life

หลังจากที่เพจ Original Cup Noodles โพสต์ภาพ “ส้อมหลอด” หรือ Strork (Straw + Fork) ทางเฟบุ๊กเมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา พร้อมระบุแค็ปชั่นว่า หากมีคนกดไลค์ครบ ล้านครั้ง จะผลิตขึ้นจริง 

becommon จึงได้แต่คิดแล้วก็สงสัยว่า ตั้งแต่เมื่อไรกันที่มนุษย์คลั่งไคล้การดูดเครื่องดื่มมากขนาดนี้ 

Plastic Straw
Photo: https://www.facebook.com/OriginalCupNoodles/photos/pcb.4714927781874176/4714927671874187

เมื่อสืบสาวประวัติศาสตร์การดูดของมนุษยชาติ ก็พบว่าสามารถย้อนไปไกลถึง 3,000 ปีก่อนคริสตกาล โดยจากการค้นพบโลงศพของชาวสุเมเรียน ที่มีภาพสลักบนโลงเป็นรูปคนกำลังดูดน้ำจากไหผ่านอุปกรณ์ที่มีลักษณะเป็นแท่งคล้ายหลอด 

plastic straw
ภาพสลักรูปคนกำลังดูดน้ำบนโลงศพของชาวสุเมเรียน
Photo: https://99percentinvisible.org/article/last-straws-inventing-modern-drinking-tube-flexible-bendy-straw/

และเมื่อเปิดโลงศพเพื่อพิสูจน์ก็พบว่ามีอุปกรณ์นี้อยู่จริง โดยเป็นหลอดทำจากทองคำเลี่ยมหินลาพิสลาซูลี นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าชาวสุเมเรียนใช้หลอดเพื่อการดื่มเบียร์ 

เนื่องจากกรรมวิธีหมักเบียร์ในสมัยโบราณจะมีเศษตะกอนนอนก้นอยู่ข้างล่าง จึงใช้หลอดดูดเฉพาะเครื่องดื่มที่ลอยอยู่ด้านบน 

plastic straw
หลอดทำจากทองคำเลี่ยมหินลาพิสลาซูลีของชาวสุเมเรียน
Photo: http://www.glassstraws.com.au/wp-content/uploads/2013/12/lapis-lazuli-gold-sumerian-straw-large.jpg

ในขณะอีกฟากฝั่งของโลกก็มีการค้นพบว่า ชาวอาร์เจนไตน์ในอาร์เจนตินาใช้หลอดที่ทำจากไม้มานานกว่าพันปี ก่อนจะพัฒนามาเป็น บอมบิลลา (bombilla) อุปกรณ์ทำจากโลหะที่ทำหน้าที่เป็นหลอดและตัวกรองสำหรับดื่มชาในปัจจุบัน 

การใช้หลอดดูดน้ำจึงน่าจะเป็นวัฒนธรรมการดื่มกินที่แฝงอยู่ในอีกหลายดินแดนของโลกยุคโบราณ ก่อนจะพัฒนามาเป็นหลอดที่ทำจากก้านไรย์ ซึ่งมีข้อเสียคือ มักมีกลิ่นหญ้าปะปนขณะดื่ม แต่เพื่อแลกกับความสะดวกแล้ว มนุษย์ยอม 

plastic straw
Bombilla
https://www.shutterstock.com/image-photo/mate-yerba-tea-calabash-bombilla-on-2038147022

วิวัฒนาการของหลอดเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในปี 1880 ขณะที่ มาร์วิน เชสเตอร์ สโตน กำลังดูดเครื่องดื่มอย่างเพลิดเพลินในกรุงวอชิงตัน ดีซี จู่ๆ ความสุนทรีย์ก็ชะงักลง เมื่อเขารู้สึกถึงเศษอะไรบางอย่างในปาก เมื่อคายออกมาจึงพบว่าสิ่งนั้นคือ เศษข้าวไรย์ที่หลุดออกมาจากหลอดนั่นเอง 

สโตนไม่ต้องการเสียอารมณ์ขณะดูดเครื่องดื่มอีกต่อไป เขาจึงทดลองนำกระดาษมาม้วนแล้วใช้กาวติด แต่กาวในสมัยนั้นก็ยังไม่เหมาะต่อการบริโภค ครั้นจะใช้กระดาษเพียวๆ พอดูดไปสักพักหลอดก็เปื่อยยุ่ยง่าย 

plastic straw
หลอดกระดาษของสโตน
Photo: http://worldkings.org/news/world-almanac-event-academy/worldkings-on-this-day-january-03-2019-1st-wax-drinking-straw-patented-by-marvin-c-stone-in-washington-d-c-in-1888

เขาจึงทดลองเคลือบกระดาษด้วยขี้ผึ้ง ซึ่งมีคุณสมบัติทำให้กระดาษอยู่ตัว ไม่เปียกน้ำ และใช้ทนกว่ากระดาษติดกาว เมื่อประดิษฐ์หลอดที่ใช้ดูดน้ำได้ลื่นคอเป็นที่เรียบร้อย สโตนจึงจดสิทธิบัตรหลอดกระดาษ Modern Straw เมื่อวันที่ 3 มกราคม .. 1888 

วันที่ 3 มกราคมของทุกปีจึงมีความสำคัญในฐานะ วันหลอดดูดน้ำแห่งชาติ ของอเมริกันชนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา 

plastic straw

จากนั้น ในช่วงต้นของปี 1900s เกิดกระแสที่ผู้บริโภคมีความกังวลด้านสุขอนามัยและต้องการหลีกเลี่ยงการสัมผัสภาชนะโดยตรง จึงนิยมใช้หลอดอย่างแพร่หลาย เพราะเชื่อว่าหลอดป้องกันโรคได้ 

และในช่วงนี้เองที่ จเซฟ บี เฟรดแมน คิดค้นหลอดพลาสติกแบบงอ (Flex-Straw) ขึ้น เพื่อเอาใจลูกสาวโดยเฉพาะ 

plastic straw
สิทธิบัตรหลอดงอได้ของเฟรดแมน
Photo: https://99percentinvisible.org/article/last-straws-inventing-modern-drinking-tube-flexible-bendy-straw/

ปี 1930 โจเซฟสังเกตเห็นลูกสาวพยายามดูดมิลก์เชกจากหลอดกระดาษอย่างทุลักทุเล โดยเด็กน้อยต้องพยายามเอียงแก้วเข้ามาหาตัวเพื่อจะดูดนมปั่นได้ถนัดขึ้น ผู้เป็นพ่อจึงคิดประดิษฐ์หลอดที่สามารถโน้มเข้าหาตัวเด็กได้ โดยทดลองใช้น็อตที่มีเกลียวยัดเข้าไปในหลอดจนถึงจุดที่ควรจะงอได้ 

จากนั้นใช้ไหมขัดฟันพันรอบส่วนเกลียวของน็อต (ภายนอกหลอดทำให้เกิดเป็นรอยหยัก จนหลอดงอได้ในที่สุด และจดสิทธิบัตร Flex-Straw ในปี 1937  

สามปีต่อมา โจเซฟก็ก่อตั้งบริษัท Flex-Straw Company ขึ้น เพื่อผลิตหลอดแบบงอได้สำหรับใช้ในโรงพยาบาล เพื่ออำนวยความสะดวกให้คนไข้ไม่ต้องโยกตัว เอื้อม หรือลุกขึ้นเพื่อดูดน้ำจากหลอด 

plastic straw
หลอดแบบงอได้ยุคแรกมีใช้เฉพาะในโรงพยาบาล
Photo: https://99percentinvisible.org/article/last-straws-inventing-modern-drinking-tube-flexible-bendy-straw/

และอีก 5 ปีหลังจากนั้น เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง พลาสติกที่เคยมีสถานะเป็นวัสดุสำคัญในการประกอบเครื่องบินทางการทหาร ได้ถูกนำมาใช้ผลิตข้าวของเครื่องใช้ในครัวเรือนมากขึ้น รวมถึงหลอดพลาสติกเช่นกัน 

ประกอบกับในช่วงปี 1950s-60s ไลฟ์สไตล์ของผู้คนเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด โดยเฉพาะเมื่อรถยนต์ได้รับความนิยมมากขึ้น ร้านอาหารที่เริ่มเปลี่ยนมาใช้ภาชนะแบบใช้แล้วทิ้งจึงเพิ่มหลอดเข้าในชุดอาหารแบบ to go เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้าสามารถนำอาหารกลับได้ 

plastic straw

เมื่ออเมริกันชนกลายเป็นผู้นำเทรนด์จิบน้ำด้วยหลอดพลาสติก ทำให้จำนวนผู้ผลิตมีเพิ่มขึ้นตามจำนวนผู้บริโภค โดยเฉพาะเมื่อบริษัท Flex-Straw ขายกิจการให้แก่ยักษ์ใหญ่อย่าง Maryland Cup Corporation ในปี 1969 ความสามารถในการผลิตหลอดพลาสติกก็ยิ่งหลากหลายขึ้น จนกลายเป็นบริษัทผลิตหลอดพลาสติกที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้หลอดพลาสติกปริมาณมหาศาลถูกผลิตออกมาสู่ท้องตลาดแบบ non-stop 

และที่จริงโปรเจกต์ส้อมหลอดอย่าง Strork ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ หันไปมอง ‘หลอดปลายช้อน’ ที่หลายคนใช้ดูดน้ำปั่นกินอยู่ทุกบ่าย ก็เคยเป็นนวัตกรรมในยุคหนึ่ง ไม่ต่างอะไรกับหลอดแฟนซี หลอดชาไข่มุก และอีกสารพัดหลอดหลายรูปทรงที่ถูกคิดค้นเพื่อความสะดวกและสนุกในการดื่มล้วนๆ 

plastic straw

แต่ยิ่งนานวัน ตัวเลขการใช้พลาสติกเพื่อบริโภคก็พุ่งสูงอย่างน่าตกใจ โดยข้อมูลจาก Plastics Europe หนึ่งในผู้ผลิตพลาสติกรายใหญ่ของโลกรายงานว่า ในปี 1950 มีการผลิตสินค้าพลาสติกเป็นจำนวน 1.5 ล้านตัน และเมื่อเวลาผ่านไป 65 ปี ยอดผลิตสินค้าพลาสติกเติบโตพรวดพราดเป็น 322 ล้านตัน ในปี 2015 

ทว่าตัวเลขเหล่านี้ไม่ได้ทำให้คนทั่วโลกตระหนักถึงภัยซ่อนเร้นของหลอดพลาสติก หากคลิปการช่วยเหลือเต่าทะเลที่มีหลอดติดอยู่ในจมูก ไม่ได้ถูกแชร์จนกลายเป็นไวรัลในปี 2015   

ความตายของเต่าทะเลนำมาซึ่งการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับขยะพลาสติกที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตสัตว์น้อยใหญ่ที่ได้รับการตีแผ่อย่างต่อเนื่อง อาทิ ตัวเลขที่ระบุว่าทุกวันนี้ประชากรโลกใช้หลอดประมาณ 500 ล้านชิ้นต่อวัน โดยมีการประเมินว่ามนุษย์คนหนึ่งใช้ 1.6 หลอดต่อวัน

plastic straw

และจากรายงานสรุปข้อมูลขยะชายหาดปี 2016 จาก 112 ประเทศทั่วโลกของ The Ocean Conservancy พบว่าหลอดพลาสติกเป็นขยะที่พบได้บ่อยเป็นอันดับ 7 ในขณะที่ประเทศไทยมีปริมาณขยะจากหลอดพลาสติกถูกพบมากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากขวดพลาสติก 

หลอดพลาสติกจึงตกเป็นหนึ่งในจำเลยข้อหาทำลายสิ่งแวดล้อมทันที ทำให้หลอดกระดาษหวนคืนวงการอีกครั้ง หลังหมดความนิยมไปตั้งแต่กลางยุค 70 สมทบด้วยหลอดที่ทำจากวัสดุทดแทนอีกหลายประเภท ทั้งแบบที่ง่ายแก่การย่อยสลายและแบบที่ใช้ซ้ำได้ เพื่อเป็นตัวเลือกของคนยุคใหม่ที่เกิดมาก็คุ้นเคยกับการคว้าหลอดมาดูดเครื่องดื่มจนยากจะเปลี่ยนใจ  

นอกจากนี้ หลายประเทศได้เริ่มทบทวนนโยบายจำกัดการใช้หลอดพลาสติกอย่างจริงจัง และมีองค์กรรณรงค์สิ่งแวดล้อมที่ตั้งเป้าให้มีมาตรการทางกฎหมายจัดการกับหลอดพลาสติกอย่างเป็นเรื่องเป็นราว 

เช่น กลุ่ม Straw Wars ในประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นเครือข่ายร้านจำหน่ายเครื่องดื่มและอาหารที่ไม่ใช้หลอดในการบริการ เพื่อรณรงค์ให้คนทั่วไปมีทางเลือกในการบริโภคที่ไม่สร้างปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อม 

plastic straw
Photo: https://www.facebook.com/OriginalCupNoodles/photos/pcb.4714927781874176/4714927285207559/

สำหรับประเทศไทยก็ได้มี Roadmap จัดการพลาสติกที่กำหนดเป้าหมายว่าภายในปีหน้า (พ.ศ. 2565) จะยกเลิกการใช้พลาสติก 4 ชนิด ได้แก่ กล่องข้าวโฟม หลอดพลาสติก ถุงบาง 36 ไมครอน และแก้วบางกว่า 100 ไมครอน โดยได้เริ่มมีการร่างประกาศที่เป็นกฎหมายห้ามผลิต นำเข้า และจำหน่ายพลาสติก 4 ชนิดดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อย 

การใช้กฎหมายของภาครัฐย่อมมีส่วนช่วยลดจำนวนพลาสติกได้อย่างเห็นผล ร่วมด้วยการที่เอกชนเก่งๆ สามารถร่วมด้วยอีกแรง ด้วยการคิดแคมเปญเท่ๆ เพื่อเปลี่ยนค่านิยมของผู้บริโภคให้เห็นว่าการใช้หลอดพลาสติกเป็นพฤติกรรมสุดเชย อาจทำให้คนส่วนใหญ่อยากลด ละ เลิก การใช้หลอดพลาสติกโดยสมัครใจ 

และจะดีที่สุด หากผู้บริโภคตระหนักด้วยตัวเองว่า แค่เปลี่ยนจากการใช้หลอดมาเป็นการยกแก้วหรือขวดน้ำขึ้นดื่มก็สดชื่นได้ไม่ต่างกัน 

เหมือนอย่างที่ผู้ใช้เฟสบุ๊กรายหนึ่งแสดงความคิดเห็นต่อส้อมหลอด Strork เอาไว้ได้น่าคิดว่า 

“แค่กระดกถ้วยก็ซดน้ำซุปได้แล้วไม่ใช่เหรอ”  

อ้างอิง 

  • Eating Utensils. The History of Drinking Straws. https://bit.ly/2Z27Gdo 
  • Catherine Hollander. A Brief History of the Straw. https://bit.ly/39azEp1 
  • Worldkings. On This Day – January 03, 2019 – 1st wax drinking straw patented, by Marvin C Stone in Washington, D.C , in 1888. https://bit.ly/3AwTs29 
  • สรรพร อุไรกุลเสียงร่ำไห้จากมหาสมุทรความโหดร้ายของหลอดพลาสติกที่เราอาจละเลยhttps://bit.ly/399UOUn