life

“พอตกกลางคืนก็ตื่นเต็มสองตา ถึงจะพยายามนอนแล้ว แต่ก็ไม่อาจข่มตาลงได้ ทำได้แค่ปล่อยให้เวลาผ่านเลยไป พอนอนไม่หลับก็เอาแต่คิดเรื่องแย่ๆ พอกังวลและหงุดหงิดได้ที่ ก็จะตื่นเต็มตาอีกรอบ ช่วงเวลาราวตี 5 เริ่มมีเสียงรถมอเตอร์ไซค์ที่ขี่ผ่านไปมาผ่านดังขึ้น ได้ยินเสียงประตูเปิดจากบ้านฝั่งตรงข้าม เสียงสุนัขก็ยังไม่เว้น จากนั้นท้องฟ้าก็สว่างวาบ แสงส่องลอดผ่านม่านเข้ามา เมื่อตอนเช้ามาถึง วันนี้ก็ยัง…สิ้นหวังเหมือนเดิม” นาคามิ กันตะ – ถ้านอนไม่หลับ ไปนับดาวกันไหม

เชื่อว่าในทุกวันนี้ผู้คนมากมายหลายวัยยังคงทรมาน ไม่สบายกาย เหมือนมีตะคริวกินใจกับ ภาวะนอนไม่หลับ (Insomnia) ที่อยู่ๆ ก็เกิดขึ้นอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย ยิ่งถ้าดูจากการเก็บสถิติการนอนไม่หลับทั่วโลกในปี 2022 และ 2023 แล้ว คงเป็นเรื่องไม่ยากเย็นเลยที่วันหนึ่งคำว่า ‘นอนไม่หลับ’ อาจติดเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับ 1 ของโลก

โดยประเทศไทยมีการค้นหาคำว่า ‘นอนไม่หลับ’ มากเป็นอันดับ 4 ของโลก เป็นรองแค่ประเทศสวีเดน ไต้หวัน และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นอันดับ 1 โดยวัดจากประชากร 100,000 คนรวมกันจะมีการค้นหาคำว่า ‘นอนไม่หลับ’ สูงถึง 54 ครั้ง คิดเป็น 15 เท่าของค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ค้นหาคำว่านอนไม่หลับอยู่ที่ 3.6 ครั้ง

เพราะฉะนั้นแล้ว “ถ้านอนไม่หลับ ไปนับดาวไปกันไหม” เป็นทั้งคำเชิญชวนแด่ผู้คนที่นอนไม่หลับในยามค่ำคืน ขณะเดียวกันมันก็มีสถานะเป็นชื่อภาษาไทยของอนิเมะเรื่อง Kimi wa Houkago Insomnia (Insomniacs After School) ที่ทั้งปลอบประโลมเหล่าผู้คนที่นอนไม่หลับ พร้อมๆ ไปกับมอบช่วงเวลาอันแสนอบอุ่นหัวใจให้คนดูอย่างบอกไม่ถูก

เรื่องราวว่าด้วยชีวิตมัธยมปลายของ นาคามิ กันตะ เด็กหนุ่มผู้ถูกโรคนอนไม่หลับเล่นงานในทุกๆ ค่ำคืน จนส่งผลให้มีบุคลิกภาพไม่เป็นมิตร พาล หงุดหงิด เบื่อหน่ายเมื่อต้องสุงสิงกับผู้คน ก่อนจะเกิดเรื่องบังเอิญให้เขาได้ทำความรู้จักกับ มางาริ อิซากิ เพื่อนสาวประจำชั้นเรียนผู้สดใสเต็มร้อยอยู่เสมอ แต่กลับแฝงความทุกข์ไว้ในใจเมื่อเธอเองก็ไม่อาจนอนหลับได้เหมือนกัน

ก่อนที่ทั้งคู่จะพบว่าหอดูดาวประจำโรงเรียนคือสถานที่เดียวที่พวกเขาสามารถหลับสนิทได้อย่างไร้กังวล และทางเดียวที่พื้นที่ปลอดภัยต่อการนอนหลับนี้จะไม่หายไปไหนคือ การก่อตั้งชมรมดาราศาสตร์ พร้อมกับเริ่มต้นเรื่องราวยามค่ำคืนที่เปรียบได้ดั่งฝันในยามตื่นของคนสองคน

น่าเสียดายที่หลายๆ โรงเรียนในประเทศไทยอาจไม่มีหอดูดาวในโรงเรียนเหมือนอย่างในอนิเมะ แต่อย่างน้อยๆ ในวันที่นอนไม่หลับ ใจกระสับกระส่าย ร่างกายไม่ตอบสนองดั่งใจนึก และเกิดรู้สึกว่าความโชคร้ายกำลังก่อกวนเราผ่านเวลานอนที่น้อยลงเรื่อยๆ หากหลับลงในตอนนี้ เราอยากชวนทุกคนมาปิดไฟให้สนิท และพยายามมองหาดาวบนฟ้า เพราะไม่มากก็น้อย การดูดาวสามารถช่วยในเรื่องของการผ่อนคลายและนอนหลับได้อย่างไม่น่าเชื่อ

 

วิธีดูดาวเบื้องต้นสำหรับคนที่นอนหลับและนอนไม่หลับ

ใครที่แหงนหน้าขึ้นฟ้าแล้วยังแยกไม่ออกว่าดาวไหนคือดาวอะไร มาทำความรู้จักวิธีดูดาวเบื้องต้นไปพร้อมๆ กัน เมื่อดูดาวจนเกิดความสุนทรีย์แล้วก็จะได้รับประโยชน์แห่งความผ่อนคลายตามมา

อันดับแรกคือ หาทิศเหนือให้พบเสียก่อน จากนั้นค่อยสังเกตการเคลื่อนไหวของดาวจากทิศตะวันออกไปยังทิศตะวันตก มองหาดาวฤกษ์ที่สุกสว่าง แล้วค่อยๆ มองหารูปทรงของกลุ่มดาว ในที่นี้เราจะยกตัวอย่าง กลุ่มดาวหมีใหญ่ (Ursa Major) หรือที่คนไทยเรียกว่า กลุ่มดาวจระเข้ มีรูปทรงคล้ายกระบวยที่เกิดจากการเรียงตัวกันของดาวฤกษ์ 7 ดวง ซึ่งกลุ่มดาวนี้เป็นเครื่องมือสำคัญในการมองหา ดาวเหนือ (Polaris) 

นอนไม่หลับครั้งที่ 1 … เริ่มจากดาว 2 ดวงแรกของกลุ่มดาวหมีใหญ่ที่ถูกชาวยุโรปเรียกว่า เดอะ พอยเตอร์ (The Pointer) มีความหมายว่า ลูกศรที่ชี้เข้าหาดาวเหนือ หรือก็คือ หากมองตามลูกศรในภาพประกอบ ดาวเหนือจะอยู่ตรงส่วนปลายหางของ กลุ่มดาวหมีเล็ก (Ursa Minor) นั่นเอง และจะค่อนข้างโดดเด่นสังเกตได้ง่าย เนื่องจากกลุ่มดาวข้างเคียงนั้นไม่มีความสว่างเท่าดาวเหนือ 

นอนไม่หลับครั้งที่ 2 … เมื่อเราหันหน้าเข้าหาดาวเหนือ ขวามือของเราจะเป็นทิศตะวันออก ซ้ายมือเป็นทิศตะวันตก ซึ่งดาวจะมีทิศทางการเคลื่อนที่จากซ้ายไปขวา เมื่อเรารู้ทิศแล้ว ให้กลับไปยังกลุ่มดาวหมีใหญ่อีกครั้ง แล้วตีเส้นโค้งตามส่วน ‘หางหมี’ หรือในอีกชื่อหนึ่งคือ ‘ด้ามกระบวย’ แล้วจะพบเข้ากับดาวสุกสว่างสีส้มที่มีชื่อว่า ดาวดวงแก้ว หรือ ดาวจุฬามณี (Arcturus) เป็นหนึ่งในดาวของ กลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์ (Bootes) 

นอนไม่หลับครั้งที่ 3 … ทีนี้ตีเส้นโค้งต่อไปอีกนับจากดาวดวงแก้ว เราจะเจอเข้ากับ ดาวรวงข้าว (Spica) ดาวฤกษ์สีขาวที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจนใน กลุ่มดาวหญิงสาว (Virgo) หรือที่รู้จักกันในฐานะกลุ่มดาวประจำราศีกันย์

นอนไม่หลับครั้งที่ 4…กลับมายังจุดเริ่มต้นที่กลุ่มดาวหมีใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ดาวดวงที่ 3 และ 4 เมื่อตามลูกศรไปจะพบว่ามันชี้ไปยัง ดาวหัวใจสิงห์ (Regulus) ซึ่งเป็นดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดใน กลุ่มดาวสิงโต (Leo) หรือที่รู้จักกันในฐานะกลุ่มดาวประจำราศีสิงห์

 

ความเครียดเป็นต้นเหตุ และความกังวลเป็นสิ่งที่ตามมา

ความเครียด วิตกกังวล หรือกระทั่งความท้อแท้ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นหนึ่งในปัญหาหลักที่ส่งผลให้พวกเรานอนไม่หลับกัน ไม่ว่าจะเป็นการฟุ้งซ่านจากสิ่งเร้ารอบข้างในโลกที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงและเปลี่ยนผ่านไปอย่างรวดเร็ว จนไม่วายที่จะรับเรื่องแย่ๆ จากทุกทิศทางเข้ามาคิดหมักหมมอยู่ในหัวขณะกำลังพยายามข่มตานอนหลับ อีกทั้งยังนำพามาซึ่งความวิตกว่า ทำไมเราถึงนอนไม่หลับเสียที และอาจนำไปสู่สถานการณ์เดียวกับที่มางาริพูดเอาไว้ว่า 

“พอนอนไม่หลับก็จะรู้สึกหดหู่ เอาแต่กังวลถึงสิ่งต่างๆ ที่ไม่สามารถแก้ไขได้ในตอนนี้” 

กระทั่งผู้ป่วยบางคนเองก็กลัวว่า หากนอนหลับในครั้งนี้ เราจะได้ตื่นขึ้นมาอีกรึเปล่า ถ้าเป็นอย่างนั้น หากเราเลือกที่จะดูดาวในคืนนอนไม่หลับ เราก็จะสามารถตัดขาดจากความสนใจในสิ่งเหล่านั้น และอยู่กับช่วงเวลาปัจจุบันได้อย่างสงบใจ 

การศึกษาชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสารจิตวิทยาสิ่งแวดล้อม (Journal of Environmental Psychology) และอีกชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสารการพยาบาลแบบองค์รวม (Journal of Holistic Nursing) ได้ระบุไว้ว่า การดูดาวมีประสิทธิภาพในการสร้างความสงบให้แก่จิตใจ ทั้งช่วยลดความเครียด ความวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้า อีกทั้งยังช่วยให้มีระดับคอร์ติซอล (ฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับความเครียด) น้อยกว่าคนที่ไม่ได้ดูดาวอีกต่างหาก

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้การดูดาวนั้นมีประสิทธิภาพมาจากความเงียบสงบของท้องฟ้ายามค่ำคืนที่เปรียบเสมือนการทำสมาธิกับธรรมชาติ ทำให้เราสามารถเพ่งความสนใจไปยังจุดใดจุดหนึ่งที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง หยุดความต้องการมากมายที่หลั่งไหลเข้ามา ช่วยชะลอความคิดที่พรั่งพรูออกไป แล้วเพลิดเพลินไปกับความสวยงามอันกว้างใหญ่ของหมู่ดาวในจักรวาลตรงหน้าที่เชิญชวนให้เราจดจ่ออยู่กับมันเหนือสิ่งอื่นใด 

 

ผ่อนคลานให้ใจสงบ ยืดเส้นยืดสายให้กายสบาย

การผ่อนคลายร่างกาย ทำจิตใจให้สงบ มีสติ และคิดไตร่ตรองในสิ่งต่างๆ หรือว่ากันง่ายๆ การดูดาวนั้นส่งผลดีต่อสุขภาพจิต เพราะแน่นอนว่า การพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือภาษาปากก็คือ นอนน้อย ไปจนถึงไม่ได้นอนเลยย่อมส่งผลให้ความคิดความอ่าน การไตร่ตรองในสถานการณ์ตรงหน้าไม่เฉียบแหลมเหมือนเคย มิหนำซ้ำยังก่อให้เกิดความเมื่อยล้าของร่างกาย และดีไม่ดีจะทำให้มนุษย์สัมพันธ์และปฏิสัมพันธ์ต่อคนรอบข้างชำรุดเอาได้ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ กันตะที่ถูกมองจากคนรอบข้างว่ามีสีหน้าบึ้งตึงตลอดเวลา และยังถูกมางาริคิดในทีแรกว่า เป็นคนที่น่ากลัวและน่ารังเกียจมาโดยตลอด 

ด้วยเหตุนี้เอง การดูดาวจึงช่วยขัดเกลาประสาทสัมผัสในขณะที่กำลังดื่มด่ำอยู่กับธรรมชาติ โดยเฉพาะจากภาพตรงหน้า และเสียงรอบข้าง สองสิ่งนี้จะช่วยทำให้เรามุ่งความสนใจอยู่กับช่วงเวลานั้นมากขึ้น ตัดขาดจากเสียงรบกวน ถือเป็นการส่งเสริมให้เกิดการมีสติ ก่อให้เกิดเป็นผลกระทบเชิงบวก นำไปสู่บุคลิกภาพที่ไม่รำคาญทุกสิ่งทุกอย่างที่รบกวนการชดเชยเวลานอนในยามฟ้าสว่าง และความเป็นอยู่ที่ดีที่มีผลมาจากความพร้อมหลังตื่นนอน ท้ายที่สุดแล้ว อาจนำไปสู่ความรู้สึกพึงพอใจในชีวิตโดยรวมก็ว่าได้

 

แสงสีฟ้าในยามค่ำคืน 

ตามที่บอกไปข้างต้นว่า การดูดาวช่วยลดความเครียด ส่งเสริมการผ่อนคลาย เพิ่มสมาธิ และปลดปล่อยตัวเราให้เป็นอิสระจากความคิดต่างๆ ที่วนเวียนเข้ามาไม่รู้จบ

อย่างไรก็ตามยังมีอีกหนึ่งสิ่งที่การดูดาวช่วยให้พวกเราหลับได้ง่ายขึ้น สนิทขึ้น และมีความสุขกับช่วงเวลานอนมากขึ้น นั่นคือ การช่วยให้เราได้ลดเวลาจากหน้าจอ ห่างไกลจากแสงประดิษฐ์ หรือ แสงสีฟ้า (Blue Light) ที่โทรศัพท์ปล่อยออกมา ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการรับรู้ของสมองที่คิดว่า ช่วงเวลานี้ยังเป็นตอนกลางวันจากการเห็นแสงเหล่านั้น และกระทบต่อ ‘ฮอร์โมนเมลาโทนิน’ ที่มีหน้าที่ควบคุมนาฬิกาชีวิต ส่งผลให้เกิดอาการนอนไม่หลับ หรือหลับไม่สนิท เช่นเดียวกับที่กันตะพูดเอาไว้ว่า 

“ได้ยินมาว่าแสงจากจอภาพผลึกเหลว (LCD) ส่งผลต่อการนอนไม่หลับก็เลยเลิกไถตอนนอนน่ะ”

เพราะฉะนั้นแล้วการได้รับแสงธรรมชาติในระหว่างดูดาวสามารถช่วยควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ ซึ่งนับว่าเป็นกระบวนการทางชีววิทยาภายในที่มีหน้าที่ควบคุมวงจรการหลับและตื่นของคนเรา นำไปสู่การปรับปรุงและซ่อมแซมคุณภาพการนอนในสภาพแวดล้อมที่มีแสงธรรมชาติ

หรือถ้าว่ากันโดยสรุป การดูดาวไม่ได้มอบให้แค่เพียงความจรรโลงใจชั่วขณะ แต่อาจทำให้ผู้ที่กำลังเฝ้ามองท้องฟ้าในขณะนั้นได้รับมุมมองใหม่ๆ เกี่ยวกับชีวิตของตนในช่วงเวลาที่เป็นส่วนตัวที่สุดท่ามกลางหมู่ดาว หรืออาจนับว่าเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ทำให้เราได้ใช้โอกาสนี้มีส่วนร่วมไปกับธรรมชาติ และชื่นชมความงามของมัน ก่อนที่จะได้รับสิ่งตอบแทนของการชื่นชมนั้นเป็นเวลานอน

 

อ้างอิง