life

“ม้ามชื้น” อาจเป็นคำที่ไม่คุ้นหู หลายคนแทบจะไม่เคยได้ยิน เพราะเราเองก็เพิ่งเคยได้ยินคำนี้จากหมอนวดแผนไทย ขณะกำลังนวดน่องและจับเส้นบริเวณเท้า-ข้อเท้า พลันพี่หมอก็วินิจฉัยขึ้นมาว่า “ม้ามชื้นนะคะ”

“ม้ามชื้นคืออะไร เกิดขึ้นได้ยังไง” เราผู้ได้แต่นอนซี้ดซ้าดด้วยความเจ็บปวดจากแรงนิ้วที่กำลังกดนวดไปตามเส้นสายต่างๆ ถามกลับ

“นอนดึกรึเปล่า” พี่หมออ่านขาดโดยไม่ต้องเดาคำตอบ ทำให้เราต้องกลับมาทบทวนอีกรอบว่า ที่เคยคิดว่าปวดเมื่อยเนื้อตัวเพราะออฟฟิศซินโดรมจู่โจม จริงๆ แล้วอาจมีสาเหตุมาจากความเสื่อมของอวัยวะภายในอื่นๆ ที่มองไม่รู้ ดูไม่เห็น ก็เป็นได้

การทำความรู้จัก “ม้าม” จึงได้เริ่มต้นขึ้น เพื่อจะได้เข้าใจว่าม้ามทำหน้าที่อะไร สำคัญต่อร่างกายแค่ไหน และจะปรับสมดุลร่างกายด้วยการบำรุงรักษาสุขภาพม้ามด้วยวิธีใดได้บ้าง

ม้ามมีหน้าตาคล้ายเมล็ดถั่ว อยู่บริเวณด้านหลังทางซีกซ้ายของช่องท้อง ใต้กระบังลมและซี่โครง ภายในม้ามมีเส้นเลือดมากมาย ทำให้ม้ามมีสีแดง บางและเปราะมาก เราจึงมักได้ยินว่ามีผู้ที่ม้ามแตกจากการประสบอุบัติเหตุอยู่บ่อยครั้ง

ม้ามเป็นอวัยวะที่สำคัญของระบบย่อย ดังนั้น โรคต่างๆ ที่เกี่ยวกับระบบย่อยและระบบขับถ่ายล้วนมีสาเหตุจากความผิดปรกติของม้ามเป็นส่วนใหญ่ เช่น โรคกรดไหลย้อน ท้องอืด ท้องเสียเรื้อรัง ฯลฯ

ในทางการแพทย์แผนจีน เมื่อพูดถึงม้ามจะหมายความรวมถึงตับอ่อนและลำไส้เล็ก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอวัยวะในระบบย่อยที่สำคัญ โดยม้ามจะทำหน้าที่ลำเลียงสารอาหารที่คัดสรรแล้วไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย ส่วนกากอาหารจะถูกลำเลียงไปสู่ลำไส้ใหญ่เพื่อเข้าสู่กระบวนการขับถ่ายต่อไป

ม้ามจึงเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เรากินอาหารอร่อย ย่อยง่าย ถ่ายคล่อง และมีสุขภาพแข็งแรง

นอกจากนี้ ม้ามยังมีหน้าที่สำคัญในการปกครองเลือด ซึ่งก็หมายถึงการควบคุมดูแลให้เลือดอยู่ในกรอบ หรือไหลไปตามเส้นเลือดได้ตามปกติ

หากม้ามไม่แข็งแรง เลือดจะไหลออกนอกเส้นเลือด ทำให้เกิดอาการอย่างเลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดาไหล ประจำเดือนมามากผิกปรกติ เป็นต้น

ม้ามยังมีส่วนในการช่วยสร้างเลือดอีกด้วย โดยเกิดจากหน้าที่ในการลำเลียงสารอาหารชั้นดีไปสู่ส่วนต่างๆ ของร่างกาย

ดังนั้น ในการรักษาโรคเกี่ยวกับหลอดเลือด การแพทย์แผนจีนจึงใช้วิธีปรับสมดุลการทำงานของม้ามให้แข็งแรง

ม้ามมีส่วนสำคัญในการควบคุมกล้ามเนื้อแขนขา เพราะกล้ามเนื้อเหล่านี้ต้องการสารอาหารไปเลี้ยงเพื่อความแข็งแรง ดังนั้น ม้ามที่อ่อนแอจึงส่งผลให้กล้ามเนื้อลีบและแขนขาอ่อนแรงในที่สุด

ที่สำคัญคือ ม้ามควบคุมการครุ่นคิด เพราะการใช้สมองในการขบคิดตรึกตรองเรื่องต่างๆ นั้นต้องมาจากการทำงานของเลือดที่ไหลเวียนได้ดี ซึ่งจะมาจากที่ไหนไม่ได้นอกจากม้ามที่มีสุขภาพแข็งแรงช่วยลำเลียงสารอาหารสำคัญไปสู่สมองนั่นเอง

ม้ามจึงเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับทุกส่วนของร่างกาย ตั้งแต่การคิด การเคลื่อนไหว การย่อยอาหาร ฯลฯ ดังนั้น เมื่อสุขภาพม้ามดี ชีวีถึงจะมีสุข

Becommon จึงอยากให้ทุกคนแข็งแรงไปด้วยกัน ด้วย 5 วิธีในการ #ดูแลสุขภาพม้าม เพื่อการทำงานที่สมดุลของทุกระบบในร่างกาย

1.
ไม่นอนดึก

spleen

ตอนกลางคืนเป็นช่วงเวลาที่ระบบการทำงานในร่างกายเข้าสู่โหมดสงบ เกิดโอกาสให้อวัยวะต่างๆ ได้พักซ่อมแซมตัวเอง และสะสมยินหยางให้เพียงพอต่อการทำงานเต็มที่ในวันรุ่งขึ้น

ดังนั้น ใครที่ดึกแล้วยังไม่ยอมนอนทำให้ร่างกายใช้พลังหยางมากเกินไป ยินก็ไม่ได้สะสม กระเพาะอาหารและม้ามจึงไม่ได้พัก นานวันเข้าสุขภาพของอวัยวะที่เกี่ยวกับระบบย่อยอาหารและดูดซึมก็จะอ่อนแอ ส่งผลให้เกิดโรคต่างๆ ตามมา

2.

ไม่กินจนอิ่มเกินไป

spleen

ในแต่ละมื้อควรกินอาหารในระดับ 8 ใน 10 ส่วนจากปริมาณที่รู้สึกอิ่ม เพื่อกระตุ้นให้มีความหิวหรืออยากอาหารในมื้อต่อไป ซึ่งส่งผลต่อการกระตุ้นระบบการย่อยและดูดซึม

3.

ไม่เครียด

spleen

ระบบย่อยอาหารมีความสัมพันธ์กับระบบประสาทอัตโนมัติ ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับอารมณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะโกรธ เครียด เศร้า ฯลฯ ดังนั้น การควบคุมอารมณ์ให้อยู่ในภาวะปกติจึงส่งผลต่อการกระตุ้นระบบย่อยอาหาร ทำให้เกิดความอยากอาหาร ช่วยให้กระเพาะอาหารและม้ามทำงานได้เป็นปกติ

4.

กินซุปข้าวฟ่าง

spleen

ใครที่รู้ตัวว่าม้ามและกระเพาะอาหารพร่อง เลือดลมไม่เพียงพอ ต้องการบำรุงระบบย่อยและดูดซึมเป็นพิเศษ แนะนำให้นำข้าวฟ่าง 100 กรัม ฟักทอง 100 กรัม และพุทราจีนอีก 10 เม็ด มาต้มรวมกันจนสุกแล้วกินแทนข้าวสวยในบางมื้อ กระเพาะอาหารและม้ามก็จะมีสุขภาพที่ดีขึ้น

เหตุผลที่ต้องเป็นข้าวฟ่างกับฟักทอง เพราะข้าวฟ่างเป็นแหล่งรวมสารอาหารสำคัญหลายชนิด เช่น แมกนีเซียม โพแทสเซียม สังกะสี เหล็ก วิตามินบี และใยอาหาร จึงดีต่อกระเพาะอาหารและม้าม

ส่วนอาหารสีเหลืองอย่างฟักทองก็อุดมไปด้วยแคโรทีน และวิตามินซี ซึ่งมีสารแอนติออกซิแดนต์ ช่วยชะลอความแก่ มีประโยชน์ต่อระบบย่อยอาหาร ช่วยบำรุงม้ามและกระเพาะ เหมาะแก่ผู้ที่ร่างกายอ่อนแอ มือเท้าเย็น และเป็นโรคเรื้อรังเกี่ยวกับทางเดินอาหาร

5.

เดินออกกำลังกายหลังมื้ออาหาร

spleen

การเดินออกกำลังกายหลังรับประทานอาหารจะช่วยปรับสมดุลระบบการทำงานของกระเพาะอาหารและลำไส้ กระตุ้นระบบการย่อยและดูดซึม ป้องกันการท้องอืด อาหารไม่ย่อย และโรคเรื้อรังต่างๆ เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร

แต่ก็ไม่ควรเดินอย่างหักโหม โดยเฉพาะคนที่มีรูปร่างอ้วนหรือปกติไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย หลังกินข้าวควรพักประมาณ 20-30 นาทีก่อนเดินออกกำลังกาย

และผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจหรือสมอง เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ฯลฯ ควรเดินออกกำลังกายหลังมื้อเย็น 2 ชั่วโมง และอย่าหักโหม เดินพอให้เหงื่อซึมๆ อย่าให้ถึงกับหอบ หายใจถี่ สามารถเดินครั้งละ 15-20 นาทีแล้วหยุดพักสักครู่ก่อนเดินรอบต่อไป

อ้างอิง

  • สามหลวงสหคลินิก. 5 วิธีดูแลกระเพาะอาหารและม้าม.https://bit.ly/3SFHxZk
  • Praivechlife.บทความเกี่ยวกับม้าม.https://bit.ly/3BVH2Ei