life

อกาธา คริสตี้ (Agatha Christie) จำไม่ได้ว่าเธอมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร 

ในช่วงต้นของศตวรรษที่ 20 คริสตี้คือนักเขียนนิยายแนวสอบสวนสืบสวนชาวอังกฤษคนสำคัญ แต่อยู่ๆ ระหว่างโด่งดังสุดขีดอยู่นั้น ในเดือนธันวาคมปี 1926 เธอก็หายตัวไปอย่างลึกลับ ตำรวจกว่าพันนาย อาสาสมัครอีกราวหนึ่งหมื่นห้าพันคน และเครื่องบินอีกหลายลำร่วมกันค้นหาเธอตามพื้นที่ห่างไกลต่างๆ การหายตัวไปของคริสตี้กลายเป็นข่าวหน้าหนึ่งใน The New York Times กระนั้นก็ไม่มีใครพบเธอจนกระทั่ง 10 วันให้หลัง

คริสตี้ถูกพบในสภาพหลงๆ ลืมๆ ในโรงแรมแห่งหนึ่งของเมืองฮาร์โรเกต ประเทศอังกฤษ ขณะเธอแจ้งชื่อเข้าพักด้วยชื่อ เทราซา นีลี (Teresa Neele) ซึ่งเป็นนามสกุลของชู้รักของสามีตน

หมอหลายคนได้ตรวจอาการของเธอ และอธิบายว่าเธอได้สูญเสียความทรงจำระยะสั้นจากผลกระทบของโรคซึมเศร้าที่เธอเคยเผชิญมาก่อนหน้า 

คริสตี้ไม่ได้อธิบายว่าเธอไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร—จุดที่เหมือนชีวิตของเธอระเบิดออก สติสัมปชัญญะตกร่องขาดหาย หลายคนตั้งข้อสงสัยว่า มันอาจเกิดขึ้นจากความเศร้าและความเครียด เพราะในช่วงนั้นสามีของเธอ พันเอกอาร์ชี คริสตี้ (Archie Christie) กำลังขอเธอหย่าขาด และในคืนที่เธอหายตัวไป สามีของเธอก็กำลังออกไปหาชู้รัก ที่มีนามสกุลว่า ‘นีลี’ ซึ่งคริสตี้หยิบมาใช้เป็นชื่อเข้าพักในโรงแรมที่เธอถูกพบในอีก 10 วันหลังจากนั้น ส่วนคนอีกกลุ่มก็คิดว่านั่นคือวิธีโปรโมตนิยายของเธอ

ไม่ว่าด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม คริสตี้ไม่ได้บอกใครว่าเธอไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร ในหนังสืออัตชีวประวัติชื่อ Agatha Christie: An Autobiography เธอกล่าวถึงชีวิตแต่งงานอันล้มเหลวไว้แค่ประโยคสั้นๆ ว่า “ไม่มีความจำเป็นใดที่จะเอ่ยถึง” ด้วยซ้ำ

อกาธา คริสตี้ (Agatha Christie)

แต่สำหรับคนธรรมดาที่กำลังเคลื่อนทะยานไปสู่วินาทีข้างหน้าอยู่เสมอ การหยุดชะงัก เพื่อพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตเสียบ้าง และถามว่า “เรามาถึงจุดนี้กันได้อย่างไร?” ก็ไม่ใช่สิ่งที่เราควรละเลย เพราะการเดินทางมาสู่จุดที่เรารู้สึกไม่โอเคจนอยากลบเลือนเหตุการณ์ในอดีตที่เคยผิดพลาดยังไม่ใช่จุดจบ ในทางตรงข้าม การคิดเช่นนั้นก็กลับยิ่งขัดขวางหนทางที่อาจดูสดใสขึ้นได้ในอนาคต

แดน กิลเบิร์ต (Dan Gilbert) นักจิตวิทยาและนักเขียนชาวอเมริกันเคยพูดบนเวที Ted Talks ในหัวข้อ The psychology of your future self ไว้ว่า

​“ชีวิตมนุษย์คือกระบวนการที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ซึ่งเราเข้าใจผิดไปว่ามันเสร็จสิ้นแล้ว ตัวตนที่คุณเป็น ณ ตอนนี้ เป็นสิ่งชั่วคราวประเดี๋ยวประด๋าว พอๆ กับตัวตนชั่วคราวที่คุณเคยเป็นมาก่อนหน้า สิ่งที่คงที่แน่นอนในชีวิตนี้ นั่นก็คือความเปลี่ยนแปลง”

นักจิตวิทยาอีกคนอย่าง จูเลียนา เบรนส์ (Juliana Breines) บอกว่า มันมีเหตุผลดีๆ มากมายที่เราควรพิจารณาเส้นทางในอดีตกว่าที่เราจะเดินทางมาถึงจุดนี้ เช่น มันสามารถยกระดับอารมณ์ของเราได้ แค่เพียงเปลี่ยนมุมมองและถามว่า เราได้รับอะไรจากอดีตมาบ้าง แทนที่จะถามว่าเราเสียอะไรไป หรือผลวิจัยที่ยืนยันว่า การมองกลับไปข้างหลังมันไม่ได้ทำให้เราติดค้างอยู่ในอดีต แต่กลับทำให้เรามองอนาคตอย่างมีหวังมากขึ้นต่างหาก

อกาธา คริสตี้ และสามีคนที่สอง เซอร์แม็กซ์ มาล์โลวาน (Max Mallowan)

ซึ่งก็ตรงกับสิ่งที่กิลเบิร์ตบอกว่า “เวลาเป็นพลังที่ทรงอำนาจ มันเปลี่ยนสิ่งต่างๆ ที่เราพึงพอใจ มันเปลี่ยนคุณค่าต่างๆ ที่เรายึดถือ มันเปลี่ยนบุคลิกภาพด้านต่างๆ ของเรา… …มันเป็นจุดผกผันของเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น มันเป็นช่วงเวลาที่พวกเรา ได้กลายเป็นตัวของตัวเองในที่สุด”

ก็เหมือนเรื่องการหายตัวไปอย่างลึกลับของอกาธา คริสตี้ ไม่มีใครรู้หรอกว่าเธอลืมจริง หรือแกล้งลืมว่าเธอไปสู่จุดนั้นได้อย่างไร แต่หากเธอไม่ถามคำถามที่ว่า “เรามาถึงจุดนี้กันได้อย่างไร?” เสียเลย เธอก็คงไม่สามารถมูฟออนจากชีวิตแต่งงานอันพังภินท์ และแต่งงานครั้งใหม่กับนักโบราณคดีนาม เซอร์แม็กซ์ มาล์โลวาน (Max Mallowan) ซึ่งจากหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว เธอก็ค่อนข้างใช้ชีวิตแต่งงานครั้งที่ 2 อย่างมีความสุข จนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิตในปี 1976

แล้วคุณล่ะ มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?

 

อ้างอิง