life

ฉันไม่มีวันมีลูกแน่ๆ 

แคตนิส เอเวอร์ดีน ตัวเอกจากภาพยนตร์เรื่อง The Hunger Games ประกาศกร้าว เพราะคุณภาพชีวิตของคนในเขต 12 นั้นย่ำแย่เกินกว่าที่มนุษย์หน้าใหม่จะเกิดมา แถมประชาชนยังต้องห้ำหั่นกันเอง เธอจึงไม่มีเหตุผลที่ต้องให้ลูกลืมตามาเผชิญกับความลำบาก 

นอกจอภาพยนตร์กำลังเผชิญสถานการณ์คล้ายๆ กัน เมื่อหลายประเทศกำลังเผชิญกับอัตราการเกิดน้อยลง คาดว่าในปี 2100 ประชากรโลกที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปีจะเหลือเพียง 401 ล้านคน (จาก 681 ล้านคนในปี 2017) ในขณะเดียวกันผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็น 866 ล้านคน (จาก 141 ล้านคน)

เพียงแต่เหตุปัจจัยไม่ใช่เพราะคุณภาพชีวิตที่แร้นแค้นเหมือนเขต 12 ในภาพยนตร์เสียทีเดียว กลับกัน ผู้คนไม่มีลูก ไม่สร้างครอบครัวนั้นมีหลากหลายเหตุผลตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป เช่น ประชาชนเข้าถึงการคุมกำเนิด ผู้หญิงได้ทำงานและเป็นอิสระไม่ต่างกับผู้ชาย ครองตัวเป็นโสดได้อย่างสบายใจ ไม่จำเป็นต้องอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว การมีลูกไม่ใช่เรื่องสำคัญของชีวิต รวมถึงในสภาพเศรษฐกิจของคนรุ่นใหม่ที่ต่างจากรุ่นพ่อแม่ การเลี้ยงเด็กคนหนึ่งให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีนั้นยากเย็นแสนเข็ญและมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง 

โปสเตอร์โปรโมตนโยบายลูกคนเดียวในปี 1992 (Photo : MANDEL NGAN / AFP)

ก่อนหน้านี้ในปี 1979 ประเทศที่มีประชากรแออัดอย่างจีนออกนโยบายลูกคนเดียวเพื่อลดจำนวนเด็กเกิดใหม่ลง เนื่องจากเป็นช่วงหลังสงครามประเทศไม่มีทรัพยากรมากพอรองรับประชากรจำนวนมหาศาล การลดอัตราการเกิดจะช่วยไม่ให้ประเทศประหยัดทรัพยากร ลดความแออัด ลดต้นทุนด้านสวัสดิการขั้นพื้นฐานลงไป แต่ในขณะเดียวกันอัตราการเกิดที่ค่อยๆ ต่ำลงก็นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงในสังคมครั้งยิ่งใหญ่

สถานการณ์ประชากรเกิดใหม่ในประเทศไทยในปี 2564 เหลือเพียง 563,650 คน จากปี 2555 ที่เคยมีเด็กเกิดสูงเฉียดล้านคน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์คาดการณ์ว่าในปี 2593 ประชากรไทยจะลดลงเหลือ 69 ล้านคน ในปี 2643 จะเหลือเพียง  47 ล้านคนเท่านั้น 

นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเกิดขึ้นมานานแล้วที่ญี่ปุ่นที่อัตราการเกิดน้อยลงและเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ ในขณะที่ประชากรมีอายุเฉลี่ย 48.4 ปี ซึ่งถือว่าสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ

เมื่อคนเกิดน้อยกว่าคนตาย ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นมีมากมายทั้งในอนาคตอันใกล้และไกล เป็นวิกฤติที่ส่งผลต่อโครงสร้างที่นำมาซึ่งหลากหลายปรากฏการณ์เล็กใหญ่ ทำให้ประเทศต้องปรับตัวแทบทุกภาคส่วน เรราจึงขอชวนมาสำรวจดูว่าสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้หลังจากวิกฤติเด็กเกิดน้อยลงมีอะไรบ้าง 

(Photo : Ed Jones / AFP)

ขาดแคลนแรงงาน 

เมื่อคนเกิดน้อย เด็กที่จะเติบโตไปเป็นคนวัยทำงานเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศก็น้อยลงด้วย ทำให้กำลังผลิตในภาคต่างๆ น้อยลง นี่เป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลต้องหาทางออกให้ได้ ไม่ว่าจะสรรหาแรงงานเพิ่มโดยเปิดรับจากต่างประเทศหรือออกแบบนโยบายที่ช่วยเหลือภาคของการผลิตให้ได้ เช่น ยืดอายุเกษียณ ส่งเสริมให้ผู้ใหญ่ทำงานนานขึ้น อย่างไรก็ตามนักประชากรศาสตร์หลายๆ คนมีความเผยว่าแม้ปัญหาขาดแคลนแรงงานจะเป็นปัญหาหลัก แต่พวกเขาคาดการณ์ว่าคนรุ่นต่อไปจะได้รับการศึกษามากขึ้น อาจทำให้ทำงานมีประสิทธิภาพ พยุงสังคมผู้สูงอายุไว้ได้ก็เป็นได้ 

พัฒนาช้า เพราะภาษีน้อย 

ไม่เพียงแต่เป็นแรงงานที่ขับเคลื่อนประเทศเท่านั้น แต่ทารกน้อยในวันนี้คือคนจ่ายภาษีของวันข้างหน้า เมื่อคนทำงานน้อยลง คนจ่ายภาษีก็จะน้อยลงตามไปด้วย ในสถานการณ์ที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ภาระหนักอึ้งอย่างหนึ่งของคนวัยทำงานคือการแบกรับการจ่ายภาษีที่จะกลายไปเป็นเงินบำนาญ ประกันสังคมและบริการด้านการแพทย์สำหรับประชากรส่วนใหญ่ของประเทศซึ่งเป็นผู้สูงอายุ ซึ่งเราเรียกวิกฤตินี้ว่าวิกฤตเงินบำนาญ’ (Pension Crisis)  

(Photo : BEHROUZ MEHRI / AFP)

โรงเรียนร้าง บ้านราคาถูกเหมือนรถมือสอง

ภาคธุรกิจต่างๆ จะต้องปรับตัว โดยเฉพาะธุรกิจที่มีเป้าหมายเป็นเด็ก อย่างโรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือเนอร์เซอรี่ เนื่องจากมีเด็กเกิดใหม่เข้าใช้บริการน้อยลง ยิ่งไปกว่านั้น ไลแมน สโตน (Lyman Stone) นักประชากรศาสตร์และนักวิจัยจากสถาบันครอบครัวศึกษาเผยว่า ความต้องการบ้านอยู่อาศัยจะน้อยลงเรื่อยๆ และในที่สุด เมื่อผู้อยู่อาศัยน้อยลง อสังหาริมทรัพย์ก็ราคาถูกลงไม่ต่างจากรถมือสอง 

มีคนโดดเดี่ยวทุกหย่อมหญ้า

ประชากรลดน้อยลง ไม่ได้อยู่เป็นครอบครัวใหญ่เหมือนเมื่อก่อน ทำให้เกิดความสัมพันธ์หลากหลายแบบขึ้น เช่น ความสัมพันธ์แบบรักกันหลายคน (Polyamory) ที่หนุ่มสาวหลายคนมาอยู่ในความสัมพันธ์โรแมนติกอย่างพร้อมใจกัน ซึ่งจากการศึกษาพบว่าความสัมพันธ์แบบนี้จะเติบโตขึ้นอย่างมากในประเทศที่พัฒนาแล้ว รวมถึงในสังคมที่ผู้หญิงเท่าเทียมกับผู้ชาย นอกจากนี้อาจมีการร่วมชายคากันในสถานะเพื่อน แต่ที่เห็นได้มากคือ อยู่ตัวคนเดียว

ประเทศญี่ปุ่นซึ่งก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุไปก่อนหน้านั้นแล้ว คนหนุ่มสาวที่ไม่นิยมแต่งงานมักจะใช้ชีวิตคนเดียว ทำให้มีบริการสำหรับคนมากินข้าวคนเดียว ดูหนังคนเดียว รวมถึงร้องคาราโอเกะคนเดียวก็มี แต่ที่น่าเศร้ากว่าการใช้ชีวิตคนเดียวคือการจากไปอย่างโดดเดี่ยวในห้องพัก จนทำให้บริการ ‘Trauma cleaner’ หรือ คนเก็บกวาดบ้านคนตาย เป็นธุรกิจใหม่ที่มาแรง

(Photo : Philip FONG / AFP)

อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังไม่มีประเทศไหนที่ได้รับผลกระทบจากสังคมผู้สูงอายุนานจนเข้าขั้นวิกฤติ แม้ญี่ปุ่นเองที่เผชิญกับสังคมนี้มานาน ยังคงมีวิธีเอาตัวรอดได้ด้วยการเปิดประเทศให้แรงงงานต่างชาติเข้ามาทำงาน จะสังเกตเห็นได้ว่าพนักงานพาร์ทไทม์ตามร้านสะดวกซื้อของญี่ปุ่นมักจะเป็นคนต่างชาติ เพราะร้านสะดวกซื้อทำงานได้ง่าย ไม่ต้องใช้ทักษาภาษามากนัก นอกจากนี้ในสหรัฐฯ แคนาดา และออสเตรเลียเองก็ใช้วิธีเปิดโอกาสให้คนต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศเช่นเดียวกัน

สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุคือนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องปรับโครงสร้างของทุกภาคส่วนเพื่อไม่ให้ปัญหานี้กัดกินชีวิตของประชากรในประเทศมากนัก ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มสวัสดิการให้กับผู้หญิงในการเลี้ยงลูก เพิ่มสวัสดิการให้กับเด็กๆ ที่เกิดมา รวมถึงเปิดรับแรงงานจากต่างประเทศเข้ามาทำงานเพื่อขับเคลื่อนภาคของการผลิตให้ดำเนินต่อไปได้

ตรงกันข้ามหากรัฐบาลเพิกเฉยและไม่ได้มีความสามารถมากพอที่จะผ่านวิกฤตินี้ไปได้ ผลกระทบแบบเลวร้ายที่สุดที่นักวิชาการคาดเอาไว้ คงเป็นจริงได้ไม่ยาก

 

อ้างอิง 

  • Stephanie H. Murray. How Low Can America’s Birth Rate Go Before It’s A Problem?. https://53eig.ht/33h0MU6 
  • James Gallagher. Fertility rate: ‘Jaw-dropping’ global crash in children being born. https://bbc.in/3HNdBEA 
  • Population Reference Bureau (PRB). Low Fertility Not Politically Sustainable. https://bit.ly/3BbRoO9 
  • โตมร ศุขปรีชา. จะเกิดอะไรขึ้นถ้าประชากรโลกไม่เพิ่มอีกต่อไป?. https://bit.ly/3LpjSbQ