life

ถ้ามีเรื่องทุกข์ใจ คนแรกที่จะโทรหาคือใคร ถ้ามีเรื่องที่น่ายินดี จะบอกใครเป็นคนแรก  ถ้าต้องการความช่วยเหลือ จะต้องไปขอจากจากใคร 

เราต่างก็รู้คำตอบเหล่านั้นดี และบุคคลที่เป็นคำตอบของคำถามเหล่านี้ คือ Support system หรือ กลุ่มสนับสนุน ที่จะคอยสนับสนุนเราในทุกๆ ด้าน

ธรรมชาติของมนุษย์อยู่ร่วมเป็นสังคม นั่นหมายความว่าเราจะอยู่รอดได้ ส่วนหนึ่งก็มาจากการสนับสนุนของสังคม (Social support) ที่อยู่รอบๆ ตัวเรา สังคมที่ว่านั้นอาจไม่ใช่คนทั้งโลก หรือกลุ่มใหญ่โตอะไร แต่อาจเป็นเพียงคนไม่กี่คนที่พร้อมช่วยเหลือและเข้าใจเราเสมอ

ตั้งแต่เด็กจนโต คนเราปฏิสัมพันธ์กับผู้คนมากมาย ทำให้เครือข่ายของกลุ่มสนับสนุนค่อยๆ ถูกสร้างขึ้นทีละเล็กจนแข็งแรง พวกเขาเหล่านั้นจะเป็นใครก็ได้ เช่น พ่อ แม่ เพื่อนที่โรงเรียน อาจารย์ เพื่อนร่วมงาน หรือแม้แต่ผู้นำทางศาสนาที่นับถือ ในขณะเดียวกันตัวเราเองก็เป็นคนที่คอยสนับสนุนคนอื่นๆ อยู่ด้วยเช่นกัน

กลุ่มสนับสนุนนั้นจะคอยหนุนนำ ช่วยเหลือเรา หลักๆ มีอยู่ 4 ด้าน คือ 

ด้านอารมณ์ (Emotional support) -  คนกลุ่มนี้มักจะเป็นคนครอบครัว เพื่อนสนิท คนรัก หรือใครสักคนที่เราต้องการเมื่อรู้สึกเบื่อ เศร้า เหงา เครียด ในเวลาที่จิตใจอ่อนไหว อาจกล่าวได้ว่าเป็นที่พึ่งทางใจ เป็น ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ให้เราเล่าเรื่องของแต่ละวันได้อย่างสบายใจเสมอ

ด้านอุปกรณ์ (Instrument support) – เมื่อมีที่พึ่งทางใจแล้ว ก็มีที่พึ่งทางกาย กลุ่มคนนี้เป็นกลุ่มที่เรามักจะขอความช่วยเหลือในสิ่งที่จับต้องได้ เช่น ในเวลาที่ป่วย ต้องไปโรงพยาบาล อาจจะวานให้คนข้างบ้านหรือเพื่อนพาไปส่ง 

ด้านข้อมูล (Information support) – คนกลุ่มนี้จะเป็นคนสนับสนุนและให้ข้อมูล เช่น เมื่อรู้สึกสงสัย ต้องตัดสินใจทำอะไรสักอย่าง คนรอบข้างที่ให้ข้อมูลและคำปรึกษาได้เป็นอย่างดี จะช่วยให้เราผ่านช่วงเวลาแห่งความสับสน และตัดสินใจได้อย่างมั่นใจมากขึ้น

ด้านการประเมิน (Appraisal Support) – คนที่คอยดึงให้เราเห็นคุณค่าของตัวเองอยู่เสมอ

เครือข่ายของคนสนับสนุนที่เราโยงใยเอาไว้ แต่ละคนต่างก็มีหน้าที่สนับสนุนต่างกัน เช่น ครูเป็นผู้ให้ข้อมูลที่ดี ครอบครัวเป็นที่พึ่งทางใจหนึ่งเดียว หรือบางครั้ง คนคนเดียวก็อาจสนับสนุนได้ทุกด้านเลยก็ได้ เมื่อเราต้องการการสนับสนุนด้านไหน เราจึงรู้ว่าจะต้องไปหาใคร เพื่อนคนไหนปรึกษาเรื่องอะไรได้บ้าง ในขณะเดียวกัน บางคนก็อาจพบได้ว่าไม่มีพื้นที่ปลอดภัยเลย จิตแพทย์หรือนักบำบัดที่เคยเป็นคนแปลกหน้ามาก่อน ก็สามารถก้าวเข้ามาเป็นกลุ่มสนับสนุนที่ดีได้เช่นกัน 

ทำไมเราถึงต้องมีกลุ่มสนับสนุน? 

นั่นเป็นเพราะกลุ่มคนรอบข้างนั้นส่งผลกับความเป็นอยู่ที่ดีของเราอย่างเลี่ยงไม่ได้ ทั้งด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิต

งานวิจัยชิ้นหนึ่งในปี 2015 ของ ทาฮีเบฮ์ แฟสิฮี ฮารานดิ (Tayebeh Fasihi Harandiนักวิจัยปริญญาเอกด้านสุขศึกษาและการส่งเสริมสุขภาพ พบว่ากลุ่มสนับสนุนที่แข็งแรงจะส่งผลดีต่อสุขภาพจิตของคนเรา และจะยิ่งเห็นผลได้ชัดในผู้หญิง ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย คนทำงาน และนักเรียน 

โดยพวกเขากำหนดระดับความเครียดตั้งแต่ 1 – 10 จากน้อยไปมาก แล้วพบว่าผู้ที่มีกลุ่มสนับสนุนที่แข็งแรงจะมีความเครียดเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ ส่วนผู้ที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากจะมีระดับความเครียดสูงกว่า อยู่ที่ 6.3 

หลายๆ คนอาจพบว่าแค่ได้เล่าเรื่องที่อัดอั้นตันใจออกไปให้ใครสักคนฟังอย่างหมดเปลือกก็ทำให้สบายใจขึ้นมากแล้ว แม้ว่าจะยังไม่ได้รับคำปรึกษาใดๆ เลยก็ตาม กล่าวคือการมีพื้นที่ปลอดภัยจากลุ่มคนที่คอยสนับสนุนเราจะทำให้คนรับมือกับความเครียดได้ดียิ่งขึ้น และนี่เป็นการช่วยยับยั้งโรคที่อาจเกิดขึ้นจากความเครียดได้ด้วย เช่น โรคหัวใจ หรือโรคความดันโลหิตสูง

นอกจากนี้กลุ่มผู้สนับสนุน ยังส่งผลให้เราเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเกี่ยวกับสุขภาพได้ เช่น อาการติดเหล้า หรือการใช้สารเสพติดทั้งหลาย เมื่อคนเราโดดเดียวและต้องการที่พึ่ง แต่ไร้ซึ่งกลุ่มสนับสนุน สิ่งเหล่านั้นอาจกลายมาเป็นที่พึ่ง แต่ในทางตรงกันข้ามการมีกลุ่มสนับสนุนที่แน่นแฟ้นและให้คำแนะนำที่ดี จะทำให้คนเรามีความเสี่ยงที่จะหันไปใช้ตัวช่วยเหล่านี้ได้น้อยกว่า

ในกรณีที่ใครคนหนึ่งต้องการจะลด ละ เลิกพฤติกรรมบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเลิกบุหรี่หรือเลิกนิสัยเดิมๆ การได้แรงสนับสนุนจากคนรอบข้างก็จะช่วยให้ทำได้สำเร็จและก้าวผ่านไปได้อย่างดีด้วยเช่นกัน

บางคนเติบโตขึ้นมาพร้อมๆ กับการสร้างกลุ่มสนับสนุนที่แข็งแรง เมื่อต้องการความช่วยเหลือจึงพบว่ามีที่พึ่งมากมาย แต่บางคนอาจยังมองไม่เห็นใคร อย่างไรก็ตามมนุษย์สร้างสิ่งนี้ขึ้นมาได้ทุกเมื่อที่ต้องการ อาจจะเริ่มจากวิธีง่ายๆ เช่น 

สานสัมพันธ์กับครอบครัวและเพื่อน – กล่าวทักทาย พูดคุย หรือเสนอตัวช่วยเหลือเล็กๆ น้อยๆ เพื่อเริ่มต้นบทสนทนา และทำให้ความสัมพันธ์แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น หากมองไม่เห็นเพื่อนในชีวิตจริง ลองหาเพื่อนทางออนไลน์ก็อาจเป็นหนึ่งวิธีที่ช่วยเยียวยาใจได้เช่นเดียวกัน 

มองหาคนที่สนใจเรื่องเดียวกัน – หากพบว่าครอบครัวหรือเพื่อนรอบๆ ตัวนั้นไม่อาจสนับสนุนด้านไหนได้เลย ลองพาตัวเองไปอยู่ท่ามกลางกลุ่มคนที่สนใจเรื่องเดียวกันก็ได้ เช่น ไปร่วมชมรม ไปสมัครเรียนคอร์สใหม่ๆ หรือแม้แต่เมื่อเผชิญปัญหาบางอย่างที่แก้ไม่ตก การไปเข้ากลุ่มบำบัดกับคนที่เจอเรื่องเหมือนๆ กันก็ช่วยได้เช่นกัน

รับสัตว์มาเลี้ยง – กลุ่มสนับสนุนอาจเป็นได้มากกว่ามนุษย์ สัตว์เลี้ยงก็เป็นพื้นที่ปลอดภัยของคนได้ และการที่เราได้เป็นฝ่ายช่วยเหลือ เป็นผู้สนับสนุนคนอื่น นั้นก็มีผลดีพอๆ กับการที่เราเป็นฝ่ายรับด้วยเช่นกัน

ในวันที่รู้สึกว่าหนักหนาเกินกว่าจะแบกไว้ ลองสะกิดหาคนที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยแล้วเล่าเรื่องให้เขาฟัง การได้พักพิง อิงแอบ อาจทำให้รู้สึกดีขึ้นได้ และการที่ยังมองเห็นว่ามีคนสนับสนุนเราอยู่มากมาย อาจทำให้เราเองกลับมามองเห็นข้อดีของตัวเองได้มากกว่าเดิมก็ได้ 

 

อ้างอิง