาพหมายเลข 2

Epileptic
ก้าวร้าว หุนหันพลันแล่น เอาแน่เอานอนไม่ได้

มุมหนึ่งดูเป็นคนสงบเสงี่ยม สุภาพ อ่อนโยน ไม่ฉุนเฉียว แต่ก็มีอีกมุมหนึ่งที่เป็นคนโมโหง่าย ระเบิดอารมณ์รุนแรง เดือดดาล กลายเป็นคนอดกลั้นความรู้สึกของตัวเองไม่ได้ ทั้งๆ ที่ปกติเป็นคนเก็บความรู้สึกเก่ง แต่กลายเป็นว่าหากมีบางสิ่งบางอย่างเข้ามากระตุ้นให้ไม่พอใจ จะแสดงอาการหงุดหงิดทันที

Photo: Szondi-Test (1947) / courtesy of Léopold Szondi

ภาพหมายเลข 3

Katatonic
สูญเสียการควบคุมตัวเอง

ฉลาดและไหวพริบดี แต่เขินอาย ใจไม่อยู่กับตัว ไม่ค่อยมีสมาธิ ความสนใจสั้น จดจ่อสิ่งใดไม่ได้นาน พยายามจัดระเบียบตัวเองให้อยู่ในกฎกรอบ กลายเป็นคนเคร่งครัดกับทุกสิ่งรอบตัว มีความคิดโอ้อวดแต่กลับไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงและความแปลกใหม่ เพราะปรับตัวไม่ค่อยได้ ไม่ชอบตัวเองเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ไม่คุ้นชิน

Photo: Szondi-Test (1947) / courtesy of Léopold Szondi

ภาพหมายเลข 4

Schizophrenic
เมินเฉย ไม่สนใจไยดี ไม่มีความเห็นอกเห็นใจ

ค่อนข้างเข้ากับผู้อื่นได้ง่าย เพราะเป็นการชดเชยที่ตัวเองไม่เคยสนใจใครอย่างจริงจัง รู้สึกว่าตัวเองแปลกแยกและสันโดษเกินกว่าจะเข้าถึงคนอื่นๆ ได้ง่ายๆ กลายเป็นคนขาดปฏิสัมพันธ์ระดับลึกซึ้งกับคนรอบตัวแม้กระทั่งคนในครอบครัว การพยายามทำความรู้จักใครสักคนจึงเป็นเรื่องท้าทายอย่างมาก

Photo: Szondi-Test (1947) / courtesy of Léopold Szondi

ภาพหมายเลข 5

Hysteric
ใส่ใจทุกรายละเอียด ต้องการความสนใจจากคนอื่น

มีความสุขทุกครั้งเมื่อได้ดูแลตัวเองให้ดูดีอยู่เสมอ ชอบให้คนอื่นชื่นชมและสนใจ หลงคิดว่าตัวเองมีเสน่ห์น่าดึงดูด ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วไม่ได้เป็นที่สนใจของใคร อยากโอ้อวดความเป็นตัวเองที่ไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนใครแต่ไม่กล้าทำตัวโดดเด่น อยากเป็นคนที่อยู่ในสายตาผู้อื่นเสมอ ปรารถนาการยอมรับและคำชื่นชม

Photo: Szondi-Test (1947) / courtesy of Léopold Szondi

ภาพหมายเลข 6

Depressive
ขาดความเชื่อมั่น รู้สึกว่าไร้ค่า ไร้ความหมาย

มีความคิดติดลบต่อตัวเองตลอดเวลา เพราะไม่เคยเชื่อมั่นในตัวเองสักครั้ง พฤติกรรมภายนอกที่แสดงออกมาขัดแย้งกับความรู้สึกในใจ ดูเป็นคนมีชีวิตชีว่า มองโลกแง่ดี แต่เป็นเพียงการเสแสร้งแกล้งทำ เก็บซ่อนความรู้สึกเก่ง จนคนอื่นไม่รู้ว่าเป็นคนวิตกกังวลง่าย ขาดความภาคภูมิใจในความเป็นตัวเอง

Photo: Szondi-Test (1947) / courtesy of Léopold Szondi

ภาพหมายเลข 7

Maniac
สุดโต่งในทุกๆ ด้านของชีวิต

เป็นคนมีความคิดเป็นเหตุเป็นผล มีความเป็นผู้ใหญ่ที่เงียบขรึมสูง จึงไม่ชอบความสับสนวุ่นวายไร้ระเบียบ ไม่ชอบและโมโหทุกครั้งเมื่อรับรู้ได้ถึงอะไรก็ตามที่มากเกินความพอดี เช่น แสดงอารมณ์เกินจริง การขึ้นเสียง เพราะรำคาญง่าย หากชอบหรือสนใจสิ่งใดจะคลั่งไคล้แต่สิ่งนั้น ค่อนข้างสุดโต่งและหุนหันพลันแล่น

Photo: Szondi-Test (1947) / courtesy of Léopold Szondi

ภาพหมายเลข 8

Dissociative Identity Disorder
สูญเสียตัวตนและเป็นคนชอบตั้งคำถามต่อตัวเอง

เป็นไปได้ว่าในวัยเด็กถูกกลั่นแกล้งเกี่ยวกับลักษณะร่างกายและตัวตนที่แสดงออกมา ทำให้ไม่กล้าเป็นตัวของตัวเองแต่สร้างตัวตนหรือบุคลิกภาพใหม่มาปกปิดเพื่อหวังให้สังคมยอมรับ ยึดมั่นถือมั่นในบทบาททางเพศ เพราะเข้าใจว่าตนแปลกแยกจากคนอื่นๆ จึงยอมสูญเสียความเป็นตัวเอง เพื่อไม่ให้ตนเป็นส่วนเกินของสังคม

อ้างอิง

  • Anna LeMind. Szondi Test with Pictures that will Reveal Your Deepest Hidden Self. https://bit.ly/3hDOl92
  • Arthur C. Johnston. Szondi Test and Its Interpretation: An Introduction to Szondi, Achtnich, and Occupations. https://bit.ly/3i9HSSo
  • Chen Malul. Are You a Sadist? The Historic Role of a Controversial Psychological Test. https://bit.ly/3hH60gm
  • Julian Rothenstein (2016). Psychobook: Games, Tests, Questionnaires, Histories. New York : Princeton Architectural Press
  • Káplár, Mátyás & Bernáth, László & Kiss, Enikő. (2012). On the track of the validity of the Szondi Test. Szondiana. 32. 24-31.
  • Mary Bergstein (2017) Photography in the Szondi Test: ‘The Analysis of Fate’. History of Photography, 41:3, 217-240, https://doi.org/10.1080/03087298.2017.1304625