life

“หากไม่มีน้ำ ก็ไม่อาจมีชีวิต”

คำกล่าวของ อัลแบรต์ เซนท์-จเยอร์จยี (Albert Szent-Györgyi) นักชีวเคมีชาวฮังการี ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ประจำปี ค.ศ. 1937 สะท้อนให้เห็นว่า น้ำคือองค์ประกอบพื้นฐานของชีวิตและคอยหล่อเลี้ยงทุกชีวิตให้อยู่รอดต่อไปได้ โดยเฉพาะชีวิตของมนุษย์

อัลแบรต์ เซนท์-จเยอร์จยี

 

‘น้ำ’ มากมายในร่างกายของเรา

ร่างกายของทุกคน ประกอบด้วยน้ำมากกว่าครึ่งหนึ่งหรือราว 60-70% Journal of Biological Chemistry หรือ วารสารวิชาการของสมาคมชีวเคมีและชีววิทยาโมเลกุลแห่งสหรัฐอเมริกา (American Society for Biochemistry and Molecular Biology) เปิดเผยว่า อวัยวะสำคัญภายในร่างกายต่างมีน้ำเป็นส่วนประกอบหลัก เช่น สมองและหัวใจประกอบด้วยน้ำ 73% ปอดทั้งสองข้างประกอบด้วยน้ำ 83% กล้ามเนื้อและไตประกอบด้วยน้ำ 79% ผิวหนังทั่วร่างกายประกอบด้วยน้ำ 64% แม้แต่กระดูกยังประกอบด้วยน้ำ 31%

สาเหตุที่ร่างกายมีน้ำเป็นส่วนมาก เพราะน้ำทำหน้าที่สร้างสมดุลและรักษาอุณหภูมิร่างกายอยู่ในเกณฑ์ปกติระหว่าง 36-37 องศาเซลเซียส (ขึ้นอยู่กับอายุของแต่ละคน) และเป็นตัวกลางทำให้เกิดปฏิกิริยาเคมีในร่างกายช่วยให้ระบบอวัยวะทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ

น้ำยังเป็นองค์ประกอบหลักร่วมกับเลือดเพื่อละลายออกซิเจนและสารอาหารให้เซลล์ ร่างกายของเราจึงต้องการน้ำสะอาดโดยเฉลี่ยวันละ 2-3 ลิตร เพื่อหล่อเลี้ยงเซลล์ในระบบอวัยวะให้มีชีวิต รวมถึงชดเชยน้ำที่ร่างกายขับถ่ายออกมาในรูปแบบของเสีย ได้แก่ ปัสสาวะ อุจจาระ เหงื่อ และลมหายใจ

ในชีวิตประจำวัน ทุกคนจึงต้อง ‘ดื่มน้ำ’ อย่างเพียงพอ เพราะเป็นวิธีการเดียวที่ทำให้ร่างกายได้รับน้ำตามปริมาณที่ต้องการต่อวัน แต่คำถามสำคัญคือ เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า ร่างกายต้องการน้ำปริมาณเท่าไหร่

 

‘น้ำ’ ที่ร่างกายต้องการ

‘ดื่มน้ำวันละ 8 แก้ว’ คือ ความเข้าใจของคนส่วนใหญ่ แต่ในความเป็นจริงตามหลักวิทยาศาสตร์การแพทย์ การดื่มน้ำวันละ 8 แก้ว ไม่ใช่ปริมาณที่เหมาะสำหรับทุกคน เพราะปริมาณน้ำที่แต่ละคนต้องการต่อวัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ทั้งด้านร่างกาย เช่น เพศ วัย น้ำหนักตัว ภาวะเจ็บป่วยหรือโรคประจำตัว ด้านพฤติกรรมการใช้ชีวิตส่วนบุคคล เช่น ไม่ค่อยขยับตัวหรือทำกิจกรรมที่ออกแรงมากจนเสียเหงื่อ และด้านสภาพแวดล้อม เช่น ฤดูกาล

สถาบันการแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา (National Academy of Medicine) จึงให้คำแนะนำเกี่ยวกับปริมาณน้ำที่เพียงพอต่อร่างกาย โดยกำหนดหน่วยเป็นแก้ว (เทียบเท่ากับปริมาณ 236.6 มิลลิลิตร) ซึ่งแยกตามช่วงอายุ ดังนี้

  • อายุ 1-3 ปี ควรดื่มน้ำวันละ 4 แก้ว
  • อายุ 4-8 ปี ควรดื่มน้ำวันละ 5 แก้ว
  • อายุ 9-13 ปี ควรดื่มน้ำวันละ 7-8 แก้ว
  • อายุ 14-18 ปี ควรดื่มน้ำวันละ 8-11 แก้ว
  • ผู้ชาย อายุ 19 ปีขึ้นไป ควรดื่มน้ำวันละ 13 แก้ว
  • ผู้หญิง อายุ 19 ปีขึ้นไป ควรดื่มน้ำวันละ 9 แก้ว
  • หญิงตั้งครรภ์ ควรดื่มน้ำวันละ 10 แก้ว
  • หญิงให้นมบุตร ควรดื่มน้ำวันละ 13 แก้ว

นอกจากนี้ ยังมีวิธีคิดของแพทย์ชาวอเมริกัน คือ แมลคัม เอ ฮอลลิเดย์ (Malcolm A. Holliday) และ วิลเลี่ยม อี ซีเกอร์ (William E. Segar) ทั้งคู่ร่วมกันศึกษาปริมาณการให้น้ำในร่างกายตามน้ำหนักตัว และตีพิมพ์วิธีคำนวณลงในวารสารวิชาการของสถาบันกุมารเวชศาสตร์แห่งอเมริกา (American Academy of Pediatrics)

โดยเสนอว่า ร่างกายต้องได้รับน้ำชดเชย 1 มิลลิลิตร เมื่อสูญเสียพลังงานไปทุกๆ 1 กิโลแคลอรี หมายความว่า ร่างกายต้องการปริมาณน้ำเท่ากับปริมาณพลังงานที่ร่างกายเสียไป เพียงแต่เป็นคนละหน่วยวัด

แนวคิดนี้จึงนำมาสู่วิธีการคำนวณแบบขั้นบันได 3 ขั้นตอน หรือ Holliday-Segar Formula คือ

  • (1) น้ำหนักตัว 10 กิโลกรัมแรก ต้องการน้ำ 100 มิลลิลิตรต่อกิโลกรัมต่อวัน
  • (2) น้ำหนักตัว 10 กิโลกรัมต่อมา ต้องการน้ำ 50 มิลลิลิตรต่อกิโลกรัมต่อวัน
  • (3) น้ำหนักตัวกิโลกรัมที่เหลือ ต้องการน้ำ 20 มิลลิลิตรต่อกิโลกรัมต่อวัน

ตัวอย่างการคำนวณ

คนไทยน้ำหนักตัว 75 กิโลกรัม

  • (1) น้ำหนักตัว 10 กิโลกรัมแรก ต้องการน้ำ 100 มิลลิลิตรต่อกิโลกรัมต่อวัน
    10 x 100 = 1,000 มิลลิลิตร
  • (2) น้ำหนักตัว 10 กิโลกรัมต่อมา ต้องการน้ำ 50 มิลลิลิตรต่อกิโลกรัมต่อวัน
    10 x 50 = 500 มิลลิลิตร
  • (3) น้ำหนักตัวกิโลกรัมที่เหลือ 55 กิโลกรัม ต้องการน้ำ 20 มิลลิลิตรต่อกิโลกรัมต่อวัน
    55 x 20 = 1,100 มิลลิลิตร

สรุป คนไทยน้ำหนักตัว 75 กิโลกรัม ต้องการน้ำ 2,600 มิลลิลิตรต่อวัน (หรือ 2.6 ลิตร เทียบเท่ากับน้ำ 11 แก้ว)

วิธีการคำนวณนี้จะช่วยทำให้แต่ละคนรู้ปริมาณน้ำที่ร่างกายตนเองต้องการต่อวัน เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายได้รับน้ำมากหรือน้อยเกินไป ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพตามมาได้

 

‘น้ำ’ เป็นพิษกับร่างกายได้

การดื่มน้ำมากกว่าปริมาณที่ร่างกายต้องการเป็นสาเหตุของ ภาวะน้ำเป็นพิษ (water intoxication หรือ water poisoning) 

เมื่อร่างกายได้รับน้ำปริมาณมาก และไม่สามารถขับน้ำที่เกินมาไปได้ทัน สมดุลน้ำในร่างกายจะบกพร่อง เพราะน้ำเจือจางความเข้มข้นของแร่ธาตุโซเดียมในเลือด ทำให้น้ำเข้าไปคั่งในเซลล์ อวัยวะ และช่องว่างในร่างกายจนทำให้ร่างกายบวมตึง นำไปสู่ภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ (dilutional hyponatremia) เป็นสาเหตุของอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน หายใจลำบาก เพราะน้ำคั่งในช่องท้อง หากเซลล์สมองบวม อาจชัก หมดสติ และเสียชีวิตได้

ตัวอย่างพฤติกรรมเสี่ยงที่เป็นอันตรายร้ายแรงต่อร่างกาย คือการดื่มน้ำปริมาณมากกว่า 4 ลิตรขึ้นไปภายใน 1 ชั่วโมง หรือดื่มน้ำ 1 ลิตรจนหมดภายในครั้งเดียว รวมถึงดื่มน้ำปริมาณมากถึง 6-7 ลิตรภายใน 1 วัน

ส่วนการดื่มน้ำน้อยเกินไป คือปริมาณต่ำกว่า 1 ลิตร หรือสูญเสียน้ำและเกลือแร่มากกว่าได้รับจากอาการทางร่างกาย โดยเฉพาะภาวะเสียเหงื่อมากจากลมแดด (heat stroke) และอาการท้องร่วงรุนแรง เป็นสาเหตุของ ภาวะขาดน้ำ (dehydration)

เมื่อน้ำในร่างกายน้อยจะส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบไหลเวียนและอวัยวะทันที เพราะเลือดมีความเข้มข้นมาก ร่างกายจะเริ่มตอบสนองให้รู้สึกกระหาย ปากแห้ง คอแห้ง หากขาดน้ำมากขึ้น ความดันเลือดจะเริ่มตกลง ทำให้เวียนศีรษะ มึนงง ผลที่ตามมาระดับร้ายแรง คืออวัยวะอื่นๆ จะเริ่มล้มเหลว ไตวายเฉียบพลัน หมดสติ หัวใจล้มเหลวและเสียชีวิตในที่สุด

เพื่อป้องกันความเสี่ยง การเลือกดื่มน้ำสะอาดปริมาณเพียงพอต่อร่างกายอย่างสม่ำเสมอจึงช่วยให้ร่างกายทำงานได้เต็มที่ และปลอดภัยจากภาวะเสี่ยง ที่สำคัญคือเป็นวิธีการสร้างเสริมสุขภาพที่ดีซึ่งเริ่มทำได้ง่ายๆ ด้วยตัวเอง

สำหรับคนที่ชอบทำกิจกรรมเสียเหงื่อมากอย่างการออกกำลังกายและเล่นกีฬา ควรดื่มน้ำเกลือแร่เพื่อชดเชยน้ำและรักษาสมดุลโซเชียมในเลือด ส่วนคนที่มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคไตและโรคหัวใจ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อปรับปริมาณและวิธีการดื่มน้ำให้เหมาะสมกับร่างกายและอาการของโรค

 

อ้างอิง