life

ไม่ว่าวันเวลาจะผ่านมานานแค่ไหน ภายในตัวของเราที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่ ยังมีพื้นที่เล็กๆ ที่คงความเป็นเด็กไว้ไม่เปลี่ยนแปลง

หากได้เห็นสิ่งของที่เคยเล่นสนุก การ์ตูนญี่ปุ่นที่เคยดู ตุ๊กตาหรือโมเดลที่เคยสะสม แม้กระทั่งขนมซองหนึ่งที่เคยกินเมื่อครั้งเยาว์วัย ภาพความหลังในอดีตที่เราเลือกเก็บจำเอาไว้ ย่อมหวนกลับมาชวนให้นึกถึงวันเก่า เพราะนั่นคือช่วงเวลาแห่งความสุขที่ไม่เคยเลือนหายไปจากความทรงจำ

การกลับมาของ ‘โอเดนย่า’ ในวาระครบรอบ 30 ปี จึงเป็นสิ่งมีค่ามากความหมายทางใจสำหรับผู้ใหญ่หลายคน เพราะภายในขนมห่อเล็กๆ ซองนี้ บรรจุสิ่งยิ่งใหญ่ที่ทำให้หัวใจพองโตเอาไว้ ทั้งรสชาติที่คุ้นเคย เสียงหัวเราะ และมิตรภาพจากการแบ่งปัน

Photo: อนุเคราะห์ภาพถ่ายโดยครอบครัวเหรียญชัยวานิช

หนึ่งในบรรดาผู้ใหญ่ที่ยังรักและจดจำโอเดนย่าได้เสมอ คือ ‘แซม’ – พลรพี เหรียญชัยวานิช ทายาทรุ่นสามของ บริษัท เอส พี อาร์ ฟู๊ด อินดัสทรี จำกัด เขาเป็นเด็กที่เติบโตขึ้นมาพร้อมกับเห็นความสำเร็จของขนมโอเดนย่า และกลายมาเป็นคนสำคัญผู้อยู่เบื้องหลังการนำโอเดนย่ากลับมาผลิต

นี่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่คิดแล้วลงมือทำได้ทันที เพราะแซมยอมรับว่ากว่าจะสำเร็จเป็นขนมโอเดนย่าซองแรก เขาและพี่น้องอีกสามคน ต่างทุ่มเทเวลาวางแผนและเตรียมความพร้อมร่วมกันถึง 3 ปีเต็ม ไม่ต่างจากการตามหาเพื่อนรักสมัยเรียนที่หายหน้าหายตาไปนาน

ในวินาทีแรกที่ได้พบกันอีกครั้ง ความรู้สึกพิเศษที่เกิดขึ้นจึงเป็นมากกว่าความหายคิดถึง ทำให้รีบเข้าไปถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ เพื่อระลึกความหลังและรับรู้เรื่องราวระหว่างทางของกันและกัน เช่นเดียวกับคำบอกเล่าของแซมต่อจากนี้ ที่จะพาเราทุกคนไปรู้จัก ‘โอเดนย่า’ ขนมในตำนานจากยุค 90 ซึ่งเป็นทั้งเพื่อนเก่าของเด็กๆ ในวันวาน และพร้อมเป็นเพื่อนใหม่กับเด็กๆ ในวันนี้

 

ยี่ปั๊วของคุณปู่สู่โรงงานผลิตขนม

แซมเริ่มเท้าความตั้งแต่จุดเริ่มต้น เพื่อให้เห็นภาพรวมและที่มาที่ไปของกิจการครอบครัว

“เดิมทีคุณปู่เปิดยี่ปั๊วหรือร้านขายส่งสินค้าทั่วประเทศในชื่อ ‘เค่งเล้งจั่น’ ด้วยประสบการณ์ระหว่างดูแลร้าน ทำให้คุณปู่สังเกตเห็นว่า ขนมห่อเป็นสินค้าขายดีที่สุด จึงเริ่มศึกษาขนมทุกชนิดจากการชิม ทำให้ทุกคนในครอบครัวเป็นนักชิมขนมตัวยงตามคุณปู่ไปด้วยโดยเฉพาะคุณพ่อ เพราะต้องรู้ว่าตัวไหนดี ตัวไหนอร่อย ตัวไหนคนชอบ

Photo: อนุเคราะห์ภาพถ่ายโดยครอบครัวเหรียญชัยวานิช

“หลังจากเห็นช่องทางธุรกิจ คุณปู่ก็ตัดสินใจสร้างโรงงานผลิตขนมข้าวโพดอบกรอบใน พ.ศ. 2518 ตอนนั้นเริ่มขายห่อละ 1 สลึง (25 สตางค์) เน้นทำขนมรสชาติอร่อยและสะอาดในราคาถูกให้เด็กๆ ซื้อได้ จนใน พ.ศ. 2527 คุณปู่จึงก่อตั้งเป็นบริษัทของครอบครัว และคุณพ่อก็เข้ามารับช่วงต่อดูแลกิจการทั้งหมดเต็มตัวเป็นรุ่นสอง”

Photo: อนุเคราะห์ภาพถ่ายโดยครอบครัวเหรียญชัยวานิช

รากฐานมั่นคงที่รุ่นแรกวางไว้ ทั้งหัวคิดธุรกิจและโรงงานผลิตขนม ช่วยให้รุ่นต่อมาหาวิธีนำเสนอขนมได้แตกต่างจากที่มีวางขายกันอยู่ในท้องตลาด จนเกิดเป็น ‘โอเดงยา’ แบรนด์ขนมยอดนิยมพร้อมของแถม ซึ่งสร้างชื่อเสียงให้บริษัทกลายเป็นที่รู้จักและที่รักของเด็กๆ ตั้งแต่ พ.ศ. 2532

“คุณพ่อคือคนต้นคิด เป็นขนมข้าวโพดอบกรอบรสซีฟู้ดที่แถมการ์ดการ์ตูนในซอง ขายดีมากเพราะถูกใจเด็กสมัยนั้น ทำให้เกิดขนมแถมการ์ดเกมอื่นๆ ตามมา ผมจำได้ว่าทุกร้านขายขนมหน้าโรงเรียนต้องมีโอเดนย่าขาย แต่คุณพ่อไม่หยุดแค่นั้น ท่านใช้วิธีเปลี่ยนการ์ดชุดใหม่ไปเรื่อยๆ พร้อมกับเปลี่ยนสีพื้นหลังซองขนม เพราะอยากพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้นตลอดเวลา เด็กๆ ต่างติดตามโอเดนย่าจนกลายเป็นแฟนตัวยง ต้องคอยสังเกตสีพื้นหลังของซอง หากเปลี่ยนสีเมื่อไหร่แสดงว่าการ์ดชุดใหม่มาแล้ว”

 

ร้านโอเด้งสร้างชื่อให้ ‘โอเดงยา’

ความชมชอบการ์ตูนญี่ปุ่นของเด็กๆ ช่วงต้นยุค 90 ทำให้ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับตัวการ์ตูนเรื่องดังและความเป็นญี่ปุ่นได้รับความนิยมไปด้วย พอดีกับช่วงที่คุณพ่อของแซมได้เดินทางไปประเทศญี่ปุ่น แล้วประทับใจบรรยากาศเป็นกันเองภายในร้านโอเด้งจึงนำมาตั้งเป็นชื่อขนม

“คุณพ่อเคยเล่าให้ฟังว่า ร้านโอเด้งเป็นทั้งแหล่งรวมของอร่อยและที่นัดพบของเพื่อนฝูง ทุกครั้งที่เข้าไปจะสัมผัสได้ถึงความรู้สึกง่ายๆ สบายๆ มีแต่เสียงหัวเราะและความสุข เพราะทุกคนเป็นเพื่อนกัน ต่อให้ไม่ได้รู้จักมาก่อน บรรยากาศที่เป็นมิตรมากๆ จะทำให้ทุกคนในร้านพูดคุยกันได้แบบไม่ต้องเขินอาย เป็นความรู้สึกอบอุ่นหัวใจที่คุณพ่อประทับใจเป็นการส่วนตัว

“เมื่อต้องตั้งชื่อให้ขนม คุณพ่อเลยนึกถึง ‘โอเดงยา’ เป็นชื่อแรก เพราะอยากมอบความรู้สึกเป็นเพื่อนเหมือนที่เคยได้รับขณะนั่งอยู่ในร้านโอเด้งให้เด็กๆ และทุกคนที่กินขนมรับรู้ความรู้สึกเดียวกันนี้ได้ ความเป็นโอเดงยาจึงเกี่ยวข้องกับความเป็นญี่ปุ่น รสชาติขนมที่อร่อย และความเป็นเพื่อนสนิท”

Photo: อนุเคราะห์ภาพถ่ายโดยครอบครัวเหรียญชัยวานิช

ส่วนมาสคอตหน้าซอง มีชื่อและความหมายที่ต้องการสื่อเหมือนกัน แซมย้ำด้วยว่าเรื่องนี้ไม่เคยเปิดเผยหรือบอกให้ใครรู้มาก่อน “คุณพ่อตั้งชื่อว่า ทะโกะซัง’ แปลตรงตัวตามภาษาญี่ปุ่นว่า คุณปลาหมึก เพราะตัวขนมเป็นรสซีฟู้ด แล้วคุณพ่อก็อยากให้เป็นภาพแทนของคุณลุงใจดีที่พร้อมมอบความสุขและความอร่อยให้กับทุกคน”

 

ความทรงจำสมัยเด็กที่ไม่มีวันจาง

แซมจดจำกระแสความนิยมของขนมโอเดงยาในวัยเด็กได้ชัดเจน ราวกับว่าเหตุการณ์ทุกอย่างเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวันก่อน ทั้งๆ ที่ผ่านมานานหลายสิบปี เขาชวนนึกย้อนไปถึงสมัยเรียนชั้นประถมที่เด็กทุกคนเล่นเขี่ยการ์ดและตามเก็บสะสมการ์ดพลังให้ครบทุกแบบ

“ช่วงพักกลางวันหรือตอนเลิกเรียน ม้านั่งทุกตัวในโรงเรียนจะถูกจับจองหมดจนไม่มีเหลือว่าง เพราะเด็กๆ ใช้เป็นสนามประลองเขี่ยการ์ด เพื่อนของผมหลายคนถือการ์ดเป็นปึกเบ้อเริ่มเทิ่ม เป็นความภูมิใจวัยเด็กที่บ้านของเราผลิตขนมแถมการ์ดการ์ตูนขึ้นมา มีอยู่ครั้งหนึ่ง ผมเคยเอาการ์ดโอเดงยาครบทุกแบบใส่กล่องดินสอญี่ปุ่นไปจับสลากในงานเลี้ยงปีใหม่ของโรงเรียน เพื่อนทุกคนอยากได้รางวัลของผมทั้งนั้นเลย (หัวเราะ)

Photo: อนุเคราะห์ภาพถ่ายโดยครอบครัวเหรียญชัยวานิช

“แล้วภาพจำเวลาเลิกเรียน คือ เด็กๆ วิ่งกรูออกไปที่ร้านขายขนมหน้าโรงเรียน แล้วแย่งกันซื้อโอเดงยา จะได้รีบเปิดการ์ดเอามาเล่นกัน คนที่ได้ใบซ้ำจะแลกกับเพื่อน ส่วนขนมก็เก็บไว้กินเพลินๆ ระหว่างเขี่ยการ์ด เป็นบรรยากาศที่ผมจำได้ดี”

ไม่ใช่แค่ขนมที่เป็นที่รู้จัก ตัวของแซมเองก็ถูกจดจำในฐานะลูกเจ้าของขนมโอเดงยาด้วย เพราะเพื่อนๆ มักจะบอกเจ้าของร้านค้าว่าเขาเป็นใคร ทำให้ได้รับความเอ็นดูอยู่เสมอ

“อย่างหน้าโรงเรียนมีร้านขายขนม 3 ร้าน เวลาผมเดินผ่านคุณลุงคุณน้าที่เป็นเจ้าของจะทักทายประจำ บางร้านเรียกให้ผมเข้าไปดื่มนมดื่มน้ำทุกครั้ง เพราะขนมโอเดนย่าช่วยให้ร้านชำขายของได้กำไรเพิ่มขึ้นกว่าแต่ก่อน”

 

จุดเปลี่ยนผ่านและการกลับมาของ ‘โอเดนย่า’

โอเดงยาเป็นขนมที่ครองใจเด็กยุคแอนะล็อกเกือบทศวรรษ แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ความสนใจของเด็กๆ ย่อมเปลี่ยนตาม ในที่สุดขนมห่อนี้ก็กลายเป็นตำนานขนมแห่งยุค 90 เหลือไว้เพียงความทรงจำดีๆ ให้ทุกคนนึกถึง

“เป็นเรื่องปกติของผลิตภัณฑ์ ต่อให้ฮิตมากขนาดไหน ก็มี life circle หรือช่วงเวลาของตัวเอง ประกอบกับช่วงนั้นมีของเล่นใหม่ๆ เข้ามาตีตลาดเรื่อยๆ ทำให้ความนิยมของขนมกับการ์ดการ์ตูนค่อยๆ ลดน้อยลง แล้วลูกค้ากลุ่มหลักที่เป็นเด็กก็เริ่มโตเป็นวัยรุ่นเป็นผู้ใหญ่ บริษัทเลยเปลี่ยนมาพัฒนาตัวขนมที่ไม่จำเป็นต้องมีของแถม และเน้นตลาดส่งออกแทน”

การจบลงของบางอย่างเปิดทางให้สิ่งที่ดีกว่าเกิดขึ้นมา การเปลี่ยนผ่านจึงเป็นโอกาสของการเริ่มต้นใหม่ โคโคริ กลายเป็นแบรนด์ขนมที่มารับไม้ต่อจากโอเดงยา

สามซองนี้เป็นพี่น้องกัน ซองแดงคือขนมรสปลาหมึกในตำนาน รสชาติต้นตำรับ 100% ที่ทุกคนคุ้นเคยมากว่า 30 ปี ส่วนซองเขียวคือขนมรสมะพร้าว หอม หวาน มันอร่อย มีขายเฉพาะร้านค้าส่งและยี่ปั้วขนมทั่วประเทศ
Photo: อนุเคราะห์ภาพถ่ายโดยครอบครัวเหรียญชัยวานิช

“โคโคริเป็นขนมข้าวโพดอบกรอบรสปลาหมึกที่คุณพ่อเป็นคนคิดค้นสูตรเจ้าแรกของประเทศ ให้ความรู้สึกคล้ายกับกินโอเดงยา แม้จะไม่ได้เหมือนกันสักทีเดียว แต่ก็เป็นขนมที่ได้รับความนิยมสูงสุดต่อจากโอเดงยา จนต้องผลิตรสชาติใหม่ตามออกมา เพื่อเพิ่มตัวเลือกและไม่ทำให้ลูกค้าเบื่อไปก่อน คือ รสมะพร้าวและรสสาหร่าย”

ถึงอย่างนั้นก็ยังมีคนจำนวนไม่น้อยถามหาโอเดงยาอยู่เรื่อยๆ บางคนคิดถึงรสชาติขนม บางคนคิดถึงการ์ดการ์ตูน แซมเองก็ใฝ่ฝันมานานแล้วว่า เมื่อได้รับความไว้วางใจจากคุณพ่อให้เข้ามาดูแลกิจการเป็นรุ่นสาม หนึ่งในความตั้งใจที่หมายมั่นจะทำให้สำเร็จ คือผลิตขนมโอเดงยาอีกครั้ง

“ผมจำทุกช่วงเวลาของโอเดงยาได้ จากที่ขายดีมากๆ แล้ววันหนึ่งก็หายไปจากแผง เป็นความรู้สึกน่าใจหายเหมือนกันนะ ผมรู้ว่าปีนี้ครบรอบ 30 ปีพอดี เลยคิดว่าเป็นช่วงเวลาเหมาะสมที่สุดที่จะนำขนมในตำนานกลับมา

“นี่คือโปรเจกต์ใหญ่ที่เริ่มต้นคิดและวางแผนกันตั้งแต่ 3 ปีที่แล้ว เพราะต้องใช้เวลาศึกษางานเก่าๆ ที่รุ่นคุณพ่อเคยทำไว้ดีมาก เราต้องช่วยกันวิเคราะห์จุดเด่น จุดแข็ง แล้วนำมาต่อยอด”

 

สานต่อความเป็นต้นตำรับ

จากเด็กชายที่เคยแต่วิ่งเล่นในโรงงานผลิตขนม เมื่อถึงคราวที่ต้องรับหน้าที่ดูแลกิจการ ความท้าทายของการรับช่วงต่อธุรกิจจึงกลายเป็นทั้งแรงกดดันและผลักดันให้แซมตั้งใจทำทุกอย่างเพื่อขนมโอเดนย่าจะได้ออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด สมกับการรอคอยของทุกคน

“ในสายตาของผม ความเป็นต้นตำรับและต้นฉบับของโอเดนย่าที่รุ่นคุณพ่อทำไว้มันยิ่งใหญ่มาก เหมือนตัวเองกำลังแบกความคาดหวังของแฟนขนมอยู่ตลอดเวลา จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่รู้สึกกดดันเลย อย่างน้อยที่สุดก็ต้องทำให้ทัดเทียมกับความยิ่งใหญ่ที่คุณพ่อสร้างไว้ในอดีต เมื่อมีแรงกดดันตรงนี้อยู่ การทำงานเพื่อนำโอเดงยากลับมาเลยเป็นความตั้งใจที่ทำกันแบบสุดฝีมือ ไม่ใช่แค่ผมคนเดียว แต่ทุกคนทุกฝ่ายใส่ใจทุกขั้นตอนของการทำงาน เพื่อให้ได้ความรู้สึกแบบเดียวกับ 30 ปีที่แล้ว”

อันที่จริง นี่ไม่ใช่การนับหนึ่งหรือการหัดเรียนรู้ตั้งแต่ก้าวแรก เพราะตั้งแต่เด็ก แซมได้รับการปลูกฝังวิธีคิดเกี่ยวกับการทำธุรกิจจากคุณพ่อมาอย่างแยบยล เมื่อถึงคราวลงสนามจริง เขาจึงพร้อมเริ่มต้นทำงานทันที

“ตอนเรียนชั้นประถม นอกจากค่าขนมที่ผมได้รับเป็นประจำทุกวัน คุณพ่อจะให้เงินเพิ่มคนละ 50 บาท ในสมัยนั้นถือเป็นจำนวนที่เยอะมาก เอาไปซื้อขนมที่แถมของเล่นแล้วมาวิจารณ์ให้ท่านฟังว่า รสชาติเป็นยังไง อร่อยไหม ของเล่นที่แถมมีข้อดีข้อเสียอะไรบ้าง จากนั้นก็จะให้คิดวิธีแก้ ท่านจะนำข้อมูลไปพัฒนาขนม ส่วนผมได้ฝึกคิดไปในตัว ทำให้คุ้นชินกับขนมที่มีอยู่ในท้องตลาด”

 

จาก ‘โอเดงยา’ สู่ ‘โอเดนย่า’

‘โอเดนย่า’ วันนี้กับ ‘โอเดงยา’ เมื่อ 30 ปีก่อน มีทั้งความเหมือนและความต่าง แต่หัวใจสำคัญของโอเดนย่าที่แซมคงไว้ไม่เปลี่ยนแปลง คือ ความเป็นขนมอร่อยพร้อมของแถมคุณภาพดี

“จุดที่เหมือนกันคือรสชาติดั้งเดิมของขนม การออกแบบซองก็อ้างอิงมาจากรูปแบบซองในอดีต และของแถมก็ต้องเป็นการ์ดการ์ตูนเรื่องดราก้อนบอล เพราะผมตั้งใจสร้างโอเดนย่าเป็นไทม์แมชชีนที่พาทุกคนนั่งย้อนเวลากลับไปหาความทรงจำดีๆ ในวัยเด็ก กลับไปเจอเพื่อนเก่าที่จากกันมานาน 30 ปี

“ส่วนจุดที่แตกต่างคือชื่อเรียก ครั้งนี้ใช้คำว่า ‘โอเดนย่า’ แทน ‘โอเดงยา’ ปรับตัวสะกดให้ตรงตามชื่อ ‘Oden-ya’ ในภาษาอังกฤษ อีกจุดที่ไม่เหมือนคือเพิ่มซองห่อการ์ดออกมาอยู่ข้างนอกซองขนม หากใครต้องการแกะซองการ์ดดูลายก่อนก็ทำได้เลย ส่วนซองขนมค่อยเก็บไว้กินทีหลัง เพราะผมเปลี่ยนวัสดุที่ใช้ผลิตซองจากเมทัลไลท์มาเป็นอลูมิเนียมฟอยด์ ทำให้เก็บรักษาคุณภาพของขนมไว้ได้ดีกว่าและนานกว่า เพราะบางคนเก็บสะสมทั้งซองขนมโดยไม่แกะไว้เป็นของที่ระลึก”

Photo: อนุเคราะห์ภาพถ่ายโดยครอบครัวเหรียญชัยวานิช

เมื่อผลิตขนมโอเดนย่าล็อตแรกเสร็จพร้อมจำหน่าย แซมจินตนาการไม่ออกว่าเสียงตอบรับจากแฟนขนมที่รอคอยการกลับมาของโอเดนย่าจะเป็นไปในทิศทางไหน แต่ในใจของเขาหวังเพียงว่า อยากให้ขนมได้ทำหน้าที่ปะติดปะต่อความทรงจำวัยเด็ก

“เป็นความท้าทายมากว่าทำยังไงถึงจะประสานสินค้าเรากับตลาดขนมในยุคปัจจุบันให้ได้ เชื่อมต่อระหว่างคนรุ่นก่อนกับคนรุ่นนี้ เพราะนักสะสมการ์ดก็แบ่งเป็นคนหลายรุ่น ตอนนี้แฟนๆ ยุค 90 รับรู้การกลับมาของโอเดนย่าแล้ว จุดหมายต่อไปก็อยากทำให้เด็กรุ่นใหม่รับรู้ถึงการกลับมาขนมโอเดนย่าด้วยเหมือนกัน จึงต้องปรับภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้ทันสมัย เร็วๆ นี้ผมวางแผนปรับปรุงการ์ดให้ใช้เล่นกับโลกออนไลน์หรือนำเทคโนโลยีเข้ามาร่วมเล่นสนุกได้ เพื่อให้เข้าถึงเด็กรุ่นใหม่มากขึ้น”

 

การ์ดและของพรีเมี่ยมที่ชวนให้ตามเก็บสะสม

แต่ไหนแต่ไรมา ของแถมเป็นทั้งจุดเด่นและจุดแข็งที่ทำให้โอเดนย่าโดดเด่นและมีเอกลักษณ์ เพราะโอเดนย่าคือต้นตำรับขนมเจ้าแรกที่แถมการ์ดการ์ตูน หลายคนถึงขนาดยกย่องให้เป็นราชาแห่งขนมยุค 90

“โอเดนย่าให้ความสำคัญกับของแถมเท่ากับความอร่อยของขนม การ์ดที่ทำออกมาจึงต้องเป็นการ์ตูนยอดนิยมที่ครองใจเด็กๆ เหตุผลที่เป็นการ์ดจากการ์ตูนเรื่องดราก้อนบอล เพราะผมอยากเน้นย้ำความเป็นตำนานเพื่อทำให้ทุกคนนึกถึงวันวาน

“ตลอด 30 ปีที่ผ่านมาการ์ตูนเรื่องดราก้อนบอลเองก็พัฒนาเนื้อเรื่องและตัวละครมาตลอด โด่งดังจากยุค 90 และไม่เคยหายไปจากหน้าจอหรือแผงหนังสือการ์ตูนเลย ทุกวันนี้ยังมีตอนใหม่ให้ติดตาม ต่อให้มีการ์ตูนเรื่องอื่นที่เด็กยุคหลังนิยมดูมากกว่า แต่ถ้าพูดถึงความดั้งเดิม ความเป็นต้นตำรับ ดราก้อนบอล คือการ์ตูนเรื่องเด่นที่อยู่คู่ทุกยุคสมัย ต่อให้เด็กยุคนี้ไม่เคยดูจริงๆ จังๆ ก็เชื่อว่าต้องเคยผ่านตาพวกเขามาบ้าง”

“ตอนนั้นคุณพ่อออกของพรีเมี่ยมเสริมมากมาย มีกล่องใส่การ์ด ไม้ตบการ์ด กระเป๋าเสียบการ์ดเพิ่มพลัง รวมถึงของเล่นพลาสติกอื่นๆ ที่ต่อยอดมาจากความสำเร็จของการ์ดการ์ตูน ผมใช้โอกาสนี้บอกคนที่กำลังสะสมการ์ดว่า เราเตรียมออกของพรีเมี่ยมใหม่เป็นสมุดเก็บการ์ดโอเดนย่า คาดว่าแฟนๆ จะได้เป็นเจ้าของช่วงเดือนมกราคมปีหน้า พร้อมกับเซอร์ไพรส์อื่นๆ อีก”

Photo: อนุเคราะห์ภาพถ่ายโดยครอบครัวเหรียญชัยวานิช

การ์ดดราก้อนบอลของโอเดนย่า รุ่นฉลองครบรอบ 30 ปี มีให้สะสมมากถึง 147 แบบ แบ่งเป็นระดับความหาง่ายไปถึงหายากมากที่สุดอย่างการ์ดฮาโลแกรมปั๊มทอง NO.SSR01 เพราะผลิตเพียง 150 ใบ

“หลายคนกังวลว่าเราจะกระจายจำนวนการ์ดนี้ไม่ทั่วถึง แต่ทุกคนสบายใจได้ เพราะหลักการที่ตั้งไว้คือ เราจะใส่จำนวนการ์ดเท่าๆ กันในทุกล็อตการผลิต ดังนั้น จึงมีโอกาสพบการ์ดนี้ตั้งแต่ล็อตแรกจนถึงล็อตสุดท้ายในเดือนธันวาคม หลังจากนั้นจะเปลี่ยนเป็นการ์ดชุดใหม่ทันที ไม่ผลิตรุ่นเดิมซ้ำ หมายความว่าเราจะเปลี่ยนชุดการ์ดไปเรื่อยๆ เป็นแนวทางเดียวกันกับโอเดงยารุ่นคุณพ่อเมื่อ 30 ปีก่อน”

 

มิตรภาพก่อเกิดได้จาก ‘โอเดนย่า’

โอเดนย่าและการ์ดดราก้อนบอลไม่ใช่แค่ขนมหรือของแถมที่ซื้อมาแล้วเล่นให้จบไป แต่ยังช่วยสร้างมิตรภาพ รวมถึงสังคมแห่งการแบ่งปันและแลกเปลี่ยนภายในกลุ่มคนที่รักและชื่นชอบสิ่งเดียวกัน

“ในยุคก่อน แต่ละโรงเรียนจะมีสังคม มีกลุ่มรวมตัวกันของคนที่รักโอเดนย่า แต่ปัจจุบันเป็นยุคดิจิทัล จากสังคมเล็กๆ ที่เคยจำกัดอยู่ในโรงเรียนหรือละแวกบ้านก็เปลี่ยนมาอยู่ในโลกออนไลน์แทน จากที่ต้องนัดเจอกัน เพื่อร่วมเล่นหรือมาแลกการ์ด ก็เปลี่ยนมาเป็นแกะซองลุ้นการ์ดในโซเชียลมีเดีย มีคลิปรีวิวในยูทูบ ทำให้คนรู้จักขนมมากขึ้น สร้างสังคมที่ใหญ่มากขึ้น ข่าวสารก็กระจายได้รวดเร็วกว่า แต่ก่อนต้องติดตามข่าวกับร้านชำ หรือไม่ก็ตามโฆษณาในนิตยสารการ์ตูน

“ทุกครั้งที่ได้เห็นสิ่งเหล่านี้ ผมดีใจมากๆ เพราะสิ่งที่พวกเราตั้งใจทำกันมาตลอดตั้งแต่ 3 ปีที่แล้ว ออกมาประสบผลสำเร็จเป็น ‘โอเดนย่า’ ที่ถูกใจของแฟนๆ อย่างที่ผมบอกว่าอยากสร้างไทม์แมชชีน ตอนนี้ผมรู้สึกว่าพวกเราทำได้แล้ว มีคลิปหนึ่งในกลุ่มเฟซบุ๊กที่ผมเห็นแล้วยิ้มไม่หุบเลย คือคลิปที่ผู้ใหญ่นั่งเขี่ยการ์ดโอเดนย่าเล่นกัน นั่นคือช่วงเวลาที่มีความสุขของเด็กยุค 90”

Photo: อนุเคราะห์ภาพถ่ายโดยครอบครัวเหรียญชัยวานิช

ของแถมจากขนมโอเดนย่าจึงอาจไม่ใช่แค่การ์ดดราก้อนบอล แต่หมายถึงความรู้สึกดีเป็นทั้งความรักและความผูกพันที่เราเคยมีร่วมกันกับเพื่อนในวันเก่า นั่นคือสิ่งที่มีความหมายต่อใจที่สุดไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับใครก็ตาม

“ผมอยากให้โอเดนย่าเติบโตขึ้นไป ไม่ใช่แค่ตัวผม แต่พร้อมกับแฟนๆ ทุกคนที่มีโอเดนย่าเป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำวัยเด็ก ผมเชื่อว่าการจะทำให้คนสักคนรู้สึกรักได้ เราต้องมอบสิ่งที่ดีที่สุดในเขาก่อน แล้วเขาจะส่งต่อสิ่งนั้นไปสู่คนอื่นๆ เราเองก็ได้รับสิ่งนั้นคืนกลับมาด้วยเหมือนกัน”