life

“คำสอนของคุณแม่ทุกเรื่องอยู่ในความทรงจำของดิฉันเสมอ…”

ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ผู้ก่อตั้งโรงแรมดุสิตธานีเขียนประโยคนี้ไว้ในหน้าที่ 20 ของหนังสือ คนแก่อยู่กับความหลัง ที่เธอเขียนตอนอายุย่างเข้า 70 ปี (พ.ศ.2535)

โรงแรมดุสิตธานี Dusit Thani Bangkok

เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้เล่าถึงเรื่องราวต่างๆ ในหลากหลายมิติ ไม่ว่าชีวิต วิธีคิด การก่อตั้งและดำเนินกิจการโรงแรมดุสิตธานี ฯลฯ แต่เมื่ออ่านตั้งแต่ต้นจนจบจะพบว่า ในทุกมิตินั้นมีจุดร่วมเดียวกัน คือร่องรอยทางความคิดและตัวตนของท่านผู้หญิงชนัตถ์ที่ได้รับการหล่อหลอมจากคำสอนแม่

คำสอนที่เธอไม่เคยลืม และนำไปสู่การสร้างชีวิต ธุรกิจ จนถึงสร้างเอกลักษณ์ให้กับโรงแรมดุสิตธานีในเวลาต่อมา

จนอาจกล่าวได้ว่าตัวตนของ ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย เป็นเช่นไร โรงแรมดุสิตธานีก็น่าจะมีร่องรอยเหล่านั้นปรากฏอยู่บ้าง

1. ไหว้ด้วยใจ

“คุณแม่ค่อนข้างพิถีพิถันมากในเรื่องการไหว้ เวลาเราไหว้จะเพียงบรรจบมือพอยกขึ้นแล้วยกลงให้คุณแม่เห็นไม่ได้ คุณแม่บอกให้เรามีความรู้สึกด้วย ให้ไหว้ด้วย “ใจ” ว่าเราทำความเคารพ ประนมมือระหว่างคิ้วแล้วก้มศีรษะลงให้ได้จังหวะ ไม่ช้าและไม่เร็ว เวลาพวกเราไปโรงสีครั้งแรกคุณแม่ให้ไหว้ “หลงจู๊” และ “ป้าแม่ครัว” และบอกว่าที่ให้ไหว้เพราะ

“หนึ่ง เขาอายุมากกว่าพวกเรา

“สอง เขาช่วยคุณแม่ทำงานแทนพวกเรา จึงควรขอบใจเขา

“ฉะนั้น ครั้งต่อๆ มาเมื่อไปถึงโรงสี พบคนที่ทำงานกับคุณแม่ก็รีบยกมือไหว้ทันที ไม่ต้องคอยให้คุณแม่บอก การไหว้จึงเป็นอัตโนมัติไปโดยไม่รู้ตัว”

โรงแรมดุสิตธานี Dusit Thani Bangkok

2. อย่าเป็นคนอวดดี

“คุณแม่เคยถามว่าชอบคนอวดดีเย่อหยิ่งจองหองบ้างไหม ชอบให้ใครข่มขู่ตัวบ้างหรือไม่ เมื่อเราบอกว่าไม่ชอบ คุณแม่ก็บอกว่าคนอื่นเขาก็ไม่ชอบเช่นเดียวกัน ฉะนั้นอย่าเป็นคนอวดดี อย่าแสดงความเย่อหยิ่งจองหองให้ใครเห็นเป็นอันขาด ถึงเราจะมีกินมีใช้ตามฐานะเรา แต่เราไม่ได้เอาของที่เรามีไปยกให้เขา จึงไม่ควรจะไปแสดงความยิ่งใหญ่ต่อเขา ลูกๆ มีหน้าที่อย่างเดียวคือ “จำ” และปฏิบัติตาม”

โรงแรมดุสิตธานี Dusit Thani Bangkok

3. นึกถึงใจเขาใจเรา

“คุณแม่สอนไม่ให้เอาแต่ใจตัวเอง นึกถึง “อกเขา” “อกเรา” บ้าง “เขามาแรงก็อย่าแรงตอบ” “ต้องรู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาว” นอกจากนี้ ยังห้ามไม่ให้ขัดคอใครหรือเอารัดเอาเปรียบใคร ถ้าจะเสียเปรียบบ้างก็ให้ถือเสียว่าเป็นการเสียสละให้เขาไป เสร็จแล้วจะได้เป็นความรู้ จะได้ไม่ไปพัวพันกับเขาอีก”

โรงแรมดุสิตธานี Dusit Thani Bangkok

4. อย่าอวดฉลาด

“คุณแม่ไม่อยากให้แสดงการอวดฉลาด เพียงแต่อย่า “โง่” กว่าเขาก็พอแล้ว คุณแม่ชอบพูดว่าการเป็นคนนั้นต้องใช้ “สมอง” ใช้ความสุขุม บางครั้งเมื่อคุณแม่เห็นเราไม่จำ ก็มีวิธีว่ากล่าวให้เรารู้สึกอับอายได้เหมือนกัน”

โรงแรมดุสิตธานี Dusit Thani Bangkok

5. ขยัน อดทน ประหยัด

“บอกคุณแม่ว่าจะสร้างโรงแรม คุณแม่ไม่ทราบว่าโรงแรมที่ดิฉันจะทำเป็นอย่างไร เป็นเพียงพูดว่าคนเขาไม่ค่อยชอบคำว่า “โรงแรม” ถ้าทำดีก็ไม่ว่าและสอนว่าเราทำงานให้แก่ตัวเองนั้น ต้องขยันและอดทนและจะต้องประหยัดด้วย อะไรทำเองได้ก็ทำเอง ไปจ้างเขาก็มีค่าใช้จ่าย

โรงแรมดุสิตธานี Dusit Thani Bangkok

6. กตัญญูรู้คุณ

“สิ่งหนึ่งที่คุณแม่ย้ำอยู่เสมอคือ เรื่องของความกตัญญูรู้คุณคน คุณแม่สอนให้หาโอกาสตอบแทน แม้จะตอบแทนแล้วก็ยังต้องสำนึกอยู่เสมอ คนที่มีความกตัญญูจึงจะมีความเจริญ

โรงแรมดุสิตธานี Dusit Thani Bangkok

7. เป็นผู้หญิงต้องทำงาน

“คุณแม่ก็ได้พูดคุยถึงเรื่องคุณพ่อ (ที่ไปคำ้ประกันให้กับเพื่อน จนเป็นเหตุให้ธุรกิจโรงเลื่อยถูกยึด–ผู้เขียน) ว่า อะไรที่มันจะเกิดย่อมจะเกิดได้เสมอ จึงควรจะเตรียมพร้อมไว้ ถ้าคุณแม่ไม่ดิ้นรนไปทำโรงสีที่สระบุรี เพียงอยู่กับคุณพ่อแล้วต้องแบมือขอเงินคุณพ่อทุกๆ เดือนหรือขอค่ากับข้าวทุกๆ วัน เมื่อคุณพ่อมีอันเป็นไปเช่นนี้ ลูกๆ ก็คงจะลำบากแน่ ฉะนั้น อย่าถือว่าเป็นผู้หญิงจะคอยแต่งอมืองอเท้า ไม่ทำอะไรเลย พอถึงคราวจำเป็นก็ไม่มีปัญญาจะทำอะไรเสียแล้ว เนื่องจากไม่ได้ตระเตรียมตัวเองไว้เพื่อรองรับปัญหา การคิดว่าเป็นผู้หญิงแล้วไม่ควรจะต้องรับผิดชอบต่อครอบครัวนั้นไม่ได้”

โรงแรมดุสิตธานี Dusit Thani Bangkok

8. เชื่อในกุศลผลบุญ

“คุณแม่เคยพูดถึงเรื่องความดีความชั่ว กรรมดีกรรมชั่วนั้นตามเราทันเสมอ บางครั้งเราจะล้อคุณแม่ว่า “วันนี้ขอไม่ติดกัณฑ์เทศน์สักวัน กรรมมองไม่เห็น จับไม่ได้” คุณแม่เพียงแต่บอกว่ามีตัวอย่าง ถ้ามีโอกาสจะพาไปดู

“วันหนึ่งคุณแม่ชวนลูกๆ ไปเยี่ยม “ผู้ใหญ่บ้าน” ที่กำลังป่วย เมื่อขึ้นไปบนบ้านเห็นผู้ชายคนหนึ่งนอนลืมตา มือทั้งสองข้างยกชนกันค่อนข้างจะแรงนั้นถูกพันด้วยผ้า เห็นเลือดซึมอยู่ตามขอบผ้า ปากก็พร่ำแต่พูดว่า “เอาเข้าไปเลย เอาเข้าไปเลย เอาเข้าไปเลย”

“ภรรยาของผู้ใหญ่บ้านเล่าว่าผู้ใหญ่บ้านไม่ยอมลุกจากที่นอนเลย จำอะไรก็ไม่ได้ จำได้แต่เรื่องชนไก่ ข้าวปลาก็ไม่ยอมรับประทาน ต้องคอยกรอกทั้งข้าวทั้งน้ำ เคยจับแขนมัดกับไม้เพื่อไม่ให้ยกมือชนกัน ผู้ใหญ่บ้านก็ไม่ยอม เอาแต่ร้อง แรงก็ไม่มี แต่เสียงได้ยินไปถึงหลายบ้าน เกรงใจชาวบ้านจึงต้องแก้มัดออก ดิฉันแอบเหลือบมองเห็นมือและแขนบวม คงจะอักเสบมาก แต่ผู้ป่วยดูเหมือนจะไม่รู้สึกเจ็บเลย

“เมื่อกลับถึงโรงสี คุณแม่เล่าว่าผู้ใหญ่บ้านเป็นคนชอบชนไก่หรือตีไก่มาก ที่บ้านของเขามีการชนไก่หรือตีไก่เป็นประจำ ไม่ว่าวันพระหรือวันโกน ไก่ที่ถูกตีถูกจิกจนตาบอดนับไม่ถ้วน และคงมีเจ็บและพิการไม่น้อย เพียงแต่ไก่นั้นพูดไม่ได้ จึงไม่มีใครรู้ถึงความเจ็บปวด ผู้ใหญ่จึงมีอันเป็นไป คุณแม่ยักบอกว่า “นี่คือกรรมที่เกิดจากการกระทำ” กรรมนี้ตามสนองทั้งภพนี้และภพหน้า และเชื่อว่ากรรมอาจจะตามสนองถึงชั้นลูกและชั้นหลานด้วย

“ดิฉันนึกถึงภาพผู้ใหญ่บ้านนอนขยับตัวไม่ได้ แต่แขนทั้งสองข้างยังมีแรงยกมือกระแทกกันจนเป็นแผลแตกช้ำ ดิฉันเชื่อและเชื่อในกุศลผลบุญ

“ดิฉันเชื่อจริงๆ ว่าผลของการกระทำไม่สูญสิ้นไป ไม่ว่าจะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่ว”.

โรงแรมดุสิตธานี Dusit Thani Bangkok

FACT BOX

หลักการบริหารงาน ของท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย

  • ต้องลับคมอยู่เสมอเหมือนมีด ถ้าทิ้งงานไปจะล้าหลัง
  • ไม่กลัวงาน เมื่อคิดจะทำก็ทำทันที
  • เวลาทำงานไม่ได้คิดว่าตนเองเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย แต่ทำงานเต็มที่
  • มานะ อดทน ขยัน และซื่อสัตย์สุจริต
  • รักษาคำพูด ซึ่งถือว่าสำคัญมาก
  • คนที่ทำงานโรงแรมต้องรักงาน ไม่รังเกียจงาน
  • ประหยัดรัดเข็มขัด งานหลายอย่างต้องลงมือด้วยตนเอง

โรงแรมดุสิตธานี Dusit Thani Bangkok

อ่านเรื่องราวที่น่าสนใจของโรงแรมดุสิตธานี เพิ่มเติมได้ที่ becommon.co/tag/โรงแรมดุสิตธานี/

 

อ้างอิง:

  • คุณหญิงชนัตถ์ ปิยะอุย. คนแก่อยู่กับความหลัง. สิงหาคม ๒๕๓๕