life

ช่วงอายุ 20 ปีปลายๆ ทุกครั้งที่ประจำเดือนมาฉันต้องกินยาแก้ปวด 4-5 ครั้งต่อวันระหว่างทำงาน และต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยแบบกลางคืนทุก 1-2 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้เสื้อผ้าเลอะ 

มิฉะนั้น บนผ้าอนามัยจะมีก้อนเลือดคล้ายตับชิ้นใหญ่ประมาณ 10 เซนติเมตร อาการแบบนี้เกิดขึ้นจนเหมือนเป็นเรื่องปกติ 

หญิงสาวคนไหนมีอาการคล้ายกันนี้บ้าง แล้วคุณจัดการกับปัญหาประจำเดือนมามากผิดปกติและอาการปวดท้องอย่างไร 

สำหรับ พญ.โคะมะงะตะ โยะริโกะ สูตินรีแพทย์ชาวญี่ปุ่นผู้เป็นเจ้าของอาการข้างต้นนั้น เธอขอไม่ทนกับการกินยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการเดือนต่อเดือนอีกต่อไป (เอาเข้าจริงสถานการณ์ที่คุณหมอต้องเผชิญในแต่ละเดือนหนักกว่าคนไข้ของเธอเสียอีก) 

Komagata
พญ.โคะมะงะตะ โยะริโกะ
สูตินรีแพทย์ ผู้เขียนหนังสือ ‘ช่องคลอด ใครคิดว่าไม่สำคัญ’
Photo: https://www.instagram.com/yori859225/

คุณหมอจึงมุ่งมั่นค้นคว้าหาวิธีรักษาอาการดังกล่าวจนค้นพบเคล็ดลับการดูแลสุขภาพสตรีอย่างการบริหารช่องคลอดและอุ้งเชิงกราน ที่ช่วยให้ประจำเดือนมาตามปกติและอาการปวดท้องหายเป็นปลิดทิ้ง และเป็นที่รู้จักในชื่อ การดูแลสุขภาพสไตล์โคะมะงะตะ 

การดูแลสุขภาพสไตล์โคะมะงะตะมุ่งเน้นไปที่การดูแลสุขภาพอวัยวะภายในของผู้หญิง โดยเฉพาะ ‘ช่องคลอด’ เพราะช่องคลอดมีความเกี่ยวพันอย่างลึกซึ้งถึงอวัยวะภายในข้างเคียงอีกหลายอย่าง ทั้งมดลูก กระเพาะอาหาร ลำไส้ใหญ่ สำไส้เล็ก ฯลฯ ที่ล้วนมีผลต่อสุขภาพองค์รวมของเพศหญิงชนิดห้ามแยกออกจากกัน 

นอกจากคุณหมอจะเป็นที่พึ่งให้หญิงสาวทุกเพศทุกวัยได้เข้าไปปรึกษาและรักษาที่คลินิกโคะมะงะตะแล้ว เธอยังบอกเล่าเทคนิคการดูแลสุขภาพสไตล์โคะมะงะตะแบบไม่มีกั๊กในหนังสือ ช่องคลอด ใครคิดว่าไม่สำคัญ เพิ่มพลังหญิงสาวด้วย 9 วิธีดูแลช่องคลอดสไตล์ญี่ปุ่น ที่รวมทุกปัญหาคาใจที่สาวๆ อยากรู้ แต่ไม่กล้าถาม ให้สามารถพบคำตอบและข้อควรปฏิบัติเพื่อเพิ่มพลังหญิงสาวได้ครบจบในเล่มเดียว 

komagata
หนังสือ ช่องคลอด ใครคิดว่าไม่สำคัญ เพิ่มพลังหญิงสาวด้วย 9 วิธีดูแลช่องคลอดสไตล์ญี่ปุ่น

ถ้าต้องเดา (เพราะเราเองก็ไม่เคยไปคลินิกโคะมะงะตะคุณหมอโคะมะงะตะน่าจะเป็นแพทย์ที่หากเลือกได้คงไม่อยากจ่ายยา แต่เน้นให้คนไข้หายขาดจากอาการเจ็บป่วยที่กำลังเผชิญด้วยการปรับพฤติกรรมของตนเอง โดยคุณหมอเน้นย้ำเสมอว่าสิ่งสำคัญที่สุดในการดูแลตัวเองคือการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ถ้าขี้เกียจหรือขาดความสม่ำเสมอ สุขภาพช่องคลอดคงดีขึ้นไม่ได้ 

หนึ่งในเนื้อหาที่น่าสนใจ คือ สารพันปัญหาร้อยแปดที่ผู้หญิงต้องเจอในระหว่างมีประจำเดือน ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน โดยเฉพาะ 4 หัวข้อต่อไปนี้ ที่เราอยากให้สาวๆ ปรับความเข้าใจและลุกขึ้นมาให้รางวัลตัวเองด้วยการดูแลสุขภาพอวัยวะภายในอย่างถูกวิธี 

 

X วันนั้นของเดือนก็เหมือนวันธรรมดาที่ออกแรงได้ตามปกติ ?!

komagata

สำหรับผู้หญิงที่ไม่เคยปวดท้องประจำเดือนหรือปวดเล็กน้อย โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน อาจคิดว่าการมีเลือดไหลออกจากร่างกายเดือนละ 3-4 วันเป็นเรื่องเล็ก ไม่จำเป็นต้องอาศัยการพักผ่อนมากกว่าปกติ 

คุณหมอโคะมะงะตะเลยขอชักชวนให้สาวๆ ฉุกคิดใหม่อีกรอบ โดยเธอให้เหตุผลว่า “ประจำเดือนคือเยื่อบุโพรงมดลูกที่หลุดลอกออกมา อวัยวะภายในอย่างมดลูกกำลังหลุดลอกจนมีเลือดออกเชียวนะ!” 

ดังนั้น ประจำเดือนจึงไม่ต่างจากภาวะที่อวัยวะภายในเกิดการบาดเจ็บ 

คุณหมอเปรียบเทียบให้เห็นภาพมากขึ้นว่า ถ้าเลือดในปริมาณเท่ากันกระอักออกมาทางปากคงมีคนบอกเราว่า “ไปพักเถอะ!” 

แต่พอเป็นเลือดที่ออกมาจากมดลูกกลับไม่มีใครพูดอะไร แม้ว่าเลือดนั้นต่างก็ออกมาจากร่างกายเหมือนกัน และบางคนยังมีเลือดออกมาในปริมาณมากเสียด้วย 

ดังนั้น คุณหมอโคะมะงะตะจึงแนะนำให้ผู้หญิงทุกคนกล้าที่จะพักผ่อนตั้งแต่ตอนที่เริ่มมีเลือดออก โดยไม่ต้องสนใจว่ารู้สึกปวดท้องหรือไม่ และไม่ว่าเลือดประจำเดือนจะเยอะหรือน้อย ร่างกายของผู้หญิงก็คู่ควรแก่การหยุดพักแบบไร้ข้ออ้าง 

 

X ประจำเดือนมามากควรใช้ผ้าอนามัยแบบสอด ?!

komagata

ผู้หญิงจำนวนไม่น้อยเลือกใช้ผ้าอนามัยแบบสอด หรือ Tampons เพราะสามารถดูดซับปริมาณประจำเดือนได้มาก ช่วยลดการซึมเปื้อนบนเสื้อผ้าให้น้อยลง และเพิ่มความคล่องตัวในการทำกิจกรรมต่างๆ ได้ดี 

แต่หากสาวๆ คนไหนใส่ผ้าอนามัยแบบสอดนานเกินไป (แม้บางยี่ห้อจะโฆษณาว่าสวมใส่ได้นาน 8-9 ชั่วโมงอาจเป็นสาเหตุให้เกิดอาการปวดท้องประจำเดือนได้ 

ด้วยความที่ลักษณะการใช้งานของผ้าอนามัยแบบสอด คือ ติดอยู่ในช่องคลอดเพื่อทำหน้าที่กั้นไม่ให้เลือดไหลออกมาข้างนอก แต่ข้างในมดลูกยังมีประจำเดือนถูกขับออกมาเรื่อยๆ ประจำเดือนจึงสะสมอยู่ระหว่างปากมดลูกกับผ้าอนามัย ทำให้มดลูกทำงานคล้ายหลอดหยด นั่นคือ ถ้าไม่มีผ้าอนามัยสอดไว้ มดลูกจะบีบกล้ามเนื้อรอบทิศทางเพื่อลอกและขับเยื่อบุโพรงมดลูกออก 

แต่พอมีผ้าอนามัยสอดอยู่ เลือดจึงขังอยู่ในช่องคลอดไปเรื่อยๆ นานหลายชั่วโมง จนเมื่อผ้าอนามัยเต็ม เลือดที่ควรขับออกข้างนอกก็ถูกมดลูกดูดกลับเข้าไป 

เมื่อประจำเดือนในมดลูกเต็มเพราะไม่ถูกระบายออก มดลูกก็ยิ่งบีบแรงขึ้นเพื่อขับเลือดออกตามกลไกของร่างกาย ความถี่ของการบีบตัวที่เพิ่มขึ้นจึงเป็นเหตุให้ปวดท้องในที่สุด 

แย่ยิ่งกว่านั้นคือ เลือดเสียที่ถูกดูดกลับขึ้นไปอาจไม่หยุดแค่ปากมดลูก แต่อาจย้อนไปถึงปากท่อรังไข่ ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกเคลื่อนไปเกาะอยู่ในช่องท้อง และพัฒนาเป็นเยื้อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือถ้าไปอุดตันในท่อนำไข่ก็เป็นสาเหตุของภาวะมีบุตรยากได้เช่นกัน 

ดังนั้น ไม่ว่าจะใช้ผ้าอนามัยแบบใดก็ตาม ควรรักษาสุขอนามัยด้วยการเปลี่ยนผ้าอนามัยทุก 2-3 ชั่วโมง 

 

X มีเซ็กซ์ในระยะปลอดภัยไม่ทำให้ท้อง ?!

komagata

การนับระยะปลอดภัย (Fertility Awareness Method: FAM) คือวิธีที่ช่วยให้ทราบว่าช่วงเวลาใดของเดือนที่ร่างกายมีโอกาสในการตั้งครรภ์น้อยที่สุด เพื่อจะได้มีเพศสัมพันธ์โดยไร้ความกังวลใจในช่วงเวลาดังกล่าว โดยดูจากระบบการทำงานของร่างกาย 

วิธีนี้เรียกอีกอย่างว่าการคุมกำเนิดด้วยวิธีธรรมชาติ (Natural Family Planning: NFP) ซึ่งเหมาะกับผู้ที่มีรอบเดือนปกติสม่ำเสมอเท่านั้น 

ที่สำคัญคือ ต้องชัวร์ก่อนว่าคุณไม่มีภาวะเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูก หรือเลือดออกช่วงไข่ตกแล้วเข้าใจผิดว่าเป็นประจำเดือน เพราะผู้หญิงบางคนมีเลือดซึมทุกเดือนเมื่อไข่ตก บ้างมีเดือนเดียว บ้างไม่มีเลย 

อีกทั้งปริมาณของเลือดยังแตกต่างกันไปในแต่ละคน มีตั้งแต่น้อยมากไปจนถึงเทียบเท่าประจำเดือน จนอาจทำให้เกิดการเข้าใจผิดคิดว่าเป็นเลือดประจำเดือนได้ 

ดังนั้น หากความเข้าใจผิดในครั้งนี้ส่งผลให้เกิดความชะล่าใจจนไม่คุมกำเนิด โอกาสตั้งครรภ์จะสูงมากเพราะตรงกับวันไข่ตกพอดี 

 

X ปวดท้องประจำเดือนเมื่อไรให้กินยาแก้ปวดทันที ?!

komagata

หัวใจหลักของหนังสือเล่มนี้ชี้ชูว่า พลังที่แท้จริงของหญิงสาวมาจากช่องคลอด และการดูแลสุขภาพของช่องคลอด ก็คือ หมั่นคอยดูแลและรักษาช่องคลอดให้อุ่นอยู่เสมอ เพราะเมื่อช่องคลอดอุ่นจะทำให้เลือดไหลเวียนได้ดี 

อีกทั้งการที่ช่องคลอดอุ่นยังส่งผลดีถึงอวัยวะข้างเคียง อย่างมดลูก (จึงช่วยบรรเทาความผิดปกติต่างๆ เกี่ยวกับประจำเดือนและลำไส้ (จึงช่วยป้องกันอาการท้องผูก ท้องเสีย และเพิ่มภูมิคุ้มกันแก่ร่างกาย) 

ในทางกลับกัน หากมดลูกเย็นหรือลำไส้มีปัญหาย่อมส่งผลต่อภาวะช่องคลอดเย็นได้เช่นกัน ดังนั้น ผู้หญิงทุกคนจึงควรดูแลจุดศูนย์กลางของร่างกายให้อบอุ่นเสมอ 

และด้วยความที่ผู้หญิงที่ประจำเดือนมามากผิดปกติต้องสูญเสียเลือดในปริมาณมากทุกเดือน ทำให้เลือดที่ไหลเวียนภายในร่างกายลดลง จนอวัยวะภายในมีอุณหภูมิต่ำและทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ส่งผลกระทบต่อการสร้างเลือด และกลายเป็นวงจรอุบาทว์ที่ก่อตัวเป็นโรคภัยต่างๆ 

ที่ต้องเกริ่นถึงความสัมพันธ์ของช่องคลอด มดลูก ลำไส้ และอาการประจำเดือนมามากผิดปกติจนทำให้ตัวเย็นนั้น เพราะส่งผลกระทบต่อการกินยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการปวดท้องโดยตรง 

การกินยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการปวดท้องที่รุนแรงจนทนไม่ไหวไม่ใช่วิธีที่ผิด แต่ต้องไม่ลืมว่ายาแก้ปวดมีฤทธิ์ลดไข้ด้วย ดังนั้น การกินยาแก้ปวดขณะที่อุณหภูมิร่างกายปกติจะทำให้อุณหภูมิร่างกายลดลงชั่วขณะ ทำให้ร่างกายเย็นลง 

ดังนั้น เมื่อกินยาแก้ปวดแล้ว ต้องพยายามไม่ให้อุณหภูมิของร่างกายลดลงหลังจากกินยา หรือเลือกกินยาแก้ปวดที่ไม่มีฤทธิ์ลดไข้ โดยปรึกษาเภสัชกรก่อนซื้อยา 

komagata

แต่จะดียิ่งกว่านั้น หากผู้หญิงทุกคนหันมาดูแลร่างกายให้ปราศจากความเจ็บปวด ทั้งจากอาการปวดท้องประจำเดือน ปวดศีรษะ ฯลฯ เพื่อรักษาพลังหญิงสาวเอาไว้ 

ดังนั้น การดูแลตัวเองด้วยวิธีบริหารช่องคลอดและอุ้งเชิงกรานจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม โดยสามารถทำตาม วิธีดูแลตัวเองสไตล์โคะมะงะตะได้จากแต่ละขั้นตอนในหนังสือ (เช่น การนวดฝีเย็บ การนวดช่องคลอด การนวดเต้านม ฯลฯ) 

แต่ละวิธีใช้เวลาแค่ 1 นาที ที่หากปฏิบัติได้อย่างถูกต้องและต่อเนื่อง แค่วันละนิดละหน่อย โดยไม่หักโหม ร่างกายของสาวๆ ก็จะอุ่นขึ้น และปัญหาที่เคยเจอในแต่ละเดือนก็จะค่อยๆ คลี่คลายลง กลายเป็นคุณคนใหม่ที่สวยยันเซลล์ 

 

ช่องคลอด ใครคิดว่าไม่สำคัญ เพิ่มพลังหญิงสาวด้วย 9 วิธีดูแลช่องคลอดสไตล์ญี่ปุ่น 

พญโคะมะงะตะ โยริโกะ | เขียน 

ฟ้าใส ซุ่นสั้น | แปล 

นานมีบุ๊คส์