life

ยามที่เราท้อแท้ หมดพลัง หรืออยู่ในภวังค์เศร้าเสียใจ สิ่งหนึ่งที่ช่วยผ่อนคลายความทุกข์และความกังวลให้บรรเทาเบาลง คือ ‘สัมผัสอ่อนโยน’ ของคนใกล้ชิดที่เราวางใจได้ว่า เขาหรือเธอผู้นั้นคือเซฟโซน

‘เซฟโซน’ ในความหมายนี้เป็นความรู้สึกที่เรามีต่อคนรอบข้าง ตั้งแต่คนในครอบครัว เพื่อนฝูง เพื่อนร่วมงาน คนรัก หรือใครก็ตามที่อยู่ด้วยแล้วอุ่นใจและปลอดภัยทุกครั้ง โดยไม่จำเป็นต้องสร้างกำแพงกั้นหรือรักษาระยะห่างระหว่างกันเอาไว้ เราจึงเป็นตัวของตัวเองได้เต็มที่ ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกตัดสินด้วยอคติ และไม่ต้องเสแสร้งหรือฝืนแสดงท่าทางใดที่ไม่ใช่ตัวเอง กลายเป็นความสัมพันธ์ที่ทำให้เราสบายใจหากเผยความอ่อนแอและความเปราะบางที่เก็บซ่อนไว้ออกมา เหมือนได้ระบายความอัดอั้นกับคนที่ตั้งใจรับฟังและพร้อมช่วยปลอบประโลมเราให้กลับมาเข้มแข็งอีกครั้ง

แม้แต่ช่วงเวลาที่ชีวิตสุขสุดๆ เราเองก็ไม่ลืมว่า อยากจะแบ่งปันความสนุกและความสุขล้นเหล่านี้ไปยังคนคนนั้นให้ได้รับรู้และร่วมยินดี

จริงอยู่ว่า ตลอดชีวิตของเรามีผู้คนมากมายรายล้อม แต่จะมีสักกี่คนที่เรารู้สึกว่าไม่เคยหายไปจากสายตาและความคิด เพราะเขาหรือเธอผู้นั้นเป็นคนสำคัญที่คอยให้กำลังใจเสมอทั้งในยามสุขและยามเศร้า เป็นเหมือนไม้ใหญ่ยืนต้นมั่นคงแผ่ร่มเงาให้เราได้ซบไหล่ทุกครั้ง เมื่อเหนื่อยล้าอ่อนเพลีย และเป็นเหมือนฟูกนุ่มให้เราล้มตัวลงหนุนนอนตัก เมื่อเจอปัญหาหนักหนาเกินแบกรับไว้ไหว

ทำไม ‘สัมผัส’ ที่คนเราแตะเนื้อต้องตัวกันด้วยภาษากายที่สื่อถึงความเป็นห่วงเป็นใยอย่าง โผกอด ตบเบาๆ ที่บ่า หรือลูบหลังฝ่ามือ ถึงช่วยปรับอารมณ์ให้รู้สึกดีขึ้นได้ ทั้งๆ ที่ในบางครั้งก็ไม่จำเป็นต้องเอ่ยคำพูดสวยหรูเลยด้วยซ้ำ

คำตอบทั้งหมดอยู่เบื้องหลังคำสั้นๆ ซึ่งหลายคนอาจเคยได้ยินในซีรีส์เกาหลี นั่นคือคำว่า ‘skinship’ แต่ชนชาติแรกที่บัญญัติศัพท์นี้ขึ้นมาในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 กลับเป็นคนญี่ปุ่น โดยนำเอาคำว่า skin (ผิวหนัง) และ kinship (เครือญาติหรือความเป็นครอบครัว) มารวมกันเป็นคำใหม่ ความหมายดั้งเดิมจึงจำกัดอยู่แค่สัมผัสใกล้ชิดระหว่างเด็กแบเบาะกับแม่หรือคนที่คอยเลี้ยงดูแล

หลังจากนั้นไม่นาน ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 เมื่อคนเกาหลียืมคำว่า ‘สกินชิพ’ ไปใช้ในบริบทสังคมและวัฒนธรรมของตัวเอง ทำให้ความหมายของคำเปลี่ยนตามไปด้วย เพราะคนเกาหลีใช้อธิบายขยายความได้กว้างขวางมากกว่าว่า เป็นสัมผัสทางกายที่คนหนึ่งตั้งใจใช้สื่อแทนความรักและมิตรภาพไปยังอีกคนหนึ่ง ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์แน่นแฟ้นขึ้นและเพิ่มความผูกพันทางอารมณ์ในหมู่คู่รักและเพื่อนสนิท โดยไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับการปลุกเร้าทางเพศและไม่นำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ แล้วนิยามใหม่ของคนเกาหลี ก็ได้กลายเป็นความเข้าใจของคนทั่วไปในปัจจุบัน

ก่อนที่ ‘สกินชิพ’ จะถูกนับรวมให้เป็น physical touch (สัมผัสทางกาย) หนึ่งในวิธีทั้ง 5 ที่คนเราเลือกใช้สื่อสารถึงความรักตามแนวคิด love languages เดิมทีมีการทดลองครั้งประวัติศาสตร์ (เพราะให้คำตอบเหนือความคาดหมายแต่ขัดต่อหลักจริยธรรมการวิจัยในสัตว์จึงไม่สามารถทดลองซ้ำได้อีก) ของ แฮร์รี ฮาร์โลว์ (Harry Harlow) นักจิตวิทยาชาวอเมริกันผู้บุกเบิกศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสัมผัสทางกายกับความรักในลิง โดยข้อค้นพบทั้งหมดของฮาร์โลว์นำไปสู่บทสรุปที่เป็นหลักการและทฤษฎี ซึ่งยังคงใช้อธิบายได้ว่า สัมผัสทางกายส่งผลอย่างไรต่อความรัก? จนถึงทุกวันนี้

สิ่งที่ฮาร์โลว์ทำในการทดลอง คือจับแยกลูกลิงวอกแรกเกิดได้ไม่กี่ชั่วโมงออกมาจากแม่ของมัน จากนั้นให้ลูกลิงเกาะอยู่กับหุ่นจำลองแม่ลิง ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ตัว หุ่นตัวแรกห่อหุ้มด้วยผ้าขนหนูหนานุ่มให้สัมผัสอ่อนโยนและอบอุ่น ส่วนหุ่นอีกตัว แม้ว่าจะมีขวดนมให้ลูกลิงได้ดูดแต่บริเวณลำตัวหุ่นกลับเป็นลวดตาข่ายแข็งกร้าว

แล้วฮาร์โลว์ก็สร้างเงื่อนไขบางอย่างระหว่างการทดลอง เช่น สร้างสถานการณ์คุกคามให้รู้สึกไม่ปลอดภัย หรือทำเสียงดังกดดันให้รู้สึกหวาดกลัว เพื่อกระตุ้นให้ลูกลิงตัดสินใจเลือกว่าจะเข้าไปหาหุ่นตัวไหน

ผลที่ได้คือ ลูกลิงจะยอมเกาะหุ่นที่ลำตัวเป็นลวดเฉพาะเวลาหิวนม หรือต่อให้กำลังดูดนมอยู่ แต่ถ้าได้ยินเสียงดังที่ทำให้ตกใจเมื่อไหร่ ลูกลิงจะรีบกระโดดออกแล้ววิ่งมาอยู่กับหุ่นตัวที่ห่อผ้าขนหนูหนาแทนทันที และที่น่าตกใจมากที่สุด หลังจากฮาร์โลว์สังเกตพฤติกรรมของลูกลิงในระยะยาว มันเติบโตกลายเป็นลิงก้าวร้าว หวาดระแวง และอยู่ร่วมกับฝูงลิงไม่ได้ เพราะมีพฤติกรรมต่อต้านสังคมและมุ่งทำร้ายลิงตัวอื่น หากมีลูก มันจะเป็นพ่อแม่ลิงที่ไม่สนใจลูกตัวเอง

ผลการทดลองของฮาร์โลว์เป็นฐานความคิดให้เกิด Attachment Theory หรือทฤษฎีที่บอกว่า พัฒนาการทั้งทางร่างกาย จิตใจ และความสัมพันธ์ในวัยผู้ใหญ่จะสมวัยหรือมีปัญหา ขึ้นอยู่กับการดูแลเอาใจใส่และความผูกพันที่เกิดขึ้นตั้งแต่แรกเกิด เหมือนอย่างที่ลูกลิงสอนให้มนุษย์เข้าใจว่า เราต่างต้องรู้จักเรียนรู้ที่จะรักก่อนเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิต

ในแง่การทำงานของร่างกาย สัมผัสทางกายโดยทั่วไป จะกระตุ้นให้ระบบประสาทรับความรู้สึกในผิวหนังรับข้อมูลแล้วส่งไปยังสมอง ทำให้เราได้คิดทบทวนว่า สัมผัสนั้นมาจากใคร มีความหมายว่าอะไร อ่อนโยนหรือรุนแรงถึงขั้นสร้างอันตรายเป็นความเจ็บ เพื่อเราจะตอบโต้กลับได้อย่างเหมาะสม ในเชิงสรีรวิทยาจึงเรียกกลไกนี้ว่า Somatosensory System

ส่วน ‘สกินชิพ’ หรือสัมผัสอบอุ่นจากคนที่เรารักทุกรูปแบบ ทั้งกุมมือ ควงแขน กอดคอ และโอบไหล่ จะทำให้สมองหลั่งฮอร์โมนและสารสื่อประสาทบางชนิดอย่าง เช่น ออกซิโทซิน (Oxytocin) ซึ่งถูกขนานนามว่า hug hormone หรือ love hormone เพราะช่วยทำให้รู้สึกสงบ ปลอดภัย และผ่อนคลายจากความตึงเครียด รวมถึงโดพามีน (Dopamine) ฮอร์โมนที่ทำให้รู้สึกดี และเซโรโทนิน (Serotonin) ฮอร์โมนที่ลดอาการซึมเศร้า เพิ่มความสบายใจ ตรงจุดนี้เอง จึงมีความเป็นไปได้สูงว่า บางคนอาจจะเสพติดสกินชิพ หากเสพติดความรู้สึกดีหลังถูกสัมผัสจากคนที่ชอบพออยู่ก่อนแล้ว

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเรามีสิทธิ์สัมผัสตัวคนอื่นๆ ได้ตามใจ เพราะทุกคนต่างมีระยะห่าง หรือ personal space เป็นพื้นที่ส่วนตัวที่สงวนไว้ให้คนสนิทเข้าใกล้ได้เท่านั้น นี่คือเหตุผลที่เรารู้สึกดีเฉพาะเวลาคนที่เรารักเข้ามาสัมผัส หากถูกจับเนื้อต้องตัวโดยคนแปลกหน้าหรือคนที่รู้จักผิวเผิน เราจะรู้สึกไม่ดี หรืออาจถึงขั้นรู้สึกกำลังถูกคุกคามล่วงละเมิด ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง

ต่อให้รักกันมากแค่ไหน หากวางท่าไม่กล้ากอด หอม หรือแสดงออกถึงความใกล้ชิด ความสัมพันธ์ย่อมจืดจาง แม้ตัวอยู่ใกล้แต่อาจรู้สึกว่าห่างเหินตลอดเวลา หลายคนอาจบอกว่าแค่พูดคำว่า ‘รัก’ ก็น่าจะพอ แต่อย่าหลงลืมว่า เราทุกคนไม่ต่างจากลูกลิงในการทดลอง เมื่อเผชิญหน้ากับความยุ่งยากในชีวิตจนความเศร้าและความเหงาเข้ารุมเร้า แค่สัมผัสเบาๆ จากคนที่รักก็ช่วยให้เรารู้สึกถึงความเอาใจใส่ และความห่วงใย เพราะมีคนที่หวังดีคอยอยู่เคียงข้างเราไม่ห่าง

 

อ้างอิง