ฉลากสีแดงสะดุดตา กับภาพของฟาร์มแสนสุขที่ปรากฏอยู่บนขวด มักชวนให้ต้องหยุดดูอยู่หน้าตู้แช่นมเสมอ
นอกจากจะชื่นชมกับแพ็คเกจที่เหมือนกับได้ดูงานศิลปะในตู้แล้ว อาจเพราะครั้งหนึ่งนี่เคยเป็นนมที่หาซื้อได้ยาก ถึงขั้นมีการโพสต์ตามหาพิกัดกันในทวิตเตอร์
นี่คือนมออร์แกนิก แดรี่ โฮม (Dairy Home) ส่งตรงจากฟาร์มในจังหวัดนครราชสีมา ที่ปล่อยให้แม่วัวได้เดินเล็มหญ้า รับแดดรับลมอย่างสบายใจเหมือนกับภาพในฉลาก ที่กว่าจะสร้างระบบให้วัวได้กินอิ่ม นอนหลับ รับวิตามินดีจากแสงอาทิตย์จนสุขภาพดีได้อย่างนี้ พฤฒิ เกิดชูชื่น ผู้เป็นหัวเรือใหญ่ ต้องใช้เวลาในการพัฒนาเป็นสิบๆ ปี
บ้านของนม
นมวัวที่พฤฒิประทับใจที่สุดตั้งแต่จำความได้ คือนมวัวที่เขาได้ดื่มตอนไปเที่ยวฟาร์มโคนมกับครอบครัว ในยุคที่หาดื่มนมสดได้ยากยิ่ง นั่นจึงเป็นนมที่ดีที่สุดตั้งแต่เขาเคยดื่มมา
“เกือบ 50 ปีที่แล้ว ผมไปเยี่ยมฟาร์มโคนม ไปนั่งดูเกษตรกรรีดนมแบบใกล้ชิด พอเราได้ดื่มนมที่นั่น ถึงรู้ว่ารสชาติของนมมันอร่อยแตกต่างจากที่เราเคยกินมาก สมัยนั้นประเทศไทยยังไม่มีนมพาสเจอร์ไรส์แบบที่ขายกันในห้างอย่างทุกวันนี้ มากสุดก็เป็นนม evaporated milk พวกนมกระป๋อง นมคาร์เนชั่น นมตราหมี ส่วนนมสดที่เราบริโภคกันจะนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งรสชาติมันแตกต่างกัน ถ้าใครได้ลองดื่มนมสดๆ แล้วจะกลับไปกินนมพวกนั้นนี้อีกไม่ได้อีกเลย ผมเลยประทับใจมาก” เขาเล่าให้เราฟัง
ความทรงจำครั้งนั้นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาเลือกเรียนต่อสาขาสัตวบาล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก่อนจะไปเป็นพนักงานปรับปรุงพันธุ์อยู่ที่ฟาร์มโคนมยักษ์ใหญ่ของประเทศ นานกว่า 10 ปี
“ผมเรียนจบด้านโคนมมาโดยตรงและอยู่วงการนี้มาตลอด อาชีพผมคือสอนเกษตรกรเรื่องการปรับปรุงพันธุ์วัวให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของเมืองไทย ระหว่างทำงานอยู่ที่นั่นทำให้เรามีความรู้เรื่องโคนมมากพอสมควร ถ้าถามว่าทำไมเราถึงเลือกทำธุรกิจเกี่ยวกับโคนม ก็บอกตรงๆ ว่าไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว นี่เป็นเรื่องที่ชอบและเป็นความชำนาญเดียวที่เรามี”
เขาตัดสินใจออกมาทำธุรกิจผลิตอาหารวัวนมให้เกษตรกรอยู่พักใหญ่ ก่อนจะมองเห็นว่าตนเคยทำแทบทุกอย่างแล้วในวงการนี้ แต่ยังไม่เคยผลิตนมเองเลยสักครั้ง จึงทดลองทำยูนิตเล็กๆ ชื่อว่า แดรี่ โฮม (Dairy Home) ขึ้น
คำว่า ‘โฮม’ เป็นภาษาอีสาน หมายถึงการมารวมกัน ‘แดรี่ โฮม’ นอกจากจะหมายถึงบ้านของนมแล้วยังหมายถึงที่รวมผลิตภัณฑ์นมไว้ด้วยกันอีกด้วย
“ถ้าเราจะทำร้านขายนม มันก็ต้องเป็นนมที่ดีที่สุด เราเลยทำนมแบบที่ให้ลูกกินได้และยังขายให้แก่ผู้บริโภคอย่างสบายใจด้วย เรารู้ว่าเกษตรกรที่ไหนทำนมดี เราเลยได้นมมาจากฟาร์มของคนที่เรารู้จัก ทำไป 3 เดือนก็มีลูกค้าพอสมควร ธุรกิจเลยดำเนินไปได้ ตอนนั้นเรียกว่าโรงงานยังไม่ได้เลย เหมือนเป็นการทำงานหลังครัวมากกว่า”
จากร้านขายนมเล็กๆ ที่ตั้งใจอยากให้ลูกสาววัย 9 ขวบได้มีพื้นที่เล่นขายของและได้ดื่มนมดีๆ แดรี่ โฮมเริ่มขยับขยายเป็นฟาร์มโคนมเล็กๆ ด้วยอีกหนึ่งความตั้งใจของพฤฒิที่มองเห็นวิกฤติเศรษฐกิจจึงอยากสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเกษตรกรโคนม
พ.ศ. 2540 ประเทศไทยเผชิญกับวิกฤติค่าเงินบาทลอยตัว เขาเองเริ่มเห็นว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบเรื่องการเงิน คลื่นของความล่มสลายทางเศรษฐกิจค่อยๆ แผ่ขยายมายังต่างจังหวัด แม้ฟาร์มโคนมจะเป็นสถานที่ท้ายๆ ที่ได้รับผลกระทบ แต่เขากลับรู้สึกว่าสักวันคลื่นนั้นจะซัดมาถึงแน่ๆ
‘ทำอย่างไรให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น’ นี่คือโจทย์ต่อมาของเขาในการพัฒนาแดรี่ โฮม
พฤฒิเล่าว่าอาชีพเกษตรกรโคนมอาจจะดูมั่นคงในสายตาของคนภายนอก แต่ภายในกลับมีอุปสรรคยิบย่อยซุกซ่อนอยู่ เกษตรกรที่ประสบความสำเร็จนั้นมีอยู่เพียงหยิบมือ แต่ส่วนใหญ่ยังมีหนี้สินติดตัวมากมาย โจทย์ของเขาคือทำอย่างไรก็ได้ให้แดรี่ โฮมเป็นโมเดลที่จะทำให้เกษตรกรและผู้คนในวงจรเป็นอิสระจากความยากจน
“เราได้ข้อสรุปว่าการทำให้เขาได้น้ำนมเพิ่มขึ้นไม่ใช่ทางออก เพราะการแก้ปัญหาคือต้องทำให้เกษตรกรยืนด้วยขาของตัวเองให้ได้ ทำให้เขามีภูมิคุ้มกันต่อปัจจัยภายนอก เราเลยทำหน้าที่เป็นผู้เชื่อมสัมพันธ์ ถ้าเขาต้องการอะไร เราก็ไปหาให้ ซื้อขายกันเอง แต่สิ่งที่เราต้องการมากที่สุดคือทำให้เกษตรกรสร้างปัจจัยการผลิตในฟาร์มของตัวเองได้เพื่อลดการนำเข้าจากภายนอก”
หัวใจหลักของการทำฟาร์มในแนวคิดของเขาคือ ต้องลดต้นทุนการผลิตให้น้อยที่สุด และใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าที่สุด
“วิถีของเราคือใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ที่ตกกระทบพื้นดิน ทำให้เกิดแปลงหญ้า แล้วให้วัวไปกิน เปลี่ยนหญ้าเป็นนม แล้วเราก็เอานมมาขาย มันยากมากที่จะเป็นแบบนี้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่อย่างน้อย ในฐานะผู้ผลิตขั้นปฐมภูมิ เราจะต้องนำเข้าให้น้อยที่สุด พยายามลดค่าขนส่ง ลดการเคลื่อนย้ายวัตถุดิบจากที่ไกลๆ ให้เกษตรกรผลิตและหาได้ในพื้นที่”
“หลายๆ ฟาร์มทำได้ และสิ่งเหล่านี้จะเป็นความยั่งยืน แม้ว่าผลผลิตจะต่ำมาก แต่ในแง่ของเศรษฐศาสตร์ ถ้าผลิตได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุด แล้วขายได้ในราคาที่สูงที่สุด มันก็พอจะทำให้เลี้ยงตัวเองได้”
“ต้องเริ่มคิดตั้งแต่ ในพื้นที่ 1 แปลง คุณจะเลี้ยงวัวได้กี่ตัว ถ้าเลี้ยงได้ประมาณ 30 ตัว เกินนี้ก็ต้องทยอยคัดออกแล้วขายให้เพื่อนบ้าง ไม่อย่างนั้นก็จะผลิตหญ้าได้ไม่พอ สิ่งที่ตามมาคือต้องซื้อหญ้า ซื้ออาหารด้วย ต้นทุนมันก็จะสูงกว่าที่เราผลิตเองหลายเท่า” เขาเล่า
พฤฒิทดลองเลี้ยงวัวแบบธรรมชาติที่ฟาร์มของเขาเป็นแห่งแรก ก่อนชักชวนเกษตรกรในละแวกใกล้เคียงให้ลองเปลี่ยนมาใช้ระบบนี้ ทว่าในตอนแรกๆ แทบไม่มีฟาร์มไหนร่วมเดินไปกับเขาเลย เพราะการสวนกระแสโลกที่หมุนด้วยทุนนิยมไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด เมื่อเคยผลิตทีละเยอะๆ เพื่อป้อนให้กับตลาดที่หิวกระหาย การเปลี่ยนแปลงจึงเป็นเรื่องยาก
ฟาร์มโคนมส่วนใหญ่ในตอนนั้นยังแข่งขันกันเพื่อเลี้ยงวัวให้ได้น้ำนมมากๆ แม่วัวที่ให้นมเยอะก็จะเป็นวัวที่มีชื่อเสียง และขายได้ราคา เมื่อเขาชวนให้เกษตรกรเปลี่ยนมาทำฟาร์มแบบธรรมชาติแล้วทำให้ผลผลิตลดลง คำถามที่ตามมาจากเพื่อนเกษตรกรคือ ‘ทำไมพวกเขาต้องทำแบบนั้น’ และมันใช้เวลานานเกินกว่าที่จะรอไหว
“ภายในของวัวเคยถูกสร้างมาให้กินหญ้า เมื่อเปลี่ยนให้มันไปกินอาหารเม็ดเป็นเวลาหลายปี จุลินทรีย์ที่เคยย่อยหญ้าได้ก็มีปริมาณน้อยลง เมื่อวัวที่เคยกินอาหารกระสอบจากอุตสาหกรรมเปลี่ยนมากินหญ้าจากธรรมชาติ น้ำนมของเขาจะลดลง กว่าจะปรับตัวให้มีจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์มันก็ใช้เวลาหลายเดือน คนนี่แหละที่รอไม่ได้ ใจก็เริ่มฝ่อ มันต้องใช้เวลารอคอยกว่าที่จะปรับตัวได้ ยอมเจ็บตัวสัก 3 เดือนพอผ่านไปสักหนึ่งปี ร่างกายของวัวเข้าที่เข้าทาง มันก็จะเริ่มดีขึ้น คนที่ทำได้ก็เหมือนนักวิ่งมาราธอนที่สามารถเข้าสู่เส้นชัยได้ แล้วมาราธอนรอบต่อไปก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะเคยทำได้มาแล้ว”
นมที่ดีมาจากแม่วัวที่สุขภาพดี
ความเปลี่ยนแปลงที่ตามมาของการทำฟาร์มโคนมแบบที่เขาเชื่อคือระบบนิเวศที่สมบูรณ์ขึ้น เป็นฟาร์มที่เกษตรกรผลิตอาหารของวัวได้เอง เพราะธรรมชาติฟื้นฟูตัวเองจนทำให้มีหญ้าเพียงพอจะเป็นอาหารของแม่วัว
“ระบบนิเวศที่เกื้อกูลกันจะทำให้เกิดความยั่งยืนได้ แปลงหญ้าของเราจะมีวัวไปเดินกินหญ้า พวกนก พวกไก่ป่าก็จะเริ่มออกมาเดินหากินด้วย เพราะรู้ว่าในแปลงหญ้ามีอาหาร วัวเป็นแหล่งอาหารของนก เพราะแมลงต่างๆ มันชอบมาอาศัยอยู่กับวัว มีแมลงวันบ้าง มีเห็บบ้าง แต่มันจะไม่มากจนเกินไป เพราะมันจะถูกควบคุมอย่างเป็นธรรมชาติโดยพวกนกและไก่ ปริมาณของเห็บก็จะลดลงไป แต่ไม่สูญพันธุ์ ข้อดีอีกอย่างคือ วัวที่เลี้ยงในระบบนี้จะมีภูมิต้านทาน ไม่ป่วยง่าย ต้นทุนที่ลดไปอีกอย่างคือ ค่ายา สารปนเปื้อนจากยาปฏิชีวนะที่เคยอยู่ในน้ำนมก็หมดไป”
นอกจากระบบนิเวศจะได้รับการฟื้นฟูแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือร่างกายของวัวในฟาร์มก็ได้รับการฟื้นฟูด้วยเช่นกัน
“น้ำนมที่ผลิตได้เป็นน้ำนมธรรมชาติโดยแท้ วัวเขากินหญ้า แล้วหญ้าเปลี่ยนเป็นนมด้วยกลไกสรีระในร่างกายของเขา มันเป็นอาหารที่มีคุณค่าสูง มีวิตามินเอ ดี อี มีกรดไขมันที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายเยอะแยะไปหมด เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณเปลี่ยนวิถีการผลิตด้วยการใช้องค์ความรู้วิทยาศาสตร์แบบครึ่งๆ กลางๆ ที่ยังรู้ไม่สุด ทำให้วัวผลิตน้ำนมได้เยอะขึ้น รู้ไหมว่ามันทำให้น้ำนมวัวมีกรดไขมันที่เปลี่ยนไป มีโปรตีนเปลี่ยนไป รวมทั้งไปลดของที่มีประโยชน์ เช่น โอเมกา 3″
“มันไม่ใช่แค่วัวอารมณ์ดีแล้วจะมีโอเมก้า 3 นะ มันเป็นเพราะว่ามันได้กินอาหารที่เป็นธรรมชาติ มันได้แทะเล็มเดินกินอาหารในแปลงหญ้า ถ้าอารมณ์ดีแต่ยังถูกเลี้ยงอยู่ในคอกแล้วกินอาหารเม็ดจากอุตสาหกรรมเหมือนเดิม มันก็ไม่มีทางมีโอเมก้า 3 ได้”
เพื่อพิสูจน์แนวคิดของเขา พฤฒิจึงทำวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เพื่อพิสูจน์ว่าวัวนมที่เลี้ยงแบบปล่อยนั้นจะผลิตน้ำนมที่มีประโยชน์จริงๆ จนทำให้แดรี่ โฮมมีนม Grass fed ซึ่งเป็นนมจากแม่วัวที่เลี้ยงแบบปล่อยให้กินอาหารในทุ่งหญ้าเป็นหลัก และลดอาหารเสริมให้น้อยลงที่สุด
ฟาร์มออร์แกนิกแห่งแรก
ไม่ว่าจะทำธุรกิจอะไรก็ตาม ถ้ามันมีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม ถึงคนจะแฮปปี้แต่สิ่งแวดล้อมไม่แฮปปี้ ยิ่งประสบความสำเร็จเท่าไหร่มันยิ่งอันตรายมากขึ้นเท่านั้น
จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่ยิ่งใหญ่ของแดรี่ โฮม คือใน พ.ศ. 2548 ประเทศไทยประกาศเซ็นสัญญาเขตการค้าเสรี (FTA : Free Trade Area) กับนิวซีแลนด์และออสเตรเลีย และจะมีผลบังคับใช้ใน พ.ศ. 2568 หรือในอีก 4 ปีข้างหน้า เมื่อถึงตอนนั้นนมสัญชาติไทยจะเหลือน้อยมาก และเกษตรกรไทยจะเริ่มลำบาก เพราะเราสามารถนำเข้านมจากต่างประเทศได้อย่างเสรี ทำให้เขาต้องเร่งพัฒนามาตรฐานออร์แกนิกของไทยร่วมกับภาครัฐ จนกระทั่งประสบความสำเร็จ ได้การรับรองให้เป็นฟาร์มโคนมออร์แกนิกแห่งแรกในประเทศไทย และประกาศว่าเป็นธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
“ไม่ต้องห่วงเลยว่าแดรี่ โฮมจะรวย เพราะเราไม่รวย” เขากล่าวติดตลก
“เงินทุกบาทที่ได้มาเรา reinvest ทั้งหมด หมายความว่าเราจะเอากำไรไปลงทุนในกิจการที่สร้างเสริมความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายและการผลิตแบบออร์แกนิก ทำให้ตั้งแต่ก่อตั้งมา 20 ปีก็ไม่เคยปันผลเลย ทุกวันนี้ผมก็เป็นพนักงานกินเงินเดือนบริษัทตัวเอง ถ้าบริษัทเติบโตและมีความยั่งยืน เราก็จะมีแหล่งวัตถุดิบที่ดี”
“แดรี่ โฮมสามารถดำรงชีวิตได้ ดูแลทีมงานได้ ในขณะเดียวกันงานมันก็สร้างอิมแพคได้ทันที ทั้งต่อสิ่งแวดล้อม ต่อระบบการผลิต ต่อเกษตรกร โดยไม่ต้องรอให้ทำธุรกิจจนรวยก่อน แล้วค่อยเอาเงินไปช่วย นั่นมันเป็นโมเดลโบราณ ซึ่งบางทีมันไม่ต้องเป็นแบบนั้นก็ได้”
“ในเมื่อเรารู้อยู่แล้วว่าสังคมมีเพนพอยท์อะไร เราเลยหาทางใช้โมเดลธุรกิจแก้ปัญหา ในแบบที่ยังดูแลตัวเองได้ ดูแลคนรอบข้างได้ และที่สำคัญคือต้องดูแลสิ่งแวดล้อมด้วย ไม่ว่าจะทำธุรกิจอะไรก็ตาม ถ้ามันมีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม ถึงคนจะแฮปปี้แต่สิ่งแวดล้อมไม่แฮปปี้ ยิ่งประสบความสำเร็จเท่าไหร่มันยิ่งอันตรายมากขึ้นเท่านั้น”
ฟาร์มโคนมที่เป็นมิตรกับทั้งคนดื่มและคนทำ
แดรี่ โฮมเป็นหนึ่งในนมไม่กี่แบรนด์ที่ติดฉลากคาร์บอน ซึ่งเป็นฉลากที่ได้รับการรับรองว่าผลิตภัณฑ์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
พฤฒิเล่าให้เราฟังว่ากลุ่มคนดื่มหลักๆ ยังเป็นผู้ใหญ่ที่ตระหนักเรื่องสุขภาพ อาจเป็นคุณแม่ที่ซื้อนมให้ลูกดื่ม แต่ในปัจจุบันที่ความต้องการนมแดรี่ โฮมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เขาเองเชื่อว่านั่นเป็นเพราะคนรุ่นใหม่เริ่มตระหนักเรื่องสุขภาพ และเรื่องสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น
“เราไม่ได้ต้องการทำให้ผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้น เราแค่ต้องการของคุณภาพที่มีปริมาณพอเหมาะเท่านั้นเอง ทุกวันนี้นมในตลาดโลกมันลดลง เพราะอุตสาหกรรมทำให้นมกลายเป็นสินค้า commodity ที่ไม่ได้มีราคาแตกต่างกันมาก ถ้าเอาราคาเป็นเกณฑ์ นมแดรี่ โฮมก็ไม่มีทางสู้ใครได้ เพราะมันไม่ได้ถูกกว่าใครเลย แต่ถ้าเป็นคนที่ตระหนักเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เขาจะรู้สึกว่าถึงราคาสูงหน่อย แต่มันจะดีต่อเขาและสิ่งแวดล้อม”
ถ้าเราไม่ดูแลให้ดี ระบบที่เราอยู่อาศัยมันจะเปลี่ยนไปทำให้เราอาศัยอยู่ไม่ได้
การทำธุรกิจของเราจึงต้องไม่ทำลายนิเวศ
ก่อนหน้าจะมีโควิด-19 เขาเล่าว่ามีผู้คนเข้ามาเยี่ยมชมฟาร์มหลายพันคนต่อปี และเขาเชื่อมั่นว่าทุกมุมของฟาร์มนั้นสามารถเปิดให้เข้าชมได้ เพราะทุกกระบวนการผลิตเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แม้กระทั่งการจัดการน้ำเสียของโรงงานนม ซึ่งถึงจะเป็นเรื่องยาก แต่พฤฒิก็ทำการวิจัยจนหาวิธีแก้ปัญหาไปได้ด้วยการใช้สาหร่ายและแบคทีเรียจากธรรมชาติเข้าช่วย
“โลกมันใหญ่แล้วก็ความสามารถอยู่ได้อีกหลายพันล้านปี แต่ระบบนิเวศที่เราอยู่กันตอนนี้มีความเปราะบาง มันไม่ได้รองรับเราได้ทุกอย่าง ไม่ใช่มองแค่ประเทศ ไม่ใช่มองว่าเราเป็นคนเอเชีย เราเป็นคนไทย เป็นเชื้อชาติไหน แต่เราต้องมองว่าเราเป็นเผ่าพันธุ์โฮโมเซเปียนที่อาศัยอยูในโลก ถ้าเราไม่ดูแลให้ดี ระบบที่เราอยู่อาศัยมันจะเปลี่ยนไปทำให้เราอาศัยอยู่ไม่ได้ การทำธุรกิจของเราจึงต้องไม่ทำลายนิเวศ คนที่ทำธุรกิจรุ่นเดียวกับผมที่คำนึงถึงสิ่งนี้มันอาจไม่มากพอ การพัฒนาสิ่งแวดล้อมเลยช้า”
ตลอด 20 ปี พฤฒิยังคงทำงานอย่างหนัก อีกทั้งในปี 2030 เขายังตั้งใจให้นมจากฟาร์มของเขาเป็นนมแบบ carbon neutral หรือ นมที่ปลอดคาร์บอนไดออกไซด์ ตามนโยบายขององค์การสหประชาชาติ (UN : United Nations) ที่ต้องการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ อันเป็นที่มาของภาวะโลกร้อน
นอกจากหวังจะได้เห็นชีวิตของเกษตรกรที่ดีขึ้น ระบบนิเวศที่สมบูรณ์อันเป็นที่มาของนมคุณภาพดีให้คนได้ดื่มแล้วเขายังหวังอีกว่านี่จะเป็นโมเดลธุรกิจเล็กๆ ทางเลือกใหม่ที่แสดงให้ว่าแม้เราจะเดินอยู่ในกระแสของทุนนิยม แต่การเกษตรนั้นสามารถพัฒนาควบคู่ไปกับสิ่งแวดล้อมได้ อีกทั้งยังให้ผลผลิตดีๆ กลับมาอีกด้วย
แดรี่ โฮม (Dairy Home)
Facebook : Dairyhome Organic
Twitter : @dairyhomeonline