life

เรียน ‘ใครสักคน’ ที่ดูแลการศึกษาไทยที่เคารพ…

 

เมื่อไม่นานมานี้ผมได้มีโอกาสพบลูกศิษย์รักคนหนึ่งที่จากกันไปนาน

ปัจจุบันเขาทำงานเป็นกัปตันให้กับสายการบินแห่งหนึ่ง​ และด้วยความสามารถที่จบเกียรตินิยมด้านการบินจากสหรัฐอเมริกา​ เขาจึงรับเป็นอาจารย์พิเศษด้านการบินให้กับมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งแถวรังสิต

เหตุที่จากกันนาน​ เราจึงร่วมโต๊ะอาหารมื้อเย็นด้วยกันยาวนาน​ และพูดคุยกันให้หายคิดถึง

ผมถามถึงเส้นทางชีวิตการเรียนของเขาว่า เป็นมาอย่างไรถึงได้มาเป็นนักบิน?

เขาเล่าว่าเขาชอบเครื่องบินมาตั้งแต่เล็กๆ เก็บสะสมโมเดลเครื่องบินหลายลำ แต่ไม่เคยคิดจะเรียนการบิน เพราะไม่เคยมีใครแนะนำเขาในขณะเรียนมัธยมฯ ว่าในโลกนี้มีวิชาการบินอยู่ด้วย

ตอนมัธยมปลายเขาเป็นนักรักบี้ทีมชาติ ต่อมาได้โควต้ากีฬาเข้าเรียนสาขาการอาหารจากมหาวิทยาลัยเอกชน พอจบมาเป็นเชฟอยู่เป็นปีๆ​ จึงรู้ว่านี่ไม่ใช่ชีวิตของตัวเอง

วันหนึ่งในโลกโซเชียลที่เปิดกว้าง เขาพบมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งประกาศรับนักศึกษาเข้าเรียนการบินโดยไม่ต้องผ่านการเป็นนายร้อยอากาศแบบเมืองไทย เขาตัดสินใจทิ้งอาชีพเชฟ แล้วมุ่งหน้าสมัครเข้าเรียนการบินที่มหาวิทยาลัยแห่งนั้นทันที

คนในครอบครัวไม่ใคร่เห็นด้วยกับเขานัก แต่ต้องปล่อยไปตามทางฝันของลูก

เขาตั้งใจเรียนในต่างแดนอย่างที่ไม่เคยตั้งใจ เขาบอกว่าการเรียนการบินแม้จะยากแสนยาก แต่ทุกอย่างคือเรื่องโปรดของเขา เหมือนได้ทำความรู้จักโมเดลเครื่องบินที่เคยสะสมตอนยังเด็ก

ยิ่งเรียนยิ่งรู้ ยิ่งอยากรู้ ยิ่งชำนาญ

เขาจมดิ่งกับความสุขที่ไม่เคยได้สัมผัส ค้นพบขุมสมบัติภายใต้การศึกษา ค้นคว้าใฝ่รู้จนประสบความสำเร็จสอบได้คะแนนเต็มทุกเทอม ได้เกียรตินิยมในที่สุด และได้เป็นกัปตันของสายการบินชื่อดังระดับโลก

เขาบอกผมว่าเขาอาจค้นพบตัวเองช้าไป แต่ไม่สายเกินไปที่เราจะประสบความสำเร็จ

ผมฟังเรื่องราวเส้นทางชีวิตของลูกศิษย์ด้วยความสนใจ​ แล้วย้อนกลับมาดูการเรียนการสอนของประเทศเราในวันนี้

บอกตามตรงครับว่ารู้สึกเป็นห่วงเยาวชนรุ่นใหม่ที่ต้องใช้ชีวิตก้าวตามโลกที่ประเทศไทยใช้คำว่า​ ‘ไทยแลนด์ 4.0’

นักการศึกษาระดับประเทศในแต่ละยุค แต่ละรัฐบาล แต่ละคณะ​ช่วยกันคิด วิเคราะห์ วางแผน และวางนโยบายการเรียนการสอนให้เยาวชนทั้งประเทศ รัฐบาลหนึ่งก็หลายคณะ​ และผลัดเปลี่ยนกันไปทุกเวลา

แต่จำนวนคณะบุคคลไม่ได้เท่ากับคุณภาพของผลลัพธ์

เพราะนักการศึกษาหรือ ‘รัฐมนตรีการศึกษา’ น้อยคนนักที่จะวางเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้เด็กได้สำรวจและค้นพบตัวเอง ว่าจะใช้ชีวิตในอนาคตในด้านใดตามที่เขาต้องการ​ และจะประสบความสำเร็จในชีวิตอย่างไร รวมทั้งในโลกยุค 4.0 ด้วย

ที่น่าเป็นห่วงยิ่งขึ้นคือการศึกษาในยุคปัจจุบันมุ่งเน้นให้ครูอาจารย์หันมาทำผลงานเพื่อรับการประเมินทั้งหน้าที่ตนเองและของสถาบัน โดยมีการประเมินบ่อยครั้งจากหลายหน่วยงานและหลายโครงการจนครูอาจารย์มีเวลาทุ่มเทให้กับนักเรียนนักศึกษาน้อยลง

เวลาที่ควรใช้เพื่อบ่มเพาะต้นกล้าทางปัญญาให้เติบใหญ่ กลับถูกใช้ไปกับการจมจ่อมทำเอกสารต่างๆ แทน ซึ่งเอกสารเหล่านี้เมื่อหน่วยงานที่เข้าประเมินกลับไป ก็ไม่ต่างอะไรกับ ‘กองขยะทางการศึกษา’ ที่วางกองไว้เป็นภูเขากระดาษ

ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาไม่ได้ลงไปสู่เยาวชน แต่อยู่กับคนที่มาประเมินทั้งสิ้น เพราะงานของพวกเขาได้เสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว

ผมมีความเชื่อมั่นว่า ไม่ว่าโลกเราจะเดินไปรวดเร็วแค่ไหนก็ตาม แต่ในโลกของการศึกษา ‘ครู’ ยังมีความสำคัญต่อนักเรียนทุกคนเสมอ

แม้อนาคตอันใกล้นี้อาจใช้คอมพิวเตอร์มาแทนบุคลากรครูในบางสาขา และมีการเรียนการสอนผ่านทางอินเทอร์เน็ตมากมาย แต่การสร้างเสริมดุลยพินิจและการคิดวิเคราะห์ให้เกิดขึ้นกับนักเรียน ครูคือส่วนสำคัญ

ในขณะเดียวกัน คนที่เป็นครูเองก็ต้องใฝ่หาความรู้​และก้าวให้ทันโลกยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะด้านสื่อในโลกออนไลน์ เพื่อเราจะได้ก้าวทันเด็กยุคนี้ที่มีความสามารถและพร้อมจะก้าวไปไกลกว่าครูทุกขณะ

ครูต้องมีวิสัยทัศน์กว้างไกล​ มองเห็นช่องทางในการประกอบอาชีพที่มีมากขึ้น พร้อมๆ กับการใส่ใจและให้ความสำคัญกับเด็กทุกคน​ เพื่อให้คำแนะนำแก่เด็กในการเลือกเส้นทางชีวิตในอนาคตได้

และหากถามผมว่านักเรียน​นักศึกษาควรต้องทำตัวอย่างไรถึงจะประสบความสำเร็จในการศึกษาและการใช้ชีวิต

ผมบอกได้เลยว่าเด็กไทยฉลาดไม่น้อยไปกว่าเด็กชาติใด ถ้าเขาเลือกใช้โลกโซเชียลในทางที่ถูกและเวลาที่เหมาะสม เช่น หยุดใช้โทรศัพท์ในเวลาเรียนหรือยามอยู่ในสถาบันการศึกษา เหมือนที่สถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงของต่างประเทศห้ามนำเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ใดๆ เข้าโรงเรียน

ผมเชื่อว่าเด็กไทยจะประสบความสำเร็จในการเรียนและการวางแผนชีวิตในอนาคต

โดยไม่ต้องเสียเวลาค้นหาตัวเองแบบกัปตันลูกศิษย์รักของผม

ผมเขียนเล่าเรื่องต่างๆ มานี้ ไม่ได้เพื่อตำหนิติติงใครนะครับ แต่เล่าจากประสบการณ์ของครูคนหนึ่งที่ปรารถนาจะให้การศึกษาไทยดีขึ้น

เพราะการศึกษาไทยจะดีขึ้นได้ ไม่ใช่เพราะคนใดคนหนึ่ง หรือเกิดจากการชี้แพะหาคนผิดแต่อย่างใด แต่เกิดจากทุกคนทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมมือกัน

ครูก็มีหน้าที่ของครู นักการศึกษาก็มีหน้าที่ของนักการศึกษา เช่นเดียวกับนักเรียนก็มีหน้าที่ของนักเรียน

เพียงแต่วันนี้บทบาทของครูถูกระบบการประเมินทำให้ถอยห่างจากหน้าที่ที่ครูควรจะทำมากที่สุด นั่นคือ ‘การสอนและเรียนรู้จากนักเรียน’

โลกวันนี้เปลี่ยนเร็วมากครับ ครูทุกคนรู้ดี และครูหลายคนก็พยายามเรียนรู้และปรับตัวเช่นเดียวกับหลายๆ อาชีพในวันนี้ เพียงแต่ระบบที่เป็นอยู่ไม่ได้ให้ความสะดวกกับครูมากเท่าที่ควร

ถึงแม้ผมจะแนะนำว่านักเรียนควรจะทำตัวอย่างไรถึงจะประสบความสำเร็จทางการศึกษาและชีวิต แต่ในด้านหนึ่ง ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่เด็กจะชอบสนุก ติดโซเชียล หรือแอบใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ระหว่างเวลาเรียน ซึ่งในฐานะครู เรามีหน้าที่ต้องกวดขันพวกเขาครับ

ทุกวันนี้ผมและบรรดาเพื่อนครูเราก็พยายามทำหน้าที่ตรงนี้ให้ดีที่สุด และก็ไม่เคยคิดเอาเรื่องของระบบประเมินมาเป็นข้ออ้างที่จะไม่ทำหน้าที่ตรงนี้

เพราะหน้าที่คือหน้าที่

เพียงแต่จะดีกว่านี้ ถ้านักการศึกษาที่มีหน้าที่วางนโยบายจะช่วยออกแบบระบบการเรียนการสอนที่เอื้อให้ครูได้ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มเปี่ยม

ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ของครูนะครับ แต่เพื่อให้เกิดระบบนิเวศทางการศึกษาที่สอดคล้องกับโลกความเป็นจริง เพราะท้ายที่สุด ประโยชน์ของเรื่องนี้ไม่ได้ตกอยู่ที่ผู้ใดผู้หนึ่ง แต่จะเป็นประโยชน์กับทุกคนทุกฝ่าย และประเทศชาติของเราครับ

หาก ‘ใครสักคน’ ที่ผมเขียนถึง ยังเชื่อว่า “เด็กคืออนาคตของชาติ” เรามาร่วมมือกันนะครับ

อย่างน้อยที่สุดตอนนี้ ถ้าเป็นไปได้ ในฐานะครูคนหนึ่ง ผมขอเพียงเรื่องเดียว…

“คืนครูสู่ห้องเรียนเถอะครับ”

ด้วยความเคารพและไมตรีจิต

ครูก้อง