“วันนี้คุณมีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไร?” ถ้าคำตอบมีเพียงความว่างเปล่า เราอยากแนะนำให้คุณรู้จัก ‘อิคิไก’
อิคิไก เป็นคำศัพท์ภาษาญี่ปุ่น ประกอบขึ้นจากคำสองคำ อิคิ (มีชีวิตอยู่) และ ไก (คุณค่าหรือความหมาย) หมายถึง ความหมายของการมีชีวิตอยู่
สำหรับคนญี่ปุ่น อิคิไกเป็นเพียงคำธรรมดาที่ผู้คนใช้กันทั่วไปในชีวิต ไม่ใช่สิ่งพิเศษที่จะต้องค้นหา เพราะเป็นแนวคิดที่ฝังลึกในวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิต
แต่สำหรับคนนอก ภูมิปัญญาเก่าแก่ของญี่ปุ่นอย่างอิคิไกกำลังเป็นที่สนใจและได้รับการพูดถึง
พลังของอิคิไก
ความไม่รู้และสับสนพาหลายคนเดินไปสู่ชีวิตที่ไม่ใช่ การงานที่ไม่ชอบ หลายคนรู้สึกหดหู่ไร้เรี่ยวแรงในเช้าที่ต้องตื่นไปทำงาน แล้วพยายามปลอบโยนผ่านของบางสิ่ง ไลฟ์สไตล์บางอย่าง เพื่อประโลมตัวเองและตะโกนบอกคนอื่นว่าฉันมีความสุข แต่ลึกๆ ข้างในกลับรู้สึกว่างเปล่า
ส่วนคนที่มีอิคิไก ทุกๆ เช้าที่ตื่นขึ้นมา พวกเขารู้ว่ามีชีวิตแต่ละวันไปเพื่ออะไร พวกเขาจะใช้ชีวิตในวันใหม่อย่างมีพลัง เบิกบาน พึงพอใจ และสุขสงบภายใน
ผลวิจัยระบุว่า ความรู้สึกเหล่านี้มีผลต่ออายุที่ยืนยาว สุขภาพและความสุขที่เพิ่มพูน ผิดกับคนที่รู้สึกว่าชีวิตไร้จุดหมาย ไร้คุณค่า ล่องลอย และกลวงเปล่า
คำถามคือเราจะค้นพบ ‘อิคิไก’ ความหมายหรือคุณค่าในชีวิตของตัวเองได้อย่างไร?
วงกลมแห่งคำถาม
บทความหลายแหล่งพูดถึงอิคิไกผ่านจุดร่วมของวงกลม 4 วง คือ สิ่งที่…เรารัก – ทำได้ดี – ทำแล้วได้เงิน – เป็นประโยชน์ต่อโลก
ทฤษฎีวงกลม 4 วงเชื่อว่า เมื่อทบทวนอย่างลึกซึ้งเพียงพอ เราจะพบอิคิไกผ่านจุดร่วมของวงกลมทั้งสี่
นั่นก็คือการได้ทำสิ่งที่เราชอบ มีทักษะ และมีประโยชน์ต่อผู้อื่น แล้วสิ่งนั้นก็นำมาซึ่งผลตอบแทนที่ ช่วยให้เราสามารถทำสิ่งนั้นต่อไปได้เรื่อยๆ
มองในแง่นี้ อิคิไกจึงหมายถึง การได้ทำสิ่งที่รักเป็นอาชีพ
‘ยอมรับตัวเอง’ อิคิไกที่เรียบง่ายกว่ากรอบของวงกลม
เคน โมงิ (Ken Mogi) ผู้เขียนหนังสือ The Little Book of Ikigai มองอิคิไกผ่านคอนเซ็ปต์ที่เรียบง่ายกว่านั้น โดยไม่จำเป็นต้องผูกไว้กับสิ่งที่ทำแล้วได้เงิน แต่ลงน้ำหนักไปที่ความรู้สึกภายใน
อิคิไกของ เคน โมงิ ไม่มีวงกลม แต่ประกอบด้วยเสาหลัก 5 ข้อ คือ การเริ่มต้นเล็กๆ, ปลดปล่อยตัวเอง, สอดคล้องและยั่งยืน, ความสุขกับสิ่งเล็กๆ และการอยู่ตรงนี้ ตอนนี้
เคน โมงิ บอกว่าเสาหลักทั้งห้าเป็นกรอบแนวทางพื้นฐานที่ทำให้อิคิไกเบ่งบาน ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นประการใดประการหนึ่ง หรือเกิดขึ้นทั้งหมด ไม่ต้องเรียงลำดับก่อนหลัง เพียงแต่เสาหลักนี้จำเป็นต่อความเข้าใจอิคิไก
แม้คอนเซ็ปต์อิคิไกของ เคน โมงิ จะดูจับต้องได้ยาก แต่ก็ทำให้ความหมายของอิคิไกกว้างขวางขึ้น
ถ้ามองอิคิไกผ่านเลนส์ของเคน โมงิ คุณอาจเริ่มหาอิคิไกผ่านการเริ่มทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง สิ่งนั้นไม่จำเป็นต้องยิ่งใหญ่ อาจเป็นสิ่งเล็กๆ ที่คุณอยากทำในทุกๆ วัน,เริ่มต้นเล็กๆ
ระหว่างที่ทำ คุณก็ทำไปโดยไม่คาดหวังถึงความสุขความสำเร็จ แบกตัวตน สายตาคนอื่น และสถานะทางสังคมไว้บนบ่า คุณแค่เป็นตัวเอง, ปลดปล่อยตัวเอง
สิ่งที่ทำนั้นก็สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ มีความสุขกับรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ในทุกขณะปัจจุบันที่เคลื่อนผ่าน, สอดคล้องและยั่งยืน – ความสุขกับสิ่งเล็กๆ – การอยู่ตรงนี้ ตอนนี้
ดังนั้น อิคิไกของเราอาจเป็นอะไรก็ได้ หรือทุกสิ่งที่ทำในชีวิตประจำวันอาจเป็นอิคิไกของเรา แค่เริ่มให้ความหมายใหม่กับสิ่งที่เป็นอยู่ ทำสิ่งที่ทำไปเรื่อยๆ ปล่อยวางความคาดหวัง และมีความสุขอันเรียบง่าย
เหมือนที่ เคน โมงิ เขียนในหนังสือของเขาว่า ‘อิคิไกและความสุข เกิดจากการยอมรับตัวเอง’
อิคิไกของเราไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน
เฮคเตอร์ การ์เซีย (Hector Garcia) ผู้ร่วมเขียนหนังสือ Ikigai: The Japanese Secret to a Long and Happy Life พูดถึงการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตตามแนวอิคิไกว่า เขาจะเริ่มต้นวันใหม่ด้วยการทำสิ่งที่คิดว่าสำคัญที่สุดสำหรับตัวเอง ก่อนจะออกจากบ้านไปทำสิ่งอื่นๆ
“ผมดื่มชาเขียวร้อนๆ ถ้วยหนึ่ง ให้เวลา 15 นาทีกับการเล่นโยคะง่ายๆ และใช้เวลา 1 ชั่วโมงไปกับการเขียนหนังสือ
“การเขียนหนังสือคือหนึ่งในกิจกรรมที่เป็นอิคิไกในชีวิตผม”
อิคิไกของเรากับ เฮคเตอร์ การ์เซีย ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน การเขียนหนังสือคืออิคิไกของเขา แต่สำหรับเราอาจหมายถึงสิ่งอื่น เพราะมนุษย์ไม่เคยเหมือนกัน อิคิไกของเราจึงต่างกัน
วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ ผู้แปลหนังสือ The Little Book of Ikigai (ชื่อภาษาไทยคือ อิคิไก ความหมายของการมีชีวิตอยู่) ของ เคน โมงิ เคยเขียนถึงอิคิไกในความหมายของเขาว่า
‘…สำหรับผม สิ่งสำคัญที่สุดก็คือการมีชีวิตอยู่อย่างอิสรเสรี มีความเป็นตัวของตัวเอง มีเสรีภาพอย่างเต็มเปี่ยมที่จะเลือกและตัดสินใจได้เองว่าจะทำงานอะไร ไม่ทำงานอะไร โดยไม่ขึ้นกับสายตาของใคร’
แต่ขณะเดียวกันวุฒิชัยก็คิดว่า อย่าไปหลงกับคอนเซ็ปต์หรือติดนิยามของอิคิไกมากจนเกินไป
“เพราะเวลาที่มนุษย์รับรู้โลก เรามักจะสร้างภาพแทนอะไรบางอย่างขึ้นมาเพื่อใช้อธิบายความจริงให้ชัดเจน ซึ่งตัวมันเองไม่ใช่ความจริงแล้วนะ”
การพยายามหาจุดร่วมเพื่อให้เข้ากับนิยามหรือคอนเซ็ปต์ของอิคิไก จึงยิ่งพาเราออกห่างจากความจริงของชีวิต
“ในความเป็นจริงผมรู้สึกว่าอะไรก็ตาม เราแค่อยู่กับสิ่งที่เราทำ ยอมรับตัวเอง เข้าใจตัวเอง แล้วก็อยู่กับคนอื่นอย่างสอดคล้อง และไม่ว่ายังไงก็ตาม ไม่ว่ามันจะเป็นอิคิไกหรือไม่ใช่อิคิไก ไม่ว่ามันจะได้ตังค์หรือไม่ได้ตังค์ ไม่ว่าโลกจะต้องการหรือโลกไม่ต้องการ ฉันก็จะยืนหยัดที่จะทำงานที่ฉันอยากทำต่อไป”
ถึงตรงนี้ ความหมายของอิคิไกดูจะเป็นเรื่องเฉพาะของแต่ละคน หรือที่ในภาษาพระเรียกว่า ‘ปัจจัตตัง’ ที่เราจะต้องค้นหาความหมายการมีชีวิตอยู่ด้วยตัวเอง
เหมือนที่ เคน โมงิ เขียนไว้ที่หน้า 200 ในหนังสือ The Little Book of Ikigai (ฉบับแปลภาษาไทย) ว่า
‘คุณจำเป็นต้องค้นหาอิคิไกในสิ่งเล็กๆ
คุณต้องเริ่มต้นเล็กๆ
คุณต้องอยู่ตรงนี้ ตอนนี้
สำคัญที่สุดก็คือ คุณไม่สามารถหรือไม่ควรไปกล่าวโทษสภาพแวดล้อมว่าที่นั่นที่นี่ไม่มีอิคิไก
เพราะในท้ายที่สุด มันขึ้นอยู่กับคุณเองที่จะค้นพบอิคิไกของคุณ
ในวิถีทางของคุณ’
อ้างอิง:
- Lucy Dayman. Ikigai: The Japanese Concept Of Finding Purpose In LifeAnd How This Age-Old Ideology Can Help You Find Your Own Raison D’être. https://savvytokyo.com/ikigai-japanese-concept-finding-purpose-life/
- Yukari Mitsuhashi. Japan May Have Worked Out The Secret Formula For A Happy Life. https://www.huffingtonpost.com/entry/japan-ikigai-happiness_us_5ac3545ae4b00fa46f85fc70
- พิชชารัศมิ์. Ikigai เหตุผลของการมีชีวิตอยู่ของคุณคืออะไรคะ. https://www.marumura.com/ikigai/
- จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์. ความหมายของการมีชีวิตอยู่ของ อ๋อง วุฒิชัย ผู้แปล ‘อิคิไก ความหมายของการมีชีวิตอยู่’. https://readthecloud.co/thoughts-ong-wuttichai/
- Ken Mogi. อิคิไก ความหมายของการมีชีวิตอยู่ (The Little Book of Ikigai). แปลโดย วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ. สำนักพิมพ์ MOVE
- วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ. อะไรคือแรงขับที่แท้จริงเมื่อสิ่งสำคัญที่สุดคือการมีชีวิตอยู่อย่างอิสรเสรี. https://adaybulletin.com/article-editorsnote-drive/17865