‘เมือง’ ที่ทุกคนมองเห็นและเป็นอยู่ ไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็ก เจริญรุดหน้าหรือล้าหลังด้อยพัฒนา เป็นระเบียบเรียบร้อยน่าใช้ชีวิตหรือไม่เคยเป็นมิตรกับคนเพราะมีแต่ปัญหา ต่างก็ผูกโยงอยู่กับความรู้สึกที่หลากหลายของผู้คนไว้ด้วยเสมอ
เมืองเดียวกัน คนหนึ่งอาจบอกว่ามีเสน่ห์ชวนให้หลงรัก อีกคนกลับเห็นแต่ความน่าชังเกินทน ล้วนเป็นเรื่องเข้าใจได้ เพราะขึ้นอยู่กับว่า เจ้าของสายตาที่มองเห็นเมืองนั้นเป็นใคร กำลังทำอะไรบนตำแหน่งแห่งไหนของเมือง และสำคัญที่สุดคือมองเห็นเมืองในฐานะอะไร
สำหรับ ‘ชิว’ การุญ เจียมวิริยะเสถียร ศิลปินอิสระเจ้าของสตูดิโอ ZilluStation มองเห็นเมืองด้วยความหลงใหลตั้งแต่วัยเด็ก ทุกซอกมุมของสภาพอาคารบ้านเรือนและถนนหนทางในสายตาของเขา ต่างมีรายละเอียดมากมายให้สังเกตและพินิจ
แต่ชิวไม่ได้เห็นเมืองผ่านเลนส์ตาของศิลปินเพียงอย่างเดียว เพราะเขายังมองในฐานะพลเมืองซึ่งเติบโตขึ้นมาพร้อมกับความเป็นเมืองที่เปลี่ยนแปลงไม่หยุดนิ่งเช่นกัน จึงเป็นเรื่องน่าสนใจไม่น้อยว่า มิติของเมืองในมุมมองที่ชิวเห็น กลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้เขาสร้างสรรค์ผลงานศิลปะได้อย่างไร
เมืองในจินตนาการและภาพฝันในวัยเด็ก
ภาพแรกของเมืองที่ยังเด่นชัดอยู่ในความทรงจำเมื่อครั้งเยาว์วัยของชิว คือภาพความเป็นเมืองอันเงียบสงบในต่างจังหวัด
“เราเกิดที่ชุมพรแต่ไปต้องไปอยู่กับป้าที่สุราษฎร์ฯ ตอนเด็กๆ เราชอบขึ้นไปอยู่บนดาดฟ้า เพราะเห็นทั้งเมืองแบบสุดลูกหูลูกตา เป็นทิวทัศน์ที่ดูไม่รู้เบื่อ ตอนมองเราจะจินตนาการไปด้วยว่า ควรมีอะไรเพิ่มอีกบ้างที่จะทำให้เมืองนี้น่าอยู่และเป็นเมืองที่ดีในแบบที่เราชอบ แล้วก็เอาภาพในหัวมาวาดลงสมุด เราเริ่มวาดรูปเล่นตั้งแต่ 4 ขวบ วาดแต่ภาพเมืองในจินตนาการที่ต่อยอดมาจากเมืองจริงๆ อีกที”
จินตนาการยังทำให้ชิวคิดไปถึงเมืองอื่นๆ ที่อยู่ไกลออกไป ว่าเมืองเหล่านั้นมีหน้าตาเหมือนหรือต่างจากสุราษฎร์ฯ การเดินทางท่องเที่ยวจึงกลายมาเป็นความใฝ่ฝันของเด็กชายชิว
“เราเป็นเด็กต่างจังหวัด โอกาสที่จะได้ไปเที่ยวที่ไกลๆ จึงมีน้อยมากๆ ยกเว้นช่วงปิดเทอม ป้าจะพานั่งรถไฟขึ้นไปเยี่ยมแม่ที่ชุมพร แล้วค่อยกลับมาสุราษฎร์ฯ อีกทีตอนใกล้เปิดเทอม นั่นเป็นจุดที่ทำให้เราชอบความรู้สึกที่เกิดขึ้นระหว่างนั่งรถไฟ เป็นความตื่นเต้นผสมกับความน่าค้นหา เพราะวิวในแต่ละเมืองที่รถไฟวิ่งผ่านไม่เหมือนกันเลย ต่างกับวิวที่เห็นบนดาดฟ้าด้วย เมื่อถึงบ้านเราจะรีบหยิบปากกากับสมุดมาวาดทันที กลัวว่าภาพสวยๆ ที่จำได้จะเลือนหายไป”
เมื่อชิวโตขึ้น มุมมองที่มีต่อเมืองก็เริ่มเปลี่ยน เพราะชิวรู้สึกว่าทุกเมืองมีเสน่ห์และเอกลักษณ์ของตัวเอง เขาจึงอยากเก็บภาพความสวยงามนั้นไว้ให้ใกล้เคียงความจริงที่สุดโดยไม่แต่งเติมจินตนาการใดๆ
“สมัยก่อนเราไม่มีกล้องถ่ายรูป ยังไม่มีอินเทอร์เน็ต ทำได้แต่จดจำรายละเอียดของเมืองและสถานที่ที่พบเห็นให้ได้มากที่สุดด้วยตา แล้วค่อยกลับเอามาวาดเป็นรูปภาพ ในใจคิดแค่ว่าอยากเห็นภาพนั้นทุกวัน คิดถึงตอนไหนก็แค่เปิดดูรูปที่วาดไว้ จนวันหนึ่งได้มาเที่ยวกรุงเทพฯ ครั้งแรกตอนอายุประมาณ 6 ขวบ เป็นภาพเมืองใหม่ที่เราไม่คิดไม่ฝันว่าจะได้เห็น ความคิดเกี่ยวกับเมืองของเราเปลี่ยนไปเลยตั้งแต่ตอนนั้น”
เมืองฟ้าอมรที่สอนให้มองโลกตามความเป็นจริง
ชิวเดินทางถึงกรุงเทพฯ ด้วยรถไฟ เขาลงสถานีที่หัวลำโพง ก่อนต่อรถมายังบ้านญาติแถวเยาวราช ทุกภาพที่เขาเห็นระหว่างทางคือความน่าตื่นตาตื่นใจ ชิวรู้สึกว่าเป็นความครึกครื้นที่หาไม่ได้ในต่างจังหวัด
“กรุงเทพฯ ใหญ่โตมาก เป็นเมืองที่เจริญ มีวัดสวยๆ สถาปัตยกรรมสวยๆ กระจายตัวออกไป ผู้คนพลุกพล่านแต่ก็มีชีวิตชีวา นั่นคือความรู้สึกแรกในวัยเด็กที่ได้มาเที่ยว เลยตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะเรียนต่อที่นี่ แล้วก็ได้มาเรียนจริงๆ ตอนขึ้น ม.1 ประมาณ พ.ศ. 2544 กลายเป็นว่าเราต้องใช้ชีวิตย่านฝั่งธนฯ ทำให้ได้เห็นความจริงที่ไม่ได้มีแต่มุมสวยงามเหมือนภาพจำตอนเด็ก
“คนเยอะเรื่องก็เยอะตาม ปัญหาเกิดขึ้นเรื่อยๆ เป็นความวุ่นวายที่ไม่มีวันจบสิ้นลงในแบบสังคมเมือง แรกๆ รู้สึกหงุดหงิดเกือบทุกวัน ทุกอย่างในเมืองเร่งให้เรารีบใช้ชีวิต แต่กลับต้องเสียเวลาอยู่บนถนนที่รถติดแบบขยับทีละนิด เราต้องปรับตัวใหม่ ไม่นานก็เคยชินกับปัญหา ซึ่งเป็นปัญหาที่เราคนเดียวแก้เองไม่ได้”
ความเป็นจริงของกรุงเทพฯ ไม่ได้ลดทอนความชอบวาดภาพของชิวลง ตรงกันข้าม ทำให้เขามองเห็นเมืองอย่างตรงไปตรงมา และตั้งใจพัฒนาฝีมือจนเป็นความถนัดที่ใช้สอบเข้ามหาวิทยาลัยด้านศิลปะได้สำเร็จ
“เรารู้มาตั้งแต่เด็กว่าชอบวาดรูป จากภาพเสมือนของเมืองในจินตนาการ ก็เปลี่ยนมาวาดภาพเหมือนของเมืองจริงๆ
“เราเลือกเดินบนเส้นทางนี้มาตลอด แต่ยังไม่ค่อยแน่ใจแนวทางผลงานของตัวเองเท่าไหร่ ช่วงที่เรียนเลยหันเหไปด้านแอนิเมชัน ดีที่ยังไม่ได้ทิ้งการวาดภาพผังเมือง เรายังวาดอยู่เรื่อยๆ และจริงจังมากขึ้นด้วย แล้วก็เปิดเพจไว้ลงงาน ทำให้คนเริ่มรู้จักเราบ้าง แต่ที่เหนือความคาดหมายคือมีคนติดต่อเข้ามาว่าจ้างให้วาดรูป พอมีงาน มีรายได้ เราเลยตัดสินใจเป็นศิลปินอิสระเต็มตัว”
ทุกผลงานคือผลลัพธ์ของความตั้งใจ
นอกเหนือจากชื่อจริง ชิลได้คิดนามแฝงขึ้นมาว่า ZilluStation เป็นความตั้งใจใช้ชื่อเฉพาะเพื่อสื่อถึงตัวตน ที่มา และงานศิลปะด้วยคำคำเดียว
“ตอนแรกใช้ Karoon ตามชื่อจริง แต่รู้สึกว่าจดจำยาก เลยคิดชื่อใหม่ที่มีความหมายครบถ้วนในแบบที่เราต้องการ จะได้ใช้เป็นชื่อเพจและชื่อสตูดิโอด้วย เริ่มจากเอาชื่อเล่น Zil มาร่วมกับ illustration ที่แปลว่าภาพประกอบ แล้วตัด r ออก เพื่อเล่นคำให้เป็น station หมายถึง สถานีรถไฟ เหมือนภาพแผนผังของเรากำลังพาคนดูเดินทางไปสำรวจเมืองในมุมต่างๆ หรือหมายถึงสถานีอวกาศที่มองเห็นทั้งเมืองจากนอกโลกก็ได้ ทั้งหมดนี้รวมกันอยู่ในคำว่า ZilluStation”
ผลงานแรกที่ชิลวาดเสร็จคือเกาะรัตนโกสินทร์ เขาทุ่มเทเวลาวางแผนอยู่นาน เพราะต้องค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับเมืองอย่างละเอียด ไม่อย่างนั้น ภาพวาดจะผิดพลาดและไม่ตรงกับความตั้งใจที่เขาอยากให้ใกล้เคียงสภาพความเป็นจริงของเมือง
“เราให้ความสำคัญกับขั้นตอนวางแผนก่อนลงมือวาดมากที่สุด ต้องเตรียมทุกอย่างให้พร้อมตั้งแต่แรก กำหนดอัตราส่วนกับมุมที่จะวาดด้วย เพราะเป็นการวาดรูปที่ต้องใช้เวลาจดจ่อไม่ต่ำกว่าสองสามเดือน บางภาพใช้เวลานานเป็นปี หากเมืองนั้นมีขนาดใหญ่และซับซ้อน
“วิธีการหลักๆ ที่ช่วยให้เราเข้าถึงภาพต้นแบบเมือง ซึ่งใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงตลอดการวาด คือ ศึกษาแผนที่และภาพถ่ายดาวเทียมของ Google Earth และ Google Map ควบคู่กับลงพื้นที่จริงเพื่อดูสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ต้องไม่ลืมถ่ายภาพมุมต่างๆ ทั้งลักษณะถนนและตัวอาคารเก็บไว้ดูเป็นแบบตอนวาด”
เมื่อแน่ใจว่าทุกอย่างพร้อมแล้ว ชิลจะร่างรูปร่างของเมืองบนกระดาษแผ่นเล็กๆ เสมอ เพื่อกำหนดตำแหน่งและดูภาพรวมทั้งเมือง
“ถ้าเราวาดทั้งๆ ที่วางแผนไม่ดีพอ ภาพจะออกมาเพี้ยน เท่ากับเสียเวลาไปฟรีๆ เราไม่อยากให้เกิดเหตุปลายเหตุ เลยระวังเรื่องนี้ตลอดเวลา หากรู้ว่าวาดผิดจะรีบแก้ไขทันที ที่ผ่านมายังไม่เคยถึงกับต้องทิ้งงานไปแล้วนับหนึ่งใหม่”
กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จภายในวันเดียว
ชิวเลือกใช้เทคนิควาดลายเส้น ทำให้เมืองในแต่ละภาพใช้เวลาวาดแรมเดือนแรมปี ไม่ต่างกับสุภาษิตโบราณในภาษาอังกฤษที่บอกว่า Rome was not built in a day. ถึงอย่างนั้น เขายืนยันว่าไม่เคยรู้สึกเป็นอุปสรรคจนทำให้คิดล้มเลิกไปกลางคัน
“พอได้ทำสิ่งที่รักเลยไม่เคยรู้สึกเบื่อ มีแต่ความเมื่อยล้า (หัวเราะ) ถ้าวาดนานๆ จะปวดข้อมือกับบ่า ต้องหมั่นลุกเดินทุกๆ ชั่วโมง ไม่อย่างนั้นก็เสี่ยงเป็นออฟฟิศซินโดรม ปกติเราจะนั่งวาดติดต่อกัน 8 ชั่วโมง ค่อยๆ สะสมทีละตึกลงไปในกระดาษ เมื่อครบ 8 ชั่วโมงเราจะวางทุกอย่าง แล้วไปทำสิ่งอื่น ดูหนัง ดูซีรีส์ เล่นเกม ออกกำลังกาย อะไรก็ว่าไปที่ไม่ใช่วาดรูปและดูผังเมือง ใช้หลักการเวิร์กไลฟ์บาลานซ์”
ความท้าทายอีกอย่างที่ชิวเผชิญระหว่างวาดคือการเปลี่ยนแปลงภายในเมือง หลายอาคารถูกทุบทิ้ง บางพื้นที่อยู่ในช่วงก่อสร้าง ทำให้เขาต้องพยายามหาตัวแบบของตึกที่แต่ละโครงการกำลังจะสร้างแล้วเสร็จในอนาคต
“ถ้าหาไม่ได้หรือยังไม่มีข้อมูลจริงๆ จะเว้นไว้วาดตามหลัง เพราะเราอยากบันทึกภาพปัจจุบันของเมือง เป็นสภาพเมืองในช่วงเวลาที่เราวาด ไม่ต่างจากผังเมืองในสมัยโบราณที่คนรุ่นก่อนวาดเอาไว้ เมื่อเวลาผ่านไปก็กลายเป็นหลักฐานให้คนรุ่นต่อมาเห็นสภาพเมืองในเวลานั้น”
หากเปรียบเทียบระหว่างเมืองจริงๆ กับภาพวาด มีบางจุดที่ไม่ได้เหมือนกัน เพราะชิววาดแต่งเติมและเปลี่ยนแปลงบางตึก บางมุมของเมืองให้ดูสบายตาและเป็นระเบียบมากขึ้น
“เราเลือกลดทอนบางอย่างออก เช่น รถไฟฟ้า ตรอกซอกซอยที่ซับซ้อนเกินไป แต่ยังรักษารายละเอียดของสถาปัตยกรรมของแต่ละตึกเอาไว้ เพราะอยากเน้นตึกให้เห็นชัดเจน ถ้าวาดคงสัดส่วน 1 ต่อ 1 จะมองไม่เห็นรายละเอียดอะไรเลย เหมือนดู Google Map แล้วรู้สึกลายตาไปหมด จนหารายละเอียดที่เป็นจุดเด่นหรือจุดน่าสนใจของเมืองไม่เจอ
“เราต้องทำให้ภาพโดยรวมน่าดู นี่คืองานศิลปะผังเมือง ไม่ใช่แผนผังจริงที่เอาไว้ใช้ประโยชน์ทางภูมิศาสตร์ ส่วนเมืองไหนที่มีผังเมืองสวยงามและเป็นระเบียบเรียบร้อยอยู่แล้ว อย่างประเทศญี่ปุ่นแทบจะไม่ต้องปรับอะไรเลย”
ผังเมือง ชีวิต ความคิด ศิลปะ และความหวัง
คงไม่ใช่แค่ความชอบที่ทำให้ชิวไม่หยุดวาดภาพเมือง เชื่อว่าลึกๆ ในใจของเขายังมีเหตุผลเบื้องหลังอื่นๆ รวมอยู่ด้วย
“พอได้ศึกษาผังเมืองมากๆ ทำให้เราเข้าใจว่าการวางผังเมืองสำคัญขนาดไหน รถจะติดไหม คนจะใช้ชีวิตลำบากหรือเปล่า ขึ้นอยู่กับการวางผังเมืองทั้งหมด เมืองที่ไม่วางแผนเรื่องนี้อย่างกรุงเทพฯ ก็จะเกิดปัญหาซ้ำซากที่ไม่มีวันแก้ไขได้ เพราะผิดมาตั้งแต่แรก
“สาเหตุที่วาดกรุงเทพฯ ทั้งเมือง เพราะเราอยากบันทึกภาพเมืองของปัจจุบันไว้ อยากวาดให้เห็นกรุงเทพฯ ในมุมมองที่สวยงาม สื่อออกมาผ่านภาพวาด ด้วยลายเส้นที่เล็กละเอียดอ่อนและนุ่มนวล หนีความวุ่นวายในเมืองที่มีปัญหายากจะแก้ไข แล้วเราก็ยังคงวาดไปเรื่อยๆ ด้วยความหวังว่าเมืองต่างๆ จะพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น”
เมืองก็เหมือนกับผืนดินที่ให้แต่ละคนคิดทบทวนว่าเหมาะสมจะใช้ชีวิตหรือฝังตัวเป็นเมล็ดพันธุ์เพื่อเติบโตต่อไปได้มากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะคนทำงานศิลปินอย่างชิว เขาจำเป็นต้องตอบคำถามนี้กับตัวเองให้ได้
“ประเทศที่พัฒนาแล้วจะมองเห็นว่าศิลปะเป็นโอกาสให้พัฒนาเมืองได้ มีพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์กระจายอยู่ทั่วประเทศ อย่างน้อยก็ทำให้คนอยู่รู้สึกเบิกบานใจ ส่วนประเทศไทย (นิ่งคิด) การสนับสนุนจากรัฐมีอยู่จริงหรือเปล่าเราไม่แน่ใจ ถ้ามี เราคิดว่ายังไม่ชัดเจนและไม่เพียงพอ แต่ที่เห็นได้ชัดเจน ก็มีผู้ติดตามผลงานของเราที่คอยสนับสนุนเรามาโดยตลอด อยากขอบคุณมากๆ ครับ
“ทุกวันนี้ศิลปินไทยต้องดิ้นรนอยู่ให้ได้ด้วยตัวเอง กลายเป็นว่าเราต้องพยายามสร้างชื่อ สร้างผลงานให้เป็นที่รู้จักมากที่สุด สร้างเพจหรือพื้นที่บนโซเชียลมีเดียเพื่อจะได้ลงผลงานให้คนอื่นรับรู้ บางคนได้รับการสนับสนุนจากชาวต่างประเทศที่ชื่นชอบงานศิลปะ ก็หาเลี้ยงตัวเองได้ ไปได้ดี ทำให้ต่างชาติเห็นศักยภาพศิลปินไทยตามไปด้วย”
ท้ายที่สุด ชิวเชื่อว่าเมืองที่ดีจะช่วยกอบกู้ความหวังให้ผู้คนอยากใช้ชีวิตต่อไป นี่คืออุดมคติที่เขาอยากให้กรุงเทพฯ และประเทศไทยเป็น
“เราอยากอยู่ในเมืองที่มีพื้นที่สีเขียวครึ่งหนึ่ง โดยที่ธรรมชาติกับความเป็นเมืองอยู่ร่วมกันได้ ภายในเมืองมีขนส่งมวลชนที่สะดวกและให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงได้จริง เมืองต้องใส่ใจความเป็นอยู่ประชาชนมากๆ แต่กรุงเทพฯ ตอนนี้ มีแต่ห้าง เราขาดแคลนพื้นที่สาธารณะให้คนได้ทำกิจกรรม เราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง ทุกคนในเมืองจะได้มีความสุข โดยไม่รู้สึกว่ามีปัญหากับการอยู่ในเมือง เมืองที่ดีควรเป็นแบบนั้น ไม่ใช่สิ ต้องเป็นแบบนั้น”