life

“ทุกบุคคล จะเป็นพ่อค้าวาณิช เกษตร กษัตริย์ หรือสมณะ ต้องทำหน้าที่ทั้งนั้น”

พระราชนิพนธ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่อง พระมหาชนก บทที่ ๓๙

ตลอดระยะเวลาที่ครองราชย์กว่า ๗๐ ปี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทกับบุคคลต่างๆ ในหลายโอกาส

ตั้งแต่ข้าราชการ คณะรัฐบาล ทหาร ตำรวจ นักกฎหมาย หมอ เกษตรกร ชาวบ้าน นักหนังสือพิมพ์ ครู และเยาวชน ในทุกหมู่เหล่าและสาขาอาชีพ

ในหลวง รัชกาลที่ 9 พ่อ
(Photo: หนังสือ Special Photo Exhibition of THAI and JAPANESE ROYAL FAMILIES)

คำสอนของพระองค์ลึกซึ้งและกินใจ อันสะท้อนให้เห็นถึงสายพระเนตรที่เข้าใจ เข้าถึง และเป็นไปเพื่อการพัฒนาชีวิตของพสกนิกร

หลายคำสอนแม้จะพูดต่างวาระ แต่ก็มีหัวใจหลักเดียวกัน คือการบอกว่า เราจะใช้ชีวิตที่ดีและงดงามได้อย่างไร

ปี พ.ศ.๒๕๔๓ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ทำการศึกษาคำสอนของพระองค์ในเรื่องนี้ ผ่านการวิเคราะห์หนังสือประมวลพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทที่พระราชทานในโอกาสต่างๆ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๑๑-๒๕๔๐ จำนวน ๒๙ เล่ม

หลายหมื่นร้อยถ้อยคำจึงถูกสังเคราะห์จนเหลือเพียงแก่นใจของคำสอนในเอกสารไม่ถึงสิบหน้า ที่จะเฉลยให้เห็นว่า ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา

“พ่อ” ทรงสอนเราว่าอะไร?

ในหลวง รัชกาลที่ 9 พ่อ
(Photo: หนังสือ Special Photo Exhibition of THAI and JAPANESE ROYAL FAMILIES)

๑. รู้หน้าที่ตน

อาจพูดได้ว่า ทุกครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ทรงมีพระราชดำรัสแก่คณะบุคคลต่างๆ พระองค์จะทรงกล่าวถึงความสำคัญของ ‘หน้าที่’ อยู่เสมอ

“…คนทุกคนมีหน้าที่ต้องทำ แม้เป็นเด็กก็มีหน้าที่อย่างเด็ก…”

นภันต์ เสวิกุล ในหลวง รัชกาลที่ 9 พ่อ
(Photo: นภันต์ เสวิกุล)
นภันต์ เสวิกุล ในหลวง รัชกาลที่ 9 พ่อ
(Photo: นภันต์ เสวิกุล)

พระองค์ทรงเน้นย้ำว่า ถ้าแต่ละคนรู้จักหน้าที่และทำหน้าที่ของตนได้ดี ประเทศชาติก็จะเจริญก้าวหน้า

“…แม้จะมีหน้าที่เล็กน้อยก็มีหน้าที่ ทุกคนในชาติมีหน้าที่ของตัว และถ้าแต่ละคนทำได้ดี ทำอย่างเข้มแข็ง ซื่อสัตย์สุจริต ประเทศชาติก็ย่อมต้องปลอดภัย และก้าวหน้าไปอย่างดี…”

ถึงแม้แต่ละคนจะมีบทบาทหน้าที่ต่างกัน แต่ก็ต้องทำหน้าที่อย่างสอดคล้อง เหมือนที่ครั้งหนึ่งพระองค์ทรงยกตัวอย่างการทำงานของเครื่องยนต์

“…ยกตัวอย่างทางวิศวกรรม อย่างรถยนต์คันหนึ่ง ทุกส่วนของรถยนต์ต้องทำงานสอดคล้องกัน ถ้าไม่ทำงานสอดคล้องกัน รถก็พัง และใช้รถยนต์ไม่ได้…”

ขณะเดียวกัน นอกจากจะทำหน้าที่ตนแล้ว ก็ต้องรู้และคอยแลดูงานของผู้อื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยกันผลักดันให้งานที่ทำนั้นสำเร็จผล

“…ถ้าคนหนึ่งคนใดทำหน้าที่เฉพาะในเรื่องนั้นไม่มองไม่แลคนอื่น งานก็ดำเนินไปไม่ได้ เพราะเหตุว่างานทุกงานจะต้องพาดพิงกัน จะต้องเกี่ยวโยงกัน ฉะนั้นแต่ละคนก็ต้องมีความรู้ถึงงานของผู้อื่นแล้วก็ช่วยกันทำ…”

ในหลวง รัชกาลที่ 9 พ่อ
(Photo: หนังสือ Special Photo Exhibition of THAI and JAPANESE ROYAL FAMILIES)
ในหลวง รัชกาลที่ 9 พ่อ
(Photo: หนังสือ Special Photo Exhibition of THAI and JAPANESE ROYAL FAMILIES)

พระองค์ทรงรู้ว่า การทำหน้าที่ย่อมนำมาซึ่งผล ทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ส่วนรวม โดยประโยชน์ทั้งสองนี้มักจะขัดแย้งกัน และใช่ว่าจะสอดคล้องต้องกันทุกครั้ง แต่พระองค์ทรงอธิบายให้ข้อคิดว่า แท้จริงแล้วประโยชน์ทั้งสองสามารถเกิดขึ้นพร้อมกันได้ ถ้าเราคิดเสมอว่า ประโยชน์ส่วนรวมคือประโยชน์ส่วนตัว

“…อาจจะนึกว่าจะพูดว่าให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ใช่แล้ว เพื่อประโยชน์ส่วนรวม เพราะเหตุว่าประโยชน์ส่วนรวมนี้เป็นประโยชน์ส่วนตัว แต่ละคนต้องการให้ประโยชน์ส่วนตัวสำเร็จ คือมีความพอใจนี้เอง แต่ว่าถ้าไม่คิดถึงประโยชน์ส่วนรวม ก็ไม่ได้ประโยชน์ส่วนตัว เพราะว่าถ้าส่วนรวมไม่ได้รับประโยชน์ ส่วนตัวพังแน่ นี่เป็นข้อสำคัญ

“ฉะนั้นความรู้สึกหรือข้อสังเกตอันนี้ เป็นจุดสำคัญมาก ที่จะต้องทำความเข้าใจกับตัวเองว่าประโยชน์ส่วนตัวนั้นคือประโยชน์ส่วนรวม หรือจะว่าประโยชน์ส่วนรวมนั้นคือประโยชน์ส่วนตัว พูดได้ กลับได้ บางคำกลับไม่ได้นะ แต่คำนี้กลับได้

“ประโยชน์ส่วนรวมคือประโยชน์ส่วนตัว ประโยชน์ส่วนตัวคือประโยชน์ส่วนรวม…”

ในหลวง รัชกาลที่ 9 พ่อ
(Photo: หนังสือ Special Photo Exhibition of THAI and JAPANESE ROYAL FAMILIES)

๒. ฝึกฝนหมั่นศึกษา

เมื่อรู้หน้าที่ ทำหน้าที่แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ทรงกล่าวว่าแต่ละคนต้องมีความรู้ในหน้าที่นั้นอย่างถูกต้องแท้จริง โดยพระองค์ทรงอธิบายเรื่องความสำคัญของความรู้ และพระราชทานแนวปฏิบัติในการศึกษาหาความรู้ไว้ว่า

“…ความรู้นั้นสำคัญยิ่งใหญ่ เพราะเป็นปัจจัยให้เกิดความฉลาดสามารถ และความเจริญก้าวหน้า มนุษย์จึงใฝ่ศึกษากันอย่างไม่รู้จบสิ้น แต่เมื่อพิเคราะห์ดูแล้ว การเรียนความรู้แม้มากมายเพียงใด บางทีก็ไม่ช่วยให้ฉลาดหรือเจริญได้เท่าไรนัก ถ้าหากเรียนไม่ถูกถ้วน ไม่รู้จริงแท้

“การศึกษาหาความรู้จึงสำคัญตรงที่ว่า ต้องศึกษาเพื่อให้เกิด ‘ความฉลาดรู้’ คือรู้แล้ว สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริงๆ โดยไม่เป็นพิษเป็นโทษ

“การศึกษาเพื่อความฉลาดรู้ มีข้อปฏิบัติที่น่าจะยึดเป็นหลักอย่างน้อยสองประการ ประการแรกเมื่อจะศึกษาสิ่งใดเรื่องใดให้รู้จริง ควรจะได้ศึกษาให้ตลอด ครบถ้วนทุกแง่ทุกมุม ไม่ใช่เรียนรู้แต่เพียงบางส่วนบางตอน หรือเพ่งเล็งเฉพาะแต่เพียงบางแง่บางมุม

“อีกประการหนึ่ง ซึ่งจะต้องปฏิบัติประกอบพร้อมกันไปด้วยเสมอ คือต้องพิจารณาศึกษาเรื่องนั้นๆ ด้วยความคิดจิตใจที่ตั้งมั่นเป็นปรกติ และเที่ยงตรงเป็นกลาง ไม่ยอมให้รู้เห็นและเข้าใจตามอำนาจความเหนี่ยวนำของอคติ ไม่ว่าจะเป็นอคติฝ่ายชอบหรือฝ่ายชัง มิฉะนั้นความรู้ที่เกิดขึ้นจะไม่เป็นความรู้แท้ หากแต่เป็นความรู้ที่ถูกอำพรางไว้ หรือที่คลาดเคลื่อนวิปริตไปต่างๆ จะนำไปใช้เป็นประโยชน์จริงๆ โดยปราศจากโทษไม่ได้…”

นภันต์ เสวิกุล ในหลวง รัชกาลที่ 9 พ่อ
(Photo: นภันต์ เสวิกุล)

นอกจากความฉลาดรู้ในสาขาวิชาเฉพาะที่เป็นความรู้ด้านลึก พระองค์ยังทรงเน้นย้ำถึงความรู้ด้านกว้าง ซึ่งหมายถึงความรู้ทั่วไป ว่าเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เพราะงานทุกงานย่อมเกี่ยวโยงสัมพันธ์กัน การมีความรู้กว้างขวางและหมั่นศึกษาหาความรู้อยู่เสมอ จะช่วยให้ทำหน้าที่ได้อย่างราบรื่นและคล่องตัว จนกระทั่งประสบผลสำเร็จ

“…แม้ทุกคนจะออกไปประกอบอาชีพการงานแล้ว ก็ยังมีหน้าที่ที่จะต้องศึกษาเพิ่มเติมอีก เพราะวิทยาการในโลกมีมากมาย ทั้งยังคลี่คลายพัฒนาต่อเนื่องกันไม่ขาดสาย ที่สำคัญที่สุด ก็คือวิทยาการทั้งหลายนั้นมีส่วนที่สัมพันธ์และประกอบส่งเสริมกันทั่วทุกสาขา ผู้มีวิชาอย่างหนึ่ง จำเป็นต้องทราบถึงวิชาอย่างอื่นด้วย…”

และเมื่อลงมือทำหน้าที่นั้นด้วยความรู้ลึก รู้จริง รู้กว้าง เรียนรู้และพัฒนาจากประสบการณ์อยู่เสมอ คนผู้นั้นย่อมได้ผลลัพธ์คือความก้าวหน้า

“…ความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับเพิ่มขึ้นนั้น ถือว่าเป็นหลักวิชาอันแน่นหนาแม่นยำที่เกิดขึ้นจากการทำงาน และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปฏิบัติงานก้าวหน้ายิ่งขึ้นได้ไม่มีจำกัด …ประสบการณ์นั้นก็จะเป็นประโยชน์ส่งเสริมให้เป็นผู้มีความสามารถ มีความชำนาญจัดเจนเป็นพิเศษ ซึ่งจะช่วยให้ประสบความสำเร็จความเจริญก้าวหน้าในการงานสูงขึ้น…”

ในหลวง รัชกาลที่ 9 พ่อ

๓. หันหน้าร่วมแรงร่วมใจ

นอกจากการทำหน้าที่ตามหลักวิชาแล้ว การประสานสัมพันธ์หรือที่สมัยนี้นิยมเรียกว่า ‘Soft Skill’ คือสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ทรงให้ความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เพราะเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนเสริมให้คนสำราญและงานสำเร็จ

“…ท่านจะทำงานโดยลำพังตนเองไม่สำเร็จ ทุกคนที่ร่วมงานกัน จำเป็นต้องพึ่งกันอาศัยกันและกัน ทั้งผู้มีความรู้ความสามารถสูง ทั้งผู้มีความรู้ความสามารถด้อยกว่า…”

นภันต์ เสวิกุล ในหลวง รัชกาลที่ 9 พ่อ
(Photo: นภันต์ เสวิกุล)
นภันต์ เสวิกุล ในหลวง รัชกาลที่ 9 พ่อ
(Photo: นภันต์ เสวิกุล)

พระองค์ทรงชี้ให้เห็นว่า ในการทำงานจริง หลักวิชาไม่ใช่ทั้งหมดของงาน แต่เป็นเพียงอุปกรณ์ที่ต้องรู้จักเลือกใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เพื่อช่วยให้งานลุล่วง

“…เมื่อเวลาออกไปประกอบอาชีพการงานแล้ว จุดหมายสำคัญจะอยู่ที่ตัวงานและผลสำเร็จของงานวิชาการนั้นต้องถือเป็นปัจจัยหรืออุปกรณ์สำหรับที่จะใช้ปฏิบัติ แต่ละคนจึงควรจะเข้าใจให้ชัดว่า การที่ท่านได้อุตสาหะศึกษาวิชาการต่างๆ มาเป็นอันมากตลอดเวลาแรมปีนั้น แท้จริงคือการสะสมรวบรวมอุปกรณ์ และสร้างความชำนิชำนาญในการใช้อุปกรณ์นานาชนิดนั้นๆ

“…และเมื่อจะนำอุปกรณ์ต่างๆ ออกใช้ ก็จำเป็นจะต้องเลือกสรรก่อนเสมอไปด้วย คือต้องพิจารณานำเอาแต่ละส่วนที่ถูกต้องเหมาะสมแก่งานนั้นๆ มาใช้ ไม่ใช่นำมาใช้พร้อมกันทั้งหมดทั้งดุ้น จะกลายเป็นทาสของวิชาการ งานจะไม่สำเร็จ…”

นภันต์ เสวิกุล ในหลวง รัชกาลที่ 9 พ่อ
(Photo: นภันต์ เสวิกุล)

พระองค์ทรงกล่าวถึงแนวทางที่จะทำให้งานสำเร็จไว้ว่า

“…ประการสำคัญต้องพยายามใช้ความคิด ความเฉลียวฉลาด ปรับปรุงตัวปรับปรุงงานให้มีประสิทธิภาพเสมอ พร้อมทั้งพยายามประสานงานประสานประโยชน์กับทุกคนและทุกฝ่ายที่สัมพันธ์เกี่ยวข้องด้วย โดยสอดคล้องทั่วถึง งานจึงจะสัมฤทธิ์ผลเป็นประโยชน์ที่พึงประสงค์

“คือ เป็นประโยชน์แก่งาน แก่ตัวผู้ปฏิบัติ และแก่ส่วนรวมพร้อมทุกส่วน…”

นภันต์ เสวิกุล ในหลวง รัชกาลที่ 9 พ่อ
(Photo: นภันต์ เสวิกุล)

๔. คิดพอดี พูดพอดี ทำพอดี

บ้านยังมีเสา คนต้องมีหลัก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ได้พระราชทานหลักในการดำเนินชีวิตให้แก่คนไทยเพื่อความสำเร็จดีงาม โดยมีหลักใหญ่ใจความที่ความซื่อสัตย์สุจริต ดังเช่นครั้งหนึ่งพระองค์ทรงอธิบายความหมายของคำว่า ‘สุจริต’ ไว้ว่า

“…คำว่าสุจริตนี้ก็มาจากคำว่าการท่องเที่ยวของจิตใจทางที่ดีหรือคิดให้ดี คิดให้สุจริต ทั้งฉลาดด้วย ทั้งไม่เบียดเบียนผู้อื่น หรือการงานของตัวเอง ทั้งไม่เบียดเบียนส่วนรวมด้วย จึงจะเป็นผู้สุจริต…”

และพระองค์ได้พระราชทานแนวทางการปฏิบัติตนว่าควรดำเนินไปบน ‘ทางสายกลาง’ โดยไม่ลืมที่จะพิจารณาถึงความพอเหมาะ พอดี พอควร ในทุกเรื่อง ที่จะก่อประโยชน์สุขอันยั่งยืน

ในหลวง รัชกาลที่ 9 พ่อ
(Photo: หนังสือ Special Photo Exhibition of THAI and JAPANESE ROYAL FAMILIES)

“…การปฏิบัติเป็นกลางนี้อาจน้อมนำมาใช้ในการดำเนินชีวิตได้อย่างดีที่สุด ในการปฏิบัติทั้งปวง ทั้งงานที่เป็นภาระทางโลก ทั้งงานที่เป็นการค้นหาความจริงในทางธรรม ถ้าบุคคลระมัดระวังตั้งใจปฏิบัติให้เป็นกลาง โดยใช้กำลังกาย กำลังใจ และกำลังความเพียรให้พอเหมาะกับงาน และกระทำโดยถูกต้องเที่ยงตรงพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะ ไม่ให้เจือปนด้วยอคติทั้งสามประการแล้ว บุคคลก็จะได้รับแต่ผลสำเร็จอันเลิศ ซึ่งประกอบด้วยความสงบ สะอาด และสว่าง

“ที่ว่าสว่างนั้น คือมีปัญญารู้เหตุรู้ผล รู้ผิดชอบชั่วดีโดยกระจ่างชัด เพราะมีใจเป็นอิสระพ้นอำนาจครอบงำของอคติ

“ที่ว่าสะอาดนั้น คือไม่มีความทุกข์จริงๆ ทั้งในกายวาจาใจมาเกลือกกลั้ว เพราะเห็นจริงชัดในกุศลและอกุศล

“ที่ว่าสงบนั้น คือเมื่อไม่ประพฤติทุจริตทุกๆ ทางแล้ว ความเดือดร้อนวุ่นวายจากบาปทุจริตก็ไม่เข้ามาแผ้วพาล

“คนที่ประพฤติปฏิบัติตนปฏิบัติงานเป็นสายกลาง จึงประสบความสุขความร่มเย็นแต่ฝ่ายเดียว…”

ในหลวง รัชกาลที่ 9 พ่อ
(Photo: หนังสือ Special Photo Exhibition of THAI and JAPANESE ROYAL FAMILIES)

ของขวัญที่ ‘พ่อ’ ปรารถนา

ครั้งหนึ่งในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษาเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ทรงมีพระราชดำรัสถึงสิ่งที่พระองค์ปรารถนาให้เกิดแก่พสกนิกร โดยเปรียบสิ่งนั้นว่าเป็นดัง ‘ของขวัญ’ สำหรับพระองค์

พระราชดำรัสให้วันนั้นมีถ้อยความว่า…

“…ฉะนั้น ทุกคนที่ทำหน้าที่ตามอาชีพของตนหรือตามหน้าที่ของตนอย่างเต็มที่ อย่างเสียสละ เพื่อให้งานสำเร็จลุล่วงไปด้วยดีนั้น ก็เป็นสิ่งสร้างเสริมความดีแก่ประเทศชาติในตัว

“อย่างที่สอง คือ งานที่เอื้อเฟื้อคนอื่น งานที่จะสร้างสรรค์คิดค้นอะไรที่จะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมได้ จะโดยตรงหรือโดยอ้อมนั้นก็เป็นสิ่งสมควรที่จะทำ ไม่ทำให้งานประจำนั้นเสียไป ตรงข้ามส่งเสริมให้งานที่ทำโดยประจำให้ดีขึ้นและไม่เสียแรงงานของตน ส่งเสริมให้อยู่ดีกินดีขึ้น และทำให้มีจิตใจเป็นส่วนรวม จิตใจที่สามัคคีขึ้น

“อันนี้สิเป็นสิ่งที่เท่ากับเป็น ‘ของขวัญ’ ที่นำมาให้อีกประการหนึ่ง…”

หากนี่คือของขวัญที่พ่อปรารถนา วันนี้เราให้ของขวัญพ่อแล้วหรือยัง?

นภันต์ เสวิกุล ในหลวง รัชกาลที่ 9 พ่อ
(Photo: นภันต์ เสวิกุล)

 

*บทความนี้เรียบเรียงจากข้อมูลในหนังสือ ‘การศึกษาพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตของคนในชาติ’ครงการวิจัยพ่อครูของเรา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ http://ebook.lib.ku.ac.th/ebook27/ebook/2016RG0156/#p=1