life

“ไม่ได้เฉื่อยชา แต่ก็ไม่ได้เป็นวัยรุ่นไฟแรงเหมือนเมื่อก่อน ค่อนข้างทำใจได้ เรียกว่าโตตามวัยได้หรือเปล่า”

“บางทีมองใบไม้กระดิกแล้วก็เริ่มรู้สึกเฉยๆ แล้ว ก็แค่ใบไม้กระดิก คงเป็นไปตามช่วงวัย ควรอยู่ในโลกของความเป็นจริงบ้าง”

แอนท์ – มนัสนันท์ กิ่งเกษม และ อูปิม –  ลานดอกไม้ ศรีป่าซาง ผลัดกันเล่าความเปลี่ยนแปลงของพวกเธอ ในช่วงขวบปีให้หลังมานี้ 

ทั้งสองคนเป็นเพื่อนสนิทจากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ชวนกันมาคัฟเวอร์เพลงจนเริ่มเป็นที่รู้จัก และตัดสินใจทำเพลงของตัวเองในนาม LANDOKMAI (ลานดอกไม้) เพราะอยากเล่าเรื่องราวของพวกเธอและอยากถูกจดจำในฐานะศิลปินสักครั้ง

จากซิงเกิลแรก เพลง ‘เก็บดอกไม้’ จนเดินทางมาถึง ‘สุขสันต์วันสุดท้าย’ ซิงเกิลล่าสุด นอกจากแนวดนตรีที่ซับซ้อน ละเอียดลออขึ้นแล้ว บทสนทนาของเราในวันนี้ยังทำให้ได้รู้จักทั้งสองคนในเวอร์ชันที่เติบโตขึ้นอีกด้วย ในวันที่แอนท์ไม่ได้เป็นวัยรุ่นไฟแรงเหมือนเมื่อก่อน และอูปิมเริ่มจะเฉยๆ กับใบไม้ที่เคลื่อนไหวตรงหน้าแล้ว บทเพลงของพวกเธอจะเล่าเรื่องอะไร 

‘สุขสันต์วันสุดท้าย’ คือวันแบบไหน ทำไมถึงเป็นวันที่สุขสันต์ 

อูปิม : แล้วแต่คนฟังจะตีความเลยค่ะ แต่สำหรับตัวเองที่เขียนเพลงนี้ขึ้นมา ตั้งใจให้รู้สึกเศร้า ในขณะเดียวกันก็รู้สึกโล่งใจ เพราะว่าเพลงนี้พูดถึงการที่คนสองคนทนอยู่ในความสัมพันธ์ที่ toxic จนทนไม่ไหว และตัดสินใจแยกทางกัน แล้วก็ไม่มีใครที่ยังหลงเหลือความรักต่อกันอีกแล้ว เราเองก็เป็นคนหนึ่งที่เคยอยู่ในความสัมพันธ์แบบนี้ เลยรู้สึกว่ามันทรมานมาก คงจะดีนะ ถ้าเราใจตรงกันจนทนอยู่ด้วยกันไม่ไหวแล้วแยกทางกัน ซึ่งปิมสร้างตัวละครในจินตนาการขึ้นมา ถ้าคู่รักคู่นี้ตั้งใจจะเลิกกันมันคงต้องดีมากแน่ๆ เลย

แอนท์เคยมีประสบการณ์เหมือนอูปิมไหม

แอนท์ : พูดตรงๆ คือไม่เคยมีเลยค่ะ (หัวเราะ) แต่เราชอบวิธีการเล่าเรื่องของเพลงนี้ ปิมให้แอนท์อ่านเนื้อเพลงตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว ตอนนั้นปิมร้องกับเปียโนเครื่องเล็กๆ 1 ตัว เราชอบตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้ฟัง รู้สึกว่าเดี๋ยวต้องทำเพลงนี้แล้ว เลยเก็บมาไว้ในอัลบัมนี้ เพลงนี้ค่อนข้างสนองกิเลสเรา เพราะอยากทำแบบนี้ดูสักครั้ง ซึ่งยอมรับเลยว่าเป็นเพลงที่ต้องใช้สมาธิสูงประมาณหนึ่งในการฟังจนจบ

อูปิม : น่าจะเคยมีคนพูดถึงเนื้อหาแบบนี้ไปแล้ว แต่ที่เราบอกว่าเป็นเพลงที่ทำเพื่อสนองกิเลส ก็เพราะว่าเป็นเพลงที่เป็นเหมือนงานศิลปะ ดนตรีก็มีความซับซ้อนและละเอียดมาก

แอนท์ : เราพยายามทำดนตรีให้สอดคล้องกับเนื้อเพลงให้ได้มากที่สุด ถ้าเป็นเพลงปกติอาจมีแค่ดนตรีประกอบสิ่งที่ต้องการจะพูด แต่สำหรับเพลงนี้เราพยายามออกแบบให้ดนตรีส่งเนื้อร้องด้วย

ลานดอกไม้เล่าเรื่องอะไรผ่านบทเพลง 

อูปิม : ความร้าก…ความรัก แล้วก็ชีวิต 

แอนท์ : ตอนนี้เราอาจพูดถึงเรื่องความรัก แต่จากนี้ไปเราอาจไม่ได้พูดเรื่องความรักแล้วก็ได้

อูปิม : อาจเพราะความรักส่งผลต่อใจมากที่สุด เราเป็นมนุษย์ที่ใช้ความรักขับเคลื่อนชีวิต รักคือสิ่งที่จะมาเติมพลังให้ตัวเราในทุกๆ วัน มีความรักมากมาย ไม่ใช่แค่รักแฟน ทั้งความรักในอาชีพ รักตัวเอง รักอะไรก็ตาม โมเมนต์ที่ส่งหัวใจเราไปในบทเพลงและทำให้คนเข้าใจมากที่สุดก็คงเป็นเรื่องความรัก ถ้าแต่งเพลงว่าฉันรักในอาชีพของฉัน รักการปั้นดินของฉัน คนคงจะไม่เข้าใจมากเท่าความรักที่ฉันมีให้ใครสักคน ซึ่งใครหลายๆ คนก็คงต้องรู้สึกเช่นเดียวกัน ก็เลยออกมามีแต่เพลงรัก แต่จริงๆ ก็อยากแต่งเนื้อเพลงที่นอกเหนือจากสิ่งนี้บ้างเหมือนกัน

แอนท์ : มีอยู่เพลงหนึ่งที่ยังชอบจนถึงทุกวันนี้ ตอนนั้นแต่งเกี่ยวกับอะไรนะ (หัวเราะ)

อูปิม : ตอนนั้นอยากแต่งเพลงที่มีความเซ็กซี่ แต่พอแต่งออกมาแล้วกลายเป็นว่าทุกคนร้องโอ้โห มันแรงต่อภาพพจน์เราไปไหม เพราะลานดอกไม้น่ารักมาตลอด แล้วอยู่ๆ ก็มาเซ็กซี่มาก ตอนแต่งเพลงนั้นพยายามนึกถึงความเซ็กซี่ในเพลงภาษาอังกฤษ อย่าง Versace on the floor ปรากฏว่าพอเป็นภาษาไทยมันแรงมาก เพื่อนๆ บอกว่าไม่ได้นะปิม รออายุ 30 ก่อนค่อยปล่อย (หัวเราะ) 

แอนท์ : สำหรับแอนท์ เพลงนั้นเซ็กซี่สุดโต่งประมาณหนึ่งเลย น่าจะเป็นเรื่องวัฒนธรรมของภาษาด้วย

อูปิม : อยากปลดล็อคสิ่งนี้นะ ในวงการเพลงบ้านเราก็มี Polycat กับ The Parkinson ที่ทำเพลงเนื้อหาประมาณนี้ออกมาได้ดี แล้วเข้ากับวงเขาอย่างเป็นธรรมชาติ ถึงแอนท์จะบอกว่าให้ปิมรอ 30 ก่อนค่อยปล่อย แต่ถ้าเป็นไปได้ ก็ตั้งใจอยากจะใส่ลงไปในอัลบั้มนี้เลย 

ได้แรงบันดาลใจในการแต่งเพลงมาจากไหน 

อูปิม : มาจากหนังบ้าง เรื่องของตัวเองบ้าง จินตนาการเองบ้าง เป็นพวกชอบสร้างตัวละครไว้ในหัว ข้างในนี้จะมีภาพ มีสถานที่ มีตัวละครที่เราสร้างมันไว้ แล้วก็สวมบทบาทเข้าไปเป็นตัวละครนั้นๆ และเขียนเพลงออกมา ตอนเด็กๆ เป็นคนล่องลอยค่ะ คุยกับใครไม่ค่อยได้เลยเล่นคนเดียวในจินตนาการ จำได้ว่าช่วงอนุบาล – ป.2 ไม่มีเพื่อนเลย พักเที่ยงจะซื้อขนมปังหนึ่งก้อนแล้วไปนั่งบนชิงช้า มีความสุขกับการอยู่กับตัวเอง พบว่าจินตนาการของเรามันเยอะมาก บางทีแค่เห็นใบไม้โดนลมพัด ก็คิดแล้วว่ามันกำลังจะเกิดอะไรขึ้น พอเริ่มโตขึ้นมันก็หายไปบ้างนะ บางทีมองใบไม้กระดิกแล้วก็เริ่มรู้สึกเฉยๆ แล้ว ก็แค่ใบไม้กระดิก คงเป็นไปตามช่วงวัย ควรอยู่ในโลกของความเป็นจริงบ้าง (หัวเราะ)

แอนท์ : แอนท์น่าจะตรงข้ามกับปิมเลย ปิมโตมากับจินตนาการ ส่วนเราโตมากับความจริง ถูกหยิบยื่นความจริงให้ตั้งแต่เด็กว่าโลกนี้เป็นอย่างไรและต้องทำอย่างไรถึงจะอยู่รอด กลายเป็นว่าเราโตเกินวัย สามารถจัดการชีวิตตัวเองได้ตั้งแต่ประมาณ ป.5 ตอนอยู่ป.6 กำลังจะขึ้นม.1 ก็หาที่เรียนต่อเอง จัดการเอง ถึงเวลาแค่บอกให้แม่ไปประชุม ที่บ้านไม่ได้เคยมายุ่งกับชีวิตส่วนตัวเลย แต่พอมาอยู่มหาวิทยาลัยเดียวกันกับปิม ตอนนี้ก็แชร์กันจนเริ่มมีความเป็นปิม และปิมเองก็เริ่มมีความเป็นตัวเราเหมือนกัน

แตกต่างกันอย่างนี้ ทำเพลงด้วยกันได้อย่างไร

แอนท์ : จูนกันมาเยอะแล้วค่ะ เพราะเป็นเพื่อนด้วยมั้ง เลยจูนทั้งความเป็นเพื่อน จูนทั้งการทำงาน

อูปิม : ปิมเป็นคนที่เรียบเรียงจินตนาการของตัวเองเป็นคำพูดได้ไม่ดีนัก ฟุ้งเก่งแต่พูดออกมายากมาก ตอนเขียนเพลงน่ะมันเขียนได้ แต่พอพูดเป็นภาษาดนตรีแล้วยากนิดหน่อย เวลาทำเพลง จะมีภาพ มีสี มีอารมณ์อยู่ในหัว เราบอกเขาว่าอยากได้ดนตรีแบบนี้ อารมณ์อุ่นๆ แต่ก็เย็น และมีแสงแดดส่องลงมา คนที่ต้องมาทำงานกับเราเขาจะไม่ค่อยเข้าใจ ทั้งแอนท์และ ‘แบ่งปัน’ เพื่อนร่วมงานอีกคนก็ค่อยๆ จูนกับเราไปเรื่อยๆ

แอนท์ : พอเป็นเพื่อนกัน เราก็เข้าใจว่าเพื่อนเป็นแบบไหน ได้ยินมาเยอะว่าอย่าทำงานกับเพื่อน ไม่รู้สิ  ส่วนตัวไม่มีประโยคนั้นอยู่ในหัวเลย คิดว่าถ้าเรารู้จักเพื่อนคนนั้นดีพอ ก็ทำงานด้วยกันได้นะ

แทบทุกงานในชีวิต เราทำร่วมกับเพื่อนหมดเลย เพราะว่ารู้จักเพื่อนดีพอ ถ้าไปเริ่มต้นใหม่กับคนไม่สนิท บางทีอาจทำงานด้วยกันดีก็ได้ เพราะไม่ต้องเกรงใจกัน แต่ในระยะยาว อาจจะกว่าก็ได้ถ้าเรารู้จักกันดีพอ

ทั้งสองคนมาเป็นเพื่อนสนิทกันได้อย่างไร 

แอนท์ : เราเจอกันที่คณะ ปิมมาจากเชียงใหม่ แอนท์มาจากกรุงเทพฯ ไม่มีเพื่อนจากโรงเรียนตัวเองมาเลยสักคน แล้วไม่เคยย้ายโรงเรียนมาก่อน หมายความว่าไม่เคยเริ่มต้นทำความรู้จักใครใหม่เลย ตอนนั้นมีอีเมลจากคณะฉบับหนึ่งส่งผิดมาที่เมลของเรา ซึ่งไม่ควรจะส่งมาเพราะเป็นรายละเอียดข้อมูลส่วนตัวของปิม เลยรู้ว่าปิมรหัส 040 ส่วนเรา 039 คิดว่าถ้าคณะมีกิจกรรมอะไร ก็คงจะได้นั่งต่อกันแน่ๆ คนนี้ชื่อแปลกดีด้วย ก็เลยเอาเบอร์โทรของปิมไปแอดไลน์ และทักไปทำความรู้จัก อย่างน้อยๆ วันปฐมนิเทศก็จะได้มีเพื่อน 

รู้สึกอย่างไรตอนที่แอนท์ทักมา

อูปิม : งงว่านี่ใครนิ สุดท้ายพอได้คุยก็สนิทกันเลย เพราะแอนท์เป็นคนที่คุยกับใครก็ได้

แอนท์ : อยู่ที่ไหนก็ได้ คุยกับใครก็ได้

อูปิม : ใช่ค่ะ (หัวเราะ) 

ทำไมถึงเลือกเรียนดนตรี

อูปิม : รู้ตัวตั้งแต่ตั้งแต่เด็กแล้วว่าชอบดนตรี ชอบร้องเพลง ช่วงม.ปลายเรียนศิลป์ดนตรีมาด้วย ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว เลยเรียนต่อด้านดนตรีไปเลย ตอนนั้นเก่งอย่างเดียวเลย เกรดเฉลี่ยน้อยเกินกว่าจะไปสอบเข้าศิลป์คำนวณหรือสายวิทย์ฯ รู้สึกว่าคงสู้เขาไม่ไหวแล้วแหละ ก็เลยตัดสินใจมาร้องเพลงดีกว่า แต่ไม่ได้รู้สึกว่าเพราะไม่ได้เลือกอันนั้น เลยต้องมาเลือกอันนี้นะ ในใจเราก็เทให้ดนตรีอยู่แล้ว

แอนท์ : ส่วนแอนท์ชอบดนตรีมาตั้งนานแล้ว แต่ตอนม.ปลายซึ่งเป็นช่วงที่ค้นหาตัวเอง เราเลือกสอบสายวิทย์-คณิต เพราะไม่รู้จะเรียนอะไร ตอนนั้นสายนี้มันไปได้ทุกทางก็เลยเลือก พอเรียนจริงๆ แล้ว เราว่าเราไม่น่าจะไปทางนี้ได้แน่ๆ เลยลังเลสายนิเทศกับดนตรี เลยลองมาสอบดนตรีก่อน แล้วก็สอบติด ตอนนั้นแม่บอกด้วยว่าคนปกติมันไม่น่ามานั่งเล่นกีต้าร์ทุกวันขนาดนี้ เลยเชื่อแม่ แล้วมาเรียนดนตรี

เครื่องดนตรีชิ้นแรกที่เล่นคืออะไร

อูปิม : ขิมค่ะ เรียนขิมมาตั้งแต่เด็ก ถึงขนาดที่ว่าพ่อจ้างครูมาสอนขิมให้ที่บ้านเพราะพ่อบอกว่ามันเพราะ อยากให้ลูกฝึกเล่นไว้ เราก็เล่นแค่เฉพาะเวลาที่ครูมาสอนนี่แหละ (หัวเราะ)

แอนท์ : เล่นเปียโนตอนอนุบาล เล่นพร้อมกับเพื่อนๆ ในห้อง ตอนนั้นเหมือนว่าทุกคนจะต้องเรียน แต่ตกใจที่อูปิมเล่นขิม เพราะเพิ่งรู้เหมือนกัน ความจริงแอนท์ก็เรียนขิมมาตั้งแต่ป.4 – ม.6 เล่นจริงจังมากขนาดไปแข่งกับโรงเรียนอื่นเลย

อูปิม : เห้ย ไม่เคยรู้เลยนะ (หัวเราะ)

แอนท์ : แต่ในขณะเดียวกันเราก็ชอบกีตาร์มาก เลยเล่นกีตาร์ไปด้วย ส่วนตอนที่ต้องเล่นขิมก็เพราะที่โรงเรียนไม่ค่อยมีใครเล่น ก็เลยต้องเล่นไปแข่งกับโรงเรียนอื่น แต่ว่าไม่ได้รางวัลอะไรหรอก ตกรอบมาเหมือนกัน แค่เคยออกทีวีกับโรงเรียน (หัวเราะ)  

พอเข้าไปเรียนดนตรีจริงๆ แล้ว เป็นอย่างที่คิดไว้ไหม 

ปิม : ดีกว่าที่คิดไว้มาก แต่ก่อนปิมเป็นเด็กที่ค่อนข้างแตกต่างจากคนอื่น เพื่อนๆ เราเรียนศิลป์ภาษา เรียนสายวิทย์ เราก็เลยคุยกับใครไม่ค่อยรู้เรื่อง แล้วแปลกอยู่คนเดียว แต่งตัวก็แปลก พูดจาก็แปลก ความคิดก็แปลก จนมาเรียนดนตรีถึงได้เจอคนที่คิดเหมือนเรา ได้คุยภาษาเดียวกัน เดินไปที่ไหนๆ ในคณะก็จะได้ยินแต่เสียงเพลงดังมาจากตึกนั้น ตึกนี้ที ตั้งแต่อยู่มาทั้งชีวิต มหิดลนี่แหละที่ทำให้รู้สึกว่าตัวเองอยู่ในที่ที่ถูกต้องสักที

แอนท์ : เห็นด้วยกับสิ่งที่ปิมเป็น แต่สำหรับเราตรงกันข้ามกันเลย ปิมเคยเป็นคนแปลก แต่พอมาอยู่ที่นี่ แล้วรู้สึกปกติ ส่วนเราเป็นคนปกติที่เข้ามาอยู่ในหมู่คนแปลก ด้วยความที่เราเป็นคนคุยกับใครก็ได้ เป็นคนธรรมดามากๆ พอมาอยู่ในหมู่คนที่หลุดโลกกันทุกคน เราเลยรู้สึกด้อยมาก มันดูยากไปหมดเพราะทุกคนเก่งมาก เป็นตัวของตัวเองมาก เราเลยเราตามไม่ทัน 

ปิม : อย่าเรียกว่าแปลกเลยเขาเรียกว่าพิเศษ (หัวเราะ)

แอนท์ : ใช่ แต่พออยู่ไปนานๆ เราก็พิเศษไปด้วย 

ตอนนั้นเลือกเรียนอะไร

อูปิม : เรียนเอกร้องดนตรีสมัยนิยมหรือดนตรีป๊อบนั่นแหละ เรียนเพื่อที่จะไปเป็นศิลปิน เป็นโปรดิวเซอร์เลย เราจะต้องเรียนร้องเพลงให้แข็งแรงมากๆ เพื่อไปแสดง แล้วก็เรียนรวมวงเพื่อฝึกทำงานกับนักดนตรี แล้วก็แต่งเพลง เขียนเนื้อเพลง ทำเพลงในโปรแกรมในคอมพิวเตอร์ด้วย 

แอนท์ : แอนท์เรียนธุรกิจดนตรีค่ะ ชอบคณะนี้ตรงที่เราได้มีส่วนร่วมในธุรกิจดนตรีจริงๆ มันดีตรงที่เราได้ลงมือทำจริงๆ ได้รู้จักคนเยอะด้วย

การเรียนดนตรีสำคัญต่อการเป็นศิลปินอย่างไร

แอนท์ และ อูปิม : ไม่สำคัญเลย

แอนท์ : ทุกคนมันมีความเป็นศิลปินอยู่ในตัวอยู่แล้ว เราไม่ต้องเรียนดนตรีเพื่อที่จะเป็นศิลปินก็ได้ ใครๆ ก็เป็นศิลปินได้

อูปิม : ศิลปินจะเป็นใครในโลกใบนี้ก็ได้ แค่คุณรู้สึกอยากทำแค่นั้นเอง ปิมชอบประโยคหนึ่งมากในภาพยนตร์เรื่อง Ratatouille ที่บอกว่าใช่ว่าใครจะเป็นศิลปินที่ยิ่งใหญ่ได้ แต่ศิลปินที่ยิ่งใหญ่จะมาจากที่ไหนบนโลกก็ได้ เป็นใครก็ได้ที่เป็นคนตัวเล็ก ตัวน้อยบนโลกใบนี้ เราเลยคิดว่าจริงๆ แล้วไม่ต้องเรียนก็ได้ (หัวเราะ) เพราะสุดท้ายแล้ว คนที่อยากทำเพลงจริงๆ ก็จะขวนขวายทุกวิถีทางเพื่อสร้างเพลงออกมาให้ได้ 

แล้วการเรียนดนตรีให้อะไรกับคุณบ้าง

แอนท์ : อย่างน้อยก็ได้ใช้เวลา 4 ปีกับดนตรีเนอะ

อูปิม : คิดว่าตัวเองลึกซึ้งกับดนตรีมากขึ้น ได้ฟังมากขึ้นเลยได้ยินมากขึ้น ได้เห็นเสน่ห์ของดนตรีหลายๆ รูปแบบที่ชีวิตนี้คงไม่เปิดฟัง แต่ก่อนคงไม่เปิดใจให้เพลงร็อกกับเพลงแร็พแน่ๆ เพราะมันไม่ใช่เราเลย แต่พอมาอยู่ที่นี่ ก็ได้เห็นว่าจริงๆ แล้วแต่ละเพลงก็มีเสน่ห์ของมัน ในแบบที่แนวเรียบๆ แนวโฟล์คที่เราชอบให้ไม่ได้

ทำไมลานดอกไม้ถึงทำเพลงแนวนี้

อูปิม : เป็นแนวที่ถนัดและทำได้ดีที่สุด ตัวเองคงไปเต้น ไปร็อก หรือแร็พคงไม่ได้ ทางนี้น่าจะเป็นทางที่ออกมาโดยธรรมชาติ ถ้าพยายามจะหนีก็รู้สึกว่าเริ่มฝืนแล้ว 

แอนท์ : เพลงที่ปิมทำออกมาเป็นแนวฮาร์โมนี มันก็โดนเซนส์เราเหมือนกัน แนวเพลงของแอนท์กับปิมมีส่วนที่คาบเกี่ยวกัน เราเลยทำงานด้วยกันได้ แอนท์ชอบฟังเพลงหลายแนวค่ะ ใน 5 อันดับของ Spotify เป็นคนละแนวแบบไม่ใกล้กันเลย แล้วแต่ช่วงด้วยว่าช่วงไหนชอบฟังเพลงอะไร 

ตอนเด็กๆ ชอบฟังเพลงแบบไหน

อูปิม : ชอบฟัง music theater เพราะตอนเด็กๆ พ่อชอบเปิดซีดีในรถ แล้วก็เปิดพวกมิวสิคัล บรอดเวย์ให้ฟัง ชอบเรื่อง The sound of music มาก ร้องเพลงในนั้นได้ทุกเพลงเลย ส่วนมากที่พ่อเปิดจะเป็นเพลงโบราณ เพลงแจ๊ส เพลงของ หลุยส์ อาร์มสตรอง ส่วนพวกซีดีเก่าก็มีตั้งแต่ สุเทพ วงศ์กำแหงไปจนถึง เอลลา ฟิตซ์เจอรัลด์เลย แล้วเราก็ฟังทุกอย่างที่พ่อฟัง

แอนท์ : ปิมฟังเพลงโหดแต่เด็กเลย สมัยเด็กน่าจะเป็นยุคของเพลงที่พ่อแม่หามาให้ฟัง ซึ่งบ้านเราไม่ได้ฟังบรอดเวย์แน่นอน แม่จะฟังเพลงของนันทิดาบ้าง เราชอบฟังเพลงมาตั้งแต่เด็กๆ ประมาณป.4 ก็พก MP3 ไปโรงเรียนแล้ว เพลงที่ฟังทุกวันก็จะเป็นเพลงไทย เพลงที่มันมากับ MP3 ก็ไม่รู้เหมือนกันนะว่าใครเป็นคนเอาเพลงไปใส่ในนั้น มันสำคัญมากเลยนะ ว่าตอนเด็กๆ ใครยื่นอะไรให้เราฟังบ้าง ย้อนเวลากลับไปได้ก็อยากให้แม่ยื่นบรอดเวย์ให้ฟังบ้าง เราน่าจะหูดีตั้งแต่เด็ก (หัวเราะ) 

อยากให้เล่าถึง ‘เก็บดอกไม้’ ซึ่งเป็นเพลงแรก

อูปิม : เราเห็นรุ่นพี่ที่คณะเขาทำเพลงกัน มีทั้งวง YEW วง Dept. เราก็อยากเป็นศิลปินบ้าง ตอนนั้นทุกคนจดจำเราเป็นคนคัฟเวอร์เพลงอย่างเดียว อยากให้มีคนเอ่ยปากชมเพลงของเราบ้าง ว่าเพลงนี้ที่เราแต่งมันเพราะมากเลย บอกแอนท์ว่าเลิกทำเพลงคัฟเวอร์กันเถอะ แล้วมาลุยทำเพลงตัวเองกัน ดูซิว่ามันจะรอดไหม ถ้าไม่รอดค่อยกลับไปทำคัฟเวอร์เหมือนเดิมก็ได้

แอนท์ : ตอนนั้นเรื่องนี้ถือเป็นประเด็นที่ค่อนข้างเครียด ตอนนั้นหนูเชียร์ให้ไม่เลิก เพราะคิดว่าศิลปินที่คัฟเวอร์เพลงก็ปล่อยเพลงตัวเองไปด้วยได้ เพียงแต่เพลงของเราอาจไม่ดังเท่าเพลงที่เอามาคัฟเวอร์เท่านั้นเอง แต่ก็รู้สึกดีที่เลือกเลิกคัฟเวอร์ไปก่อน เพราะขนาดเราทำเพลงไปสักพักแล้ว คนยังชอบให้เราคัฟเวอร์เพลงอยู่เลย เราเลยอยากเอาชนะตรงนั้นให้ได้ จนตอนนี้ก็ทำได้ประมาณหนึ่งแล้ว

เรื่องเข้าใจผิดเกี่ยวกับ ‘ลานดอกไม้’ 

แอนท์ : น่าจะเป็นเรื่องชื่อวงที่มาจากชื่อของอูปิม

ทำไมถึงใช้ชื่ออูปิมเป็นชื่อวง

แอนท์ : ตอนนั้นเป็นช่วงกำลังจะปล่อยเพลง ‘เก็บดอกไม้’ ก็เลยต้องคิดชื่อวงกันอย่างแข็งขัน อยู่ดีๆ ก็นึกถึงชื่อปิม ตอนแรกปิมก็ไม่ค่อยโอเค เพราะคนจะมองว่าแปลกที่เราเป็นศิลปินคู่แต่ใช้ชื่อของอูปิมคนเดียว แต่ถ้ามองข้ามไป คำนี้มันเหมาะกับเพลงเก็บดอกไม้มากๆ แล้วการทำเพลงของลานดอกไม้ก็มีความเป็นอูปิมอยู่ด้วย ชื่อนี้จำง่ายด้วย เพราะครั้งแรกที่เห็นชื่อปิมก็จำได้เลยทันที ชื่อวงที่เราจำกันได้ตั้งแต่ครั้งแรกและเหมาะกับเพลงมันต้องเป็นอะไรประมาณนี้

อูปิม : ตอนแรกไม่ชินเลย แต่หลังๆ รู้สึกดี ชื่อเราเป็นที่น่าจดจำเพราะพ่อตั้งให้เลย พ่อนี่ก็คิดได้เนอะ ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมถึงตั้งชื่อนี้ ‘ลานดอกไม้’ เป็นภาษาเหนือ แปลว่าต่างหูรูปดอกไม้ ซึ่งพ่อมีความเป็นศิลปินสูงมาก เป็นกวี ขับกลอน พ่อไม่อยากตั้งชื่อให้เป็นภาษาบาลีสันสกฤต เลยตั้งเป็นภาษาไทยแท้ที่แปลกไปเลย ส่วนชื่อเล่น ‘อูปิม’ แปลว่า เด็กหญิงผู้เลอโฉม 

คนอาจจะคิดว่า ‘ลานดอกไม้’ เป็นลานดอกไม้ที่มีดอกไม้ 

แอนท์ : ไม่ได้ซีเรียสเลย

อูปิม : ก็ดีนะคะ ต่อจะให้เป็นลานดอกไม้ ทุ่งดอกไม้ หรือต่างหูดอกไม้ ความหมายก็เหมาะกับเราทั้งนั้น

ถ้าเปรียบ ‘ลานดอกไม้’ เป็นดอกไม้จะเป็นดอกอะไร 

อูปิม : ชอบดอกไม้ตายค่ะ 

แอนท์ : ปิมเคยทำต้นไม้แอนท์ตายด้วย (หัวเราะ)

อูปิม : ชอบดอกไม้ พืชพรรณไม้ อะไรก็ได้ที่ตายไปแล้ว พอแห้งกรอบเป็นสีเหลืองทอง สีน้ำตาล เราว่ามันสวยกว่าตอนที่มีชีวิตอยู่มาก ถ้าตัวเองเป็นดอกไม้ ก็คงเป็นดอกไม้แห้งหรือกิ่งไม้แห้งนี่แหละ

แอนท์ : ฟังแล้วเศร้าเพราะเราเป็นคนรักต้นไม้ แต่ก็ชอบดอกไม้แห้งนะเพราะรู้สึกว่าสวยและเคยสวยมาก่อน มันมีความวินเทจ ถึงจะไม่ค่อยชอบดอกไม้แต่ก็มีดอกไม้แห้งอยู่ในห้อง

อูปิมถ่ายแอนท์

จาก ‘เก็บดอกไม้’ มาจนตอนนี้ ลานดอกไม้เติบโตขึ้นอย่างไร

อูปิม : นิ่งขึ้น ทั้งในพาร์ทดนตรีและเนื้อร้อง อัลบั้ม Over the sun เป็นอัลบั้มที่ค่อนข้างสนุก แฟนตาซี ล่องลอย แล้วพาให้จินตนาการ ซึ่งที่ผ่านมาลานดอกไม้จะพูดถึงเรื่องในจินตนาการ ความฝัน ความหวัง ความรัก อวลกันอยู่อย่างนั้น แต่อัลบั้มนี้ปิมอยากพูดเรื่องที่อยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงมากขึ้น คนเข้าถึงเพลงง่ายขึ้น ไม่ต้องฝันแล้วมาอยู่ในโลกของความเป็นจริง

อยากลองกระโดดไปเป็นศิลปินที่สนุกขึ้น ปิมว่าตอนนี้คิดเพลงเท่าไหร่มันก็ยังคงกลับมาอีหรอบเดิม ปีหน้าอยากลองทลายกรอบตรงนี้ ให้เพลงดูน่าสนใจขึ้น อยากเพิ่มจังหวะให้เต้นกับโชว์ของเราได้ กระโดดในโชว์ของเราได้ ลานดอกไม้ยังไม่เคยมีคอนเสิร์ตแบบนั้นเลย คิดว่ามันน่าสนใจดี

แอนท์ : แอนท์ไม่ชอบวางแผนอนาคตไว้ชัดเจนขนาดนั้น เรียกได้ว่าวางแผนแต่ไม่กำหนดผลลัพธ์ดีกว่า  เพราะรู้สึกว่าเราอกหักกับผลลัพธ์มาเยอะจนเลิกติดกรอบของผลลัพธ์ไปแล้วว่ามันต้องเป็นแบบไหน เราต้องไปให้ถึงไหน มันปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลาและชีวิตของเราก็มีปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้อีกเยอะ

แอนท์ถ่ายอูปิม

เหตุการณ์ไหนที่ทำให้รู้สึกอกหัก

แอนท์ : จำเรื่องที่ผิดหวังไม่ค่อยได้ เราจะลืมง่ายมาก คงเป็นเรื่องที่คาดหวังไว้แล้วผิดหวัง ก็ทำให้รู้สึกแย่ ไม่รู้ว่ามันดีหรือไม่ดีนะ แต่ตอนนี้ความคาดหวังน้อยลง ไม่ได้เฉื่อยชานะ แต่ก็ไม่ได้เป็นวัยรุ่นไฟแรงเหมือนเมื่อก่อน ค่อนข้างทำใจได้ เรียกว่าโตตามวัยได้หรือเปล่า 

อูปิม : สำหรับปิมคงเป็นเรื่องไปเล่นดนตรีแล้วทำได้ไม่ดี แค่นี้เลย เวลาไปเล่นสดจะคิดว่าต้องออกมาดี คนต้องพูดว่าดี ถ้าโชว์ไหนที่รู้สึกว่าซาวด์ไม่ดี ทำได้ไม่ค่อยดีด้วยจะรู้สึกว่าผิดหวังมากๆ

แอนท์ : เข้าใจปิมเลย แต่สำหรับแอนท์ พอคิดต่อแล้วไม่ได้อะไร ก็จะกลายเป็นสิ่งที่ย้อนกลับมาทำร้ายตัวเองหนักกว่าเดิม ปกติก็ไม่ได้คิดแบบนี้ได้เสมอไป บางทีก็มีร่างแย่ๆ ที่ติดอยู่กับอารมณ์และความรู้สึกแย่ๆ เหมือนกัน

ชอบอะไรในเพลงของ ‘ลานดอกไม้’

แอนท์ : ชอบดนตรี มันอาจเป็นทิฐินะ แต่คิดว่าดนตรีของเรามันไม่เหมือนใครและในประเทศไทยนี้ก็ยังมีคนฟังอยู่ 

อูปิม : ชอบดนตรีและฮาร์โมนี

แอนท์ : ต้องชอบเนื้อเพลงด้วยสิ เป็นคนเขียนเนื้อนะ (หัวเราะ) 

อูปิม : ถ้าบอกว่าชอบเนื้อเพลงมันจะดูอวยเพลงตัวเองไปหรือเปล่า แค่ชอบภาษาของตัวเอง ถึงจะมีช่วงหนึ่งที่ต้องสู้รบกับการแต่งเนื้อ ต้องฝึกฝนเขียนเนื้อให้เข้าใจง่ายขึ้น ให้เก่งขึ้น แต่หลังๆ มานี้รู้สึกชอบเพลง On the train จัง เพราะคิดว่าใครจะคิดได้วะเนี่ย ถ้าไม่ใช่เรา ก็เลยชอบมาก (หัวเราะ)

สิ่งที่ทำให้คุณยังทำเพลงในฐานะลานดอกไม้ต่อไป 

อูปิม : อยากมีคอนเสิร์ตเดี่ยวสักครั้ง อาจไม่ต้องยิ่งใหญ่มาก แต่เป็นคอนเสิร์ตที่ทุกคนซื้อบัตรเข้ามาดูเรา แต่การจะมีแบบนั้นได้เราคงต้องมีหลายอัลบั้มก่อน เราคงต้องทำงานหนักกว่านี้อีกเยอะเลย ตอนนี้คิดแค่ว่าทำอย่างไรให้ดีขึ้น ทำอย่างไรให้คนรู้จักมากขึ้น ทำอย่างไรให้เพลงดังมากขึ้น คนฟังแล้วเข้าใจมากขึ้น นี่ไม่ได้เป็นเป้าหมายสูงสุดแต่เป็นเป้าหมายที่จะทำให้ได้

แอนท์ : อยากทำเพลงสากลจนไปเล่นที่ต่างประเทศได้ ถ้าทำได้เท่านั้นถือว่าดีมาก เพราะไม่ค่อยอยากอยู่ประเทศนี้สักเท่าไหร่ (หัวเราะ) อยากให้ดนตรีเราไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในผู้ฟังชาวไทยด้วย คงจะดีถ้าคนทั่วโลกได้ฟังเพลงของเราแล้วเข้าใจ