life

“ฉันจะมีชีวิตอยู่ จนกว่าศัตรูของฉันจะตายตกไปหมดสิ้น”

มาดามเดวี หรือ เดวี ซูการ์โน (Dewi Sukarno) สุภาพสตรีชาวญี่ปุ่น ภริยาของอดีตประธานาธิบดีคนแรกของประเทศอินโดนีเซีย กล่าวประโยคนี้ขึ้นอย่างอารมณ์ดีกับแขกที่มาร่วมงานฉลองวันเกิดครบรอบอายุ 80 ปีของเธอ หลังถูกถามถึงเคล็ดลับความงามและวิธีดูแลตัวเองให้อ่อนกว่าวัยอยู่เสมอ

เดวียังบอกเล่าความตั้งใจที่ยึดมั่นมาตลอดอีกว่า แต่ละวันที่ผ่านเลยไปทำได้เพียงเพิ่มอายุให้มากขึ้นเท่านั้น เพราะในชีวิตนี้ เธอหวังว่าตัวเองจะมีสุขภาพแข็งแรงจนอายุยืนถึงร้อยปี เพราะเป็นหนทางเดียวที่ทำให้เธอมั่นใจได้ว่า ความปรารถนาจะกลายเป็นความจริง นั่นคือการได้เฝ้าดูเหล่าศัตรูและคนที่เธอจงเกลียงจงชังประสบกับความพินาศย่อยยับแล้วตายจากโลกนี้ไปอย่างทุกข์ทรมานให้สาสมกับสิ่งที่พวกเขาเคยทำไม่ดีไว้กับเธอ

ขณะที่ความเชื่อทางศาสนามักนำเสนอมุมมองตรงกันข้าม คือสนับสนุนแนวทางสายกลางให้ทุกคนปล่อยวางจากความโกรธและลดความถือดีในตนเพื่อพบกับความสุขที่เที่ยงแท้ของชีวิต ความขัดแย้งระหว่างสองขั้วความคิดนี้จึงทำให้เกิดคำถามชวนสงสัยว่า เหตุใดการเฝ้าดูความย่อยยับของศัตรูจึงกลายเป็นหนึ่งในความหมายของการมีชีวิตอยู่ของใครหลายคน?

ในความเป็นจริง มนุษย์ไม่ได้สมาทานคำสอนและยึดมั่นในหลักศาสนาเสมอไป เพราะยุคสมัยใหม่และโลกาภิวัตน์ได้เปลี่ยนแปลงความคิดของผู้คนให้กลับมาเชื่อมั่นและศรัทธาในตนเองมากกว่าใครหรือสิ่งใด

ยิ่งกว่านั้น แม้มนุษย์เป็นสัตว์ที่รู้จักคิดเป็นเหตุเป็นผล และในทุกกลุ่มสังคมมีสิ่งที่เรียกว่า socialization หรือการขัดเกลาและสั่งสอนเพื่อเตือนสติในคนในกลุ่มรู้จักยับยั้บชั่งใจ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า อีกแง่หนึ่งมนุษย์คือสัตว์ที่ขับเคลื่อนด้วยสัญชาตญาณ อารมณ์ และความรู้สึกพึงพอใจส่วนตัว จึงเป็นเรื่องเข้าใจได้หากคนคนหนึ่งจะเลือกตอบสนองความต้องการของตนด้วยความคิดมุ่งร้ายให้ศัตรูคู่อาฆาตเป็นอันตรายหรือมีอันเป็นไปในเร็ววัน

enmity หรือ ความเป็นปฏิปักษ์ เช่นนี้ ในทางจิตวิทยานับเป็น hostility หรือความเคียดแค้นไม่เป็นมิตรเพราะต้องการทำลายอีกฝ่ายให้ไม่เหลือชิ้นดี ซึ่งเป็นได้ทั้งความคิดสาปส่งที่เก็บกดอยู่ภายในใจและพฤติกรรมรุนแรงที่แสดงออกไปยังคนที่หมายหัวว่าเป็นศัตรู ทั้งหมดเกิดจากความคับข้องใจ ซึ่งเป็นผลมาจากความเกลียดชังสะสมและการถูกกดขี่ผ่านความแตกต่างระหว่างชนชั้นสังคมและความสัมพันธ์ทุกรูปแบบอีกทอดหนึ่ง

ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) จิตแพทย์ชาวออสเตรียผู้บุกเบิกและวางรากฐานแนวคิดจิตวิเคราะห์ ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับความเป็นปฏิปักษ์ ผ่านหนังสือ Group Psychology and the Analysis of the Ego ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1921 ว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่คนเราจะเอาตัวออกมาจากวังวนความก้าวร้าวและความเป็นศัตรู แล้วผลลัพธ์ที่สิ่งเหล่านี้สร้างไว้คือตะกอนที่ตกค้างอยู่ในใจ กลายเป็น trauma หรือ ความทรงจำฝังใจ ที่สร้างความเจ็บปวดทุกครั้งเมื่อนึกถึง

นี่จึงเป็นเหตุผลที่อธิบายว่ามนุษย์เกลียดกันได้จนถึงวันตาย หรือต่อให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตายจากไปแล้ว ความเป็นศัตรูก็อาจคงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง

อีกหนึ่งสิ่งที่ขับเน้นความเป็นปฏิปักษ์ให้ทวีความรุนแรงมากขึ้นและลดทอนความเห็นอกเห็นใจไปโดยปริยาย คือ belief in a just world หรือ ความเชื่อว่าโลกนี้ยุติธรรมดีอยู่แล้ว ของ เมลวิน เจ. เลอร์เนอร์ (Melvin J. Lerner) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาสังคมชาวอเมริกัน

เลอร์เนอร์อธิบายว่า คนเรามีแนวโน้มตีความเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันใหม่เป็นแบบ immanent justice คือตั้งใจมองศัตรูในแง่ลบเสมอ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้สิ่งที่ตนเชื่ออย่างสนิทใจว่า สมควรแล้วที่ศัตรูประสบเคราะห์ร้ายหรือความอยุติธรรมในสังคม เพราะมันเคยทำไม่ดีกับตนมาก่อน หากยังไม่ถึงฆาต ก็เชื่อมั่นเหมือนเดิมว่าศัตรูจะต้องพบกับจุดจบน่าอนาถในอนาคตอันใกล้ จึงตั้งตารอคอยวันแห่งการลงทัณฑ์มาถึงด้วยใจจดจ่อ

แต่ความเชื่อว่าโลกนี้ยุติธรรมไม่ใช่ความยุติธรรมที่แท้ เพราะเป็นแค่ความคิดลำเอียงเข้าข้างตัวเองที่ช่วยกอบกู้ความรู้สึกดีและมีความหวังว่า ศัตรูต้องชดใช้ทุกสิ่งทุกอย่าง เนื่องจากบางครั้งในชีวิตจริง ต่อให้เราอาฆาตแค้นมากแค่ไหน ก็ไม่อาจเอาคืนศัตรูได้ด้วยตัวเองอย่างตรงไปตรงมา เพราะสังคมมีเงื่อนไขทางศีลธรรมและกฎหมายห้ามเอาไว้ เว้นเสียแต่ว่าจะยอมเสี่ยงหรือยอมแลก ซึ่งขึ้นอยู่กับระดับความแค้นที่แต่ละคนเก็บจำฝังใจ

ขณะที่เป้าหมายหรือความหมายของการมีชีวิตอยู่ในความเข้าใจของคนส่วนใหญ่จะเป็นไปในทิศทางบวก เช่น อยู่เพื่อดูแลคนที่ตนรัก อยู่เพื่อเปลี่ยนแปลงใครบางคนหรือสังคมที่ดีขึ้น แต่มนุษย์เราก็มีชีวิตอยู่เพื่อเฝ้าดูความพินาศของศัตรูได้ด้วย หากผู้นั้นเชื่อว่าเป็นการรอคอยที่คุ้มค่า

จอร์จ เคลลี (George Kelly) นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน เคยศึกษาพฤติกรรมความเป็นปฏิปักษ์ ก่อนสรุปรวมเป็น ทฤษฎีโครงสร้างส่วนบุคคล (Personal Constructs Theory) ว่า มนุษย์แปลความหมายประสบการณ์ต่างๆ ในชีวิต และเลือกเป้าหมายให้ชีวิตของตนได้อย่างอิสระ เมื่อเลือกแล้ว ความหมายและเป้าหมายนั้นจะเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมต่อไป กลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว

จึงเป็นไปได้อย่างแน่นอนว่า บางคนอาจกำหนดความหมายของการมีชีวิตอยู่คือการเฝ้าดูความพินาศของศัตรู เหมือนกับความตั้งใจของมาดามเดวีที่จะมีชีวิตอยู่จนกว่าศัตรูคนสุดท้ายของเธอจะตาย จึงไม่ใช่เรื่องผิดอะไร ถ้าใครพอใจจะคิดอาฆาตคนที่ตนเกลียดชัง

ในท้ายที่สุด สัญชาตญาณและประสบการณ์จะเร้าให้เราเลือกว่าจะ ‘ต่อสู้’ หรือ ‘ถอยหนี’ แล้วการเลือกแต่ละครั้ง ย่อมมีราคาที่ต้องจ่ายเสมอไม่ว่าจะด้วยอะไรก็ตาม โดยเฉพาะในความเป็นปฏิปักษ์ที่สองฝ่ายอาจต้องห่ำหันกันจนกว่าฝ่ายใดจะผ่ายแพ้ราบคาบหรือตายไปข้าง

เมื่อเราพร้อมรับผิดชอบกับผลทุกอย่างที่เกิดขึ้นตามมาแล้ว ก็คงไม่มีอะไรต้องหวั่นใจเมื่อเผชิญหน้ากับศัตรูหรืออยู่ดูความพินาศของศัตรูให้เห็นกับตา

 

อ้างอิง